ข้ามไปเนื้อหา

การรับน้อง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กิจกรรมรับน้องที่มหาวิทยาลัยยอร์ก ในประเทศแคนาดา

รับน้อง หรือ กิจกรรมต้อนรับนักเรียนหรือนักศึกษาใหม่ คือ กิจกรรมที่นิสิตรวมถึงนักศึกษาหรือนักเรียนรุ่นพี่ จัดขึ้นสำหรับ นักศึกษาใหม่ที่เข้ารับการศึกษา เป้าหมายเพื่อทำให้นักศึกษาที่เข้าใหม่ได้ทำความรู้จักกับรุ่นพี่ของสถานศึกษานั้น และเรียนรู้วิธีการประพฤติปฏิบัติตัวในสังคมสถานศึกษานั้น

ในหลายสถาบันได้มีการจัดการรับน้องภายในช่วงระหว่างเปิดการศึกษา ตั้งแต่ช่วงก่อนเปิดการศึกษาจนถึงหนึ่งเดือนภายหลังจากวันแรกที่เปิดการศึกษา

ปัจจุบันการรับน้องในประเทศไทยถูกกล่าวถึงว่าใช้เป็นส่วนหนึ่งของระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย[1]

ประวัติ

[แก้]

ประเพณีการรับน้องเป็นประเพณีที่มีมานานแล้วทั่วโลก ทั้งในรูปแบบของแฟกกิง แรกกิง หรือ เฮซซิง ผู้เขียนบทความ History of Greek Hazing เชื่อว่าประเพณีการรับน้องมีรากเหง้ามาจากทวีปยุโรปโดยมาจากระบบ Penalism ในภาคพื้นยุโรป และระบบแฟกกิงในอังกฤษ ระบบ Penalism เกิดขึ้นในสมัยกลางประมาณ 700 ปีก่อน เนื่องจากเชื่อว่าน้องใหม่ที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยยังขาดการศึกษาจึงต้องขัดเกลาด้วยความลำบากก่อนที่จะได้รับชีวิตใหม่ที่ดีในมหาวิทยาลัย เพื่อให้รู้จักประพฤติตัวให้เหมาะสม จะมีการบังคับให้ใส่ชุดแปลก ๆ ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกเล่นตลกที่หยาบคายหรือถูกรีดไถเงินหรืออาหาร สองร้อยปีต่อมาระบบนี้ก็ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วยุโรป แต่ว่าเป็นระบบที่อันตราย มีการบันทึกในเรื่องคนเจ็บและคนตายจนผู้ปกครองนักศึกษาหวาดกลัวประเพณีนี้ เมื่อสิ้นสุดสมัยกลางใน 100 ปีถัดมาระบบนี้จึงถูกยกเลิกไป[2]

ในอังกฤษใช้ระบบแฟกกิงโดยเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในประมาณปี พ.ศ. 2310 และได้ถูกนำไปใช้ในมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดและเคมบริดจ์ และโรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์ส ระบบนี้จำกัดอำนาจของครูโดยให้นักเรียนปกครองกันเอง โดยนักเรียนอาวุโสที่เรียกว่า Fag-master หรือ Prefect จะเลือกนักเรียนใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่รับใช้ส่วนตัวหรือ Fag โดยรุ่นพี่ (Fag-master) สามารถใช้งานรุ่นน้อง (Fag)ได้ตามใจชอบ สามารถลงโทษรุ่นน้องที่รุนแรงและใช้วาจาหยาบคายได้ โดยให้รุ่นน้องเรียนรู้เรื่องความอัปยศก่อนที่จะประพฤติตนให้เหมาะสม ซึ่งระบบนี้เสี่ยงกับการใช้อำนาจในทางที่ผิดหรือล่วงละเมิดทางเพศได้ ซึ่งมีสถิติผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตและฆ่าตัวตายเกิดขึ้นเช่นกัน และระบบนี้ได้ถึงจุดจุดอิ่มตัวประมาณ 200 ปีก่อน และเลือนหายไปประมาณเมื่อ 100 ปีก่อน เนื่องจากค่านิยมในเรื่องคนรับใช้เปลี่ยนไป แม้จะได้รับการต่อต้านจากรุ่นพี่ที่เคยได้รับประโยชน์จากระบบนี้โรงเรียนกินนอนของอังกฤษได้ตัดสินใจยกเลิกระบบนี้ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา โดยเปลี่ยนให้น้องใหม่ทำประโยชน์ต่อสังคมแทนที่จะคอยรับใช้รุ่นพี่ แฟกกิงต่างจาก Penalism คือ รุ่นพี่จะแกล้งรุ่นน้องได้ตลอด แต่ Penalism รุ่นพี่แกล้งน้องในช่วงการรับน้องได้เพียงครั้งเดียว ระบบแฟกกิงนี้ได้ยังคงมีอยู่ตามโรงเรียนกินนอนของประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกาใต้ ซึ่งย่นระยะเวลาการเป็นน้องใหม่ให้สั้นลงและเพี้ยนไปเป็น Ragging ซึ่งประเทศไทยเองก็มีโรงเรียนมหาดเล็กซึ่งต่อมาวิวัฒนาการเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยและภปร.ราชวิทยาลัยซึ่งถอดแบบมาจากโรงเรียนกินนอนในอังกฤษและได้ยกเลิกระบบนี้เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน

