การวางแผนภาค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การวางแผนภาค (regional planning) เป็นสาขาหนึ่งของการวางแผนที่ดินที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพในการกำหนดการใช้ที่ดินและกิจกรรม โครงสร้างพื้นฐานและการเจริญเติมโตอันเนื่องมาจากการตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่มากมากกว่านครหรือเมืองใดเมืองหนึ่งเพียงเมืองเดียว สาขาที่เกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กันได้แก่การการวางแผนชุมชน และการออกแบบชุมชนเมือง ซึ่งเป็นการเกี่ยวข้องกับปัญหาเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นส่วนของเมือง และถือเป็นส่วนของการผังเมือง การวางแผนภาค การวางแผนชุมชนและการออกแบบชุมชนถือกันว่าเป็นการวางแผนเชิงพื้นที่ (Spatial planning) ที่ภายใต้กรอบที่พัฒนาแนวทางมาจากยุโรป

การวางแผนภาค[แก้]

ในแต่ละ ภาค จะต้องมีการใช้ที่ดินที่หลากหลาย ต้องการการปกป้องพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่เมือง จะต้องมีพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรม เพื่อการจัดวางโครงข่ายและศูนย์การขนส่ง พื้นที่การทหาร พื้นที่ธรรมชาติและป่าสงวน ฯลฯ รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติซึ่งมักมีปัญหาขัดแย้งระหว่างการใช้ที่ดินที่ต่างกัน

การวางแผนภาคเป็นศาสตร์ว่าด้วยการจัดวางหรือกำหนดพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการวางโครงสร้างพื้นฐานพร้อมการกำหนดเขตหรือย่าน (อังกฤษ: Zoning) เพื่อนำไปสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของทั้งภาคซึ่งอาจครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัด

คำว่า "ภาค" ในความหมายของการวางแผนอาจกำหนดโดยเขตการปกครองที่มีลักษณะปัญหาการพัฒนาหรือปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นไปในแนวเดียวกัน เช่น พื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกของประเทศไทยที่เรียก "อีสเทิร์นซีบอร์ด" ซึ่งรวมพื้นที่หลายจังหวัด หรืออาจเป็นพื้นที่ที่กำหนดโดยลุ่มน้ำธรรมชาติ เช่น พื้นที่ลุ่มน้ำวัง

หลักการของการวางแผนภาค[แก้]

เนื่องจากพื้นที่ "ภาค" ครอบคลุมพื้นที่ของหลายองค์การปกครองท้องถิ่นซึ่งมีกฎหมายท้องถิ่นและระบบงบประมาณเป็นของตัวเอง การวางแผนภาคจึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้การพัฒนาของพื้นที่ภาคโดยภาพรวมซึ่งมีผลกระทบถึงกันโดยตรงมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพและชัดเจน ปกติการวางแผนภาคโดยทั่วไปจะมุ่งเน้นที่จะ:-

  • พิทักษ์ ปกป้องและต่อต้านการพัฒนาในพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ เช่น บนแนวรอยแยกแผ่นดินไหว พื้นที่เสี่ยงคลื่นสึนามิ
  • กำหนดระบบโครงข่ายการคมนาคมและการสัญจรที่เชื่อมโยงไปยังพื้นที่พัฒนาในส่วนต่างๆ ของประเทศ
  • กำหนดแนวคิดในการพัฒนาเน้นเฉพาะที่เหมาะสมกับศักยภาพของทรัพยากรในภาคนั้นๆ เช่น การเน้นเป็นพื้นที่เกษตรก้าวหน้าเนื่องจากความอุดมของดินและแหล่งน้ำ หรือพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรม เนื่องจากสะดวกในการขนส่งและท่าเรือ
  • กำหนดพื้นที่ที่จำเป็นต้องมี แต่ไม่มีผู้ใดต้องการ ได้แก่การประกอบอุตสาหกรรมที่มีของเสีย ฝุ่นหรือเสียง ที่อยู่ในภาวะ "NIMBY" (Not-In-My-Back-Yard) ให้มารวมอยู่กันเพื่อประสิทธิภาพในการจัดการ
  • กำหนดพื้นที่สีเขียวที่สอดคล้องกับลักษณะธรรมชาติและภูมิศาสตร์เพื่อเป็นแนวกั้นเขตการพัฒนา เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า นันทนาการและศิลปวัฒนธรรม
  • กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติระดับภาคที่ทุกองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นในภาคนั้นๆ จะใช้ร่วมกันเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน
  • กำหนดกฎหมายหรือข้องบังคับด้านการควบคุมการก่อสร้างในเชิงบวก เพื่อโน้มนำให้มีการพัฒนาที่เหมาะสมที่สุดกับพื้นที่นั้นๆ

อ้างอิง[แก้]

  • onathan Barnett, Planning for a New Century: The Regional Agenda, ISBN 1-55963-806-0
  • Patricia E. Salkin, Supersizing Small Town America: Using Regionalism to Right-Size Big Box Retail, 6 Vermont Journal of Environmental Law 9 (2005)
  • Peter Calthorpe & William Fulton, The Regional City: Planning for the End of Sprawl, ISBN 1-55963-784-6

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]