การปิดบริการของรัฐบาลกลางแห่งสหรัฐ พ.ศ. 2556

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การปิดบริการของรัฐบาลกลางแห่งสหรัฐ พ.ศ. 2556 กินเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 17 ตุลาคม 2556 หลังรัฐสภาไม่สามารถผ่านกฎหมายการจัดสรรเงินสำหรับปีงบประมาณ 2557 หรือข้อมติต่อเนื่อง (continuing resolution) อนุญาตจัดสรรเงินสำหรับปีงบประมาณ 2557 ชั่วคราว ลูกจ้างของรัฐบาลกลางราว 800,000 คนถูกพักงานอย่างไม่มีกำหนด และอีก 1.3 ล้านคนถูกกำหนดให้รายงานตัวเข้าทำงานโดยไม่ทราบวันชำระเงิน หลายบริการถูกระงับหรือตัดทอน มีเฉพาะลูกจ้างและบริการซึ่งถูก "ยกเว้น" ภายใต้รัฐบัญญัติป้องกันงบประมาณบกพร่อง (Antideficiency Act) เท่านั้นที่ยังทำงานตามปกติ[1] การปิดบริการของรัฐบาลกลางครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกนับแต่ครั้งล่าสุดเมื่อปีปี 2538–2539[2][3] นอกจากนี้ รัฐบาลกลางแห่งสหรัฐเคยปิดบริการมาแล้วสิบแปดครั้งตั้งแต่ปี 2519[4][5][6] การปิดบริการครั้งนี้กินเวลา 16 วัน นับเป็นการปิดบริการของรัฐบาลกลางที่นานที่สุดเป็นอันดับสาม รองจากเมื่อปี 2521 (18 วัน) และปี 2536-37 (21 วัน)

"ช่องว่างการจัดหาเงินทุน" เกิดขึ้นเมื่อสองสภาไม่สามารถตกลงประนีประนอมข้อมติต่อเนื่องได้ สภาผู้แทนราษฎรที่มีพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก เสนอให้ใช้มติต่อเนื่องด้วยภาษาที่ชะลอหรือไม่จัดหาเงินทุนแก่รัฐบัญญัติคุ้มครองผู้ป่วยและการบริบาลที่เสียได้ (Patient Protection and Affordable Care Act) หรือที่เรียกกันโดยภาษาปากว่า โอบามาแคร์ (Obamacare)[7] วุฒิสภาที่มีพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากผ่านมติต่ออายุที่แปรญัตติหลายครั้งเพื่อคงการจัดหารเงินทุนที่ระดับปัจจุบันโดยไม่มีเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม การต่อสู้ทางการเมืองเหนือประเด็นดังกล่าวและประเด็นอื่นระหว่างสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายหนึ่งกับประธานาธิบดีบารัค โอบามากับวุฒิสภาอีกฝ่ายหนึ่งทำให้งบประมาณถึงทางตัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดการหยุดชะงักขนานใหญ่[8][9][10]

ปัญหาดังกล่าวมีศูนย์กลางอยู่ที่มติการจัดสรรเงินต่อเนื่อง ค.ศ. 2014 (Continuing Appropriations Resolution, 2014) ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรผ่านเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 วุฒิสภาถอดร่างมาตรการที่เกี่ยวกับรัฐบัญญัติการรักษาพยาบาลที่เข้าถึงได้ฯ และผ่านในรูปที่ทบทวนแล้วเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2556 สภาผู้แทนราษฎรนำมาตรการที่วุฒิสภานำออกกลับเข้ามาอีก และผ่านเป็นรอบที่สองในช่วงเช้าของวันที่ 29 กันยายน[11] วุฒิสภาปฏิเสธไม่ผ่านร่างกฎหมายที่ยังมีมาตรการชะลอรัฐบัญญัติการรักษาพยาบาลที่เข้าถึงได้ฯ และทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงร่างกฎหมายประนีประนอมจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2556 ส่งผลให้รัฐบาลกลางต้องปิดบริการเนื่องจากขาดงบประมาณที่ได้รับจัดสรร

วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ซึ่งเป็นวันแรกของปีงบประมาณ 2557 ยังเป็นวันที่หลายมาตรการของรัฐบัญญัติการรักษาพยาบาลที่เข้าถึงได้ฯ มีผลใช้บังคับ[12] ตลาดประกันสุขภาพที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติการรักษาพยาบาลที่เข้าถึงได้ฯ ก็เปิดตามกำหนดในวันที่ 1 ตุลาคม[13] รัฐบัญญัติการรักษาพยาบาลที่เข้าถึงได้ฯ ส่วนมากได้รับเงินทุนจากการใช้จ่ายที่เคยได้รับอนุญาตและบังคับ มิใช่การใช้จ่ายตามดุลยพินิจ ( discretionary spending) และมติต่อเนื่องไม่มีผลต่อรัฐบัญญัติการรักษาพยาบาลที่เข้าถึงได้ฯ เพราะการจัดหาเงินทุนบางอย่างของกฎหมายนี้มาจากเงินทุนดุลยพินิจ (discretionary fund) หลายปีหรือ "ไม่ประจำปี" (no-year) ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบหากไม่มีข้อมติต่อเนื่อง[14] วันที่ 16 ตุลาคม 2556 รัฐสภาผ่านรัฐบัญญัติการจัดสรรเงินต่อเนื่อง ค.ศ. 2014 และประธานาธิบดีลงนามในเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งยุติการปิดบริการของรัฐบาลกลางและชะลอเพดานหนี้ไปเป็นวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557[15]