ผู้อพยพอังกฤษที่ไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐและแคนาดาได้นำระบบแฟกกิงไปใช้ในมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งขึ้นในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 400 ปีก่อน เช่น ฮาร์วารด์ เยล แต่ว่าคณาจารย์จะเป็นผู้ออกกฎที่เข้มงวดบังคับใช้กับน้องใหม่โดยเฉพาะแทนที่จะเป็นรุ่นพี่ เช่น ต้องเชื่อฟังรุ่นพี่ เป็นต้น แต่หลังจากสหรัฐได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2326 แล้วมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งใหม่ไม่มีการบังคับใช้กฎเกณฑ์แบบนี้กับน้องใหม่ ล่วงมาถึงประมาณ 300 ปีก่อนได้มีการจัดตั้งองค์การนักศึกษาขึ้นตามมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วยุโรป ในสหรัฐได้มีการจัดตั้งสมาคมที่เรียกว่ากลุ่มภราดรภาพ Fraternity สำหรับนักศึกษาชายซึ่งมีลักษณะเป็นสมาคมลับเป็นครั้งแรกขึ้นมาบ้างในปี พ.ศ. 2319 ที่วิทยาลัยวิลเลียมส์ แอนด์ แมรี่ ในรัฐเวอร์จิเนียโดยใช้ตัวย่อเป็นอักษรกรีกคือ ฟี เบต้า แคปปา เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจพบของผู้บริหารวิทยาลัย ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2371-2388 มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาได้มีจัดตั้งสมาคมเหล่านี้ขึ้นมาอย่างแพร่หลายและในเวลาต่อมา นักศึกษาหญิงก็จัดตั้ง Sorority ขึ้นมาบ้างโดยใช้ตัวย่อเป็นอักษรกรีก เช่น อัลฟ่า เบตา แกมม่า เป็นต้น [2] ล่วงมาถึงประมาณปี พ.ศ. 2390 นักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างไอวี่ลีก (Ivy League) ได้แก่ ฮาร์วาร์ด เยล คอร์แนล ปรินซ์ตัน เป็นต้น ได้เริ่มคิดที่จะหาวิธีการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะและความรักสถาบัน ได้คิดวิธีการเทคนิคกดดันน้องใหม่โดยให้น้องใหม่ถูกกลั่นแกล้งให้ได้รับความอับอายที่คนอเมริกันและแคนาดาเรียกว่า Hazing ได้นำหลักการการละลายพฤติกรรมจากโรงเรียนนายร้อยเวสต์ปอยต์และโรงเรียนนายเรือแอนนาโปลิสซึ่งมีความคล้ายคลึงกับระบบ แฟกกิง ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะได้รับการถ่ายทอดจากผู้อพยพจากอังกฤษที่จบจากแซนด์เฮิร์สหรือโรงเรียนกินนอนมาอีกทอดหนึ่ง แต่การรับน้องเป็นไปในลักษณะชั้นปีตามสาขาหรือคณะ (Class Basis) โดยนักศึกษาใหม่ที่จะเข้าร่วมสมาคมเหล่านี้ จะเรียกว่า น้องใหม่ (Neophyte, Freshmen) ซึ่งจะต้องผ่านการรับน้องโดย Hazing หรือระบบว๊ากเพื่อทดสอบความกล้า ซึ่งอยู่ไม่มีความรุนแรงอะไรมากนัก[2] มหาวิทยาลัยในแคนาดาซึ่งได้รับอิทธิพลจากทั้งอังกฤษที่ปกครองอยู่และสหรัฐที่เป็นเพื่อนบ้านก็รับเอาประเพณีนี้ไปใช้เช่นกัน อย่างไรก็ตามมีข้อมูลจากหลายแหล่งระบุมีนักศึกษาใหม่เสียชีวิตจากการรับน้องเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลในปี ค.ศ.2416 โดยตกลงไปในเหว[3] แต่ Hank Nuwen (1999) ได้ย้อนรอยไปถึงปี พ.ศ. 2381 เมื่อมีนักศึกษาเสียชีวิตที่ Franklin Seminary ในรัฐเคนทักกี (Kentucky) เป็นครั้งแรก

