กิ้งก่าหนาม
กิ้งก่าหนาม | |
---|---|
กิ้งก่าหนามสวย (P. solare) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ไฟลัมย่อย: | Vertebrata |
ชั้น: | Reptilia |
อันดับ: | Squamata |
อันดับย่อย: | Lacertilia |
วงศ์: | Iguanidae |
วงศ์ย่อย: | Phrynosomatinae |
สกุล: | Phrynosoma Wiegmann, 1828 |
ชนิด | |
|
สำหรับกิ้งก่าหนามชนิดที่พบในทะเลทรายของออสเตรเลีย ดูที่: กิ้งก่าปีศาจหนาม
กิ้งก่าหนาม (อังกฤษ: Horned lizards) เป็นสัตว์เลื้อยคลานประเภทกิ้งก่าจำพวกหนึ่ง จัดอยู่ในสกุล Phrynosoma ในวงศ์ย่อยกิ้งก่าหนามอเมริกาเหนือ (Phrynosomatinae)[1] ในวงศ์อีกัวนา (Iguanidae) [2])
มีรูปร่างตัวอ้วนป้อม ลำตัวสั้น หางสั้น แลดูคล้ายกบหรือคางคก มีลักษณะเด่น คือ มีหนามสั้น ๆ อยู่รอบลำตัวและส่วนหัว ซึ่งพัฒนามาจากเกล็ด ในส่วนที่เป็นเขาจริง ๆ เป็นกระดูกแข็งมีอยู่ส่วนหัว
กระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่แห้งแล้งที่เป็นทะเลทรายทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาต่อกับภาคเหนือของเม็กซิโก เช่น เท็กซัส และนิวเม็กซิโก มีพฤติกรรมที่อยู่เฉย ๆ นิ่ง ๆ กับพื้น เมื่อเคลื่อนที่ก็ช้ากว่ากิ้งก่าทั่วไป หากินแมลงเล็ก ๆ เช่น มด ด้วยการนิ่งอยู่เฉย ๆ แล้วตวัดกินเอา
กิ้งก่าหนามมีวิธีการป้องกันตัวที่นับได้ว่าหลากหลายและแปลกประหลาดมากอย่างหนึ่ง ในอาณาจักรสัตว์โลกทั้งหมด เมื่อถูกคุกคาม สามารถที่จะพองตัวขึ้นมาเพื่อให้หนามเล็ก ๆ บนตัวทิ่มแทงผู้รุกรานได้ รวมถึงการเปลี่ยนสีเพื่อพรางตัวกลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นพื้นกรวดทรายหรือพุ่มไม้เตี้ย ๆ ได้อย่างดีเยี่ยมและรวดเร็ว อีกทั้งยังมีเส้นขีดสีขาว 2 เส้น บนหลังที่ดูคล้ายกับกิ่งไม้หรือหญ้าแห้ง ๆ อีกด้วย
และการป้องกันตัวที่พิเศษที่สุด คือ การสามารถพ่นเลือดออกจากตาเพื่อไล่ผู้รุกรานให้หนีไปได้ด้วย ในเลือดนั้นมีสารเคมีบางอย่างที่ยังไม่มีการศึกษาไปถึงว่าเป็นอะไร แต่เป็นสารเคมีที่มีกลิ่นฉุน มีรสชาติที่ไม่พิศมัย สร้างความรำคาญแก่สัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ เช่น หมาจิ้งจอก, หมาโคโยตี้ ที่จับกินเป็นอาหาร ที่เมื่อโดนเลือดนี้พ่นเข้าใส่ จะปล่อยตัวกิ้งก่าทันที และเอาหัวถูไถไปกับวัสดุต่าง ๆ เพื่อลบกลิ่นและเลือดให้ออก กิ้งก่าหนามพ่นเลือดได้จากการบีบของกล้ามเนื้อในเปลือกตาให้พ่นออกมาเข้าปากของผู้ที่มารุกราน ซึ่งกิ้งก่าหนามจะใช้วิธีนี้ต่อเมื่อถูกคาบอยู่ในปากหรืออยู่ในตำแหน่งที่ใกล้ปากแล้วเท่านั้น โดยเลือดที่ถูกบีบพุ่งออกมานั้น เกิดจากเส้นเลือดดำที่ปิดตัวเอง ทำให้เกิดความดันขึ้นในโพรงกะโหลก จนตาทั้ง 2 ข้างพองออก เลือดแดงจะรวมตัวกันเป็นจำนวนมากในเส้นเลือดฝอยจนมากพอในปริมาณที่จะปล่อยพุ่งออกมาได้ จากการศึกษาพบว่าสามารถพ่นได้มากถึง 54 ครั้ง ภายในเวลาไม่ถึง 2 นาที แม้จะดูว่าเสียเลือดไปเป็นจำนวนมาก แต่กิ้งก่าหนามจะไม่เป็นอะไรเลย และร่างกายสามารถผลิตเลือดใหม่ขึ้นทดแทนได้ในเวลาไม่นาน[3] [4] [5]
การจำแนก
[แก้]สามารถจำแนกออกได้ 14 ชนิด โดยมีเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่ไม่มีหนามรอบตัวและไม่พ่นเลือด คือ กิ้งก่าหนามหางกลม และชนิดที่ใหญ่ที่สุด คือ กิ้งก่าก่าหนามเท็กซัส [3]
- Phrynosoma asio Cope, 1864 – กิ้งก่าหนามยักษ์
- Phrynosoma braconnieri Duméril & Bocourt, 1870 – กิ้งก่าหนามหางสั้น
- Phrynosoma cerroense Stejneger, 1893 – กิ้งก่าหนามเกาะเซโดรส
- Phrynosoma cornutum (Harlan, 1825) – กิ้งก่าหนามเท็กซัส
- Phrynosoma coronatum (Blainville, 1835) – กิ้งก่าหนามอ่าว
- Phrynosoma ditmarsi Stejneger, 1906 – กิ้งก่าหนามหิน
- Phrynosoma douglasii (Bell, 1829) – กิ้งก่าหนามสั้นเล็ก
- Phrynosoma hernandesi Girard, 1858 – กิ้งก่าหนามสั้นใหญ่
- Phrynosoma mcallii (Hallowell, 1852) – กิ้งก่าหนามหางแบน
- Phrynosoma modestum Girard, 1852 – กิ้งก่าหนามหางกลม
- Phrynosoma orbiculare (Linnaeus, 1789) – กิ้งก่าหนามทะเลทรายชิวาวา
- Phrynosoma platyrhinos Girard, 1852 – กิ้งก่าหนามทะเลทราย
- Phrynosoma solare Gray, 1845 – กิ้งก่าหนามสวย
- Phrynosoma taurus Dugès, 1868 – กิ้งก่าหนามเม็กซิโก[1]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Phrynosoma". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
- ↑ หน้า 378, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก โดย วีรยุทธ์ เลาหะจินดา (2552) ISBN 978-616-556-016-0
- ↑ 3.0 3.1 BLOOD SQUIRTING LIZARD, "Nick Baker's Weird Creatures" สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต. ทางทรูวิชั่นส์: อังคารที่ 15 มกราคม 2556
- ↑ Horned Lizard
- ↑ กิ้งก่าหนาม
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Phrynosoma ที่วิกิสปีชีส์