สาเหตุของความขัดแย้ง[แก้]

ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐ ให้งบประมาณประจำปีนั้นจะต้องได้รับการรับรองโดยการประชุมร่วมของสองสภา ซึ่งการจะบังคับใช้ได้นั้นจะต้องได้รับเสียงข้างมากของทั้งสองสภา รวมทั้งประธานาธิบดีด้วย เมื่อมีหนึ่งหรือสองสภาในรัฐสภานำโดยพรรคการเมืองที่ต่างขั้วกันกับประธานาธิบดีแล้ว การต่อรองกฎหมายด้านงบประมาณมักจะเป็นไปได้ยาก โดยถ้าไม่ผ่านทั้งสองสภาแล้ว รัฐบาลกลางก็จะไม่สามารถใช้จ่ายเงินใด ๆ ได้ ซึ่งจะนำไปสู่การปิดบริการภาครัฐต่าง ๆ อันมีสาเหตุจากการขาดงบประมาณบำรุง

เนื่องจากงบประมาณที่ยังไม่ผ่านสภา จึงทำให้มีการเสนอแผนชั่วคราวโดยจะจ่ายงบประมาณให้กับหน่วยงานของรัฐจนกว่าจะสรุปข้อตกลงได้จนถึงเดือนธันวาคม 2556 เพื่อเป็นการซื้อเวลาสำหรับการต่อรองในรัฐสภา อย่างไรก็ตาม เทด ครูซ ไมค์ ลี และเพื่อนสมาชิกวุฒิสภาอีกหลายคนจากพรรครีพับลิกัน ได้เรียกร้องให้มีการยืดเวลาการเริ่มบังคับใช้กฎหมายประกันสุขภาพนี้ หรือให้ปรับแก้ในรายละเอียดของกฎหมาย เพื่อแลกเปลี่ยนกับการลงมติผ่านร่างงบประมาณ โดยเทด ครูซ ได้กล่าวอภิปรายในวุฒิสภากินเวลาถึง 21 ชั่วโมงเพื่อเรียกร้องให้ทำตามข้อเสนอของเขา

ในวันที่ 30 กันยายน วุฒิสภาได้ลงมติไม่ผ่านร่างงบประมาณหลายรายการจากสภาผู้แทนราษฏรซึ่งจะเป็นการต่องบประมาณไปจนถึงสิ้นปีได้โดยที่จะต้องเลื่อนบังคับใช้โอบามาแคร์ออกไป หรือไม่ก็ต้องแก้ไขรายละเอียดบางรายการ[16] สภาผู้แทนราษฏรจึงลงมติไม่รับรองข้อเสนอของวุฒิสภาที่จะขอไม่เปลี่ยนรายละเอียดของโอบามาแคร์เป็นการตอบโต้[17]

ผลกระทบ[แก้]

เว็บไซด์ของหน่วยงาน USDA ประกาศการปิดตัวชั่วคราว

ในระหว่างการงดให้บริการภาครัฐนั้น พนักงานในสังกัดของรัฐในหน่วยงานที่ไม่จำเป็นจะถูกบังคับให้ลาโดยไม่จ่ายเงินเดือนอย่างไม่มีกำหนดโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป ซึ่งกระทบโดยตรงถึงพนักงานของรัฐถึงกว่า 800,000 ราย[18] ทางรัฐบาลได้ประมาณการไว้ว่าการงดให้บริการเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เต็มนั้นจะคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจถึงหนึ่งร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ[19] "การปิดตัวจะส่งผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจและต่อประชาชนเป็นการทันที" เป็นคำกล่าวของประธานาธิบดีโอบามาแสดงความไม่พอใจในเหตุการณ์นี้[20] อย่างไรก็ตาม หน่วยงานหลักที่สำคัญของรัฐบาล เช่น การควบคุมการเดินอากาศ ยังคงดำเนินงานตามปกติภายใต้งบประมาณฉุกเฉิน บางหน่วยงานเช่น กรมทหารผ่านศึกและสำนักงานประกันสังคมนั้นได้รับงบประมาณจากคนละส่วนเป็นระยะเวลานาน จึงไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้

การตอบรับของประชาชน[แก้]

