ก.ศ.ร. กุหลาบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ก.ส.ร. กุหลาบ)
กุหลาบ ตฤษณานนท์
เกิด23 มีนาคม พ.ศ. 2377
เมืองพระนคร อาณาจักรรัตนโกสินทร์
เสียชีวิตพ.ศ. 2464 (87 ปี)
เมืองพระนคร ประเทศสยาม
นามปากกาก.ศ.ร. กุหลาบ
อาชีพนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักประวัติศาสตร์
คู่สมรสหุ่น
เปรม
บุตร11 คน

ก.ศ.ร. กุหลาบ (23 มีนาคม พ.ศ. 2377 - พ.ศ. 2464) มีนามเดิมว่า กุหลาบ ตฤษณานนท์ (หนังสือบางเล่มเขียนว่า ตรุษ ตฤษณานนท์)[1][2] เป็นนักหนังสือพิมพ์ นักประวัติศาสตร์ ผู้นำเสนอความคิดเห็นทางการเมืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประวัติ[แก้]

กุหลาบเกิดในครอบครัวขุนนางเก่ามาแต่กรุงศรีอยุธยา[3] เป็นบุตรชายของเส็ง ลูกจีนที่เกิดในไทย กับมารดาชื่อตรุษ เป็นหญิงเชื้อสายลาวเวียงจันทน์[4] เกิดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2377 ณ เมืองพระนคร ที่โรงนาข้างวัดประดู่ มีพี่น้อง 13 คน กุหลาบเป็นคนสุดท้อง เมื่ออายุได้สี่ขวบ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากินรี พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงขอไปเป็นบุตรบุญธรรม และเติบโตในวังหลวง เมื่อโตขึ้นจึงออกมาอยู่นอกวังในฐานะมหาดเล็กวังนอก บรรพชาเป็นสามเณร โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเป็นองค์อุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า เกศโร ซึ่งต่อมาได้นำชื่อนี้มาเป็นชื่อหน้าของตนตามแบบตะวันตกว่า ก.ศ.ร. กุหลาบ[4][5]

นายฝรั่งได้พานายกุหลาบเดินทางไปติดต่อค้าขายในประเทศใกล้เคียง เช่น สิงคโปร์ ปีนัง สุมาตรา มะนิลา ปัตตาเวีย มาเก๊า ฮ่องกง กัลกัตตา และเคยเดินทางไปประเทศอังกฤษ ด้วยครั้งนั้น[5]

กุหลาบมีโอกาสได้เดินทางไปกับขุนนางไทยอีกครั้งในฐานะพนักงานบัญชี ไปประเทศจีนและญี่ปุ่น หยุดพักที่ไซ่ง่อน เพื่อจัดหาซื้อของสำหรับงานพระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ไปยังเมืองพระนคร[5]

เนื่องจากนายกุหลาบได้ใช้ชีวิตอยู่ในวังมานาน จึงได้รับอนุญาตจากกรมหลวงบดินทร แล้วมีโอกาสได้อ่านหนังสือตำราภาษาไทยจำนวนมาก และได้แอบคัดลอกหนังสือเหล่านั้น ทั้งพงศาวดาร และชีวประวัติบุคคลสำคัญ ออกมาพิมพ์เผยแพร่ให้กับบุคคลภายนอก โดยพยายามปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องและถ้อยคำของหนังสือใหม่ เพื่อไม่ให้ถูกจับได้ บ้างก็ว่ากุหลาบได้แต่งเนื้อเรื่องขึ้นมาเองอย่างไม่เหมาะสม[6]

กุหลาบเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามออบเซิร์ฟเวอร์ และได้ออกหนังสือพิมพ์ชื่อ "สยามประเภท" ในปี พ.ศ. 2440 เขียนบทความวิพากษ์สังคม เสียดสีชนชั้นสูงที่ทำตัวฟุ้งเฟ้อ อีกทั้งยังมีแนวคิดแบบพวกหัวก้าวหน้า ซึ่งได้รับอิทธิพลจากตะวันตก จึงเป็นที่เพ่งเล็งจากทางการ แต่โชคดีที่ไม่ได้ถูกลั่นแกล้งจนต้องติดคุกเหมือน เทียนวรรณ แต่กลับถูกส่งตัวไปรักษาโรงพยาบาลอาการทางจิตแทน[7][4]

