ข้ามไปเนื้อหา

ก่อนปีศาจปิดบาปบัญชี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ก่อนปีศาจปิดบาปบัญชี
ใบปิดภาพยนตร์
กำกับซิดนีย์ ลูเมต
เขียนบทเคลลี มาสเตอร์สัน
อำนวยการสร้างไมเคิล เซเรนซี
ไบรอัน ลินส์
วิลเลียม เอส. กิลมอร์
พอล พาร์มาร์
นักแสดงนำฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน
อีธาน ฮอว์ก
เมริซา โทเม
อัลเบิร์ต ฟินนีย์
โรสแมรี ฮาร์ริส
กำกับภาพรอน ฟอร์ทูนาโต
ตัดต่อทอม สวาร์ตเวาต์
ดนตรีประกอบคาร์เตอร์ เบอร์เวลล์
ผู้จัดจำหน่ายทิงก์ฟิล์ม
วันฉายสหรัฐ 26 ตุลาคม 2550
ความยาว123 นาที
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง$18,000,000
ทำเงิน$25,005,257
ข้อมูลจาก All Movie Guide
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากสยามโซน

ก่อนปีศาจปิดบาปบัญชี (อังกฤษ : Before the Devil Knows You're Dead) คือภาพยนตร์อเมริกันปี พ.ศ. 2550 แนวอาชญากรรม-ชีวิต-ครอบครัว ประพันธ์บทโดยเคลลี มาสเตอร์สัน และกำกับโดยซิดนีย์ ลูเมต นำแสดงโดยฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน อีธาน ฮอว์ก เมริซา โทเม และอัลเบิร์ต ฟินนีย์ ชื่อของเรื่องนี้มาจากคำพูดของชาวไอร์แลนต์ที่ว่า "May you be in heaven a full half hour before the devil knows you're dead." ตัวภาพยนตร์ได้รับการเล่าเรื่องโดยไม่เรียงลำดับเวลา และบางฉากก็ถูกนำเสนอซ้ำกันโดยเสนอผ่านมุมมองที่ต่างกัน

เนื้อเรื่องย่อ

[แก้]

หมายเหตุ : เนื้อเรื่องย่อต่อไปนี้จะเล่าตามลำดับเวลา ซึ่งต่างจากวิธีการเล่าเรื่องในภาพยนตร์

เรื่องเล่าถึงสองพี่น้องตะกูลแฮนสันที่กำลังมีปัญหาทางการเงินทั้งคู่ โดยแอนดี แฮนสัน (ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน) ผู้ที่มีอาชีพเป็นผู้บริหารฝ่ายการเงินของบริษัทแห่งหนึ่ง ต้องการเงินอย่างเร่งด่วนเพื่อมาปกปิดเงินทุนที่เขาได้ยักยอกไปจากหัวหน้างานของเขา ก่อนที่เขาจะถูกตรวจสอบ และแฮงก์ แฮนสัน (อีธาน ฮอว์ก) น้องชายของแอนดี ก็ต้องการเงินเพื่อใช้เลี้ยงดูลูกสาวและปลดหนี้สินที่มีต่ออดีตภรรยา

วันหนึ่ง แอนดีได้วางแผนร่วมกับแฮงก์ว่าจะหาเงินโดยการไปปล้นร้านขายเครื่องประดับของบิดาและมารดาของเขา โดยจะให้แฮงก์เป็นผู้เข้าไปปล้น ในตอนแรกแฮงก์ไม่ยอมรับแผนการนี้ แต่หลังจากที่แอนดีรับรองว่าการปล้นจะไม่สร้างอันตรายกับใคร ปืนที่จะให้ใช้ในการปล้นก็ขอให้เป็นปืนของเล่น ภายในร้านก็มีแต่ดอริสพนักงานขายหญิงมีอายุที่ช่วยร้านอยู่เท่านั้น และของที่ปล้นมาทั้งหมดทางประกันก็จะชดใช้ให้บิดามารดาของพวกเขาเอง แฮงก์ก็ตกลงรับหน้าที่ในการปล้นครั้งนี้อย่างไม่เต็มใจนัก

