การติดเชื้อในกระแสเลือดในทารกแรกเกิด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การติดเชื้อในทารกแรกเกิด
(Neonatal sepsis)
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10P36
ICD-9771.81
MedlinePlus007303
eMedicinearticle/978352

การติดเชื้อในทารกแรกเกิด (อังกฤษ: neonatal sepsis) คือภาวะที่ทารกแรกเกิดมีการติดเชื้อแบคทีเรีย[[|]] (เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ ไตและกรวยไตอักเสบ หรือกระเพาะและลำไส้อักเสบ) แหล่งข้อมูลเก่าบางแหล่งอาจเรียกภาวะนี้ว่า sepsis neonatorum การนำภาวะผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือดหรือการหายใจล้มเหลวมาร่วมเป็นเกณฑ์การวินิจฉัยมักไม่มีประโยชน์ทางคลินิกเนื่องจากทารกแรกเกิดมักแสดงอาการเหล่านี้ก็ต่อเมื่อการติดเชื้อนั้นดำเนินไปจนรุนแรงถึงขั้นใกล้เสียชีวิตและยากต่อการรักษา

การติดเชื้อในทารกแรกเกิดแบ่งออกเป็นระยะต้น (early) และระยะหลัง (late) โดยการติดเชื้อในกระแสเลือดในทารกแรกเกิดระยะต้นหมายถึงการติดเชื้อในกระแสเลือดที่เกิดในทารกแรกเกิดอายุไม่เกิน 7 วัน (แหล่งข้อมูลบางแหล่งกำหนดว่าไม่เกิน 72 ชั่วโมงหลังเกิด) ส่วนการติดเชื้อในกระแสเลือดในทารกแรกเกิดระยะหลังหมายถึงการที่ทารกมีการติดเชื้อในกระแสเลือดที่อายุมากกว่า 7 วัน (หรือ 72 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับแหล่งข้อมูล) การติดเชื้อในกระแสเลือดในทารกแรกเกิดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดในโรงพยาบาลที่พบบ่อยที่สุด รวมทั้งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในชุมชนที่พบ่อยในประเทศที่กำลังพัฒนาอีกด้วย

โดยทั่วไปแพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยจากการซักประวัติและการตรวจร่างกายเพียงอย่างเดียวได้อย่างแม่นยำว่าทารกอายุไม่เกิน 90 วัน ที่มีไข้ (อุณหภูมิกายมากกว่า 38 องศาเซลเซียส) นั้นมีการติดเชื้อในกระแสเลือดหรือไม่ เว้นแต่กรณีตรวจพบหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลันอย่างชัดเจนเท่านั้น จึงมีคำแนะนำให้ดำเนินการตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างละเอียดกับทารกอายุไม่เกิน 30 วัน ที่มีไข้ การตรวจเหล่านี้ได้แก่ การตรวจนับและแยกชนิดเม็ดเลือด การเพาะเชื้อจากเลือด การตรวจปัสสาวะ การเพาะเชื้อจากปัสสาวะ การตรวจน้ำไขสันหลัง และการเพาะเชื้อจากน้ำไขสันหลัง รวมถึงการรับไว้สังเกตอาการในโรงพยาบาล ร่วมกับให้ยาปฏิชีวนะครอบคลุมเชื้อที่อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างน้อย 48 ชั่วโมง จนกว่าผลการเพาะเชื้อจะรายงานว่าไม่มีเชื้อขึ้น มีความพยายามที่จะสร้างเกณฑ์ช่วยในการวินิจฉัยว่าทารกที่มีไข้ที่มีอาการแบบใดจะสามารถให้สังเกตอาการที่บ้านได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องรับไว้รักษา เกณฑ์เหล่านี้เช่นเกณฑ์โรเชสเตอร์เป็นต้น