การบาดเจ็บเหตุเสียง
การบาดเจ็บเหตุเสียง (acoustic trauma) | |
---|---|
สาขาวิชา | โสตสัมผัสวิทยา, โสต ศอ นาสิกวิทยา |
การบาดเจ็บเหตุเสียง หรือ การบาดเจ็บจากเสียง หรือ อะคูสติกทรอมา (อังกฤษ: acoustic trauma) คือการบาดเจ็บที่หูเนื่องกับเสียงที่ดังมาก ปกติเป็นเสียงที่เกิดสั้น ๆ เช่น การระเบิด เสียงปืน หรือเสียงตะโกนดัง ๆ แต่เสียงเบากว่าแต่ดังในช่วงความถี่แคบ ๆ ก็อาจทำให้ประสาทรับเสียงเฉพาะความถี่นั้นเสียหายได้[1] ความรุนแรงแตกต่างกันไปตั้งแต่เจ็บปวดจนถึงการเสียการได้ยิน[2]
การบาดเจ็บจากเสียงเฉียบพลัน (acute acoustic trauma, AAT) สามารถรักษาได้ด้วยการบำบัดด้วยออกซิเจนความดันสูง (HBO) ร่วมกับการใช้ยาคอร์ติโคสเตอรอยด์ การได้รับเสียงดังเฉียบพลันทำให้หูชั้นในเกิดการอักเสบและมีการจ่ายออกซิเจนลดลง ยาคอร์ติโคสเตอรอยด์จะยับยั้งปฏิกิริยาการอักเสบ และการบำบัดด้วยออกซิเจนจะช่วยให้ได้ออกซิเจนเพียงพอ การรักษานี้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพเมื่อเริ่มต้นภายในสามวันหลังจากได้รับบาดเจ็บ ดังนั้น นี้จึงถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางหู คอ จมูก[3]
อาการ
[แก้]เสียงที่เป็นอันตรายอาจทำให้กลไกการได้ยินในหูชั้นในเสียหาย อาจมีผลเป็นการเสียการได้ยินทางประสาทรับความรู้สึก (SNHL) ซึ่งอาจเป็นแบบชั่วคราว (ระดับการได้ยินเปลี่ยนไปชั่วคราว หรือ TTS) หรือแบบถาวร (ระดับการได้ยินเปลี่ยนไปอย่างถาวร หรือ PTS) แบบชั่วคราวจะหายเป็นปกติตามเวลา แม้ระยะเวลาการฟื้นฟูอาจต่าง ๆ กัน แต่ถ้าเป็นเกิน 8 สัปดาห์หลังการบาดเจ็บ นี่มักจะเป็นแบบถาวร[4] การบาดเจ็บเหตุเสียงมีอาการรวมทั้ง
- เสียการได้ยิน
- เสียงในหู (เสียงดังวิ๊ง ๆ ในหู)
- หูอื้อ (แน่นหู)
- การรับรู้เสียงที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ เจ็บหูเมื่อได้ยินเสียงดังปกติ
- มีปัญหาระบุตำแหน่งที่มาของเสียง
- มีปัญหาการได้ยินเมื่อมีเสียงรบกวน
- อาการรู้สึกหมุน[4]
เหตุ
[แก้]การบาดเจ็บจากเสียงเกิดที่หูชั้นในที่มักมีเหตุจากเสียงดังคือมีค่าเดซิเบลสูง อาจเกิดหลังได้รับเสียงดังครั้งเดียว หรือเสียงที่มีระดับเดซิเบลสูงเป็นเวลานาน[5] หลายกรณีจะมีช่วงที่การได้ยินลดลงหลังได้รับเสียงดัง ตัวอย่างเช่น หลังจากไปดูคอนเสิร์ต หรือไปเที่ยวไนต์คลับ หรือทำงานกับอุปกรณ์ที่มีเสียงดัง ประเภทนี้มักเป็นชั่วคราว หลังจากสักพักหนึ่งก็มักจะหายไปเอง[6]
ระดับความดังของเสียง (เดซิเบล, dB)
[แก้]- 0–30: เสียงแผ่ว
- 40–60: เบาจนถึงปานกลาง
- 70–90: ดังมาก
- 100–120: ทำให้เจ็บปวดไม่สบาย
- 130–180: ทนไม่ได้[7]
พยาธิสรีรวิทยา
[แก้]การบาดเจ็บจากเสียงเกิดขึ้นเมื่อเสียงชั่วคราวที่ต่อเนื่องส่งพลังงานมากพอไปยังคอเคลียจนทำให้เซลล์ขนด้านนอก (OHC) และเซลล์ขนด้านใน (IHC) ตาย และก่อความเป็นพิษจากกลูตาเมตเหตุกระตุ้นมากเกิน (glutamate excitotoxicity) ต่อเซลล์ประสาทนำเข้า (afferent neuron) ลำดับแรกในกลุ่มเซลล์ประสาทคอเคลียคือ spiral ganglion (เป็นภาวะ cochlear synaptopathy) ซึ่งอาจเกิดจากเสียงกระแทกฉับพลัน เช่น การระเบิด เมื่อเสียงดังเกินก็จะทำให้เซลล์เกิดเมแทบอลิซึมมากเกิน ทำให้เซลล์เสียหายและตาย[8]
