การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2565

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การอภิปรายไม่ไว้วางใจการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2565 เป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลอีก 10 คน รวม 11 คน[1] โดยได้เสนอญัตติเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565 และสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดกรอบการอภิปรายไว้ 4 วัน คือวันที่ 19-22 กรกฎาคม และลงมติในวันที่ 23 กรกฏาคม

เบื้องหลัง[แก้]

การยื่นญัตติขอเปิดการอภิปราย[แก้]

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 พรรคเพื่อไทยได้รายงานว่า ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่านและผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมกันแถลงในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในวันที่ 15 มิถุนายน 2565 โดยใช้ชื่อว่า ‘ยุทธการ เด็ดหัว สอยนั่งร้าน’ เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล ต่อมา สุทิน คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม ได้กล่าวถึงรัฐมนตรีที่จะถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ ประกอบด้วย ‘หัวขบวน’ รัฐบาล 1 ราย ส่วน ‘นั่งร้าน’ จะมาจาก 3 พรรคการเมือง คือ พรรคภูมิใจไทย, พรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐ อีก 9 นาย อย่างไรก็ตามจนกว่าจะมีการยื่นญัตติในวันที่ 15 มิถุนายน รายชื่อรัฐมนตรีจะยังไม่มีความแน่นอน[2] โดยประเด็นที่จะนำไปอภิปรายจะอยู่ในกรอบเนื้อหาดังนี้ เนื้อหามุ่งเน้นไปที่ความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฏหมาย ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม, การทุจริตต่อหน้าที่ เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง, ไม่ปฎิบัติตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา, การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และ การทำลายประชาธิปไตย และระบบรัฐสภา[3] ทางโฆษกรัฐบาล ธนกร วังบุญคงชนะ ได้กล่าวเชิงตอบโต้ว่า "การที่ฝ่ายค้านจะสามารถเด็ดหัวนายกรัฐมนตรี และ ครม. ได้นั้น ไม่แน่ใจว่าฝ่ายค้านไปเอาความมั่นใจมาจากไหน และที่อ้างว่ามีใบเสร็จทางการเมืองที่จะชี้ให้เห็นนั้น ก็เห็นอ้างแบบนี้มาทุกครั้ง แล้วสุดท้ายก็เป็นฝ่ายค้านเองที่ถูกท่านนายกฯ และรัฐมนตรีที่ถูกซักฟอกฉีกหน้ากลางสภาว่ามั่วข้อมูล ทำการบ้านแบบลวก ๆ เหมือนกลัวว่าจะไม่ได้อภิปราย"[4]

ต่อมาในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านจำนวน 7 พรรค ได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลจำนวน 11 คน รวมนายกรัฐมนตรี โดยมีรายละเอียดเรื่องที่จะอภิปรายตามตารางข้างล่าง[5]

รายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย[6]
ลำดับที่ ชื่อ / ตำแหน่ง ประเด็นการอภิปราย
1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา[1]
นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  • ผิดพลาดล้มเหลว
  • ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ประเทศได้
  • ไม่สามารถสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ
  • ไม่สามารถสร้างความอยู่ดีกินดี
  • เป็นต้นตอที่ทำให้ปัญหาที่มีอยู่ซับซ้อนและรุนแรงยิ่งขึ้น
  • ประชาชนในชาติแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย
  • ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันสูงสุดเป็นประวัติการณ์
  • ความเจริญเติบโตรั้งท้ายของอาเซียน
  • ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต
  • ไร้ภูมิปัญญา ไร้องค์ความรู้ ไร้ความสามารถ ไร้ประสิทธิภาพ และ ไร้จิตสำนึกรับผิดชอบ
  • ขาดภาวะความเป็นผู้นำ
  • เป็นผู้นำที่พิการทางความคิด
  • ยึดติดแต่อำนาจไม่เคารพหลักนิติรัฐและนิติธรรม ไร้คุณธรรมจริยธรรม
  • บริหารราชการแผ่นดิน ล้มเหลวและผิดพลาด บกพร่องเสียหาย อย่างร้ายแรงทุกด้าน
  • ละเลยให้พวกพ้องแสวงหา ผลประโยชน์บนความทุกข์ยาก ของประชาชน
  • ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
  • เพิกเฉยต่อการทุจริต เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง
  • ใช้จ่ายงบประมาณโดยมิได้คำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง
  • ก่อหนี้เพื่อแสวงหาคะแนนนิยมทางการเมืองโดยไม่สนใจภาระหนี้สาธารณะ
  • ก่อหนี้เพื่อนำมาผลาญโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์
  • ไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา
  • ไม่ใส่ใจและไม่ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องตามข้อแนะนำของสภา
  • จงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
  • ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
  • ขาดจิตสำนึกในความเป็นประชาธิปไตย ไร้การเคารพซึ่งสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน
  • มุ่งใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปิดปากประชาชน ปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน และละเมิดสิทธิมนุษยชน
  • ใช้งบประมาณเพื่อการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่จำเป็น
  • ไม่กำกับดูแลการใช้งบประมาณแผ่นดินให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ
  • ทำให้ประเทศถอยหลัง เศรษฐกิจของประเทศดิ่งเหว ประชาชนที่ยากจนอยู่แล้วยิ่งยากจน
  • ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจน กับคนรวยขยายวงกว้างมากขึ้น ผู้คนตกงาน บัณฑิตจบใหม่ไม่มีงานทำ
  • ธุรกิจย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น นักลงทุนใหม่เข้ามาลงทุนน้อยลง
  • ปัญหาสังคมทั้งยาเสพติด และอาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น
  • ใช้เงินและการต่อรอง ผลประโยชน์เพื่อความอยู่รอดทางการเมืองของตนเอง ทำลายระบบรัฐสภาและหลักการประชาธิปไตย
2 อนุทิน ชาญวีรกูล
รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  • ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
  • ไร้คุณธรรมจริยธรรม
  • ไร้จิตสำนึกของการเป็นนักการเมืองที่ดี
  • มีพฤติกรรมทำลายระบบการเมืองด้วยการรู้เห็นเป็นใจ
  • สนับสนุนการใช้เงินและผลประโยชน์เพื่อมุ่งดึง ส.ส. จาก พรรคการเมืองอื่นเข้าสังกัดกลุ่มการเมืองของตนโดยไม่คำนึงถึงหลักการประชาธิปไตยและคุณธรรมทางการเมือง ทำให้ระบบการเมืองถอยหลังไปสู่ยุคการใช้เงินและผลประโยชน์สร้างฐานอำนาจทางการเมือง อันถือเป็นธุรกิจ การเมืองที่ทำลายอุดมการณ์ประชาธิปไตย เปลี่ยนจากระบบคุณธรรมนำการเมืองเป็นใช้เงินและผลประโยชน์นำการเมือง
  • ล้มเหลวผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง
  • ไร้ความรู้ความสามารถในการบริหารราชการของกระทรวงสาธารณสุข
  • มีการใช้งบประมาณแผ่นดินเกินความจำเป็นและไม่เกิดประโยชน์ เกิดความเสียหายแก่งบประมาณของประเทศ
  • มุ่งเอื้อประโยชน์ให้เพื่อนพ้องบริวาร แสวงหาประโยชน์ จากตำแหน่งและหน้าที่ของตน
  • จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
3 ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
  • ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
  • บริหารราชการแผ่นดินโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของชาติ
  • มีพฤติกรรมใช้อำนาจ ในตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง
  • ดำเนินนโยบายโดยไม่คำนึงถึงความคุ้มค่าในด้านการใช้จ่ายงบประมาณ
  • มีการใช้งบประมาณจำนวนมากโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและประโยชน์สาธารณะ ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาส*และงบประมาณจำนวนมหาศาล
  • ใช้สถานะหรือตำแหน่ง กระทำการโดยทางตรงและทางอ้อม อันเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ในกระทรวงคมนาคม เพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง และพรรคการเมืองที่ตนสังกัด
  • ละเว้นไม่ดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดจนเกิดความเสียหายต่อแผ่นดิน
  • ไม่ดูแลให้เกิดการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม
  • มีผลประโยชน์ทับซ้อนและกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์
  • จงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจ ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเพื่อให้ตนเองมีส่วนได้รับประโยชน์จากโครงการต่าง ๆ ของรัฐ
  • ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
4 สุชาติ ชมกลิ่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
  • ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
  • มีพฤติการณ์ส่อไปทางทุจริตและประพฤติมิชอบต่อหน้าที่
  • กระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์
  • ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง
  • จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
