การสังหารหมู่บนแม่น้ำโขง

พิกัด: 20°17′N 100°05′E / 20.28°N 100.09°E / 20.28; 100.09
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การสังหารหมู่แม่น้ำโขง
ที่ตั้งของจังหวัดเชียงรายในประเทศไทย
สถานที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย
วันที่5 ตุลาคม 2011; 12 ปีก่อน (2011-10-05)
ประเภทการปล้นเรือ, การฆาตกรรมหมู่
ตาย13 คน, ชาวจีนทั้งหมด

การสังหารหมู่บนแม่น้ำโขง (อังกฤษ: Mekong River massacre) เกิดขึ้นเมื่อตอนเช้าของวันที่ 5 ตุลาคม 2011 เมื่อเรือขนส่งสินค้าสัญชาติจีนสองลำถูกโจมตีขณะล่องอยู่บนแม่น้ำโขงช่วงสามเหลี่ยมทองคำ พรมแดนระหว่างประเทศพม่ากับประเทศไทย เจ้าหน้าที่บนเรือชาวจีนทั้ง 13 คนบนเรือทั้งสองลำถูกฆาตกรรมและทิ้งศพลงแม่น้ำ[1] เหตุการณ์นี้เป็นการโจมตีชาวจีนนอกเขตแดนของจีนที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่[2] รัฐบาลจีนตอบโต้โดยการสั่งหยุดการขนส่งทางเรือบนแม่น้ำโขงชั่วคราว และสร้างข้อตกลงร่วมระหว่างไทย พม่า และลาวเพื่อมีสิทธิ์ในการตรวจตราแม่น้ำร่วมกัน[2] เหตุการณ์นี้ยังเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดสนธิสัญญาเนปยีดอ (Naypyidaw Declaration) และความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อยับยั้งการค้ายาในพื้นที่[3]

ในวันที่ 28 ตุลาคม 2011 เจ้าหน้าที่ชาวไทยจับกุมทหารกองกำลังผาเมืองจำนวนเก้าคนซึ่งต้องสงสัยมีส่วนรู้เห็นกับเหตุการณ์ แต่ต่อมาทั้งหมดได้ "สูญหายไปจากกระบวนการยุติธรรม"[4] ในที่สุด พ่อค้ายา หน่อคำ และสมุนอีกสามคน ถูกตัดสินประหารชีวิตโดยรัฐบาลจีนด้วยความผิดเกี่ยวข้องกับเหตุฆาตกรรมหมู่ในครั้งนี้[5]

ปูมหลัง[แก้]

แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไหลจากประเทศจีน ผ่านพม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ก่อนจะไหลลงทะเลจีนใต้ และเป็นแม่น้ำสายหลักในการค้าขายระหว่างมณฑลยูนนานของประเทศจีนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[6] แม่น้ำช่วงหนึ่งของแม่โขงไหลผ่านสามเหลี่ยมทองคำซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างไทย พม่า และลาว ภูมิภาคนี้เป็นที่รู้จักในฐานะพื้นที่ที่กฎหมายเข้าไม่ถึง (lawlessness) และขึ้นชื่อเรื่องการขนส่งยาเสพติด[2] เจ้าของเรือหนึ่งในสองลำที่ถูกปล้นระบุว่าเรือของจีนแทบทุกลำในพื้นที่ล้วนเคยถูกปล้นโดยแก๊งแม่น้ำมาแล้ว[7]

เหตุการณ์[แก้]

รายชื่อผู้เสียชีวิต[8]
บนเรือหัวผิง
* หวง หย่ง (黄勇) กัปตัน
* ไช่ ฟางหฺวา (蔡方华) วิศวกร
* หวัง เจี้ยนจฺวิน (王建军) คนคุมเรือ
* ชิว เจียไห่ (邱家海) หัวหน้าวิศวกร
* หยาง ยิงตง (杨应东) กะลาสี
* หลี่ ย่าน (李燕) คนครัว
บนเรือยฺวี่ซิ่ง 8
* เหอ ชีหลุน (何熙伦) กัปตันร่วม
* กัว จื้อเฉียง (郭志强) กัปตันร่วม
* หยาง เต๋ออี้ (杨德毅) กัปตันร่วม
* หวัง กุ้ยเชา (王贵超) หัวหน้าวิศวกร
* เหวิน ไต้หง (文代洪) คนคุมเรือ
* เหอ ซีสิง (何熙行)
* เจิง เป่าเฉิง (曾保成)
* หยาง จื๋อเหว่ย์ (杨植纬) ลูกชายของ หยาง เต๋ออี้
* เฉิน กั๋วยิง (陈国英)

เจ้าหน้าที่บนเรืออีกลำที่เห็นเหตุการณ์อ้างว่ามีกลุ่มชายพร้อมอาวุธปืนจำนวนแปดคนบุกเข้าเรือ "หัวผิง" และ "ยฺวี่ซิ่ง 8" ในช่วงเช้าของวันที่ 5 ตุลาคม 2011[7] โดยดหตุการณ์เกิดขึ้นในน่านน้ำของพม่า[2] ต่อมาในวันนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำของไทยจากจังหวัดเชียงรายได้กู้เรือหลังการโจมตีด้วยปืนบนเรือ และพบแอมเฟตามีน 900,000 เม็ด มูลค่ามากกว่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[7] ส่วนศพของเหยื่อชาวจีนถูกเก็บกู้ขึ้นมาจากแม่น้ำในภายหลัง ทั้งหมดล้วนถูกยิงหรือแทง บางส่วนถูกมัดและปิดตา[9]

การสืบสวน[แก้]

