การย้อมส้ม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การย้อมส้ม[1] หรือ เกสราภิวัตน์ (อังกฤษ: saffronisation หรือ saffronization) เป็นคำเรียกนโยบายฝ่ายขวาที่สนับสนุนแนวคิดชาตินิยมฮินดูในประเทศอินเดีย[2] นักวิจารณ์ทางการเมืองประดิษฐ์คำนี้ขึ้นมา[3] เพื่อเรียกนโยบายของรัฐบาลชาตินิยมฮินดูในอินเดียที่พยายามเชิดชูบทบาทของศาสนาฮินดูในประวัติศาสตร์อินเดีย ในขณะเดียวกันก็ละทิ้งบทบาทของชุมชนศาสนาอื่น ๆ ผ่านทางการแก้ไขเนื้อหาในหนังสือเรียน โดยสีส้มหรือสีฝรั่น (saffron) เป็นสีที่ใช้แทนศาสนาฮินดู

ในสมัยอาณานิคมอังกฤษ ประวัติศาสตร์ของอินเดียส่วนใหญ่ถูกกำหนดโดยนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ซึ่งมีเนื้อหาสนับสนุนว่าการปกครองอินเดียโดยอังกฤษนั้นเป็นไปเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงความเป็นอยู่ของอินเดียให้ดียิ่งขึ้น วาทกรรมนี้ปรากฏทั่วไปในหนังสือเรียนยุคอาณานิคมอังกฤษ[4] หลังอินเดียได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1947 มีความพยายามผลักดันการผลิตประวัติศาสตร์ที่เสนอแง่มุมของการกดขี่โดยอังกฤษ[4] รัฐสภาจึงจัดตั้งสภาแห่งชาติว่าด้วยการฝึกและการวิจัยการศึกษา (National Council of Education Research and Training; NCERT) ขึ้นเพื่อร่างแบบเรียนประวัติศาสตร์อินเดียใหม่ NCERT ได้ว่าจ้างนักประวัติศาสตร์และนักจดหมายเหตุเพื่อสร้างหลังสูตรร่วมว่าด้วยเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของอินเดีย โดยมีเป้าหมายหลักที่การลบล้างวาทกรรมยุคอาณานิคมออก และมีเป้าหมายหลักในการสร้างหลักสูตรที่เป็นฆราวาสนิยม แนวทางของ NCERT นี้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากในหมู่ฮินดูขวาจัด[5]

พรรคภารตียชนตา (BJP) เคยกล่าวว่าแบบเรียนประวัติศาสตร์อินเดียหลายเล่มมีเนื้อหาแบบยุโรปเป็นศูนย์กลาง และเป็นมาร์กซิสต์อย่างเปิดเผย[5] ในอดีต BJP มีความพยายามที่จะแก้ไขหลักสูตรประวัติศาสตร์นี้แต่ล้มเหลวโดยเฉพาะในรัฐที่พรรคไม่ได้อยู่ในอำนาจ นอกจากนี้ BJP ยังอ้างวาทกรรมแอบแฝงในการต้านฮินดู เพื่อเข้ามาจัดโครงสร้างองค์กร NCERT และสภาการศึกษาประวัติศาสตร์อินเดีย (Indian Council of Historical Research; ICHR) เพื่อให้ผลิตแบบเรียนประวัติศาสตร์ที่ตรงกับมุมมองชาตินิยมฮินดูของ BJP[6] ส่วนในรัฐที่ BJP มีอำนาจในทางการเมืองอยู่นั้น แบบเรียนได้ถูกแก้ไขอย่างหนักเพื่อให้ชูวาทกรรมชาตินิยมฮินดู[7] การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ เช่น การลบล้างประเด็นเรื่องการยกเลิกระบบชนชั้นวรรณะ (caste-based exclusion) และความรุนแรงจากชนชั้นวรรณะ ออกจากประวัติศาสตร์ ไปจนถึงการลบหรือลดทอนบทบาทของชาวมุสลิมในการสร้างชาติอินเดีย[3]

ฮินดูสตานไตมส์ รายงานผลการตรวจสอบเนื้อหาแบบเรียนที่ถูกย้อมส้มโดย BJP ในปี ค.ศ. 2014 ระบุว่าความพยายามของฝ่ายขวาในการเปลี่ยนแบบเรียนและแก้ไขประวัติศาสตร์นี้ต้องเจอกับ "การต่อต้านในระดับหนึ่ง เนื่องจากไม่มีนักประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือมาสนับสนุน"[8]

ในกลางปี ​​ค.ศ. 2015 เดอะไทมส์ออฟอินเดีย รายงานว่าสภาแห่งชาติว่าด้วยการฝึกและการวิจัยการศึกษาซึ่งรับผิดชอบด้านการจัดพิมพ์หนังสือเรียน ได้เข้าร่วมการประชุมที่จัดโดยกระทรวงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในระหว่างการประชุมครั้งนั้นได้มีการหารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงตำราเรียน เจ้าหน้าที่จากสภาวิจัยประวัติศาสตร์อินเดียกล่าวว่าหัวข้อเรื่องชาตินิยมไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมในตำราเรียน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขตำราเรียน[7]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (4 ธันวาคม 2020). "คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ปฏิรูปศาสนา-การเมือง (ตอน 4) บทเรียนการสร้างรัฐฆราวาสแบบอินเดีย". มติชน. สืบค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2022. ทว่าเมื่อแนวนโยบายส่งเสริมฮินดูแบบนี้เกิดขึ้น ก็จะโดนฝ่ายค้านและนักฆราวาสนิยมด่าว่าเป็นการ “ย้อมส้ม” (saffronisation) สีของหญ้าฝรั่น (saffron) ที่เหลืองส้มนั้นคือสีจีวรของนักบวชฮินดู คำว่าย้อมส้มจึงเป็นคำทางการเมืองที่หมายถึงความพยายามของฝ่ายขวาฮินดูในการสร้างนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อฮินดูเอง ไม่ว่าจะชัดแจ้งหรือแอบแฝง
  2. "Editorial: Unfit to rule". Frontline. Vol. 15 no. 25. 5 ธันวาคม 1998. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2014.
  3. 3.0 3.1 Raghavan, B. S. (12 กันยายน 2001). "Saffronisation". The Hindu. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 พฤษภาคม 2007.
  4. 4.0 4.1 Thapar, Romila (2009). "The History Debate and School Textbooks in India". History Workshop Journal. 67: 87–98. doi:10.1093/hwj/dbn054. JSTOR 40646211. S2CID 72502128.
  5. 5.0 5.1 Bhattacharya, Neeladri (2009). "Teaching History in Schools: The Politics of Textbooks in India". History Workshop Journal. 67 (67): 99–110. doi:10.1093/hwj/dbn050. JSTOR 40646212. S2CID 154421051.
  6. Bénéï, Veronique (2005). Manufacturing Citizenship: education and nationalism in Europe, South Asia, and China. New York, NY: Routledge. pp. 156–159. ISBN 0-415-36488-4.
  7. 7.0 7.1 Akshaya, Mukul (24 June 2015). "Saffronization fears over history textbooks rewrite plans". The Times of India. สืบค้นเมื่อ 9 March 2016.
  8. Raza, Danish (8 ธันวาคม 2014). "Saffronising textbooks : Where myth and dogma replace history". Hindustan Times. สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2016.

บรรณานุกรม[แก้]