ขยะอิเล็กทรอนิกส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มอนิเตอร์ที่ถูกทิ้ง

ขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือ อีเวสต์ (อังกฤษ: e-waste) เป็นของเสียที่ประกอบด้วย เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียหรือไม่มีคนต้องการแล้ว ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นประเด็นวิตกกังวล เนื่องจากชิ้นส่วนหลายชิ้นในอุปกรณ์เหล่านั้น ถือว่าเป็นพิษ และไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ หลายประเทศโดยเฉพาะแถบยุโรปตะวันตกถึงกับออกกฎหมายออกมารองรับกรณีดังกล่าวนี้ โดยให้บริษัทผู้ผลิตที่จะวางตลาดในผลิตภัณฑ์ด้านคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ต้องจัดเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปกำจัดก่อนถึงจะวางใหม่ได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่ถูกนำออกมาใช้เพื่อแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นขยะพิษ ขณะเดียวกันด้วยพฤติกรรมการบริโภคที่มีลักษณะใช้แล้วทิ้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบไม่เพียงแค่ในขอบข่ายของขยะอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น บรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ก็ถูกทิ้งลงถังขยะมากมายจนล้นเกิน หลาย ๆ ประเทศต้องสูญเสียงบประมาณเพื่อทำการจัดเก็บและทำลายขยะแต่ละปีเป็นมูลค่ามหาศาล ซึ่งพฤติกรรมการใช้แล้วทิ้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกนี้ หากยังไม่สามารถพัฒนาวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย หรือประเภทใช้แล้วสามารถนำมารีไซเคิลใหม่ได้ อาจก่อให้เกิดปัญหาขยะล้นโลกได้

บทนิยาม[แก้]

ขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีมากมาย เช่น ขยะจากคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เครื่องเสียง เครื่องเล่นเพื่อความบันเทิงต่าง ๆ โทรศัพท์มือถือ หรือโทรศัพท์ในบ้านก็เหมือนกัน พูดง่าย ๆ ว่า อุปกรณ์เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย เมื่อไม่ใช้ หมดสภาพ จะทิ้งแล้ว ก็กลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไม่มีราคาค่างวดอะไร

สำหรับนิยามชัด ๆ ของคำว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นไม่มีกำหนดชัดเจน โดยมากจะเป็นผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์จำพวกประมวลผลข้อมูล โทรคมนาคม หรือเพื่อความบันเทิง ดังกล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะใช้ส่วนตัวหรือใช้เพื่อธุรกิจ ในสำนักงานก็ตามที ถ้าชำรุด ผุพัง ซ่อมไม่ได้ ไม่ต้องการแล้ว ก็เป็นอันว่าอยู่ในจำพวกนี้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ขยะเหล่านี้มีปัญหาในเรื่องของมลพิษ โดยเฉพาะสารเคมีที่มีอยู่ในชิ้นส่วนต่าง ๆ ซึ่งไม่สามารถกำจัดได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นโลหะหนัก สารพิษ ไอพิษ หรือสิ่งตกค้างอื่น ๆ เช่น กัมมันตรังสี ประจุไฟฟ้า ฯลฯ

เมื่อปี ค.ศ. 1991 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้เริ่มจัดทำระบบรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ขึ้น โดยรวบรวมเครื่องใช้จำพวกตู้แช่ตู้เย็นเป็นอย่างแรก เวลาผ่านไปหลายปี ก็เริ่มมีอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้มากขึ้นจนครอบคลุมทุกประเภท กฎหมายหลังปี 1998 และนับตั้งแต่มกราคม 2005 มีความเป็นไปได้ที่จะนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดคืนไปสู่จุดขาย และจุดรวบรวมอื่น ๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ได้มีการก่อตั้งองค์กรหลักสองรับผิดชอบผู้ผลิต (Producer Responsibility Organisations : PRO) สององค์กร คือ SWICO ซึ่งส่วนใหญ่มีภารกิจจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ และ SENS ส่วนใหญ่รับผิดชอบการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ปริมาณรวมของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำไปรีไซเคิลจะเกิน 10 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