โดยไม่มีการปรึกษากับแอนดี แฮงก์ได้จ้างบอบบี ลาซอร์ดา (ไบรอัน เอฟ. โอ'บายน์) คนรู้จักซึ่งมีประสบการณ์ในการเป็นโจรมาก่อนมาช่วยเขาปล้น โดยในวันที่ปล้นนั้น บอบบีตัดสินใจที่จะใช้ปืนจริงและขอแฮงก์เข้าไปปล้นคนเดียว โดยให้แฮงก์รอเขาอยู่ในรถที่แฮงก์เช่ามาเพื่อการปล้นครั้งนี้โดยเฉพาะ เมื่อบอบบีเข้าไปปล้น ผู้ที่เขาพบนั้นคือนาเนตต์ แฮนสัน (โรสแมรี ฮาร์ริส) ผู้ซึ่งเป็นมารดาของแอนดีและแฮงก์เอง โดยวันที่มีการปล้นนั้น เธอได้เข้ามาทำงานแทนดอริสที่ติดธุระ เหตุการณ์การปล้นสิ้นสุดลงที่บอบบีถูกนาเนตต์ยิงเสียชีวิต ส่วนนาเนตต์เองก็อยู่ในอาการโคม่าเนื่องจากถูกบอบบียิงเช่นกันและเสียชีวิตในอีกสัปดาห์ต่อมาหลังจากที่ชาร์ลส์ แฮนสัน (อัลเบิร์ต ฟินนีย์) สามีของเธอและบิดาของแอนดีและแฮงก์ยินยอมให้แพทย์ผู้ดูแลอาการเธอถอดเครื่องช่วยหายใจออก

หลังจากการเสียชีวิตของนาเนตต์ ชาร์ลส์ตัดสินใจออกสืบหาคนที่มีส่วนในการปล้นร้านเครื่องประดับด้วยตัวเองหลังจากที่ไม่พอใจการช่วยเหลือของตำรวจ ส่วนแฮงก์นั้นก็ถูกตำหนิโดยแอนดี และถูกเดกซ์ (ไมเคิล แชนนอน) พี่เขยของบอบบีขู่เอาค่าชดเชยจากการเสียชีวิตของน้องเขยของเขาเพื่อมาใช้เป็นค่าเลี้ยงดูคริส ลาซอร์ดา (อเลกซา พัลลาดิโน) ภรรยาหม้ายของบอบบี

สำหรับแฮงก์ เขามีความสัมพันธ์อย่างลับ ๆ กับจีนา แฮนสัน (เมริซา โทเม) ภรรยาของแอนดี ซึ่งตอนค่อนเรื่องเธอได้ขอเลิกกับแอนดีเพราะไม่พอใจในความสัมพันธ์ที่มีให้กันและได้เปิดเผยความลับของเธอกับแฮงก์ให้แอนดีได้ทราบด้วย

หลังจากที่แอนดีรับทราบเรื่องที่แฮงก์ถูกเดกซ์ข่มขู่ เขาก็ตัดสินใจแก้สถานการณ์ด้วยการไปหาเงินไปชดใช้ให้เดกซ์โดยใช้วิธีการไปปล้นเงินจากพ่อค้ายาเสพติดของเขาเอง เมื่อได้เงินมาแล้ว ทั้งแอนดีและแฮงก์ก็เดินทางไปพบกับเดกซ์เพื่อชดใช้เงินให้ แต่แอนดีกลับหุนหันฆ่าเดกซ์เพราะกลัวว่าจะถูกเปิดโปงความผิดไปเสียก่อนและพยายามจะฆ่าคริสตาม แฮงก์ได้ห้ามแอนดีเอาไว้โดยได้กล่าวว่าหากจะฆ่าคริสให้ฆ่าเขาก่อน เมื่อได้ยินดังนั้น แอนดีจึงชี้ปืนไปที่แฮงก์และเผยว่าเขารู้เรื่องที่แฮงก์เป็นชู้กับภรรยาของเขาแล้ว ก่อนที่แอนดีจะเหนี่ยวไกปืน คริสได้นำเอาปืนของเดกซ์มายิงใส่แอนดีจนได้รับบาดเจ็บ ส่วนแฮงก์ก็ทิ้งพี่ชายของเขาและวิ่งหนีไปพร้อมกับเงินจำนวนหนึ่ง