ช่วงปั้นปลายชีวิต ก.ศ.ร. กุหลาบ ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ เมื่อปี พ.ศ. 2464 สิริอายุรวมได้ 87 ปี[3]

ชีวิตครอบครัว[แก้]

บิดาของเขาชื่อ เส็ง มีเชื้อสายจีน ส่วนมารดาชื่อตรุษ มีเชื้อสายลาวทางฟากเวียงจันทน์ ขณะตัวอักษรย่อนำหน้าชื่อ ‘ก.ศ.ร.’ มาจากฉายา ‘เกศโร’ ตอนเขาบวชพระ ทางด้านชีวิตครอบครัว ตอนอายุ 25 ปี กุหลาบได้สมรสกับหุ่น ธิดาของพระพี่เลี้ยงคง ทั้งสองร่วมเรียงเคียงหมอนจนมีบุตรธิดาด้วยกัน 9 คน เป็นผู้หญิง 8 คน และมีลูกชายคนเดียวซึ่งก็คือ ชาย หรือ ก.ห.ชาย

หลังจากหุ่นตาย กุหลาบสมรสใหม่กับเปรม มีบุตรธิดาด้วยกันอีก 2 คน[4][5]

แนวคิดและการเคลื่อนไหวทางการเมือง[แก้]

จากการที่นายกุหลาบได้ปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่อง (หรือแต่งเนื้อเรื่องขึ้นมาเองอย่างไม่เหมาะสม) และเสียดสีชนชั้นสูง จึงทำให้พระบรมวงศานุวงศ์ในรัชกาลที่ 5 ไม่พอพระทัย และใช้คำว่า "กุ" ซึ่งเป็นพยางค์ขึ้นต้นของชื่อนายกุหลาบ มาเป็นศัพท์สแลง ที่แปลว่าโกหก หรือสร้างเรื่อง[6] แล้วเป็นบุคคลทรงคุณวุฒิแนวคิดต่อรัฐบุรุษ ปรีดี พนมยงค์ สมัยเด็กนักเรียนจนจบระดับมัธยมศึกษา[8]

ผลงาน[แก้]

รายชื่อบทความ ปาฐกถา และหนังสือต่างๆ ที่เป็นผลงานของ ก.ศ.ร. กุหลาบ เช่น[9]

  • ปฐมวงศ์ ฉบับของ ก.ศ.ร. กุหลาบ
  • นิตยสาร สยามประเภท (เริ่มออกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ร.ศ. 116 ตรงกับ พ.ศ. 2440)[10]
  • มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ ว่าด้วยลำดับวงศ์ตระกูลขุนนางไทยทั้งสิ้นในแผ่นดินสยาม
  • ต้นวงศ์ตระกูลพะญาศรีสหเทพชื่อทองเพ็ง
  • อภินิหารบรรพบุรุษ ฉบับของ ก.ศ.ร. กุหลาบ[11]
  • บาญชีหนังสือไทยต่างๆ ๑๕๐ เรื่อง ตั้งในกานนาเขนแนลเอกซฮิบิเช่อน ณ ท้องสนามหลวงในการเฉลิมพระนคร ตั้งแต่สร้างกรุงเทพมหานครบรรจบครบร้อยปี ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๔๔
  • เรื่องขุดคลองต่างๆ
  • เฉลิมพระเกียรติกรุงสยาม
  • อานามสยามยุทธ์[12]
  • นิตยสาร ดับทุกข์มีสุข
  • พระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ในหนังสือ อภินิหารบรรพบุรุษ ฉบับของ ก.ศ.ร. กุหลาบ)
  • ระยะทางราชทูตไทยไปกรุงปักกิ่ง[13]
  • นิราศยี่สาร[14]
  • ปาฐกถาเรื่อง การครองจีวรของพระธรรมยุติและพระมหานิกาย ณ วิทยาทานสฐาน
  • วิเคราะห์ เรื่อง คนไทยตัดผมแต่งตัวอย่างไร
  • อธิบดี
  • บำรุงปัญญาประชาชน
  • หนังสือพิมพ์ สยามออบเซอร์เวอร์ (ออกระหว่าง พ.ศ. 2442-2475)
  • ปฐมบรรพบุรุศย์-ดิกชันนาเรพระนามเจ้าต่างกรม ๓๖๔ พระองค์เรียงตามอักษร ก.-ฮ.
  • ธรรมวิทยานุศาสน์ ตำราบวชพระ-เณร

