ข้ามไปเนื้อหา

กำเนิดวีนัส (ทิเชียน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กำเนิดวีนัส
ศิลปินทิเชียน
ปีราวปี ค.ศ. 1520
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ
สถานที่หอศิลป์แห่งชาติแห่งสกอตแลนด์, เอดินบะระห์

กำเนิดวีนัส (อังกฤษ: Venus Anadyomene) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดย ทิเชียน เมื่อราวปี ค.ศ. 1520 ปัจจุบันอยู่แสดงอยู่ที่หอศิลป์แห่งชาติแห่งสกอตแลนด์ในเมืองเอดินบะระห์ “Venus Anadyomene” มาจากภาษากรีกที่หมายความตามตัวอักษรว่าวีนัสเกิดจากทะเล ภาพเขียนภาพนี้ของทิเชียนเป็นภาพตำนานวีนัสซึ่งใช้สัญลักษณ์หอยเล็กๆ (ทางมุมซ้ายของภาพตามตำนานที่กล่าวว่าวีนัสถือกำเนิดจากหอย) และผุดขึ้นจากทะเลในขณะที่บิดมวยผมซึ่งอาจจะหลังจากการกำเนิดหรือหลังจากที่เดินขึ้นมาจากทะเล หอยที่ใช้ในภาพมีขนาดย่อมกว่าภาพเดียวกันที่เขียนโดยจิตรกรผู้อื่นเช่น "กำเนิดวีนัส" โดย ซานโดร บอตติเชลลี ทิเชียนอาจจะใช้หอยเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ทราบว่าเป็นเทพีวีนัสเท่านั้นก็ได้

ร่างที่อวบสมบูรณ์และการชายตาของวีนัสของภาพนี้มีอิทธิพลมาจากประติมากรรมเฮเลนนิสติคที่เรียกว่า "วีนัสคุกเข่าเข้ามาหาตัวเรา," (Crouching Venus) และ ประติมากรรมกรีก "วีนัสแห่งคนิดัส" (Aphrodite of Cnidus) และการบิดมวยผมเป็นการเลียนแบบงานเขียนชื่อเดียวกันของอเพลลีส (Apelles) ที่สูญหายไปซึ่งในภาพนั้นวีนัสสระผม ซึ่งบรรยายใน "ธรรมชาติวิทยา" โดยพลินิ ทิเชียนจงใจอ้างถึงบทเขียนนี้เพื่อแสดงว่ามีความสามารถพอที่จะแข่งกับงานฝีมือของโบราณได้

กล่าวกันว่าทิเชียนเขียนภาพนี้เพราะความเบื่อ ฉะนั้นหอยจึงมีขนาดเล็กกว่าที่ควรและรายละเอียดอื่นๆ นอกไปจากตัวแบบวีนัสก็ดูเหมือนจะไม่ได้ตั้งใจเขียนเท่าใดนัก การเขียนภาพวีนัสทุกภาพของทิเชียนจะเน้นความอวบสมบูรณ์ของวีนัสและจะอยู่กลางภาพโดยไม่มีรายละเอียดอื่นมาดึงความสนใจไปจากวีนัส หรือบางทีก็จะใช้แบ็คกราวนด์ที่สีไม่จัดเพื่อให้วีนัสเป็นสิ่งที่เด่นที่สุดในภาพ

สภาพของภาพเขียนอยู่ในสภาพดี ครั้งหนึ่งสมเด็จพระราชินีนาถคริสติน่าแห่งสวีเดนเป็นเจ้าของภาพ ต่อมาตกไปเป็นสมบัติของจอห์น เอเกอร์ตัน ดยุคแห่งซัทเธอร์แลนด์ที่ 6 (John Egerton, 6th Duke of Sutherland) ผู้มอบให้พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสกอตแลนด์ขอยืมในปี ค.ศ. 1945 เมื่อจอห์น เอเกอร์ตันเสียชีวิตในปี ค.ศ. 2000 ทางพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสกอตแลนด์ก็ซื้อภาพเขียนจากจาก ฟรานซิส เอเกอร์ตัน ดยุคแห่งซัทเธอร์แลนด์ที่ 7 (Francis Egerton, 7th Duke of Sutherland) ลูกชายของจอห์น เอเกอร์ตัน ในราคา £11 ล้านปอนด์สเตอรลิงก์ในปี ค.ศ. 2003 ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นความประสงค์ของครอบครัวที่ต้องการให้ภาพเขียนตั้งแสดงอยู่เช่นเดิมที่พิพิธภัณฑ์ตลอดไป การซื้อภาพเขียนได้รับการสมทบทุนบางส่วนจาก "กองทุนเพื่อสะสมศิลปะแห่งชาติ" (National Arts Collection Fund) (ร่วมกับบางส่วนจากสถาบันวูลฟสัน (Wolfson Foundation)) อีก £7.6 ล้านปอนด์สเตอรลิงก์มาจาก "กองทุนลอตเตอรีเฮอริเทจ" (Heritage Lottery Fund) และ £2.5 ล้านปอนด์สเตอรลิงก์มาจาก รัฐสภาแห่งสกอตแลนด์ (Scottish Executive) ราคาตลาดของภาพเขียนตกประมาณ £20 ล้านปอนด์สเตอรลิงก์ หลังจากการขายภาพแล้วดยุคฟรานซิส เอเกอร์ตันก็กล่าวว่า “อันที่จริงแล้วก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม, นอกไปจากว่าภาพเขียนกลายมาเป็นของชาติ”

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]