ก่อนเหตุการณ์ที่แอนดีถูกยิง ชาร์ลส์พ่อของเขาได้สืบหาหลักฐานจนพบว่าแอนดีมีส่วนในการปล้นครั้งนั้นด้วย เมื่อแอนดีถูกส่งไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาบาดแผลจากการถูกยิง ชาร์ลส์ได้เข้าไปเยี่ยมเขา แอนดีที่กำลังอ่อนแรงอยู่บนเตียงคนไข้ได้ขอโทษต่อชาร์ลส์ในทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ต้องบาดหมางกันและกล่าวว่า การตายของนาเนตต์เป็นอุบัติเหตุ เมื่อได้ยินดังนั้น ชาร์ลส์ก็ให้อภัยเขาแต่ทว่าเขาก็ตัดสินใจฆ่าแอนดีโดยใช้หมอนมาปิดหน้าของแอนดีจนหายใจไม่ออกและเสียชีวิตในที่สุด

นักแสดง

[แก้]
อีธาน ฮอว์ก (ซ้าย) และฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน (ขวา) สองนักแสดงนำในภาพยนตร์เรื่องนี้

การผลิต

[แก้]

ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้การถ่ายทำด้วยวิดีโอความละเอียดสูงที่ลูเมต ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เคยทดลองใช้มาแล้วกับภาพยนตร์ชุดเรื่อง 100 Centre Street ที่ตัวเขาเองเป็นผู้กำกับและฉายทางโทรทัศน์ในสหรัฐอเมริกาไปเมื่อปี พ.ศ. 2544-2545[1] ส่วนสถานที่ถ่ายทำในฉากหลัก ๆ นั้นอยู่ภายในรัฐนิวยอร์กทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นฉากร้านเครื่องประดับของชาร์ลส์และนาเนตต์ที่ถ่ายทำที่ศูนย์การค้าเบย์เทอร์เรซในเบย์ไซด์ เขตควีนส์ หรือฉากห้องทำงานของแอนดีที่ถ่ายทำกันในอาคารทรัมป์เวิลด์ทาวเวอร์ปีกตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งสามารถสันนิษฐานได้จากภาพของอาคารไครส์เลอร์และอาคารเอมไพร์สเตทที่ปรากฏผ่านหน้าต่างของห้องในฉากนี้

การเข้าฉาย

[แก้]

ก่อนปีศาจปิดบัญชีบาป ฉายรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2550 ที่เทศกาลโดวีลแห่งโรงภาพยนตร์อเมริกัน (Deauville Festival of American Cinema) ในประเทศฝรั่งเศส และได้ตระเวนฉายในเทศกาลภาพยนตร์ต่าง ๆ หลายเทศกาล เช่น เทศกาลภาพยนตร์โทรอนโตเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2550 หรือเทศกาลภาพยนตร์นิวยอร์กเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมปีเดียวกัน เป็นต้น[2]

ส่วนการฉายในระบบบอกซ์ออฟฟิส ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในสหรัฐอเมริกาในวันที่ 26 ตุลาคม 2550 โดยฉายแบบจำกัดโรงภาพยนตร์เพียงสองโรงเท่านั้น ซึ่งนอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว หนังเรื่องนี้ยังถูกนำไปฉายในประเทศอื่น ๆ ด้วย เช่น ฝรั่งเศส ไต้หวัน ออสเตรเลีย เปรู เป็นต้น[2] โดยมีรายรับรวมในสัปดาห์แรกที่เข้าฉาย (ภายในสหรัฐอเมริกา) 73,837 ดอลลาร์สหรัฐ[3] และมีรายรับรวมทั้งหมดจากการฉายทั่วโลก 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[4]