แรงเสียงชั่วคราวนี้ยังอาจเกินขีดจำกัดความยืดหยุ่นได้ของเนื้อเยื่อ อวัยวะของคอร์ติสามารถฉีกขาดออกจากเยื่อกั้นหูชั้นในเมื่อเสียงที่ผ่านช่องหู หูชั้นกลาง และคอเคลียเกิน 132 เดซิเบล หากเสียงดังกว่า 184 เดซิเบล แก้วหูก็จะฉีก เสียงที่เกิน 184 เดซิเบลขึ้นไปมักเป็นเสียงจากการรบ เช่น เสียงจากระเบิดแสวงเครื่อง เมื่อได้รับเสียงเช่นนี้ ไม่ใช่แค่แก้วหูเท่านั้นจะฉีก แต่กระดูกหูก็จะเลิกต่อเนื่องกันด้วย และถ้าระเบิดรุนแรงมาก ก็จะทำให้สมองบาดเจ็บได้ด้วย ดังนั้น บุคคลอาจมีปัญหาประมวลเสียง อาจบาดเจ็บที่ปอดและอวัยวะภายในได้[9]
เมื่อหยุดการได้รับเสียงในระดับที่เป็นอันตราย การเสียการได้ยินก็จะลดการลุกลามอย่างมีนัยสำคัญ บุคคลจะไวต่าง ๆ กันมากต่อการสูญเสียการได้ยินจากเสียง แต่เหตุผลก็ยังไม่ชัดเจน[8]
การวินิจฉัย
[แก้]การวินิจฉัยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมของเสียงดังที่ได้รับ การตรวจการได้ยิน (audiometry) จะใช้ตรวจจับอาการของการบาดเจ็บจากเสียง ซึ่งใช้เสียงดังต่าง ๆ กัน มีความถี่สูงต่ำต่าง ๆ กัน เพื่อประเมินว่าได้ยินและไม่ได้ยินอะไรบ้าง[6]
การรักษา/การป้องกัน
[แก้]มีวิธีการรักษาต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บจากเสียง แต่ก็ไม่สามารถทำให้กลับคืนเป็นปกติได้ในปัจจุบัน เป้าหมายของการรักษาคือการป้องกันหไม่ให้เสียหายเพิ่มเติม[10] มาตรการป้องกันและวิธีการรักษาที่อาจช่วยได้รวมทั้ง
- การบำบัดด้วยออกซิเจนความดันสูง (hyperbaric oxygen therapy) ใช้เฉพาะในกรณีที่รุนแรงมากเท่านั้น[3]
- ยาคอร์ติโคสเตอรอยด์ เพื่อใช้ต้านการอักเสบ[3]
- การซ่อมแซมแก้วหู[10]
- การใช้เทคโนโลยีช่วยการสูญเสียการได้ยิน เช่น เครื่องช่วยฟัง[6]
- การป้องกันการได้ยิน
พยากรณ์โรค
[แก้]การบาดเจ็บทางเสียงแต่ละครั้งมีผลให้หูชั้นในเสียหายอย่างถาวร แม้ว่าในผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะหายไปและการตรวจการได้ยินจะแสดงผลปกติภายในไม่กี่ชั่วโมงจนถึงไม่กี่วัน ในบางกรณี การเปลี่ยนแปลงที่พบในผลการตรวจการได้ยินจะดีขึ้นเพียงบางส่วนหรือคงอยู่อย่างถาวร อาการหนึ่งก็คือเสียงในหูซึ่งอาจคงอยู่นาน ในบางกรณี อาจเป็นอย่างถาวร[11] ยังไม่มีการศึกษาโดยเฉพาะเกี่ยวกับการคาดหมายคงชีพหรือข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับพยากรณ์โรคของภาวะนี้ โดยรวมแล้ว การพยากรณ์โรคค่อนข้างจะยากโดยขึ้นอยู่กับความดังของเสียงและความรุนแรงของการบาดเจ็บ[12]
ระบาดวิทยา
[แก้]ความชุกของภาวะขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม การบาดเจ็บทางเสียงพบได้บ่อยในระหว่างรับราชการทหารและกิจกรรมการล่าสัตว์ ซึ่งมักเกี่ยวกับการยิงปืนโดยเฉพาะเมื่อเกิดโดยอุบัติเหตุ[13] ในวัยรุ่น 20–50% ได้สัมผัสกับเสียงที่ดังพอให้เกิดการบาดเจ็บจากเสียงเฉียบพลัน (AAT)[11] การสูญเสียการได้ยินเนื่องจากเสียง เป็นการสูญเสียการได้ยินทางประสาทรับความรู้สึกที่พบบ่อยเป็นอันดับสองรองจากหูตึงเหตุสูงอายุ จากชาวอเมริกันมากกว่า 28 ล้านคนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน มีถึง 10 ล้านคนที่เสียการได้ยินโดยมีเหตุส่วนหนึ่งจากเสียงดังเกินในที่ทำงานหรือในกิจกรรมนันทนาการ[14]
ดูเพิ่ม
[แก้]เชิงอรรถและอ้างอิง
[แก้]- ↑ Oberhaus, Daniel (2018-04-05). "A Former NASA Scientist Almost Lost His Hearing Because of a Toilet Lid". Motherboard. Vice Media. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-29. สืบค้นเมื่อ 2018-04-05.