ประวัติการรับน้องในประเทศไทย

[แก้]

ประวัติรับน้องในประเทศไทยเริ่มจากในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลระหว่างคณะแพทยศาสตร์กับคณะวิทยาศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2474 ได้มีเหตุการณ์ไม่งามเกิดขึ้น คือ แบ็คของคณะแพทยศาสตร์ได้ถูกผู้เล่นในทีมตรงข้ามวิ่งเข้าต่อย ซึ่งสโมสรสาขาศิริราชสืบทราบว่าได้มีการตระเตรียมวางแผนการไว้ก่อนแล้ว จึงได้ส่งหลักฐานฟ้องร้องไปทางสโมสรกลางให้จัดการลงโทษ แก่ผู้กระทำผิดนั้น ต่อมา ได้มีการพิจารณาและไต่สวนกันหลายครั้ง แต่ในที่สุดบรรยเวกษ์ก็ได้อะลุ่มอล่วยให้เลิกแล้วกันไป นิสิตแพทย์ส่วนมากไม่พอใจ เนื่องด้วยนิสสิตคณะวิทยาศาสตร์บางส่วนจะต้องข้ามมาเรียนปีสองที่คณะแพทยศาสตร์ จึงได้มีเสียงหมายมั่นจะแก้มือด้วยประการต่าง ๆ ซึ่งไม่ต้องสงสัยว่าจะต้องรู้ไปถึงหูพวกที่เป็นต้นเหตุนั้น แต่ครั้นใกล้เวลาที่พวกใหม่จะต้องมาเรียนที่ศิริราช คณะกรรมการสโมสรสาขาศิริราชได้มีความเห็นว่า การแก้แค้นจะทำให้แตกความสามัคคี ดังนั้นชาวศิริราชจึงได้ตกลงเลือกทางกุศล คือ แทนที่จะใช้วิธีการบีบบังคับให้ขอขมา กลับจัดการเลี้ยงต้อนรับเป็นการแสดงการให้อภัยและเชื่อมความสามัคคีแทน

พิธียกโทษกลายมาเป็นประเพณีประจำคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งต่อมาคือประเพณีรับน้องข้ามฟากของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และได้ขยายวงกว้างออกไปยังหมู่คณะอื่น ๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ดี ความเจริญมีมากขึ้นตามจำนวนปีที่ผ่านไป การต้องรับนิสสิตใหม่ได้แปรรูปตามไปด้วย ทำให้งานนี้ได้กลายเป็นโอกาสสำหรับโอ่อ่าและประกวดประขันกันต่าง ๆ

ส่วนกำเนิดการรับน้องแบบรุนแรงหรือระบบว๊ากสำหรับประเทศไทยซึ่งคนไทยทั่วไปเข้าใจว่าเป็น "ระบบโซตัส" มาจากโรงเรียนป่าไม้ภาคเหนือหรือวิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งกลายเป็นมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในปัจจุบัน รับระบบนี้มาใช้เป็นแห่งแรก โดยอาจารย์ในยุคบุกเบิกส่วนใหญ่ที่จบจากวิทยาลัยเกษตรกรรมลอสบานยอส (Los Baños)ที่เป็นส่วนหนึ่งของ มหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ ได้นำระบบว๊ากถ่ายทอดให้กับนิสิตนักศึกษา นอกจากนี้อาจารย์บางท่านก็ถูกส่งไปถึงมหาวิทยาลัยออริกอนสเตต (Oregon State University) และมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University ) ที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นต้นฉบับของระบบว๊าก ประเพณีที่ว่านี้ก็คงติดตัวท่านเหล่านั้นเข้ามาเช่นกัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 เมื่อมีการตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยในช่วงแรกนั้นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับนิสิตจากวิทยาลัยเกษตรกรรมเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระบบว๊ากจึงถูกใช้ในการรับน้องด้วย[4]