  • ปล่อยปละละเลยให้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากการนำแรงงาน ต่างด้าวเข้าประเทศ
  • เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใหญ่ในการใช้ประโยชน์จากแรงงานโดยผิดกฎหมาย
  • ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
5 จุติ ไกรฤกษ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  • ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
  • ล้มเหลว ไร้ความรู้ ความสามารถในการดูแลงานด้านพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  • ปล่อยให้ประชาชนขาดไร้ซึ่งที่อยู่อาศัยและค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ขณะที่การใช้งบประมาณแผ่นดินกลับมุ่งเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองและพวกพ้อง ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชน ตกต่ำ ขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง
6 ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  • บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว บกพร่องอย่างร้ายแรง
  • ปล่อยปละละเลยให้เกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ทำลายระบบเศรษฐกิจและสร้างความเสียหายต่อประชาชนอย่างกว้างขวางแพร่หลาย และเพิ่มจำนวนมากขึ้นโดยไม่สนใจ และขาดความรู้ความสามารถที่จะป้องกันและปราบปราม สนใจเอาผิดแต่เฉพาะกับกลุ่มบุคคล นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
  • ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองใช้อำนาจในตำแหน่ง หน้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง บริวาร และพวกพ้อง
  • มีพฤติการณ์ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
  • มีความประพฤติเสื่อมเสียทางศีลธรรมอันดี
  • ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
7 จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  • มีพฤติกรรมฉ้อฉล
  • ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
  • รู้เห็นเป็นใจหรือปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในองค์กรหรือหน่วยงานในกำกับดูแล
  • สร้างความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
  • ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเองและพวกพ้อง
  • ไม่ระงับยับยั้ง ละเลยไม่ติดตามแก้ไขปัญหาการทุจริตเพื่อให้มีการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รัฐ
  • ล้มเหลวและไร้ความรู้ความสามารถในการบริหารราชการของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงในกำกับดูแล
  • ปล่อยให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นจนกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน จนส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกหย่อมหญ้า
  • จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
  • ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
8 สันติ พร้อมพัฒน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
  • ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
  • มีพฤติกรรมทุจริตต่อหน้าที่
  • ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตและแสวงหาประโยชน์ในหน่วยงาน ที่กำกับดูแล เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน
  • ไม่ดูแลรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ
  • จงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม อย่างร้ายแรง
9 นิพนธ์ บุญญามณี
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • ไร้ความรู้ ความสามารถ ในการบริหารราชการแผ่นดิน
  • มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่
  • ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
  • จงใจปฏิบัติ หน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
  • ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน ทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
  • ปล่อยปละละเลย รู้เห็น สนับสนุนให้มีการทุจริตและแสวงหาผลประโยชน์ภายในหน่วยงานในกำกับดูแล
  • ไม่ดำเนินการตรวจสอบ ระงับ ยับยั้ง และป้องกันการทุจริตจนทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
10 พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ
รองนายกรัฐมนตรี
  • จงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
  • ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
  • มุ่งสร้างความมั่งคั่งในตำแหน่งหน้าที่
  • รู้เห็นเป็นใจหรือปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตและแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดกับประเทศ
  • ไร้จิตสำนึกและไร้ความรับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่
  • ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่กลับทำตนเป็นแบบอย่างของการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต เมื่อพบเห็นการทุจริตกลับปกป้องและไม่ดำเนินการแก้ไข
11 พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
  • ขาดซึ่งธรรมมาภิบาล
  • บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง
  • ใช้อำนาจหน้าที่ ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
  • ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตของหน่วยงานในกำกับดูแลอย่างกว้างขวาง
  • เมื่อรู้ว่ามีการทุจริตกลับไม่ระงับ ยับยั้ง แต่กลับรู้เห็นยินยอมให้มีการกระทำดังกล่าวจนทำให้ การทุจริตเป็นเรื่องปกติของการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ทำให้ระบบราชการและประเทศชาติได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคเศรษฐกิจไทยได้ถอนตัวจากเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และประกาศเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” โดยทางพรรคมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 16 คน ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ให้คำจำกัดความตัวเองว่าเป็น "ฝ่ายค้านอิสระ" เพราะพรรคร่วมฝ่ายค้านยังไม่ได้ตอบรับให้เข้าร่วมกิจกรรมการเมืองอย่างเป็นทางการ[7]

