ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1970

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ข้อมติ
คณะมนตรีความมั่นคงแห่ง
สหประชาชาติที่ 1970
วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2011
การประชุมครั้งที่: 6,491
รหัส: S/RES/1970 (เอกสาร)

คะแนนเสียง: รับ: 15 

งดออกเสียง: 0  ไม่รับ: 0 

เรื่อง: สันติภาพและความมั่นคงในแอฟริกา
ผล: ตกลงรับ

องคาพยพของคณะมนตรีความมั่นคงใน ค.ศ. 2011:
สมาชิกถาวร:

 จีน  ฝรั่งเศส  รัสเซีย  บริเตนใหญ่  สหรัฐ

สมาชิกไม่ถาวร:
 บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา  บราซิล  โคลอมเบีย  เยอรมนี  กาบอง
 อินเดีย  เลบานอน  ไนจีเรีย  โปรตุเกส  แอฟริกาใต้

การคัดค้านของชาวลิเบียในเบงกาซีระหว่างการลุกฮือ

ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1970 (อังกฤษ: United Nations Security Council Resolution 1970) เป็นข้อมติอันคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีขึ้นโดยเอกฉันท์เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 ให้ประณามการซึ่งรัฐบาลของมูอัมมาร์ กัดดาฟี ใช้อาวุธร้ายแรงต่อต้านผู้ประท้วงในประเทศลิเบีย และให้ใช้วิธีการบังคับระหว่างประเทศโต้ตอบรัฐบาลดังกล่าว[1]

ด้วยข้อมติอันเป็นเอกฉันท์นี้ เป็นครั้งแรกที่คณะมนตรีความมั่นคงได้ยื่นเรื่องราวฟ้องประเทศประเทศหนึ่งต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ[2]

ภูมิหลัง[แก้]

ในระหว่าง การลุกฮือของชาวลิเบียเมื่อ ค.ศ. 2011 กองกำลังอันภักดีต่อมูอัมมาร์ กัดดาฟี ได้ปล่อยระเบิดทางอากาศ (aerial bombing) ลงสู่เมืองตริโปลี โจมตีผู้ประท้วงซึ่งเป็นพลเรือน และนำไปสู่การประณามอย่างกว้างขวางโดยประชาคมโลก

การซึ่งทูตชาวลิเบียผู้ทรยศต่อรัฐบาลของตนได้กดดันเป็นอันมากนั้น เป็นเหตุให้สหประชาชาติต้องออกหน้าในครั้งนี้

การตกลงรับ[แก้]

ข้อมติที่ 1970 นี้ นำเสนอโดย ประเทศฝรั่งเศส, ประเทศเยอรมนี, สหราชอาณาจักร และ สหรัฐอเมริกา[3] มีการถกเถียงกันหนึ่งวันเต็ม และได้ตกลงรับในที่สุด[4] แอดเดล ราห์แมน ชัลแกห์ม (Abdel Rahman Shalgham) เอกอัครราชทูตลิเบียประจำสหประชาชาติ ผู้ซึ่งตำหนิระบอบของมูอัมมาร์ กัดดาฟีนั้น ได้ร้องขอให้คณะมนตรีความมั่นคงออกโรงในเหตุการณ์นี้ เขาได้โน้มน้าวให้สาธารณรัฐประชาชนจีน, ประเทศอินเดีย และ ประเทศรัสเซีย ร่วมยื่นเรื่องราวต่อศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นผลสำเร็จ หลังจากที่ประเทศเหล่านี้ได้แสดงความห่วงใยว่า การยื่นเรื่องราวดังกล่าวอาจทำให้สถานการณ์บานปลายได้[5] ประเทศรัสเซียนั้นได้เสนอให้มีข้อบทสำหรับเป็นประกันว่าจะไม่มีชาติใดใช้ข้อมตินี้เป็นข้ออ้างเข้าแทรกแซงประเทศลิเบีย และที่ประชุมมีมติให้เพิ่มเข้าไปในข้อมตินี้ได้[5] ฝ่ายผู้แทนของประเทศลิเบียเองก็ได้เสนอให้มีข้อบัญญัติให้ประเทศลิเบียเป็นเขตห้ามบิน (no-fly zone) แต่ที่ประชุมมีมติให้ยก[4]

ข้อมติ[แก้]

อารัมภบท[แก้]

ในอารัมภบทของข้อมตินี้ คณะมนตรีความมั่นคงได้แสดง “ความกังวลเป็นอันมาก” (grave concern) ต่อสถานการณ์ในประเทศลิเบีย และประณามการใช้อาวุธต่อเหล่าพลเรือน กับทั้งยังประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความพยายามของรัฐบาลลิเบียในอันที่จะก่อความรุนแรง[6] สันนิบาตอาหรับ, สหภาพแอฟริกา, องค์การประชุมอิสลาม และ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ยื่นคำแถลงประณามในลักษณะเดียวกันต่อคณะมนตรีความมั่นคงด้วย การกระทำทั้งนี้ต่อผู้ประท้วงนั้นได้รับการถือว่าเป็นความผิดอาญาต่อมนุษยชาติ[7]

ยังได้มีการแสดงความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยในเรื่องการขาดแคลนโอสถและสวัสดิการสำหรับชาวต่างชาติ คณะมนตรีความมั่นคงได้ย้ำเตือนให้รัฐบาลลิเบียตระหนักถึงความรับผิดชอบในอันที่จะต้องประกันรักษาประชาชนของตัว กับทั้งต้องเคารพเสรีภาพในการชุมนุม, เสรีภาพในการแสดงออก และ เสรีภาพของสื่อ นอกจากนี้ ยังตำหนิรัฐบาลลิเบียให้แสดงความรับผิดชอบต่อการโจมตีพลเรือนด้วย