ปฏิกิริยาตอบรับ

[แก้]

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยได้รับการวิจารณ์ผ่านเว็บไซต์รอตเทนโทเมโทส์คิดเป็นร้อยละ 88 จากผู้วิจารณ์ 135 คน (รวบรวมเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2551)[5] และได้รับคะแนนเฉลี่ยจากผู้วิจารณ์ 36 คนในเว็บไซต์เมตาคริติค 84 คะแนนจากทั้งหมด 100 คะแนน[6]

ทางด้านนักวิจารณ์ภาพยนตร์อาชีพอย่างริชาร์ด สคิคเคล จากนิตยสารไทม์ ที่จัดให้ภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ในอันดับที่ 3 ของภาพยนตร์ที่ดีที่สุดแห่งปี พ.ศ. 2552 ก็ได้กล่าวว่า "ในระดับหนึ่ง หนังทำหน้าที่สำรวจความผิดปกติภายในหน่วยครอบครัวที่ซับซ้นได้อย่างสวยงาม และอีกระดับหนึ่ง มันมาทำหน้าที่ควบคุมการทดสอบการก่ออาชญากรรมที่ไม่มีความชำนาญและปัญญาอ่อนได้อย่างเยือกเย็น แต่ไม่ว่าจะมองระดับใด หนังเรื่องนี้ก็เป็นผลงานจากหนึ่งในปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สามารถสะกดพวกเราได้อยู่หมัด"[7] ส่วนโรเจอร์ เอเบิร์ต ที่ได้จัดให้ภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ในระดับภาพยนตร์ 4 ดาวนั้น เรียกภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า "ยอดเยี่ยม" (superb) และผู้กำกับ ซิดนีย์ ลูเมต ก็คือ "สมบัติที่มีชีวิต"[8]

ต่อไปนี้คือรายชื่อนักวิจารณ์ที่จัดให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็น 1 ใน 10 อันดับภาพยนตร์แห่งปี พ.ศ. 2550[9]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. Karina Longworth. "NYFF: Sidney Lumet Joins The Death of Celluloid Brigade เก็บถาวร 2007-10-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," blog.spout.com เรียกข้อมูล 16 ตุลาคม 2552
  2. 2.0 2.1 ดู "Release dates for Before the Devil Knows You're Dead (2007)," www.imdb.com เรียกข้อมูล 16 ตุลาคม 2552
  3. "Before the Devil Knows You're Dead (2007) - Weekend Box Office Results," boxofficemojo.com เรียกข้อมูล 17 ตุลาคม 2552
  4. "Before the Devil Knows You're Dead (2007)," boxofficemojo.com เรียกข้อมูล 17 ตุลาคม 2552
  5. "Before the Devil Knows You're Dead Movie Reviews, Pictures," www.rottentomatoes.com เรียกข้อมูล 17 ตุลาคม 2552
  6. "Before the Devil Knows You're Dead reviews at Metacritis.com เก็บถาวร 2010-02-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," www.metacritic.com เรียกข้อมูล 17 ตุลาคม 2552
  7. Richard Schickel. "Top 10 Movies (Richard Schickel) เก็บถาวร 2009-03-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," www.time.com เรียกข้อมูล 18 ตุลาคม 2552
  8. Roger Ebert. "Before the Devil Knows You're Dead เก็บถาวร 2012-09-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," rogerebert.suntimes.com (November 2, 2007.) เรียกข้อมูล 18 ตุลาคม 2552
  9. "Metacritic: 2007 Film Critic Top Ten Lists เก็บถาวร 2008-01-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," www.metacritic.com เรียกข้อมูล 18 ตุลาคม 2552

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]