ขุนวิวรณ์สุขวิทยา (ห่วง โลหะวณิชย์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ขุนวิวรณ์สุขวิทยา)
ขุนวิวรณ์สุขวิทยา
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2
ดำรงตำแหน่ง
28 มิถุนายน 2498 – 25 กุมภาพันธ์ 2500
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1
ดำรงตำแหน่ง
27 ธันวาคม 2500 – 20 ตุลาคม 2501
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด20 มิถุนายน พ.ศ. 2443
อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร
คู่สมรสฉวี โลหะวณิชย์

ขุนวิวรณ์สุขวิทยา (ห่วง โลหะวณิชย์) เป็นอดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรไทย 2 สมัย เป้นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ และได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ ในฐานะแพทย์ผู้เอื้อเฟื้อต่อสังคมมายาวนาน[1]

ประวัติ[แก้]

ขุนวิวรณ์สุขวิทยา เดิมชื่อ ห่วง โลหะวณิชย์ เกิดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2443 ที่ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร บิดาชื่อ นายฮุ้น พาณิชย์ มารดาชื่อ นางเคลือบ มีอาชีพเป็นชาวนา มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 คน สมรสกับนางสาวฉวี เปเรย์

ขุนวิวรณ์สุขวิทยา เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนวัดสุนทรสถิตย์ อำเภอบ้านแพ้ว จากนั้นเข้าเรียนในโรงเรียนอมราบำรุงรักษ์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จนจบหลักสูตรประถม แล้วเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาในโรงเรียนวัดนวลนรดิศ กรุงเทพมหานคร และเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ต่อด้วยเรียนแพทย์ในศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต พ.ศ. 2466 เมื่อทำงานแล้วเข้าเรียนนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ได้รับปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิต เมื่อ พ.ศ. 2482

การทำงาน[แก้]

ขุนวิวรณ์สุขวิทยา เริ่มทำงานเป็นแพทย์หลังจากจบการศึกษาที่กรมสาธารณสุข เป็นแพทย์หลวงประจำท้องที่จังหวัดตาก ใน พ.ศ. 2469-2471 หลังจากนั้นก็ย้ายมาเป็นแพทย์สุขาภิบาลเมืองนครสวรรค์ และแพทย์เทศบาลเมืองนครสวรรค์ ใน พ.ศ. 2471-2480 ย้ายไปเป็นนายแพทย์โท ประจำสุขศาลากาฬสินธุ์ใน พ.ศ. 2481-2482 แล้วย้ายกลับมาดำรงตำแหน่งสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์[2] จนลาออกจากราชการ เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2489 ในระหว่างรับราชการ ขุนวิวรณ์สุขวิทยาได้ทำประโยชน์ด้านสาธารณสุขหลายประการ เช่น การป้องกันโรคอหิวาต์ กาฬโรค สร้างโรงพยาบาลสุขาภิบาล เมื่อ พ.ศ. 2475 ซึ่งต่อมาโอนเป็นโรงพยาบาลนครสวรรค์สังกัดกรมการแพทย์ และต่อมาได้สร้างโรงพยาบาลใหม่เสร็จเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2512 ได้รับพระราชทานนามโรงพยาบาลว่า “โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์”

หลังจากลาออกจากราชการ ใน พ.ศ. 2489 เขาได้รับเลือกเป็นเทศมนตรี 2 สมัย เป็นประธานสภาจังหวัดติดต่อกัน 14 ปี ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ 2 สมัย เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองสมัย[3][4][5] และเป็นประธานสภาเทศบาลเมืองนครสวรรค์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. บุคคลสำคัญ :: ฐานข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์
  2. รายนามผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์[ลิงก์เสีย]
  3. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร (๑. พลเอก พระประจนปัจจนึก ๒. ขุนคงฤทธิศึกษากร ๓. ขุนวิวรณ์สุขวิทยา)
  4. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร (พลเอก พระประจนปัจจนึก เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร , ขุนคงฤทธิศึกษากร เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ ๑ , ขุนวิวรณ์สุขวิทยา เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ ๒)
  5. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร (พลเอก พระประจนปัจจนึก เป็นประธาน ฯ ขุนวิวรณ์สุขวิทยา เป็นรองประธานสภา ฯ คนที่ ๑ นายประสิทธิ์ จุลละเกศ เป็นรองประธาน ฯ คนที่ ๒)
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-08-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๕ ตอนที่ ๑๐๙ ง หน้า ๓๓๔๘, ๒๓ ธันวาคม ๒๕๐๑
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๖๓, ๒๓ มกราคม ๒๕๐๐