เนื้อหา[แก้]

ในวันที่ 19 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันอภิปรายวันแรก อนุทิน ชาญวีรกูล และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูก สุทิน คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย กล่าวหาว่า "ได้ร่วมกันกำหนดและจัดให้มีนโยบายกัญชาเสรีด้วยความไม่มีความสุจริตใจ นำมาซึ่งการละเมิดกติกาโลก และการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ" และ "เป็นการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ละเมิดมติของรัฐสภาไทย ซึ่งการละเมิดดังกล่าวยังเป็นการละเลยและละเว้นไม่ควบคุมกัญชาให้เป็นสิ่งที่ควรจะมีและจะเป็น"[8] นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านว่า "คำที่แถลงไว้ต่อสภาเมื่อ 25 กรกฎาคม 2562 ว่า ให้นำกัญชากัญชงไปศึกษาวิจัยให้ก่อประโยชน์เศรษฐกิจ โดยเน้นไปทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ไม่มีคำว่านันทนาการ หรือสันทนาการแม้แต่นิดเดียว" และ "การนำกัญชากัญชงไปใช้ในทางที่ผิด ไม่มีทางเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้"[9]

ในวันที่ 20 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันอภิปรายวันที่สอง ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ในเรื่องที่ "ไม่สามารถแก้ไขปัญหาแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จนประชาชนได้รับความเดือดร้อน แต่กลับปกป้องความมั่นคงของรัฐบาลมากกว่า" และได้ตั้งคำถามไปยังการใช้สปายแวร์เพกาซัสนั้น ชัยวุฒิ ได้ยอมรับว่ามีการใช้สปายแวร์ดังกล่าวจริงในคดีด้านความมั่นคง-ยาเสพติด แต่ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม[10]

ในวันที่ 21 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันอภิปรายวันที่สาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลได้ยกประเด็นกล่าวหา ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเรื่องของปมรื้อถอนสัญลักษณ์ทางประชาธิปไตยหลายประการ ซึ่งถือเป็นความพยายามลบประวัติศาสตร์ อาทิ การเปลี่ยนแปลงหน้าบันที่ว่าการอำเภอเวียงป่าเป้าหลังเก่า, หมุดคณะราษฎรที่ลานพระบรมรูปทรงม้า, อนุสาวรีย์ปราบกบฏ, อนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนาและอนุสาวรีย์จอมพล ป.พิบูลสงคราม และ อนุสาวรีย์จอมพล ป.พิบูลสงคราม หน้าสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ

ต่อมาในวันเดียวกัน พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายเกี่ยวกับการใช้อาวุธไซเบอร์กับประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง โดยใช้ทรัพยากรและภาษีประชาชน โดยยกตัวอย่างการใช้สปายแวร์เพกาซัสล้วงข้อมูลและสอดแนมกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง 30 รายชื่อ แม้ทางรัฐบาลอิสราเอลได้ถอนรายชื่อประเทศไทยจากประเทศที่อนุญาตให้ใช้ตั้งแต่ปี 2564 แล้วก็ตาม ต่อมามีการเปิดเผยรายชื่อนักการเมือง 5 รายที่ถูกสอดแนมด้วย ทางเดอะซิตีเซนแล็บได้รายงานอีกว่า พบหน่วยงานราชการไทย 3 หน่วยงาน ที่มีการใช้สปายแวร์ Circles คือ หน่วยข่าวกรองกองทัพบก (ตั้งแต่ปี 2562), กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ตั้งแต่ปี 2557) และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ตั้งแต่ปี 2559) โดยทาง ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงต่อสภาว่า "ในส่วนของรัฐบาลขอยืนยันว่าไม่ได้มีนโยบายที่จะใช้สปายแวร์ ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ยืนยันว่าไม่มีนโยบาย ไม่เคยกำหนดที่จะใช้สปายแวร์หรือการข่าวที่จะไปกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนทั่วไป"[11]

