การโดดเดี่ยวอย่างสง่างาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การโดดเดี่ยวอย่างสง่างาม (อังกฤษ: Splendid isolation) เป็นนโยบายการต่างประเทศซึ่งดำเนินการโดยอังกฤษในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษนิยม เบนจามิน ดิสราเอลี และมาร์ควิสแห่งซอลสบรี คำดังกล่าวได้ประดิษฐ์ขึ้นมาโดยนักการเมืองชาวแคนาดาเพื่อสรรเสริญการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในกิจการของยุโรป ปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์ยังโต้เถียงกันว่านโยบายดังกล่าวมีขึ้นโดยเจตนาหรืออังกฤษถูกบังคับให้อยู่ในฐานะดังกล่าวโดยเหตุการณ์ปัจจุบัน

เบื้องหลัง[แก้]

ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป้าหมายหลักของอังกฤษในนโยบายการต่างประเทศคือการรักษาดุลอำนาจในทวีปยุโรปและเข้าขัดขวางในสิ่งที่ทำให้ดุลอำนาจนี้สูญเสียไป เป้าหมายรองลงมาคือการป้องกันผลประโยชน์โพ้นทะเลของตนในอาณานิคมและดินแดนในปกครอง ซึ่งก็คือ การค้าเสรีซึ่งทำให้จักรวรรดิอังกฤษคงอยู่ได้ เส้นทางทางทะเลไปยังอาณานิคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เส้นทางที่เชื่อมระหว่างอังกฤษและอินเดีย (ผ่านทางคลองสุเอซ) ถูกพิจารณาว่าสำคัญยิ่ง

นโยบายการโดดเดี่ยวอย่างสง่างามมีลักษณะของความไม่เต็มใจที่จะเข้าสู่พันธมิตรยุโรปอย่างถาวรหรือมีข้อผูกมัดกับมหาอำนาจอื่น ๆ และโดยการให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นแก่อาณานิคมอังกฤษ รัฐในอารักขาและดินแดนโพ้นทะเล นี่จึงเกิดขึ้นไปพร้อมกับพัฒนาการของจักรวรรดิไม่เป็นทางการผ่านทางการใช้เขตอิทธิพลและรัฐบริวาร ซึ่งอยู่ในปกครอง แต่ไม่ได้ถูกปกครองโดยตรงโดยอังกฤษ