การโฆษณาทางโทรศัพท์ที่ไม่พึงปรารถนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การโฆษณาทางโทรศัพท์ที่ไม่พึงปรารถนา[1] หรือ การขายโดยผู้ลงทุนมิได้ร้องขอ[2] (เยอรมัน: unerwünschte werbeanrufe, อุนแอร์วึนชเทอ แวร์เบอันรูเฟอ; อังกฤษ: cold calling; จีน: 意外访问; พินอิน: yìwàifǎngwèn, อี้ไว่ฟั่งเวิ่น) คือ เป็นกระบวนการเข้าถึงลูกค้าหรือผู้ใช้บริการกลุ่มหมายโดยเฉพาะทางโทรศัพท์เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์โดยลูกค้าหรือผู้ใช้บริการไม่ได้คาดหมาย

ในภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า "cold" เนื่องเพราะผู้รับโทรศัพท์มิได้คาดหวังการติดต่อเช่นนั้น

เยอรมนี[แก้]

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้มีการออก "รัฐบัญญัติว่าด้วยการควบคุมการโฆษณาทางโทรศัพท์ที่ไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของหมายเลขและการส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคในการประกอบกิจการบางรูปแบบ" (เยอรมัน: Gesetz zur Bekämpfung unerlauter Telefonwerbung und zur Verbesserung des Verbraucherschutzes bei besonderen Vertriebsformen) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา สาระสำคัญของรัฐบัญญัติ เป็นการ[1]

1. แก้ไขเพิ่มเติม เบือร์แกร์ลิชส์เกเซทซ์บุค (เยอรมัน: Bürgerliches Gesetzbuch) หรือ ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน เกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญาบริการ โดยผู้บริโภคมีโอกาสบอกเลิกสัญญาที่ตกลงเข้าทำสัญญาทางโทรศัพท์เพิ่มมากขึ้น กับทั้งสามารถบอกเลิกรับหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือวารสารโดยให้มีผลในอนาคตได้ด้วย หากว่าสัญญารับสิ่งพิมพ์ดังกล่าวได้กระทำผ่านโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ และการบอกเลิกได้มีภายในสองสัปดาห์นับแต่วันแสดงเจตนาทำสัญญา หรือภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันแสดงเจตนาทำสัญญาในกรณีทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร

2. แก้ไข "รัฐบัญญัติควบคุมการค้าที่ไม่เป็นธรรม" (เยอรมัน: Gesetz gegen den unlauteren Wettbewerb) โดยห้ามโฆษณาทางโทรศัพท์ก่อนได้รับความยินยอมอันชัดแจ้งและเป็นการล่วงหน้าจากผู้บริโภค หากฝ่าฝืนระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินห้าหมื่นยูโร

3. แก้ไข "รัฐบัญญัติว่าด้วยโทรคมนาคมและการสื่อสาร" (เยอรมัน: Telekommunikationsgesetz) ให้ถือว่าโฆษณาที่ฝากหมายเลขให้ติดต่อกลับเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญ

สหราชอาณาจักร[แก้]

ในสหราชอาณาจักร รัฐบาลมีบริการขึ้นทะเบียนเลขหมายที่ไม่ต้องการโทรศัพท์มาโฆษณาประชาสัมพันธ์ เรียก "บริการขึ้นทะเบียนระงับการโฆษณาทางโทรศัพท์ที่ไม่พึงปรารถนา" (อังกฤษ: Anti-Cold Calling Register to Help Stop Unwanted Marketing Calls) เปิดบริการทั้งทางเว็บไซต์ ทางโทรศัพท์ และทางอื่น ๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สหรัฐอเมริกา[แก้]

ในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลกลางก็จัดให้มีบริการขึ้นทะเบียนอย่างเดียวกัน เรียก "บัญชีรัฐบาลกลางแห่งสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยเลขหมายที่ห้ามโทรศัพท์หา" (อังกฤษ: US Federal Do Not Call List) เปิดบริการทั้งทางเว็บไซต์ ทางโทรศัพท์ และทางอื่น ๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน

เชิงอรรถ[แก้]

  1. 1.0 1.1 วรนารี สิงห์โต, 2553 : ออนไลน์.
  2. ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ, 2547 : ออนไลน์.

อ้างอิง[แก้]

  • "ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กข. 42/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2547". (2547, 20 สิงหาคม). ราชกิจจานุเบกษา, (เล่ม 121, ตอนพิเศษ 92 ง). หน้า 52. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2552).
  • วรนารี สิงห์โต. (2553). การควบคุมโทรศัพท์ที่ไม่พึงปรารถนาในระบบกฎหมายเยอรมัน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2552).