การวิ่งทางไกล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กลุ่มของนักวิ่งสมัครเล่นในการแข่งวิ่งทางไกลในสวิตเซอร์แลนด์
ภาพถ่ายของ Burton Holmes ชื่อ "1896: Three athletes in training for the marathon at the Olympic Games in Athens"

การวิ่งทางไกล หรือ การวิ่งทน เป็นการวิ่งอย่างต่อเนื่องเป็นระยะทางอย่างน้อย 3 กิโลเมตร (1.86 ไมล์) ตามสรีรวิทยาแล้ว นับว่าเป็นการออกกำลังแบบแอโรบิกตามธรรมชาติและต้องใช้ความอดทน[1]

ในหมู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มนุษย์ รวมถึงสัตว์ในอันดับวานร สามารถปรับตัวเพื่อวิ่งระยะทางไกลได้ดี สมมุติฐานการวิ่งทนเสนอไว้ว่าสัตว์สกุล โฮโม วิ่งทนเพราะการเดินทางข้ามพื้นที่กว้างใหญ่เพิ่มโอกาสในการไล่ล่า และยังสามารถล่าต่อเนื่องได้อีกด้วย[2] การวิ่งทนยังพบในสัตว์กีบที่กำลังอพยพ และสัตว์กินเนื้อที่อาศัยบนพื้นดินบางประเภท เช่น หมา หมาป่า และไฮยีน่า[3]

ในสังคมมนุษย์รุ่นใหม่ มนุษย์มีหลายเหตุผลที่จะวิ่งทางไกล อาจทำไปเพื่อการออกกำลัง นันทนาการ การเดินทาง เหตุผลทางเศรษฐกิจ หรือเหตุผลทางวัฒนธรรม การวิ่งทางไกลสามารถช่วยปรับสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดให้ดีขึ้น[4] และยังช่วยทำให้สมรรถภาพร่างกายแบบแอโรบิกดีขึ้นโดยเป็นการเพิ่มกิจกรรมให้เอนไซม์และฮอร์โมน ซึ่งจะไปทำการกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อและหัวใจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น[5] บ่อยครั้ง ทั้งปัจจุบันและในอดีต ที่การวิ่งทางไกลจะถูกมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการผึกทหาร การวิ่งเป็นอาชีพพบมากที่สุดในส่วนของการกีฬา ถึงแม้ว่าในสมัยก่อนยุคอุตสาหกรรม ผู้ส่งสาส์นเดินเท้าก็วิ่งเพื่อส่งข้อมูลไปยังสถานที่ที่ห่างไกลเช่นเดียวกัน การวิ่งทางไกลยังเป็นรูปแบบของประเพณีหรือพิธีของชนเผ่าต่าง ๆ เช่น ชนเผ่า Hopi และ Tarahumara[6][7]

ในกรีฑา ได้มีการกำหนดให้การแข่งขันวิ่งทางไกลต้องวิ่งเป็นระยะ 3 กิโลเมตร (1.86 ไมล์) ขึ้นไป ปกติจะมีการวิ่งอยู่ 3 ประเภท คือ ลู่และลาน การวิ่งบนถนน และการวิ่งวิบาก ซึ่งแตกต่างตามลักษณะภูมิประเทศ ได้แก่ ลู่วิ่งราดยาง ถนน และสภาพตามธรรมชาติ ตามลำดับ โดยปกติการวิ่งแข่งบนลู่จะมีระยะทางตั้งแต่ 3,000 เมตร ถึง 10,000 เมตร (6.2 ไมล์) ส่วนการวิ่งวิบากจะแข่งในระยะทางตั้งแต่ 5 ถึง 12 กิโลเมตร (3 ถึง 7.5 ไมล์) ในขณะที่การวิ่งแข่งบนถนนอาจมีระยะทางได้ยาวขึ้นถึง 100 กิโลเมตร (60 ไมล์) หรือมากกว่า การวิ่งวิบากในมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกา ผู้ชายมีจะวิ่งเป็นระยะทาง 8000 เมตร ส่วนผู้หญิงจะวิ่งเป็นระยะทาง 6000 เมตร รายการวิ่งในโอลิมปิกฤดูร้อนมีระยะทาง 5,000 เมตร 10,000 เมตร และยังมีประเภทมาราธอน (42.195 กิโลเมตร หรือ 26 ไมล์ 385 หลา)

ประวัติศาสตร์[แก้]

การวิ่งก่อนยุคประวัติศาตร์[แก้]

การล่า[แก้]

