การเสียชีวิตของกลอเรีย รามิเรซ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กลอเรีย รามิเรซ
เกิดกลอเรีย เซซิเลีย รามิเรซ
11 มกราคม ค.ศ. 1963(1963-01-11)
ริเวอร์ไซด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ
เสียชีวิต19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1994(1994-02-19) (31 ปี)
ริเวอร์ไซด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ
สาเหตุเสียชีวิตหัวใจเต้นผิดจังหวะ เหตุจากมะเร็ง
มีชื่อเสียงจากเป็นสาเหตุอาการป่วยของบุคลากรทางการแพทย์หลายราย

กลอเรีย รามิเรซ (อังกฤษ: Gloria Ramirez, 11 มกราคม ค.ศ. 1963 – 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1994) เป็นสตรีจากเมืองริเวอร์ไซด์ รัฐแคลิฟอร์เนียที่สื่อเรียกว่า สตรีผู้เป็นพิษ ("the Toxic Lady" หรือ "the Toxic Woman") หลังบุคลาการทางการแพทย์หลายรายมีอาการป่วยเมื่อสัมผัสร่างกายและเลือดของเธอ รามิเรซถูกส่งตัวมาที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลริเวอร์ไซด์เพื่อรักษามะเร็งปากมดลูกระยะสุดท้าย ขณะทำการรักษา บุคลากรหลายรายหมดสติและอีกจำนวนหนึ่งมีอาการหายใจลำบากและกล้ามเนื้อหดเกร็ง ทำให้บุคลากร 5 รายต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยหนึ่งในนั้นรักษาตัวในหน่วยอภิบาลนาน 2 สัปดาห์

รามิเรซเสียชีวิตด้วยภาวะแทรกซ้อนจากมะเร็งไม่นานหลังมาถึงโรงพยาบาล ในขั้นต้นเชื่อว่าเป็นการอุปาทานหมู่ ต่อมามีการสอบสวนโดยห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอว์เรนซ์ลิเวอร์มอร์ที่สรุปว่ารามิเรซอาจใช้ไดเมทิลซัลฟอกไซด์ในการบรรเทาปวด ซึ่งเปลี่ยนเป็นสารพิษร้ายแรงไดเมทิลซัลเฟตผ่านหลายปฏิกิริยาในแผนกฉุกเฉิน แม้ทฤษฎีนี้จะได้รับการรับรองจากสำนักงานชันสูตรริเวอร์ไซด์ และตีพิมพ์ในวารสาร ฟอเรนซิกไซแอนซ์อินเตอร์เนชันแนล (Forensic Science International) แต่การเสียชีวิตของรามิเรซยังคงเป็นหัวข้อถกเถียงในชุมชนนักวิทยาศาสตร์

เหตุการณ์[แก้]

ประมาณ 20:15 น. ของวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1994 นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ส่งตัวรามิเรซซึ่งมีอาการใจสั่นรุนแรงมาที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลริเวอร์ไซด์ เธอมีอาการสับสนอย่างรุนแรง ร่วมด้วยภาวะหัวใจเต้นเร็วและการหายใจเชน-สโตกส์

ทีมแพทย์ฉีดไดแอซิแพม มิดาโซแลมและลอราเซแพมให้รามิเรซเพื่อระงับประสาท เมื่อเป็นที่แน่ชัดว่าเธอไม่ตอบสนองต่อการรักษา ทีมแพทย์ใช้การกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า ในช่วงเวลานั้นหลายคนเห็นคราบมันวาวบนตัวรามิเรซ และบางคนได้กลิ่นฉุนคล้ายกระเทียม ซูซาน เคน พยาบาลวิชาชีพพยายามเจาะเลือดที่แขนรามิเรซและได้กลิ่นคล้ายแอมโมเนียมาจากหลอดเก็บเลือด[1]

เคนส่งกระบอกฉีดยาให้จูลี กอร์ชินสกี แพทย์ประจำบ้านผู้สังเกตเห็นอนุภาคสีน้ำตาลอ่อนลอยอยู่ในเลือด ก่อนที่เคนจะหมดสติและถูกพาตัวออกไป ด้านกอร์ชินสกีเริ่มมีอาการคลื่นไส้และเวียนศีรษะได้ออกไปพักที่โต๊ะของพยาบาลและหมดสติ หลังจากนั้นมอรีน เวลช์ นักบำบัดทางเดินหายใจที่ช่วยงานอยู่ในห้องฉุกเฉินหมดสติเป็นคนที่สาม จึงมีคำสั่งอพยพบุคลากรและผู้ป่วยออกจากแผนกฉุกเฉิน โดยมีทีมแพทย์จำนวนหนึ่งอยู่รักษารามิเรซ รามิเรซถูกประกาศว่าเสียชีวิตจากภาวะไตวายเมื่อเวลา 20:50 น. หลังการนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพและการกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้านาน 45 นาที[1]