ตัวบทแห่งข้อมตินี้ยังระบุว่า คณะมนตรีความมั่นคงใคร่ครวญดีว่าจะมีการสืบสวนโดยหรือฟ้องคดีอาญาต่อศาลอาญาระหว่างประเทศในระยะเวลาสิบสองเดือนหลังจากที่คณะมนตรีฯ ได้ยื่นเรื่องราวต่อศาลฯ นั้นมิได้ ในขณะเดียวกัน คณะมนตรีฯ ยังรับว่าตนว่าบทบาทในการธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศด้วย

เนื้อความหลัก[แก้]

เนื้อความส่วนอื่น ๆ ของข้อมตินั้น ได้รับการตราขึ้นตาม หมวด 7 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ และตามข้อ 41 ดังนั้น ข้อมตินี้จึงใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

คณะมนตรีความมั่นคงเรียกร้องให้ยุติโดยพลันซึ่งความรุนแรงในประเทศลิเบีย และเรียกร้องให้รัฐบาลลิเบียตอบสนองต่อข้อเรียกร้องอันชอบธรรมของประชากรของตัว[8] คณะมนตรีฯ ได้วิงวอนให้เจ้าหน้าที่ทั้งหลายเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และกฎหมายสิทธิมนุษยชน ตลอดจนให้ปฏิบัติการอย่างมีขอบเขต, ให้ประกันความปลอดภัยของชาวต่างชาติและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม กับทั้งให้เลิกปิดกั้นสื่อมวลชน[8] อนึ่ง ยังมีการตักเตือนให้องค์กรระหว่างประเทศร่วมมือกันอพยพชาวต่างชาติออกจากประเทศลิเบียด้วย

ข้อมตินี้ยังได้ให้คณะมนตรีความมั่นคงยื่นเรื่องราวสถานการณ์ในลิเบียต่ออัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ ผู้ซึ่งจักต้องแถลงต่อคณะมนตรีฯ ภายในสองเดือนหลังจากมีการตกลงรับข้อมติและทุก ๆ หกเดือนหลังจากเริ่มดำเนินคดี ข้อมติดังกล่าวยังกำหนดด้วยว่า ให้เจ้าพนักงานชาวลิเบียทั้งหลายประสานความร่วมมือกับศาลอาญาระหว่างประเทศอย่างเต็มภูมิ

ในการนี้ ได้มีคำสั่งห้ามขนถ่ายอาวุธ (arms embargo) โดยห้ามนำเข้าไปหรือส่งออกจากประเทศลิเบียซึ่งอาวุธยุทโธปกรณ์ทุกประเภท และแนะนำให้รัฐบ้านใกล้เรือนเคียงกับประเทศลิเบียจงเฝ้าระวังเรือสินค้าต้องสงสัยว่าขนถ่ายอาวุธและยึดสิ่งทั้งปวงที่ตรวจพบ นอกจากนี้ ยังห้ามรัฐเหล่านั้นอำนวยทหารรับจ้าง (mercenary) ในการลุกฮือครั้งนี้ด้วย อนึ่ง ยังห้ามบุคคลทั้งปวงในรัฐบาลลิเบียและบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงใช้การเดินทาง และสั่งให้ยึดทรัพย์สินของบุคคลเช่นว่าด้วย โดยทรัพย์สินอันใดที่ยึดไว้ ให้ใช้เป็นประโยชน์สำหรับสาธารณชนทั่วไปได้

ในโอกาสเดียวกัน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งสำหรับควบคุมการปฏิบัติตามวิธีการบังคับ สืบสวนความรุนแรงทั้งหลาย และใช้วิธีการบังคับที่ระบุไว้แก่บุคคลและองค์กรอื่น ๆ เพิ่มเติม[9] มีการเรียกให้รัฐทั้งมวลอำนวยความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประเทศลิเบียด้วย

ข้อมตินี้ ปิดท้ายด้วยคำแถลงของคณะมนตรีความมั่นคงว่า คณะมนตรีฯ ยินดีจะทบทวน แก้ไข ปรับปรุง หรือยกเลิกมาตรการทั้งหลายบรรดาที่มีขึ้นในสถานการณ์นี้

อ้างอิง[แก้]

  1. "In swift, decisive action, Security Council imposes tough measures on Libyan regime, adopting Resolution 1970 in wake of crackdown on protesters". United Nations. February 26, 2011.
  2. "India backs UN sanctions against Libya". Times of India. 27 February 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-25. สืบค้นเมื่อ 2011-03-02.
  3. "UN Security Council slaps sanctions on Libya". Times of India. 27 February 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-25. สืบค้นเมื่อ 2011-03-02.
  4. 4.0 4.1 "UN Security Council imposes sanctions against Gaddafi, associates". Vanguard (Nigeria). 27 February 2011.
  5. 5.0 5.1 Lynch, Colum (26 February 2011). "U.N. votes to impose sanction on Gaddafi". The Washington Post.
  6. "UN orders sanctions on Kadhafi over crackdown". Bangkok Post. 27 February 2011.
  7. Snow, Anita (27 February 2011). "UN slaps sanctions on Gaddafi". Independent Online (South Africa).
  8. 8.0 8.1 "UN slaps sanctions on Libyan regime". Al Jazeera. 27 February 2011.
  9. Prensa Latina (27 February 2011). "UN Security Council Approves Sanctions against Libya". Solvisión (Cuba). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-18. สืบค้นเมื่อ 2011-03-02.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]