อ้างอิง[แก้]

  1. มาลี บุญศิริพันธ์. เสรีภาพหนังสือพิมพ์ไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548. 333 หน้า. หน้า 26. ISBN 978-974-5719-58-3
  2. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. วารสารธรรมศาสตร์. 17-18, (2533): ไม่ปรากฎเลขหน้า.
  3. 3.0 3.1 นามานุกรมวรรณคดีไทย
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 ย้อนตำนาน ‘นักกุเรื่อง’ และเรื่องอ่านเล่นสะท้อนความเป็น ‘คนตลก’ ของบุตรชาย ก.ศ.ร. กุหลาบ Posted On 8 November 2018
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 นาย ก.ศ.ร. กุหลาบ แห่งกรุงสยาม
  6. 6.0 6.1 กุ ลอบ ลอก แต่งแบบไพร่ๆ ความผิดของ ก.ศ.ร. กุหลาบที่ตัดสินโดยนักประวัติศาสตร์อำมาตย์
  7. “รายงานการประชุมปาลิเมนต์สยาม” พระราชนิพนธ์ร.6 ล้อเลียน ก.ศ.ร.กุหลาบ-เทียนวรรณ? ศิลปวัฒนธรรม สืบค้นเมื่อ 25 มิถุนายน 2564
  8. ปรีดีเคยเจอเขาทั้งสอง ! ก.ศ.ร. กุหลาบ และ เทียนวรรณ สถาบันปรีดี สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2563
  9. บุญพิสิฐ ศรีหงส์. นาย ก.ศ.ร. กุหลาบแห่งกรุงสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560. 376 หน้า. ISBN 978-974-0215-66-0
  10. กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (พฤศจิกายน, 2563). ศิลปวัฒนธรรม: 18.
  11. นิธิ เอียวศรีวงศ์. "เชิงอรรถ บทที่ ๒", การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547. 632 หน้า. หน้า 188. ISBN 978-974-3230-56-1
  12. บัณฑิต ลิ่วชัยชาญ. "ภัยฝรั่ง" สมัยพระนั่งเกล้าฯ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550. 190 หน้า. หน้า 9. ISBN 978-974-0200-04-8
  13. คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย. แถลงงานประวัติศาสตร์เอกสารโบราณคดี เล่มที่ 7-9. พระนคร : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี, 2516.
  14. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ, ศิรประภา ดารามาตร์ และคณะ. สังคมและวัฒนธรรมชุมชนคนยี่สาร. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร, 2545. 273 หน้า. หน้า 233. ISBN 978-974-9044-37-7

บรรณานุกรม[แก้]

  • สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. การเมืองการปกครองไทย พ.ศ. ๑๗๖๒ - ๒๕๐๐. กรุงเทพ : คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, พ.ศ. 2547. 801 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-92371-5-3
  • ธงชัย วินิจจะกูล, "กุ ลอบ ลอก แต่งแบบไพร่ๆ: ความผิดของ ก.ศ.ร. กุหลาบที่ตัดสินโดยนักประวัติศาสตร์อำมาตย์," อ่าน ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (มกราคม-มีนาคม 2554), หน้า 12-28.
  • บุญพิสิฐ ศรีหงส์ (ค้นคว้า) กองบรรณาธิการ (เรียบเรียง), "แกะปมจินตภาพ ก.ศ.ร. กุหลาบ จากพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ," อ่าน ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (มกราคม-มีนาคม 2554), หน้า 29-31.
  • บุญพิสิฐ ศรีหงส์. นาย ก.ศ.ร.กุหลาบ แห่งกรุงสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2560.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]