ในวันที่ 22 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันอภิปรายวันสุดท้าย พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า "มีการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่สุจริต เที่ยงธรรม ฉ้อฉล กู้เงินเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการสืบทอดอำนาจ จัดงบประมาณโดยไม่เข้าใจปัญหาของประเทศและประชาชน ปรนเปรอกองทัพเพื่อใช้เป็นฐานค้ำจุนอำนาจของตน โดยตั้งงบประมาณกระทรวงกลาโหมสูงก่อนกระทรวงอื่น ปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ไม่สนใจชีวิตความเป็นอยู่และความทุกข์ยากของประชาชน" และยังกล่าวอีกว่า หากพ้นวันที่ 24 สิงหาคม จะไม่สามารถต่ออายุเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 158 และมาตรา 264 โดยให้คำตีความไว้ว่า "การดำรงตำแหน่งของ พล.อ. ประยุทธ์ตั้งแต่ครั้งแรกต้องรวมกับการดำรงตำแหน่งครั้งหลังเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ติดต่อกันมาโดยตลอด" พร้อมระบุว่าตั้งแต่ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมา "ได้กู้เงินมาแล้ว 6,000 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าจำนวนหนี้ของรัฐบาลก่อนหน้ารวมกัน 10 ล้านล้านบาท" และ "เงินที่กู้มานั้นก็เอาไปผลาญ ไปแจกเงินให้กับประชาชนเพื่อหวังสืบทอดอำนาจ โดยนำเงินไปแจกหลายโครงการ ยกตัวอย่าง ชิม ช้อป ใช้ แจกคนละ 1,000 บาท, โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่รัฐช่วยออกส่วนลดค่าที่พัก, โครงการเที่ยวปันสุข รัฐออกค่าเดินทางให้ 40%, โครงการช้อปดีมีคืน สามารถนำใบเสร็จมาลดหย่อนภาษีวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท, โครงการคนละครึ่ง รัฐจ่ายให้ครึ่งหนึ่งวันละไม่เกิน 150 บาท ซึ่งมองว่าไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องใช้โครงการของรัฐบาลทั้งที่ยังเป็นหนี้อยู่"[12]

ต่อมาในวันเดียวกัน เบญจา แสงจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อ้างอิงถึงรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า "ภายใต้รัฐบาล คสช. มีพลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหารอย่างน้อย 2,408 คน และมีผู้ถูกดำเนินคดีจากประกาศ-คำสั่ง คสช. อย่างน้อย 428 คน 67 คดี, มีผู้ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 197 คน 115 คดี, มีผู้ถูกดำเนินคดีจากมาตรา 116 อย่างน้อย 124 คน 50 คดี และมีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 อย่างน้อย 169 คน" และได้กล่วอีกว่า "ปัจจุบันมีผู้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมืองโดยไม่ได้รับการประกันตัวอย่างน้อย 30 คน จากวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ถึง 30 มิถุนายน 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 1,832 คน โดยเป็นเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 282 ราย มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 กว่า 200 คน"[13]

รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการตำรวจ ในเรื่องของ "ตั๋วช้างภาค 2" ที่ว่า "พล.ต.ต. ‘ก’ ขณะดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองบินตำรวจ (บ.ตร.) ได้ดำเนินโครงการซ่อมบำรุงอากาศยานกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้ดำเนินการซ่อมและจัดหาอะไหล่ ตามงบประมาณปี 2563 จำนวนกว่า 950 ล้านบาท แต่ต่อมาเมื่อเดือนกันยายน 2564 การบินไทยได้ยื่นหนังสือทวงหนี้มายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จึงทำให้พบว่ากองบินตำรวจ โดย พล.ต.ต. ‘ก’ และพวก ได้สั่งจ้างสั่งซื้อเพิ่มเติมเกินกว่างบประมาณที่วางไว้ รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการเป็นจำนวนถึง 2,774 ล้านบาท และกว่า 784 ล้านบาท ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการซ่อมเครื่องบินเลย เช่น ซื้อถังน้ำดับไฟป่า 8 ล้านบาท หรือซื้อตะขอเกี่ยวสินค้า 6.3 ล้านบาท เป็นต้น" และมีอีกกรณีหนึ่งที่ พล.ต.ต. ‘ก’ ได้ดำเนินการทำสัญญาแลกเปลี่ยนอะไหล่อากาศยานด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยรวบรวมเอาอะไหล่เก่าที่เสื่อมสภาพแล้วไปแลกกับชุดใบพัดหางเฮลิคอปเตอร์จำนวน 2 ชุด ซึ่งเมื่อประเมิณราคาดูแล้วสูงถึง 1,157 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าอำนาจอนุมัติวงเงินของผู้การกองบินที่ 5 ล้านบาทไว้มาก เขายังได้กล่าวอีกว่า "ต่อมาในช่วงที่ พล.ต.ต. ‘ก’ จะต้องย้ายเพื่อเปลี่ยนตำแหน่ง ได้มีการทำหนังสือกราบบังคมทูลว่า "ตนกำลังจะถูกย้ายไปอยู่หน่วยอื่น ถ้ามีพระประสงค์จะให้ปฏิบัติงานต่อ จักได้ดำเนินการต่อไป" ต่อมามีหนังสือตอบกลับจากสำนักพระราชวัง ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ซึ่งตอนนั้น พล.ต.ต. ‘ก’ ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการอยู่ที่สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว" ทำให้รังสิมันต์ตั้งคำถามไปว่า "กรณีนี้จึงเหมือนเป็นการเอาหนังสือจากสำนักพระราชวังมาอ้าง โดยบอกว่าเพื่อวางแผนถวายความปลอดภัย แบบนี้จึงเท่ากับเป็น ‘ตั๋วช้าง’ อีกประเภทหนึ่งใช่หรือไม่"[14]

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นผู้สรุปการอภิปรายว่า "8 ปีนับตั้งแต่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจมาถึงวันนี้ ทำคนไทยมืด 8 ด้าน ไม่มีความหวัง ไม่มีความฝัน ไม่มีอนาคต ... ตอนนี้เงินเฟ้อทั้งปีจะสูงที่สุดในรอบ 24 ปี เงินบาทอ่อนที่สุดในรอบ 16 ปี หนี้สาธารณะสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ปุ๋ยแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ ราคาอาหารสูงที่สุดในประวัติศาสตร์" พิธายังได้ยกในเรื่องของดัชนี Death of Despair หรือความตายจากการสิ้นหวัง พบว่า "ในช่วง 5 ปีของรัฐบาลประยุทธ์ตั้งแต่ก่อนโควิด คนตายจากความสิ้นหวังเพิ่มขึ้น 34% จากปีละ 14,000 คน เป็นปีละเกือบ 20,000 คน และถ้านำมาดูในช่วงโควิด มีคนไทยตายใน 2 ปีกว่าที่ผ่านมาพบว่ามากกว่า 40,000 คน นี่คือโรคระบาดแห่งความสิ้นหวังที่มีคนตายมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดเสียอีก"[15]

ผลการลงมติ[แก้]

ต่อไปนี้เป็นผลการลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี[16]

รายนาม ไว้วางใจ ไม่ไว้วางใจ งดออกเสียง ไม่ลงคะแนน เข้าร่วมประชุม
ประยุทธ์ จันทร์โอชา 256 206 9 0 471
อนุทิน ชาญวีรกูล 264 205 3 0 472
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ 262 205 5 0 472
สุชาติ ชมกลิ่น 243 208 20 0 471
จุติ ไกรฤกษ์ 244 209 17 0 470
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ 249 205 18 0 472
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 241 207 23 0 471
สันติ พร้อมพัฒน์ 249 204 18 0 471
นิพนธ์ บุญญามณี 246 206 20 0 472
ประวิตร วงษ์สุวรรณ 268 193 11 0 472
อนุพงษ์ เผ่าจินดา 245 212 13 0 470