- ↑ "Slideshow: Top Causes of Severe Hearing Loss". webmd.com.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 Bayoumy, AB; van der Veen, EL (2019). "Effect of hyperbaric oxygen therapy and corticosteroid therapy in military personnel with acute acoustic trauma". Journal of the Royal Army Medical Corps. 166 (4): jramc–2018–001117. doi:10.1136/jramc-2018-001117. PMID 30612101. S2CID 58655791.
- ↑ 4.0 4.1 Esquivel, Carlos (2018-09-05). "Aural Blast Injury/Acoustic Trauma and Hearing Loss". Military Medicine. 183 (suppl_2): 78–82. doi:10.1093/milmed/usy167. PMID 30189086. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-17.
- ↑ Saltzman, M.; Ersner, M. S. (1955-09-01). "Acoustic Trauma". Archives of Otolaryngology - Head and Neck Surgery. 62 (3): 235–241. doi:10.1001/archotol.1955.03830030001001. ISSN 0886-4470.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 "Acoustic trauma - What is an acoustic trauma? | Learn more!". www.hear-it.org (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-21. สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
- ↑ SpeakerMasters (2019-04-04). "Noise Level Chart: Decibel Levels of Common Sounds With Examples". BoomSpeaker.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
- ↑ 8.0 8.1 Rabinowitz, Peter (2000-05-01). "Noise-Induced Hearing Loss". American Family Physician. 61 (9): 2749–2756. ISSN 0002-838X. PMID 10821155.
- ↑ Fligor, Brian J. "Acoustic Trauma from Recreational Noise Exposures Brian J. Fligor". AudiologyOnline (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
- ↑ 10.0 10.1 "Acoustic trauma: MedlinePlus Medical Encyclopedia". medlineplus.gov (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
- ↑ 11.0 11.1 11.2 "Acute acoustic trauma | Evidence-Based Medicine Guidelines". evidence.unboundmedicine.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
- ↑ Harada, Hirofumi; Shiraishi, Kimio; Kato, Toshihiko (2001-04-01). "Prognosis of acute acoustic trauma: a retrospective study using multiple logistic regression analysis". Auris Nasus Larynx (ภาษาอังกฤษ). 28 (2): 117–120. doi:10.1016/S0385-8146(00)00117-6. ISSN 0385-8146. PMID 11240317.
- ↑ Mrena, Roderik; Savolainen, Seppo; Pirvola, Ulla; Ylikoski, Jukka (2004). "Characteristics of acute acoustical trauma in the Finnish Defence Forces". International Journal of Audiology. 43 (3): 177–181. doi:10.1080/14992020400050025. ISSN 1499-2027. PMID 15198383.
- ↑ Rabinowitz, Peter (2000-05-01). "Noise-Induced Hearing Loss". American Family Physician. 61 (9): 2749–2756. ISSN 0002-838X. PMID 10821155.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]การจำแนกโรค | |
---|---|
ทรัพยากรภายนอก |