สำหรับในสหภาพยุโรปได้ใช้ระบบที่คล้ายกันกับที่กล่าวไว้ใน Waste Electrical and Electronic Equipment Directive (WEEE 2002/96/EC) โดยที่ระเบียบ WEEE ได้กำหนดไว้ในกฎหมายและมีผลแล้วในเวลานี้ ผู้ผลิตจะต้องรับผิดชอบทางการเงินสำหรับอุปกรณ์ตามระเบียบ WEEE ตั้งแต่ 13 สิงหาคม 2005 และเมื่อถึงสิ้นปีที่ผ่านมา (สำหรับสมาชิกใหม่ของอียู ให้เวลาอีกหนึ่งถึงสองปี) ทุกประเทศจะต้องรีไซเคิลขนะอิเล็กทรอนิกส์อย่างน้อย 4 กิโลกรัมต่อหัว หรือต่อประชากร 1 คน นั่นเอง

บทนิยามตาม WEEE directive[1]

ปัญหา[แก้]

ขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นเป็นแหล่งวัสดุดิบชั้นรองที่มีค่า หากมีการดูแล จัดการอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม หากไม่ดูแลจัดการอย่างเหมาะสมแล้ว ก็นับเป็นแหล่งพิษที่ร้ายแรงได้ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้มีต้นทุนเบื้องต้นที่ต่ำ และยังมีการหมดอายุตามที่กำหนด ทำให้เกิดปัญหารวดเร็วมากขึ้นทั่วโลก ปัจจุบันมีวิธีการแก้ปัญหาเชิงเทคนิคหลายประการ แต่จะต้องมีการวางกรอบในเชิงกฎหมาย มีระบบจัดเก็บ ระบบขนส่ง และบริการอื่น ๆ ที่ต้องใช้ก่อนจะนำไปสู่การดำเนินการทางเทคนิค ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในอเมริกาที่นำไปถมที่ดินนั้น มีสัดส่วนราว 2 เปอร์เซ็นต์ แต่ในจำนวนนี้ เป็นขยะพิษถึง 70 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ด้วยสภาพการทำงานและมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีในบางประเทศของเอเชียและแอฟริกา ทำมีการส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้งหรือกำจัดในประเทศเหล่านั้น ซึ่งโดยมากจะเป็นไปโดยผิดกฎหมาย ในประเทศไทยเราก็มีข่าวการส่งขยะเข้ามาทางเรืออยู่เสมอ ๆ กรณีเช่นนี้น่าจะมีการร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่บางคนในหน่วยงานบางแห่งของรัฐด้วย ในกัมพูชาก็มีข่าวถูกนำขยะมาทิ้งเช่นกัน

สำหรับในเดลลีและบังกาลอร์ของอินเดีย และในเมืองกุ้ยหยู มณฑลซานโถว ของจีน มีพื้นที่จัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม การเผา ถอดชิ้นส่วน และทำลายโดยไม่มีการควบคุม ย่อมก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและต่อสุขภาพผู้คนทั่วไป ได้แก่ผลกระทบต่อสุขภาพ และความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ ที่มีผลต่อผู้เกี่ยวข้องโดยตรง อันเนื่องมาจากวิธีการกำจัดขยะเหล่านั้น สำหรับการค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีระเบียบควบคุมโดยอนุสัญญาบาเซิล

ขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีผลเสียเกี่ยวข้องกับเรื่องของสารพิษบางอย่าง โดยเฉพาะหากจัดการไม่ดี พิษเหล่านี้มักจะเป็นโลหะหนัก ชนิดที่มีมากได้แก่ ตะกั่ว ปรอท และแคดเมียม นอกจากนี้ยังมีสารหนู กำมะถัน และสารเคมีอีกเป็นจำนวนมาก แม้กระทั่งจอมอนิเตอร์สำหรับคอมพิวเตอร์โดยทั่วไป ก็มีตะกั่วอยู่ถึง 6 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก ส่วนมากจะอยู่ในแก้วของจอภาพ CRT กล่าวโดยสรุปว่า มีธาตุต่าง ๆ ในขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น 38 ชนิดด้วยกัน ความไม่อยู่ยั่งยืนของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นับเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ต้องมีการรีไซเคิลหรืออาจนำกลับมาใช้ใหม่ (หากจัดการได้เหมาะสม) สำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย

ระบบจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นบรรลุถึงจุดสมบูรณ์เมื่อไม่กี่ปีมานี้ หลังจากได้เพิ่มกฎระเบียบ และเงื่อนไขในการใช้งานเชิงพาณิชย์ ส่วนบุคคล และสาธารณะ และเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง ส่วนหนึ่งของการปฏิวัตินี้เกี่ยวข้องกับความหลากหลายอย่างมหาศาลของขยะอิเล็กทรอนิกส์จากกระบวนการรีไซเคิลแบบย่อยขนาดที่มีความเข้มข้นขึ้น (นั่นคือ การรีไซเคิลแบบเดิม) เมื่ออุปกรณ์ถูกปรับไปเป็นรูปแบบวัตถุดิบ การแปลงนี้ทำได้ด้วยการนำมาใช้ใหม่ (reuse) และปรับใหม่ (refurbish) ข้อดีในแง่สังคมและสภาพแวดล้อมจากการนำมาใช้ใหม่ มีหลายสถานด้วยกัน นั่นคือ ลดความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ และความต้องการที่เทียบเท่ากันสำหรับวัตถุดิบใหม่โดยสิ้นเชิง (โดยที่สภาพภายนอกที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม จะไม่มีผลต่างด้านต้นทุนของวัตถุดิบนั้น) และน้ำบริสุทธิ์ปริมาณมาก รวมทั้งกระแสไฟฟ้าสำหรับการผลิตที่เกี่ยวข้อง การขายแพกเกจต่อหน่วย การมีเทคโนโลยีเพื่อเปิดโอกาสให้สังคมมีความสนใจต่อความรับผิดชอบผลิตภัณฑ์มากขึ้น และลดการนำไปใช้เพื่อถมที่ดินน้อยลง

ความท้าทายยังคงมีอยู่ เมื่อวัสดุนั้นไม่สามารถนำไปใช้ใหม่ได้ การรีไซเคิลแบบเดิม หรือการกำจัดแบบเดิมโดยการนำไปถมในที่ดินจึงเกิดขึ้นตามมา มาตรฐานสำหรับทั้งสองแนวทางนั้นถูกมองจากมุมมองเชิงกฎหมายที่แตกต่างกันมาก ไม่ว่าในประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว ความซับซ้อนของรายการต่าง ๆ ที่จะจัดการทำลาย ต้นทุนระบบรีไซเคิลที่มีผลต่อสภาพแวดล้อม และความต้องการสำหรับการทำงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวมรวบอุปกรณ์ และกระบวนการขั้นตอนอย่างเป็นระบบ คือทรัพยากรที่มีความขาดแคลนมาก แต่ปัจจุบันนี้ มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก พลาสติกจำนวนมากที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้น จะสารติดไฟช้าอยู่ โดยมากจะเป็นฮาโลเจน ที่เติมเข้ากับพลาสติกเรซิน ทำให้พลาสติกเหล่านี้รีไซเคิลยาก

แนวโน้ม[แก้]

เมื่อทศวรรษ 1990 มีบางประเทศในยุโรปได้ออกกฎหมายห้ามนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปถมในที่ดิน และก่อให้เกิดอุตสาหกรรมจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นในยุโรป ครั้นเมื่อต้นปี 2003 สหภาพยุโรป หรืออียู ก็ได้เสนอระเบียบ WEEE และ RoHS สำหรับการใช้ควบคุมในปี 2005 และ 2006 บางรัฐในสหรัฐอเมริกาได้ปรับปรุงนโยบายห้ามใช้จอ CRT ไปถมที่ดิน การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์บางอย่างดำเนินการในสหรัฐอเมริกา กระบวนการนี้อาจเป็นการรื้อถอดชิ้นส่วนเป็นโลหะ พลาสติก และแผ่นวงจร หรือชำแหละเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ นับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมารัฐแคลิฟอร์เนียได้เริ่มใช้ค่าธรรมเนียมการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์กับโทรทัศน์และมอนิเตอร์ใหม่ทุกรุ่นที่จำหน่ายไป เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนการรีไซเคิลด้วย สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของจอมอนิเตอร์นั่นเอง อัตราดังกล่าวยังมีการปรับปรุงเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2005 เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการรีไซเคิลที่แท้จริง

โรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยทั่วไปที่พบในประเทศอุตสาหกรรมบางประเทศนั้นอาศัยการถอดชิ้นส่วนอุปกรณ์ออกมาก่อน ซึ่งมีกำลังทำงานเพิ่มขึ้นสำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก โดยใช้ต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ วัสดุที่ถูกป้อนเข้าเครื่องกำจัดขยะ ซึ่งจะผ่านไปตามสายพาน จะถูกส่งไปยังเครื่องคัดแยกเชิงกล และมีเครื่องคัดกรองอีกหลายชั้น เครื่องจักรรีไซเคิลทั้งหมดจะถูกปิดคลุมและใช้ระบบกักฝุ่น ปัจจุบันนี้ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รวมทั้งไต้หวัน ต่างก็กำหนดให้ผู้ขายและผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีส่วนรับผิดชอบในการรีไซเคิลขยะจากผลิตภัณฑ์ของตนถึงร้อยละ 75% ของจำนวนทั้งหมดที่ผลิตหรือขาย

หลายประเทศในเอเชีย ก็เริ่มตื่นตัวในเรื่องการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์กันแล้ว บางประเทศได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวอย่างชัดเจน ขณะที่บางประเทศก็อยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อหาแนวทางแก้ไขอันเป็นมาตรการที่เหมาะสมที่สุด ทั้งในส่วนของการประหยัดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด หรือเสนอร่างให้แก่สภานิติบัญญัติ ส่วนในสหรัฐอเมริกา สภาคองเกรสอยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมายขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในจำนวนนี้ มีกฎหมายรีไซเคิลคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National Computer Recycling Act) ที่เสนอโดย วุฒิสมาชิกไมค์ ทอมป์สัน (Mike Thompson) (D-CA) รวมอยู่ด้วย ขณะที่หลายรัฐของเมริกาก็ได้เสนอและผ่านร่างกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้วเช่นกัน ทั้งนี้ แคลิฟอร์เนียนับเป็นรัฐแรกที่เสนอกฎหมายดังกล่าว ตามมาด้วยรัฐแมรีแลนด์ รัฐเมน รัฐวอชิงตัน และรัฐมินเนสโซตา

เดิมนั้น การใช้ผลผลิตจากอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างไม่มีแบบแผน ผลิตภัณฑ์ที่เลิกใช้จะถูกทิ้งรวมกับขยะอื่น ๆ ซึ่งมีข่าวให้ได้ยินอยู่เนือง ๆ ทั้งขยะพิษ ขยะกัมมันตรังสี และขยะที่อันตรายที่ระเบิดได้ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งสิ้น สำหรับขยะพิษจากสารเคมี หรือโลหะหนักอันตรายนั้นจะต้องกำจัดด้วยวิธีพิเศษ เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการรณรงค์กำจัดแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ แต่เมื่อนานวันเข้า ก็หลง ๆ ลืม ๆ กันไป ส่วนการกำจัดขยะอื่น เช่น หลอดไฟฟลูออเรสเซนส์ ก็เคยมีการรณรงค์ก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ หรือการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ทำให้การแยกขยะทำได้ยาก หรือแทบไม่ได้ทำ

แนวทางการแก้ปัญหานั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้ผลิตและและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำหน้าอยู่แล้ว ย่อมรู้มาตรการและขั้นตอนการกำจัดขยะเหล่านี้เป็นอย่างดี แต่เมื่อรัฐบาลบางประเทศไม่มีมาตรการป้องกัน หรือระเบียบที่รัดกุม ผู้ผลิตก็อาจละเลย เพราะการมีขั้นตอนเพิ่มสำหรับการกำจัดขยะ ย่อมเป็นการเพิ่มต้นทุนไม่มากก็น้อย

ในส่วนของผู้ใช้ หากมีสถานที่รองรับขยะที่ชัดเจน ก็ควรให้ความสำคัญกับปัญหาเหล่านี้ให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การมีตัวอย่างที่เลวร้าย เป็นกรณีศึกษาและเป็นภาพเตือนใจที่ดี ทำให้สังคมตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้มากขึ้น