จากเหตุนี้มีผู้มีอาการป่วย 23 คนและต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 5 คน[1][2]

การสอบสวน[แก้]

สำนักอนามัยท้องที่ติดต่อกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมอบหมายให้ดร. แอนา มาเรีย โอโซริโอและเคิร์สเตน วอลเลอร์ทำการสอบสวน พวกเขาสัมภาษณ์บุคลากรทางการแพทย์ 34 คนที่ทำงานที่แผนกฉุกเฉินในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ด้วยแบบสอบถาม โอโซริโอและวอลเลอร์พบว่าผู้ที่มีอาการรุนแรงเช่น หมดสติ หายใจถี่และกล้ามเนื้อหดเกร็งมีลักษณะร่วมกันคือ เป็นผู้ที่อยู่ใกล้รามิเรซ 2 ฟุตและเกี่ยวข้องกับหลอดเลือดดำของรามิเรซ นอกจากนี้ผู้หญิงยังได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ชาย ซึ่งทั้งหมดมีผลเลือดปกติหลังเกิดเหตุ โอโซริโอและวอลเลอร์จึงเชื่อว่าเป็นการอุปาทานหมู่[1] ด้านกอร์ชินสกีปฏิเสธข้อสรุปนี้โดยอ้างประวัติการรักษาของเธอเอง กอร์ชินสกีรักษาระบบหายใจอยู่ในหน่วยอภิบาลนาน 2 สัปดาห์หลังเกิดเหตุ เธอยังพบว่าตนเองมีภาวะตับอักเสบและภาวะหัวกระดูกข้อสะโพกตายจากการขาดเลือด

สำนักงานชันสูตรริเวอร์ไซด์ติดต่อห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอว์เรนซ์ลิเวอร์มอร์ให้ทำการสอบสวน ห้องปฏิบัติการลิเวอร์มอร์ตั้งสมมติฐานว่ารามิเรซใช้สารล้างคราบไขมันไดเมทิลซัลฟอกไซด์ในการแก้ปวด ซึ่งมีรายงานว่าผู้ที่ใช้สารนี้จะมีกลิ่นคล้ายกระเทียม[1] ไดเมทิลซัลฟอกไซด์วางขายในรูปเจล จึงอาจอธิบายถึงคราบมันวาวบนตัวได้[1][2] นักวิทยาศาสตร์ของลิเวอร์มอร์สันนิษฐานว่าไดเมทิลซัลฟอกไซด์ในร่างกายรามิเรซเกิดจากระบบปัสสาวะไม่สามารถขับออกได้เนื่องจากภาวะไตวาย[2] และเปลี่ยนเป็นไดเมทิลซัลโฟนเมื่อไดเมทิลซัลฟอกไซด์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนขณะทำการรักษา ไดเมทิลซัลโฟนเป็นผลึกที่อุณหภูมิห้อง ซึ่งอาจเป็นอนุภาคที่พบในเลือดของรามิเรซ[1] การกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าทำให้ไดเมทิลซัลโฟนเปลี่ยนเป็นสารพิษร้ายแรงไดเมทิลซัลเฟตที่เป็นสาเหตุของอาการเจ็บป่วยของทีมแพทย์[3] นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ของลิเวอร์มอร์ยังเสนอว่าอุณหภูมิของเลือดที่เปลี่ยนจาก 37°ซ ในร่างกายของรามิเรซเป็น 18°ซ ในห้องฉุกเฉินอาจมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงของไดเมทิลซัลโฟนเป็นไดเมทิลซัลเฟต แต่ข้อสันนิษฐานนี้ไม่มีการยืนยัน

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 Stone, Richard (April 1995). "Analysis of a Toxic Death". Discover Magazine. สืบค้นเมื่อ 25 April 2021.
  2. 2.0 2.1 2.2 Dunning, Brian (3 January 2012). "Skeptoid #291: The Toxic Lady". Skeptoid. สืบค้นเมื่อ 22 June 2017.
  3. Adams, Cecil (22 March 1996). "What's the story on the "toxic lady"?". The Straight Dope.