ผู้ที่นำระบบการกดดันรุ่นน้องเข้ามาคิดว่าเทคนิคกดดันกลั่นแกล้งเหล่านี้เป็นการละลายพฤติกรรม ลดทอนความต่างของฐานะให้นิสิตใหม่รู้สึกเท่าเทียม มีความรักสามัคคี ซึ่ง ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้พูดถึงที่มาของระบบว๊ากในหนังสือ "หนุ่มหน่ายคัมภีร์" ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ โดยให้ภาพการถ่ายทอดประเพณีการรับน้องจากสหรัฐอเมริกาสู่ไทยโดยผ่านมาทางฟิลิปปินส์ว่า "ตัวอย่างของการที่ประเพณีประเภทนี้แผ่ขยายเข้ามาในเมืองไทยจะเห็นได้ชัดในกรณีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คือประเพณีการคลุกโคลนปีนเสา...เห็นได้ชัดในอดีตอันแสนไกลของมหาวิทยาลัยคอร์แนล...ภาพเก่าๆ เกี่ยวกับอดีตของคอร์แนลมักจะมีรูปการปีนเสาทรมานแบบนี้ แต่นั่นก็ได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ประเพณีการปีนเสานี้ก็ได้แผ่ขยายไปยังฟิลิปปินส์ ในสมัยนั้นฟิลิปปินส์เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกาอยู่ และคอร์แนลก็ได้มีส่วนร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ คอร์แนลมีคณะเกษตรที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง ดังนั้นจึงได้เข้ามามีส่วนช่วยสร้างวิทยาลัยเกษตรที่ลอสบันยอส ประเพณีการปีนเสาก็ถูกถ่ายเทจากมหาวิทยาลัยเมืองแม่มายังมหาวิทยาลัยอาณานิคม"[5] จะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยรับระบบการรับน้องแบบว๊ากในช่วงที่การรับน้องแบบนี้ยังเป็นที่นิยมในสหรัฐและฟิลิปปินส์อยู่

การแพร่กระจายของประเพณีการรับน้องระบบว้ากไปยังประเทศต่างๆ

[แก้]