ในคืนก่อนปิดบริการนั้น ได้มีการเผยผลการสำรวจโพลจาก CNN/ORC ระบุว่าชาวอเมริกันถึงร้อยละ 46 เห็นว่าเป็นความผิดของนักการเมืองฝ่ายรีพับลิกัน ส่วนอีกร้อยละ 36 เห็นว่าเป็นความผิดของประธานาธิบดีโอบามา[21] ซึ่งโดยความเห็นส่วนใหญ่นั้นรับไม่ได้ถึงวิกฤตการณ์นี้ ซึ่งกว่าร้อยละ 60 อยากให้เห็นถึงข้อตกลงด้วยดีด้านงบประมาณจากทั้งสองฝ่าย และหนึ่งในสามของชาวอเมริกันยังเชื่อว่าน่าสำคัญกว่าที่จะปรับลดงบประมาณภาครัฐลงมากกว่าที่จะไม่เริ่มใช้กฎหมายนี้[22]

โดยรวมนั้น ความเห็นของประชาชนต่อรัฐสภาโดยรวมนั้นไม่พอใจอย่างยิ่ง โดยสำนักโพล Washington Post - ABC เผยเมื่อวันที่ 30 กันยายน ว่าทั้งสองพรรคการเมืองในด้านการพิจารณางบประมาณนั้นถูกลดความนิยมลงอย่างมาก โดยพรรคเดโมแครตนั้นมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยถึงร้อยละ 56 เห็นด้วยเพียงร้อยละ 34 ในขณะที่พรรครีพับลิกันนั้น มีผู้ไม่เห็นด้วยถึงร้อยละ 64 ต่อผู้เห็นด้วยเพียงร้อยละ 26[23]

อ้างอิง[แก้]

  1. Plumer, Brad (September 30, 2013). "Absolutely everything you need to know about how the government shutdown will work". Wonk Blog, The Washington Post. สืบค้นเมื่อ October 16, 2013.
  2. Sherman, Jake; Bresnehan, John; Everett, Burgess (September 30, 2013). "Government shutdown: Congress sputters on CR". Politico. สืบค้นเมื่อ October 16, 2013.
  3. Brass, Clinton T. (February 18, 2011). Shutdown of the Federal Government: Causes, Processes, and Effects (PDF). Congressional Research Service. Publication number "CRS Report RL34680" (via The Washington Post)
  4. "A Brief History Of Federal Government Shutdowns". Outside The Beltway. April 8, 2011. สืบค้นเมื่อ September 28, 2013.
  5. Matthews, Dylan (September 25, 2013). "Wonkblog: Here is every previous government shutdown, why they happened and how they ended". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ September 29, 2013.
  6. Shutdown #18 Since the Modern Budget Process Was Established in 1974
  7. "Congress fails to reach budget deal", Headnine, September 30, 2013
  8. House passes spending bill to defund Obamacare, Stephen Dinan, The Washington Times, September 20, 2013
  9. House GOP launches shutdown battle by voting to defund Obamacare, Tom Cohen, CNN, September 20, 2013
  10. Espo, David (September 30, 2013). "Republican Unity Frays As Government Shutdown Looms". Huffington Post. AOL. Associated Press.
  11. "H.J.Res 59 – All Actions". United States Congress. สืบค้นเมื่อ September 23, 2013.
  12. Weisman, Jonathan; Peters, Jeremy W. (September 30, 2013). "Government Near Broad Shutdown in Budget Impasse". The New York Times. สืบค้นเมื่อ September 30, 2013.
  13. "What key dates do I need to know". สืบค้นเมื่อ October 1, 2013.
  14. Lowrey, Annie (September 24, 2013). "How to Gut Obamacare". The New York Times. สืบค้นเมื่อ October 3, 2013.
  15. Cohen, Tom. "House approves bill to end shutdown". CNN International. สืบค้นเมื่อ October 17, 2013.
  16. http://www.theglobeandmail.com/news/world/us-congress-remains-divided-in-budget-showdown/article14620528/
  17. "White House: Obama will veto House shutdown bill". Cnbc.com. สืบค้นเมื่อ 2013-10-01.
  18. "Federal Agencies Lay Out Contingency Plans for Possible Shutdown", The New York Times, September 28, 2013
  19. "Here's How a Government Shutdown Hurts the American People". The White House Blog. สืบค้นเมื่อ October 1, 2013.
  20. "President Obama's Sept. 30 remarks on the looming government shutdown". สืบค้นเมื่อ September 30, 2013.
  21. Heavey, Susan (September 30, 2013). "More would blame Republicans for government shutdown: poll". Reuters. สืบค้นเมื่อ October 1, 2013.
  22. Steinhauser, Paul (September 30, 2013). "CNN Poll: GOP would shoulder shutdown blame". CNN. สืบค้นเมื่อ October 1, 2013.
  23. Clement, Scott (September 30, 2013). "POLL: One in four approves of Republicans' handling of government shutdown standoff". Washington Post.