ข้ามไปเนื้อหา

การตรวจสถานที่เกิดเหตุ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การตรวจสถานที่เกิดเหตุ (อังกฤษ: Crime Scene Investigation) เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ในประเทศไทยกำหนดให้การตรวจสถานที่เกิดเหตุเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่พนักงานสอบสวน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองพิสูจน์หลักฐาน ที่จะดำเนินการตรวจหาวัตถุพยานหรือพยานทางกายภาพอื่น ๆ เมื่อเกิดอาชญากรรมขึ้นในทุกกรณีรวมทั้งการตายด้วย ซึ่งในอนาคตถ้าหากระบบนิติเวชศาสตร์ในประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิม แพทย์อาจจะต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุในกรณีที่มีการตายก็ได้

การตรวจสถานที่

[แก้]

การตรวจสถานที่เกิดเหตุสำหรับพนักงานสอบสวน เมื่อได้รับแจ้งเหตุกรณีมีคนตายหรือการเกิดอุบัติเหตุ พนักงานสอบสวนต้องประสานงานร่วมกับแพทย์นิติเวชผู้รับผิดชอบในเขตพื้นที่ เพื่อทำการชันสูตรพลิกศพ พร้อมทั้งมีการเตรียมการและมีการวางแผนการดำเนินการ เตรียมเครื่องมือการตรวจให้พร้อม เตรียมการสำหรับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากในสถานที่เกิดเหตุย่อมไม่เป็นสถานที่ปลอดภัยเสมอไป พนักงานสอบสวนจะต้องเข้าค้นหาพยานหลักฐานควรต้องทำให้เป็นระบบที่เตรียมการอย่างเคร่งครัด รวมทั้งการตรวจหาอาวุธและวัตถุพยาน ฯลฯ[1]

ถ้าในสถานที่เกิดเหตุมีร่องรอยของการต่อสู้ พนักงานสอบสวนและแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพต้องตรวจหาร่องรอยการต่อสู้ งัดแงะ ฯลฯ ในสถานที่เกิดเหตุ และต้องคอยระมัดระวังดูแลรักษาสถานที่เกิดเหตุ ไม่ให้บุคคลภายนอกที่ไม่ข้องเกี่ยวกับคดีเข้าไปวุ่นวายภายในสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งการปล่อยบุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีเข้าไปวุ่นวาย อาจทำลายพยานหลักฐานที่ปรากฏในสถานที่เกิดเหตุได้โดยไม่ตั้งใจ เพราะฉะนั้นพนักงานสอบสวนต้องเข้มงวดในการกั้นสถานที่เกิดเหตุ รวมทั้งต้องดำเนินการเกี่ยวกับผู้บาดเจ็บหรือศพอีกด้วย

การเตรียมความพร้อม

[แก้]

ก่อนเข้าทำการตรวจสถานที่เกิดเหตุ แพทย์และพนักงานสอบสวนต้องคำนึงถึงอันตรายอันอาจจะเกิดขึ้นได้เช่น อันตรายจากก๊าซพิษและไฟฟ้าลัดวงจรกรณีที่มีเพลิงไหม้ อันตรายจากรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ในรายที่เกิดอุบัติเหตุจราจร อันตรายจากการระเบิดกรณีที่มีเหตุวางระเบิดซึ่งอาจจะมีระเบิดตกค้างอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ อันตรายจากตึกถล่ม สำหรับพนักงานสอบสวนหรือแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้ชันสูตรพลิกศพควรระลึกไว้เสมอว่า การตรวจที่เกิดเหตุไม่ใช่สามารถตรวจครั้งเดียวจะเสร็จสิ้นได้เสมอไป บางครั้งอาจจะต้องกลับมาตรวจเพื่อหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง

การตรวจสถานที่เกิดเหตุ พนักงานสอบสวนจะต้องถ่ายรูป วาดรูป วาดแผนผังของตำแหน่งศพและสถานที่เกิดเหตุ เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานอ้างอิงสถานที่เกิดเหตุในชั้นศาล โดยใช้จินตนาการความเป็นไปได้ในเหตุการณ์ทุกแง่มุมว่า อาจจะพบพยานหลักฐานในสถานที่ใดได้บ้าง เพื่อค้นหาวัตถุพยาน ทั้งที่จุดเกิดเหตุและรอบ ๆ จุดที่เกิดเหตุ โดยละเอียดครบถ้วนและเป็นระบบ และพยายามหลีกเลี่ยงโดยไม่สัมผัสกับวัตถุและสิ่งของในสถานที่เกิดเหตุด้วยมือเปล่า รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งที่สันนิษฐานว่าอาจมีวัตถุพยานปรากฏอยู่เช่นลูกบิดประตู หน้าต่าง ถ้วยชากาแฟ อาวุธ ฯลฯ และจดบันทึกสิ่งที่ตรวจพบโดยละเอียด เพื่อที่ว่าเมื่อจำเป็นต้องกลับมาอ่านทวนใหม่ในต่อไป พนักงานสอบสวนและแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ ยังสามารถประมวลข้อมูลของสถานที่เกิดเหตุได้เหมือนเดิม

หน้าที่ของแพทย์และพนักงานสอบสวน

[แก้]

หน้าที่ของแพทยและพนักงานสอบสวนในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ เมื่อได้รับแจ้งเหตุหรือบังเอิญประสบเหตุหรือถูกตามให้เข้าไปในสถานที่พบศพหรือสถานที่เกิดเหตุเป็นบุคคลแรก (อังกฤษ: The First Officer at the Crime Scene) ควรจดบันทึก วัน เวลา ที่เข้าไปในที่พบศพหรือที่เกิดเหตุ เข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุโดยหลีกเลี่ยงการอาจจะทำลายหลักฐานหรือวัตถุพยาน และรักษาสถานที่เกิดเหตุมิให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปเป็นอันขาด