การว้ากน้องเริ่มจะกลายเป็นประเพนีนิยมในมหาวิทยาลัยในสหรัฐและแคนาดาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2390 ไม่ว่ามหาวิยาลัยจะมีระบบภารดรภาพหรือไม่ก็ตามในเวลาเดียวกันกับที่ระบบ แฟกกิง ในอังกฤษที่เริ่มเข้าสู่จุดอิ่มตัว ในประมาณปี พ.ศ. 2420 ระบบว้ากเริ่มแพร่ขยายไปตามชมรมกีฬาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ตามคณะต่างๆในมหาวิทยาลัยที่ไม่มีระบบภารดรภาพหรือมหาวิทยาลัยแห่งรัฐต่างๆที่ตั้งขึ้นภายหลังโดยใช้ระบบเยอรมัน ในช่วงนี้เริ่มมีคนหันมาต่อต้านระบบว้ากกันมากขึ้น เนื่องจากมหาวิทยาลัยต่างๆทั้งในสหรัฐและแคนาดายังเพิกเฉยอยู่ระบบว๊ากจึงยังคงแพร่หลายต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งทั้งๆที่มีการถกเถียงเกี่ยวกับการรับน้องในระบบนี้ก็ตาม[6] ประเพณีการรับน้องระบบว้ากเริ่มทวีความรุนแรงหลังจากสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ระหว่างปี พ.ศ. 2457-2461 เมื่อทหารฝ่ายสัมพันธมิตรได้แก่สหรัฐ อังกฤษและฝรั่งเศสในแนวรบด้านตะวันตกได้พัฒนาระบบการปลูกฝังให้กับทหารใหม่ที่เข้าค่ายรับการฝึกใน Boot Camp ก่อนที่จะออกรบ โดยมีเทคนิคต่างๆเช่น การข่มขู่ การกลั่นแกล้งทหารใหม่ วิธีการรับน้องใหม่ การแบ่งสี หรือการล้อเล่นที่พิสดาร เป็นต้น ซึ่งเป็นเทคนิคที่เน้นว่า “รวมกันเราอยู่แยกกันเราตาย” หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลง เหล่าทหารผ่านศึกชาวอเมริกันและชาวแคนาดาที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในนามของอังกฤษที่ปลดประจำการจึงกลับเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง [7] และได้นำเทคนิคที่ได้รับการฝึกฝนจาก Boot Camp ไปแนะนำกับนักศึกษาคนอื่นๆที่ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์หรือวิธีการใช้เทคนิคเหล่านี้จนทำให้รับการน้องใหม่ไม่ว่าจะเป็นของ Fraternity, Sorority ชมรมกีฬาหรือการรับน้องเป็นชั้นปีในมหาวิทยาลัยต่างๆในสหรัฐ แคนาดาและฟิลิปปินส์ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของสหรัฐจึงทำให้การรับน้องมีความรุนแรง การดูหมิ่น กดดันเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันทหารผ่านศึกชาวอังกฤษและชาวอาณานิคมอื่นๆของอังกฤษก็นำเทคนิคเหล่านี้กลับเผยแพร่ในโรงเรียนทหารและโรงเรียนกินนอนของประเทศที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกาใต้เช่นเดียวกัน โดยทำให้ระยะเวลาการเป็น Fag ของน้องใหม่สั้นลงและเรียกเทคนิคการกลั่นแกล้งกดดันน้องใหม่ว่า Ragging ในประเทศอาณานิคมเหล่านั้น [8] คำว่า Ragging