การสังเกตเชิงมานุษยวิทยาพบว่าชุมชนของผู้ล่าสัตว์และเก็บเกี่ยวได้ใช้การวิ่งทางไกลในการล่าสัตว์ เช่น ชนเผ่า San จาก ทะเลทรายคาลาฮารี[8] ชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา[9] และชาวอะบอริจิน[10] ผู้ล่าจะวิ่งช้าแต่คงที่เป็นเวลาตั้งแต่ 1 ชั่วโมงถึง 2-3 วัน ในบริเวณที่สัตว์ที่ถูกล่าไม่สามารถหลบซ่อนตัวได้ สัตว์ที่ถูกล่าจะหยุดหอบเพื่อปรับร่างกายให้เย็นลง แต่ก็มีเวลาไม่พอเนื่องจากถูกล่าอย่างต่อเนื่อง เมื่อระยะเวลาผ่านไป สัตว์ที่ถูกล่าก็จะล้มจากความเหนื่อยล้าและความร้อน[11] โครงกระดูกของเด็ก Nariokatome อายุ 12 ปี พิสูจน์ว่า มนุษย์เมื่อ 1.5 ล้านปีที่แล้วกินเนื้อมากและกินพืชน้อยกว่ามนุษย์ในปัจจุบัน และไล่ล่าโดยการวิ่งไล่สัตว์[12][13]

ยุคประวัติศาตร์โบราณ[แก้]

ด้วยวิวัฒนาการทางการเกษตรและวัฒนธรรม การวิ่งทางไกลจึงไม่ได้ใช้เพียงเพื่อการล่าเท่านั้น แต่ยังใช้เพื่อพิธีกรรมทางศาสนา การส่งข้อความทางการทหารและทางการเมือง และการเล่นกีฬา[11]

ผู้ส่งสาส์น[แก้]

ในพันธสัญญาเดิมกล่าวถึงการวิ่งส่งสาส์นของผู้ส่งสาส์น เช่นในหนังสือซามูเอล 18 นักวิ่ง 2 คน คือ Ahimaaz และ Cushite วิ่งส่งสาส์นถึงกษัตริย์เดวิดว่า Absalom ซึ่งเป็นลูกชายของเขาได้ตายลง ในเยเรมีย์ 51:31-32 ผู้ส่งสาส์น 2 คน พบกันครึ่งทาง เพื่อส่งสาส์นเกี่ยวกับการสูญเสียเมืองบาบิโลเนีย

31 One post shall run to meet another, and one messenger to meet another, to shew the king of Babylon that his city is taken at one end, 32 And that the passages are stopped, and the reeds they have burned with fire, and the men of war are affrighted.

คนวิ่งส่งสาส์นในซูเมอร์ตอนต้นเรียกว่า ลาซิมู (lasimu)[14] ถือเป็นทั้งทหารและข้าราชการ มีหน้าที่วิ่งรอบ ๆ เมืองเพื่อกระจายสาร[15] กรีซโบราณก็มีชื่อเสียงในนักวิ่งส่งสาส์นที่เรียกว่า ฮีมีโลโดรมอย (hemerodromoi) ซึ่งมีความหมายว่า “นักวิ่งทั้งวัน”[16] หนึ่งในนักวิ่งส่งสาส์นที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ คือ ไฟดิปพิดีส ซึ่งตามตำนานแล้ววิ่งจากเมืองมาราธอนไปยังเอเธนส์เพื่อประกาศชัยชนะของกรีกที่มีเหนือเปอร์เซียในสงครามมาราธอน เมื่อ 490 ปีก่อนคริสศักราช และได้ตายลงหลังจากส่งสาส์นว่า "เราชนะ"[17] ถึงแม้ว่าจะมีการโต้เถียงว่าตำนานนี้เป็นจริงมากน้อยเพียงใด[18] ไฟดิปพิดีสวิ่งระหว่างจากเมืองมาราธอนไปเอเธนส์จริงหรือไม่ ระยะทางยาวเพียงใด และเป็นเพียงแค่คนเดียวที่ส่งสาน์สหรือไม่[19] เรื่องราวนี้ก็ทำให้เกิดการแข่งขันวิ่งมาราธอน ระยะทาง 26.2 ไมล์ หรือ 42 กิโลเมตร

สรีรวิทยาของการวิ่งทางไกล[แก้]

มนุษย์เป็นสัตว์ที่วิ่งระยะไกลได้ดีที่สุดในหมู่สัตว์ที่วิ่งได้ สัตว์อื่นอาจมีความเร็วสูงกว่า แต่ก็วิ่งได้ระยะสั้นกว่า[13] ร่างกายมนุษย์ได้พัฒนาจนเดินตัวตรงและจนวิ่งได้มาประมาณ 2-3 ล้านปีมาแล้ว[20] ต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ ซึ่งร่างกายถูกออกแบบมาให้เดิน 4 ขาหรือปีนต้นไม้ ร่างกายมนุษย์สามารถวิ่งไกลได้เพราะ