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 THE STANDARD TEAM. เปิด 50 ข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ของ พล.อ. ประยุทธ์ ในศึกซักฟอกครั้งที่ 4. THE STANDARD. 18 กรกฎาคม 2022. https://thestandard.co/distrust-discussion-19-22-july-2565-2/. เข้าถึงเมื่อ 20 กรกฎาคม 2022
  2. ประชาไท. 'ฝ่ายค้าน' ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 15 มิ.ย.นี้ กับ 6 ประเด็นข้อกล่าวหา. เข้าถึงเมื่อ 22 กรกฎาคม 2565
  3. ประชาไท. ‘ฝ่ายค้าน’ เล็งอภิปรายไม่ไว้วางใจ 'นายกฯ-รมต.' รายคน ยื่นญัตติฯ หลัง กม.ลูก 2 ฉบับผ่านวาระ 3. เข้าถึงเมื่อ 22 กรกฎาคม 2565
  4. ประชาไท. ‘ธรรมนัส’ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย-โฆษกรัฐบาลไม่สนยุทธการ ‘เด็ดหัว สอยนั่งร้าน’ ของฝ่ายค้าน. เข้าถึงเมื่อ 22 กรกฎาคม 2565
  5. ประชาไท. เปิดประเด็นไม่ไว้วางใจ 11 รมต. ตามฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายฯ. เข้าถึงเมื่อ 23 กรกฎาคม 2565
  6. สภาผู้แทนราษฎร. ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล. https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/download/article/article_20220719235544.pdf. เข้าถึงเมื่อ 22 กรกฎาคม 2565
  7. บีบีซี. (2565). อภิปรายไม่ไว้วางใจ : เศรษฐกิจไทยประกาศเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” ก่อนศึกซักฟอกครั้งสุดท้ายของรัฐบาลประยุทธ์. สืบค้นเมื่อ 24-07-2022
  8. THE STANDARD TEAM. (2565). สุทิน ดาบแรกซักฟอกอนุทิน ล็อกเป้านโยบายกัญชาเสรี บอกขัดกติกาโลก หวั่น UN ขึ้นบัญชีไทย เสียสิทธิทางยา. สืบค้นเมื่อ 24-07-2022
  9. บีบีซี. (2565). อภิปรายไม่ไว้วางใจ : อนุทินชี้นโยบายกัญชาไทย “เป็นตัวของเราเอง ไม่ผิดข้อตกลง” กฎหมายโลก. สืบค้นเมื่อ 24-07-2022
  10. มติชน (20 July 2022). "ไม่ปลอดภัยแล้ว! "ชัยวุฒิ" รับกลางสภา ไทยใช้สปายแวร์ "เพกาซัส" แต่เป็นส่วนของฝ่ายความมั่นคง". สืบค้นเมื่อ 24 July 2022.
  11. บีบีซี. (2565). อภิปรายไม่ไว้วางใจ 2565 : ก้าวไกล เปิดข้อมูลทุจริตก่อสร้างในกองทัพ, ชื่อนักการเมืองถูกสปายแวร์รัฐ. สืบค้นเมื่อ 24-07-2022
  12. THE STANDARD (22 July 2022). "เสรีพิศุทธ์ อัดประยุทธ์นักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่ประชาชนคนใช้หนี้ ขยันอนุมัติงบให้กองทัพ มีสโมสรกว่า 300 แห่ง ตำรวจที่เดียวหาเงินสร้างเอง". สืบค้นเมื่อ 25 July 2022.
  13. THE STANDARD (22 July 2022). "พิธาชี้ 8 ปี รัฐบาลประยุทธ์ทำคนไทยมืด 8 ด้าน อัด 'เศรษฐกิจ 3 แกน' คือความกลวง-ปลอม-เปลือก". สืบค้นเมื่อ 25 July 2022.
  14. THE STANDARD (22 July 2022). "โรม ซักฟอกประยุทธ์ ถามเกิดตั๋วช้าง ภาค 2 หรือไม่ ชี้อนุมัติงบกลาง 937 ล้าน อุ้ม พล.ต.ต. 'ก' กลบหนี้เน่า ทุจริตกองบินตำรวจ". สืบค้นเมื่อ 25 July 2022.
  15. THE STANDARD (22 July 2022). "พิธาชี้ 8 ปี รัฐบาลประยุทธ์ทำคนไทยมืด 8 ด้าน อัด 'เศรษฐกิจ 3 แกน' คือความกลวง-ปลอม-เปลือก". สืบค้นเมื่อ 25 July 2022.
  16. "ผลอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 13 รอดหมด 'อนุพงษ์' ได้คะแนน 'ไม่ไว้วางใจ' เยอะสุด". ประชาไท. 2022-07-23. สืบค้นเมื่อ 2022-07-23.
ก่อนหน้า การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2565 ถัดไป
การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย สิงหาคม-กันยายน พ.ศ. 2564
การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2565
(19-23 กรกฎาคม พ.ศ. 2565)
ยังไม่มี