นั้นคนอังกฤษในปัจจุบันเองอาจจะไม่รู้จักเพราะถ้าดูในพจนานุกรมของอ๊อกซ์ฝอร์ด ลองแมนหรือเคมบริดจ์ ก็จะแปลว่า การแกล้งล้อเล่นสนุกๆและถูกตีตราว่าเป็นคำสมัยเก่าเลิกใช้ในอังกฤษไปแล้ว แต่ถ้าถามคนที่มาจากอินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน มาเลเซีย สิงค์โปร์ หรือแอฟริกาใต้จะรู้ดีว่าหมายถึงการรับน้องในระบบว๊ากนั่นเอง

ในสหรัฐและแคนาดาหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ระบบว้ากพัฒนาไปตามสภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมและประสบการณ์ทวีความรุนแรง และวิตถารมากขึ้นๆตามลำดับ ประมาณช่วงปี พ.ศ. 2470 การว้ากน้องในหน่วยทหารกลายมาเป็นพาดหัวข่าวตามหนังสือพิมพ์ในสหรัฐ ตามมาด้วยการว๊ากน้องแบบชั้นปีและชมรมกีฬา ซึ่งข่าวก็จะลงเรื่องการตาย บาดเจ็บ พิการ หรือสูญเสียสภาพจิตใจกันทุกปีมากบ้างน้อยบ้างก็แล้วแต่ ซึ่งน้องใหม่ในยุคนี้เริ่มเชื่อว่าประเพณีการว้ากมาจากบรรดาผู้ก่อตั้งทั้งหลายของมหาวิทยาลัย ชมรมหรือกลุ่มภราดรภาพที่ตนเองสังกัดอยู่ ในช่วงนี้เริ่มมีกฎเกณฑ์เข้ามาควบคุมการรับน้องในบางรัฐของสหรัฐ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มมีน้องใหม่กบฏต่อระบบว๊ากในบางมหาวิทยาลัยและประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงวิธีการหรือ ประเพณีการรับน้องเสียใหม่ ระบบการว๊ากน้องตามคณะหรือสาขาวิชาที่คล้ายกับของไทยหรืออินเดียเริ่มที่จะเลือนหายไปในช่วงนี้ แต่ระบบว๊ากที่ยังคงอยู่ในกลุ่มภราดรภาพ กลุ่มชมรมตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น ชมรมเชียร์ ชมรมกีฬา ก็ยังคงเบ่งบานในสหรัฐและแคนาดาและเป็นกลุ่มที่ผู้เข้าร่วมเข้าร่วมโดยสมัครใจ [9] ดังนั้นจึงเป็นที่รับรู้กันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าระบบว๊ากเป็นประเพณีประจำของกลุ่มภราดรภาพเหล่านี้ไป หลายๆรัฐเริ่มทยอยกันร่างกฎหมายต่อต้านระบบว๊ากออกมาบังคับใช้ตามกันมาจนถึงเรื่อยๆ [10] เนื่องจากสถิติคร่าวๆนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513-2548 ในสหรัฐจะต้องมีคนตายจากการรับน้องอย่างน้อย 1 คนในแต่ละปี (Nuwen, 1999; Delaney, 2005). จึงมีแรงบีบต่อกลุ่มภราดรภาพจนมีสมาชิกลดน้อยถอยลงทำให้ระบบนี้อ่อนกำลังลงไปอีกเพราะในระยะยี่สิบกว่าปีหลังมานี้สังคมไม่ยอมรับคนรุ่นใหม่ๆก็ไม่ยอมรับ กระนั้นก็ตามปัญหาความรุนแรงในรูปแบบต่างๆจากกระบวนการรับน้องเหล่านี้ก็ยังไม่หมดไปในที่สุดก็มีความเคลื่อนไหวจากจุดเล็กจุดน้อยในการต่อต้านระบบว้ากโดยมีผู้นำอย่าง แฮงค์ นูเวน (Hank Nuwen) และเว็บไซต์ www.stophazing.com เป็นต้น

ในอินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน มาเลเซีย สิงค์โปร์ หรือแอฟริกาใต้การนำระบบว้าก (Ragging) มาใช้ผ่านทหารบกและระบบโรงเรียนกินนอนที่นำเข้ามาจากอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคม ซึ่งในอินเดียช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นระบบว๊ากเป็นเพียงการล้อเล่นรุ่นน้องที่สนุกสนานของรุ่นพี่เท่านั้น จนกระทั่งล่วงมาถึงปี พ.ศ. 2510 เมื่อมหาวิทยาลัยในอินเดียเริ่มรับนักศึกษาจากวรรณะต่ำและศาสนาอื่นๆที่ไม่ใช่ฮินดูเข้ามาเรียนมากขึ้นระบบว๊ากอย่างอ่อนๆที่เคยใช้กับนักศึกษาเฉพาะในวรรณะสูงอย่างในอดีตก็ถูกปรับให้เข้มขึ้นเพื่อลดปัญหาความเกลียดชังระหว่างวรรณะ ศาสนาและถิ่นฐานลง ด้วยอิทธิพลของสื่อในช่วง พ.ศ. 2520 ทำให้การรับน้องเริ่มมีความโหดร้ายและรุนแรงมากขึ้น โดยการว๊ากกลายเป็นการทดสอบความกล้าบ้าบิ่นของนักศึกษารุ่นพี่ นักศึกษารุ่นพี่หลายคนที่ไม่เต็มใจว้ากน้องก็ต้านแรงกดดันจากเพื่อนร่วมรุ่นไม่ไหวต้องร่วม ว๊ากน้องด้วย ในช่วงปี พ.ศ. 2535 เริ่มมีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และแพทย์ศาสตร์ของเอกชนเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดก็เริ่มเอาระบว้ากเข้าไปใช้และเริ่มมีการสถิติการฆ่าตัวตายของน้องใหม่เพิ่มขึ้น ในที่สุดรัฐทมิฬนาดูซึ่งมีสถิติการตายจากการรับน้องสูงสุดจึงต้องออกกฎหมายต่อต้านการรับน้อง (Anti-Ragging Law) ออกใช้ในปี พ.ศ. 2540 เป็นรัฐแรกในอินเดีย และในปี พ.ศ. 2544 ศาลฎีกาของอินเดียวินิจฉัยตัดสินให้การรับน้องระบบว้ากเป็นสิ่งผิดกฎหมายทั่วอินเดีย ทำให้การว้ากน้องในช่วงกลางวันหายไป และได้ลงใต้ดินในช่วงกลางคืนตามหอพักต่างๆ [11] ในฟิลิปปินส์ซึ่งไทยรับเอาแบบอย่างการรับน้องระบบว๊ากเข้ามา มีการรับน้องเป็นครั้งแรกในองค์กรลับในปี พ.ศ. 2435 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านสเปนที่ปกครองฟิลิปปินส์อยู่ (Llaneta, 2009) หลังจากสงครามสเปน-อเมริกัน ฟิลิปปินส์ก็ตกเป็นอาณานิคมของสหรัฐตั้งแต่ปี พ.ศ. 2441 หลังจากนั้นสิบปี ในปีพ.ศ. 2451 มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ (University of The Philippines) ก็ได้มีการนำระบบ Fraternity เข้ามาใช้ด้วย ในระยะแรกก็ไม่มีปัญหาอะไรมาก หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 บรรดาอาจารย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยต่างๆในสหรัฐอเมริกาก็เริ่มนำเทคนิคจาก Boot Camp เข้ามาใช้ในระบบภราดรภาพเช่นกัน ซึ่งจะจัดตั้งกลุ่มภราดรดรภาพตามสาขาที่เรียน ความเข้มข้นของการว๊ากน้องก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละคณะ กลุ่มภราดรดรภาพคณะนิติศาสตร์ ก็จะมีแค่พาไปก่อกวนโรงละครแล้ววิ่งหนียาม หรือแอบปีนหน้าต่างโรงพยาบาล เป็นต้น กลุ่มภราดรดรภาพคณะเกษตรก็มีการคลุกโคลนปีนเสา กลุ่มภราดรดรภาพคณะแพทย์ศาสตร์นั้นเป็นที่รู้กันว่าโหดที่สุด เนื่องจากระยะการรับน้องที่นานที่สุด น้องใหม่หลายคนทนไม่ได้จนต้องออกไป ระบบภราดรภาพในฟิลิปปินส์ในช่วงแรกๆจะต่างจากในสหรัฐและแคนาดาตรงที่นักศึกษาเกือบทุกคนจะเป็นสมาชิกของกลุ่มภราดรภาพไม่กลุ่มใดก็กลุ่มหนึ่งเนื่องจากใครที่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มจะรู้สึกว่ามีหน้ามีตา ในช่วงก่อนการประกาศกฎอัยการศึกของรัฐบาลมาร์คอสในปี พ.ศ. 2514 มีสถิติการตายจากการรับน้องน้อยมากในฟิลิปปินส์ หลังจากประกาศกฎอัยการศึกที่ห้ามการชุมนุมของบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปจึงทำให้กลุ่มภราดรภาพเหล่านี้แทบจะผูกขาดอำนาจในองค์กรนักศึกษาต่างๆในฟิลิปปินส์ เนื่องจากขาดเสรีภาพทางการเมืองกลุ่มภราดรภาพเหล่านี้จึงหันมาแข่งขันกันว่าใครดีกว่า สมาชิกกลุ่มเหล่านี้บางคนเริ่มก่ออาชญากรรมเช่น สมาชิกกลุ่มภราดรภาพบางแห่งในมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์จับคนไปเรียกค่าไถ่และฆ่าเหยื่อตายหรือข่มขืนผู้หญิงและฆ่าเพื่อนชายของเหยื่อตาย นอกจากนี้ยังมีการยกพวกตีกันระหว่างกลุ่มภราดรภาพต่างๆจนมีการบาดเจ็บล้มตายเกิดขึ้น แต่หลังจากการปฏิวัติขับไล่มาร์คอสในปี พ.ศ. 2529 บรรยากาศทางการเมืองในฟิลิปปินส์เริ่มมีเสรีภาพ สื่อมวลชนจึงเริ่มหันมาสนใจประเด็นเรื่องการบาดเจ็บล้มตายจากการรับน้อง การยกพวกตีกันระหว่างกลุ่มภราดรภาพต่างๆ สังคมฟิลิปปินส์เริ่มมองกลุ่มภราดรภาพในแง่ลบโดยเฉพาะในเรื่องการรับน้องที่อันตรายและการทะเลาะวิวาทกันเองระหว่างกลุ่มภราดรภาพเหล่านี้ ในปี พ.ศ. 2538 ประธานาธิบดีฟิเดล รามอส จึงลงนามประกาศใช้กฎหมายต่อต้านการรับน้องขึ้น แต่การตายจากการรับน้องยังคงมีอยู่จนกระทั่งในปัจจุบันนักการเมืองหลายท่านซึ่งในอดีตเคยเป็นสมาชิกของกลุ่มภราดรภาพเรียกร้องให้มีการยกเลิกกลุ่มภราดรภาพทั่วทั้งฟิลิปปินส์ [12]