หากร้านค้า หรือจุดจำหน่ายสินค้า มีภาชนะสำหรับรับทิ้งขยะจากผลิตภัณฑ์ของตน ก็สามารถช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้มาก และหากขยายขั้นตอนโดยเพิ่มความร่วมมือในหมู่ผู้ผลิตหลาย ๆ ราย ผู้ใช้สามารถทิ้งขยะหลายชนิดในจุดเดียว เพิ่มความสะดวก และน่าจะได้รับความร่วมมือมากขึ้นด้วย

ธาตุที่มีอยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์[แก้]

ธาตุที่มีมาก[แก้]

ตะกั่ว ดีบุก ทองแดง ซิลิกอน คาร์บอน เหล็ก อะลูมิเนียม

ธาตุที่มีปริมาณน้อย[แก้]

แคดเมียม ปรอท

ธาตุที่มีอยู่บ้างเล็กน้อย[แก้]

เจอร์เมเนียม แกลเลียม แบเรียม นิกเกิล แทนทาลัม อินเดียม วานาเดียม เทอร์เบียม เบริลเลียม ทองคำ ยูโรเพียม ไทเทเนียม รูทีเนียม โคบอลต์ แพลเลเดียม แมงกานีส เงิน พลวง บิสมัท ซีลีเนียม ไนโอเบียม อิตเทรียม โรเดียม แพลตทินัม สารหนู ลิเทียม โบรอน อะเมริเซียม

ตัวอย่างอุปกรณ์ที่มีธาตุเหล่านี้[แก้]

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทบทั้งหมดจะมีตะกั่วและดีบุก (จากการบัดกรี) และทองแดง (จากสาย และลายวงจรพิมพ์) แม้ว่าการบัดกรีแบบไม่ใช้ตะกั่วตะแพร่หลายรวดเร็วในปัจจุบันก็ตาม

  • ตะกั่ว : ลวดบัดกรี จอมอนิเตอร์ CRT (ตะกั่วในแก้ว) แบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด
  • ดีบุก : ลวดบัดกรี
  • ทองแดง : สายทองแดง ลายทองแดงบนแผ่นวงจรพิมพ์
  • อะลูมิเนียม : สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เกือบทั้งหมดจะใช้กำลังไฟฟ้ามากกว่าสองสามวัตต์ จึงต้องใช้แผ่นครีบระบายความร้อน (heatsink)
  • เหล็ก : โครงเหล็กกล้า, ตัวถัง ชิ้นส่วนภายนอก
  • ซิลิกอน : แก้ว ทรานซิสเตอร์ ไอซี แผ่นวงจรพิมพ์
  • นิกเกิล แคดเมียม : แบตเตอรี่นิกเกิล-แคดเมียมแบบชาร์จได้
  • ลิเทียม : แบตเตอรีลิเทียม-ไอออน
  • สังกะสี : ชุบส่วนเหล็กกล้า
  • ทองคำ : ชุบขั้วต่อ, เดิมใช้ในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
  • อะเมริเซียม : เตือนควัน (แหล่งกัมมันตรังสี)
  • เจอร์เมเนียม : ในทศวรรษ 1950 – 1960 มีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ทรานซิสเตอร์มาก
  • ปรอท : หลอดฟลูออเรสเซนต์ (มีการใช้งานที่หลากหลาย) สวิตช์เอียง (tilt switches), เกมพินบอลล์, ที่กดกริ่งประตูแบบเชิงกล
  • กำมะถัน : แบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด
  • คาร์บอน : เหล็กกล้า พลาสติก รีซิสเตอร์ ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทบทุกชิ้น

อ้างอิง[แก้]

  1. Directive 2002/96/EC of the European Parliament and of the Council, Official Journal of the European Union: หน้า 33. เข้าถึงเมื่อ 31 ธันวาคม 2556 จาก Access to European Union law: http://eur-lex.europa.eu/LexUriServ/LexUriServ.do?uri=CONSLEG:1975L0442:20031120:EN:PDF

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]