  1. กระดูกและโครงสร้างกล้ามเนื้อ: ในขณะที่สัตว์สี่เท้าประเภทอื่นมีจุดศูนย์กลางมวลที่ด้านหน้าของขาหลัง สัตว์สองขารวมถึงมนุษย์มีจุดศูนย์กลางมวลที่ด้านบนขา ทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อแตกต่างออกไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ขาและกระดูกเชิงกราน[20]
  2. การระบายความร้อน: ความสามารถในการระบายความร้อนของมนุษย์โดยการขับเหงื่อออกทางผิวหนังทำให้ได้เปรียบกว่าการหอบทางปากหรือทางจมูก เพราะมีพื้นที่ผิวให้เหงื่อระเหยมาก และไม่ขึ้นกับระบบหายใจ[13]

ความแตกต่างในการเดินตัวตรงและการวิ่งคือการเผาผลาญพลังงานในระหว่างการเคลื่อนไหว ขณะเดิน มนุษย์ใช้พลังงานครึ่งหนึ่งของการวิ่ง[21] นักชีววิทยาวิวัฒนาการเชื่อว่าความสามารถของมนุษย์ในการวิ่งไกลทำให้มนุษย์ซึ่งกินเนื้อสามารถแข่งขันกับสัตว์กินเนื้ออื่น ๆ ได้[22]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Grine, Frederick E. et al (October 2006). The First Humans - Origin and Early Evolution of the Genus Homo. Stonybrook University. Retrieved on 2013-04-11.
  2. Humans hot, sweaty, natural-born runners. Phys.org/Harvard University (2007-04-16). Retrieved on 2013-04-11.
  3. ANTHROPOLOGY: ENDURANCE RUNNING AND HUMAN EVOLUTION. Science Week (2004/2005). Retrieved on 2013-04-11.
  4. [1]
  5. http://www.medicinenet.com/running/page3.htm#what_are_the_fitness_benefits_of_running
  6. Running in Hopi History and Culture. Hopi Cultural Preservation Office/Northern Arizona University. Retrieved on 2013-04-11.
  7. Lonergan, J. E. The ecology of servitude in Tarahumara ritual tesgüinada เก็บถาวร 2013-08-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. International Society for Gesture Studies. Retrieved on 2013-04-11.
  8. Bjerre, Jens. Kalahari. Hill and Wang, 1960.
  9. Bennett, Wendell Clark, and Robert Mowry Zingg. "The Tarahumara, an Indian tribe of northern Mexico." (1935).
  10. Sollas, W. J. 1924. Ancient hunters and their modern representatives. New York: Macmillan
  11. 11.0 11.1 Sears, Edward Seldon. Running through the Ages. McFarland, 2001.
  12. Walker, A. and Leakey, R. (1993). Nariokotome Homo Erectus Skeleton.
  13. 13.0 13.1 13.2 Carrier, D. R., Kapoor, A. K., Kimura, T.,Nickels, M. K., Satwanti, Scott, E. C., So, J. K., & Trinkaus, E. (1984).The energetic paradox of human running and hominid evolution. Current Anthropology, Vol. 25, No. 4 (Aug. - Oct., 1984), pp. 483-495.
  14. The Assyrian Dictionary L (Chicago: The Oriental Institute), 104–108. 1973
  15. Deane Anderson Lamont, Running Phenomena in Ancient Sumer. Journal of Sport History, Vol.22, No. 3 (Fall 1995).
  16. History of the 24hr race, by Andy Milroy. Retrieved on Aug-13-2013 from http://www.ultralegends.com/history-of-the-24hr-race/.
  17. Hammond, N. G. L. (1968). The Campaign and the Battle of Marathon. The Journal of Hellenic Studies, Vol. 88, pp. 13-57
  18. Lovett, C. (1997). Olympic Marathon: A Centennial History of the Games' Most Storied Race. Retrieved from http://www.marathonguide.com/history/olympicmarathons/prologue.cfm
  19. The" Hemerodromoi": Ultra Long-Distance Running in Antiquity . The Classical World, Vol. 68, No. 3 (Nov., 1974), pp. 161-169.
  20. 20.0 20.1 Lovejoy, C. O. (1988). Evolution of human walking. Scientific American (0036-8733), 259 (5), p. 82.
  21. Margaria, R., Cerretelli, P., Aghemo, P., and Sassi, G. (1963). Energy cost of running. Journal of Applied Physiology. 18:367-370.
  22. Lieberman, D. E., and Bramble, D. M. (2007). The evolution of marathon running: Capabilities in humans. Sports Medicine 37(4-5):288-290.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]