ผู้บัญชาการตำรวจภูธรเชียงรายระบุว่าแก๊งก์ค้ายาเรียกร้องเงินคุ้มกันจากเรือบนแม่น้ำโขง และบางทีก็ปล้นเรือเพื่อบังคับให้ขนส่งของผิดกฎหมายและยาเสพติด[9] เจ้าหน้าที่ตำรวจสงสัยแต่แรกว่าเหตุการณ์นี้มีหน่อคำ ชายชาวฉาน สัญชาติพม่า วัยสี่สิบปี พ่อค้ายาและโจรสลัดแห่งสามเหลี่ยมทองคำ เป็นผู้บงการ[2][7] รวมถึงเชื่อกันว่าหน่อคำเคยเป็นลูกมือของอดีตพ่อค้ายา ขุนส่า[10] และหัวหน้าแก๊งที่มีสมาชิกกว่า 100 คน ผู้ก่อการค้ายา ขนส่งยา ลักพาตัว ฆาตกรรม และปล้นเรือสินค้าบนแม่น้ำโขงเป็นเวลาหลายปี[6] อย่างไรก็ตาม การสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมพบส่วนพัวพัน[11] กับทหารไทยจากกองกำลังผาเมืองซึ่งเป็นกองกำลังกำจัดยาเสพติดของกองทัพไทย[2]

หลังการไล่ล่าหน่อคำโดยเจ้าหน้าที่ทางการทั้งจีนและไทย ในปลายเดือนเมษายน 2012 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยของประเทศลาวสามารถจับกุมหน่อคำได้ในแขวงบ่อแก้ว[10] และส่งตัวไปยังประเทศจีนในเดือนพฤษภาคม[2] หน่อคำรับผิดต่อทางการจีนว่าเป็นผู้ก่อเหตุฆาตกรรม ส่วนรัฐบาลพม่ามีแผนที่จะส่งตัวผู้สมรู้ร่วมคิดไปยังจีนเพิ่มเติม[10]

กระบวนการยุติธรรม[แก้]

ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2012 ศาลแขวงคุนหมิง (China's Intermediate People's Court of Kunming) ในมณฑลยูนนานตัดสินประหารชีวิตหน่อคำและพวกอีกสามคน ในจำนวนนี้ หนึ่งคนมาจากประเทศไทย, หนึ่งคนจากประเทศลาว และอีกคนรัฐบาลจีนระบุว่า "ไม่มีสัญชาติ" นอกจากนี้ยังมี Zha Bo และ Zha Tuobo ซึ่งถูกตัดสินประหารชีวิตโดยลดหย่อนโทษและจำคุกแปดปีตามลำดับ จำเลยทั้งหกถูกปรับจำนวน 6,000,000 หยวน ($960,000) ขณะตัดสินมีผู้สังเกตการณ์ราว 300 คน ซึ่งมีทั้งญาติผู้เสียชีวิต สื่อมวลชน และผู้แทนทูตจากไทยและลาว[12] ทั้งสี่คนถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษเมื่อ 1 มีนาคม 2013[5]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

ภาพยนตร์เรื่อง เชือด เดือด ระอุ (กำกับโดย ดันเต หลั่ม) ได้เค้าโครงมาจากเหตุการณ์นี้ ออกฉายเมื่อปี 2016[11] รายได้ 1.18 พันล้านหยวน และเป็นหนึ่งในภาพยนตร์รายได้สูงสุดของจีน[13][14]

อ้างอิง[แก้]

  1. "中国13名船员在泰国境内惨遭劫杀". China.com (ภาษาจีน). 10 October 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 December 2011. สืบค้นเมื่อ 16 August 2012.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 "Laos extradites suspect to China in Mekong massacre case". Chicago Tribune. 10 May 2012. สืบค้นเมื่อ 16 August 2012.
  3. Saw Yan Naing (10 May 2013). "Drug Trade a 'Significant Threat' to Region: Mekong Nations". The Irrawaddy. สืบค้นเมื่อ 4 October 2017.
  4. "Whitewash at Chiang Saen". Bangkok Post. 2 October 2016.
  5. 5.0 5.1 "China executes four foreign nationals convicted of Mekong river murders". The Guardian. 1 March 2013. สืบค้นเมื่อ 1 March 2013.
  6. 6.0 6.1 "Review: Mekong river murder tragedy". CNTV. 12 July 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-03. สืบค้นเมื่อ 16 August 2012.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 "Chinese crew killed 'by drugs gang' on Mekong River". BBC. 10 October 2011. สืบค้นเมื่อ 16 August 2012.
  8. "中国船员泰国境内遭劫持杀害" (ภาษาจีน). Sina. สืบค้นเมื่อ 20 August 2012.
  9. 9.0 9.1 "China Suspends Boat Traffic on Mekong". New York Times. 10 October 2011. สืบค้นเมื่อ 16 August 2012.
  10. 10.0 10.1 10.2 "Naw Kham 'admits plotting sailor murders'". Bangkok Post. 24 July 2012. สืบค้นเมื่อ 19 August 2012.
  11. 11.0 11.1 "PM mulls 'Operation Mekong' ban". Bangkok Post. 28 September 2016. สืบค้นเมื่อ 4 October 2017.
  12. China Internet Information Center, "Mekong River Murderers Sentenced To Death", 6 November 2012, retrieved 7 November 2012
  13. "湄公河行動(2016)". cbooo.cn (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ 2 September 2017.
  14. "湄公河行動 (2016)" (ภาษาจีน). douban.com. สืบค้นเมื่อ 2 September 2017.

20°17′N 100°05′E / 20.28°N 100.09°E / 20.28; 100.09