การวิพากษ์วิจารณ์การรับน้อง

[แก้]

เหตุผลของการรับน้อง

[แก้]

สาเหตุเริ่มต้นของการรับน้อง เกิดจากที่นักศึกษาที่เข้าเรียนในสถานศึกษาแห่งใหม่ จำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆรวมถึงเรื่องราวของสถานศึกษานั้น การเตรียมตัวการเรียนและมารยาทต่างๆในสถานศึกษา การรับน้องเกิดขึ้นเพื่อให้ นักศึกษาใหม่ได้คุ้นเคยและทำความรู้จักกับรุ่นพี่ ที่จะสามารถสอนวิธีการปฏิบัติตัวในสังคมได้ การรับน้องถือเป็นกิจกรรมทีมีประโยชน์ในอดีตอย่างน้อยต่อรุ่นน้องให้ได้รู้จักรุ่นพี่ นอกจากนี้ยังทำให้ทุกคนรู้รักสามัคคีกัน รู้จักปรับตัว รู้จักการวางตัว รวมทั้งกิริยามารยาทที่ควรปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น

ผลกระทบ

[แก้]

เนื่องจากกิจกรรมรับน้องจัดโดยรุ่นพี่ที่อยู่ในสถานศึกษานั้นมาก่อน หลายครั้งที่ผู้อาวุโสกว่าจะมีการวางตัวข่มขู่เพื่อให้รุ่นน้องเป็นที่ยำเกรง ซึ่งนำไปสู่การใช้อำนาจในสังคมการศึกษาอย่างไม่ถูกไม่ควรในบางสถาบันโดยอ้างเหตุผลของการรับน้อง ตัวอย่างการข่มขู่ที่ออกมาให้เห็นได้ เช่นการที่รุ่นพี่สั่งไม่ชอบหน้ารุ่นน้อง โดยสั่งให้รุ่นน้องทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การสั่งใหวิ่งรอบสนาม การให้ผู้ชายสองคนจับอวัยวะเพศของกันและกัน หรือ การสั่งให้ถอดเสื้อผ้ากลางที่สาธารณชน เป็นต้น โดยถ้ารุ่นน้องไม่ปฏิบัติตามจะถูกรุ่นพี่กลุ่มหนึ่ง กล่าวหาว่าไม่เคารพรุ่นพี่และนำการรับน้องมาใช้เป็นเหตุผล ปัญหาที่ตามมาแทนที่รุ่นน้องจะได้รับการศึกษาและแนวทางปฏิบัติที่ดี รุ่นน้องบางคนได้เรียนรู้วิธีการลงโทษและการแกล้งจากรุ่นพี่ ซึ่งจะนำไปใช้ในการรับน้องของปีต่อไปแทน

อ้างอิง

[แก้]
  1. มติชนออนไลน์, 2554. [http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1308208211&grpid=06&catid=02 วงเสวนาสับ"รับน้อง"เละ "คำ ผกา"จี้เด็กปี1ถามรุ่นพี่มีอะไรให้นับถือ "อ.พิชญ์"ชี้ยอม1ปีกำไรทั้งชีวิต][ลิงก์เสีย]
  2. 2.0 2.1 2.2 http://www.kappasigma.org/ideabank/historyhazing.htm[ลิงก์เสีย]; Agarwal, 2005; Llaneta, 2009
  3. Agarwal, 2005; Delaney, 2005
  4. สำเนาว์ และบุญเรียง, 2531 เกษร สิทธิหนิ้ว, 2547
  5. สำเนาว์ และบุญเรียง, 2531, เกษร สิทธิหนิ้ว, 2547
  6. ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์, 2548
  7. ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ 2548; Agarwal, 2005
  8. Agarwal, 2005
  9. ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์, 2548 ; Agarwal, 2005
  10. ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์, 2548;
  11. Agarwal, 2005
  12. Uy, 2007; Llaneta, 2009
  • สารศิริราช ปีที่ 3 ฉบับวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2494
  • เกษร สิทธิหนิ้ว (2547) “โซตัส สร้างสรรค์หรือป่าเถื่อน” สารคดี, 20, 232 หน้า 90-94
  • ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ (2548) Anti-Hazing Law " รับน้อง" กับกฎหมายในอเมริกา แลไปข้างหน้า / มติชนสุดสัปดาห์, 25,1300 (15-21 ก.ค.2548)
  • สำเนาว์ ขจรศิลป์และบุญเรียง ขจรศิลป์ (2531).รายงานการวิจัยเรื่องความคิดเห็นของนักศึกษาและผู้บริหารฝ่ายกิจการนักศึกษาเกี่ยวกับการประชุมเชียร์และการต้อนรับน้องใหม่ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอนแก่น เชียงใหม่และสงขลานครินทร์. กรุงเทพฯ: ทบวงมหาวิทยาลัย

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]