แพทย์

[แก้]

ถ้ามีผู้บาดเจ็บที่มีอาการหนัก แพทย์จะต้องพยายามตามหน่วยรักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องหรือที่อยู่ใกล้ที่สุดเพื่อนำผู้บาดเจ็บไปรับการรักษาพยาบาลโดยเร็ว ถึงแม้กว่าการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บอาจจะทำลายพยานวัตถุบางอย่าง แต่เพื่อการรักษาชีวิตและถ้าเป็นไปได้ควรมีผู้ร่วมทางไปกับผู้บาดเจ็บด้วย เนื่องจากอาจจะได้ปากคำของผู้บาดเจ็บในระหว่างทางหรือในขณะกำลังจะเสียชีวิต ซึ่งปากคำนั้นมีคุณค่าต่อการสอบสวนสืบสวนมาก และเมื่อมีผู้ตายพนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการเกี่ยวกับผู้ตาย เมื่อมีศพควรพยายามที่จะไม่ทำการใดใดเกี่ยวกับศพ แต่จะต้องรายงานพนักงานสอบสวนผู้มีหน้าที่ให้ทราบเพื่อจะได้ดำเนินการเกี่ยวกับการชันสูตรตามกฎหมาย[2]

พนักงานสอบสวน

[แก้]

เมื่อทำการตรวจสถานที่เกิดเหตุเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนจะต้องรายงานผู้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบหรือผู้ร่วมงาน หรือแพทย์ผู้ชันสูตรเพื่อทำการชันสูตรและขอกำลังสนับสนุนรวมทั้งบันทึกเกี่ยวกับอาวุธที่พบในที่เกิดเหตุหรือที่พบศพ ตำแหน่งที่พบ และความสัมพันธ์ของท่าทางศพกับตำแหน่งของอาวุธ ในบางครั้งอาจพบผู้ต้องสงสัยในที่เกิดเหตุ พนักงานสอบสวนจะต้องจับกุมหรือควบคุมตัวไว้ก่อนเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือทำลายหลักฐานต่าง ๆ ในที่สถานที่เกิดเหตุ โดยแจ้งให้ทราบถึงข้อกำหนดตามกฎหมาย พร้อมกับสอบปากคำผู้อยู่ในเหตุการณ์เพื่อกันตัวเป็นพยานบุคคลเพื่อเป็นประโยชน์แก่รูปคดี เช่นมีใครบ้างในที่เกิดเหตุตอนที่พนักงานสอบสวนไปพบ

การสอบถามพยานให้สอบถามเพียงประโยคสั้น ๆ เพราะหน้าที่หลักของพนักงานสอบสวนคือรักษาสถานที่เกิดเหตุ หน้าที่ของแพทย์คือร่วมตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุเท่านั้น ถ้ามีทั้งผู้ต้องสงสัยและพยานอยู่ในที่เกิดเหตุพร้อมกัน ให้ทำการแยกที่กักตัวเท่าที่จะทำได้ พยายามฟังและจดจำคำพูดในสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับแพทย์และพนักงานสอบสวนเป็นอย่างมาก ป้องกันสิ่งที่เป็นพยานไม่ให้หายไประหว่างรอกำลังสนับสนุนหรือผู้บังคับบัญชา

การติดต่อกรณีนี้ควรใช้โทรศัพท์ เนื่องจากมีนักข่าวและสื่อมวลชนจำนวนมากที่ใช้วิทยุสื่อสารของตำรวจหรือใช้คลื่นตำรวจ อีกทั้งเพื่อป้องกันการไม่ให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชันสูตรพลิกศพมาอยู่ในที่เกิดเหตุมากเกินไป และมอบการรักษาที่เกิดเหตุให้พนักงานสอบสวน เพื่อจะรักษาต่อไปจนกว่าการชันสูตรหรือตรวจสถานที่ได้ทำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหมายความว่าจนกว่าการทำรายงานเกี่ยวกับสถานที่เสร็จสิ้นลงแล้วและอาจจะใช้เวลาหลายวัน

การตรวจศพในสถานที่เกิดเหตุ

[แก้]
ภาพแสดงบาดแผลที่ปรากฏ
ภาพแสดงกางเกงที่พบในสถานที่เกิดเหตุ

การตรวจศพในสถานที่เกิดเหตุ เป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ โดยจะต้องทำการตรวจสภาพศพโดยคร่าว ๆ เท่านั้นเช่น ตรวจพบบาดแผลบนร่างกายของศพ ต้องระบุประเภทของบาดแผลว่า บาดแผลที่พบนั้นเป็นบาดแผลชนิดใด ถูกของไม่มีคม บาดแผลมีคมหรือบาดแผลที่เกิดจากกระสุนปืน รวมทั้งสรุปจำนวนบาดแผลที่ตรวจพบ ซึ่งในการตรวจบาดแผลอาจจะมีบาดแผลแห่งความไม่แน่ใจ (อังกฤษ: Hesitation Mark) หรือบาดแผลแห่งการป้องกันตัว (อังกฤษ: Defense Wound) ของผู้ตายปรากฏอยู่ แพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพจะต้องตรวจสอบตำแหน่งบาดแผลที่พบ ว่าตำแหน่งของบาดแผลอยู่ที่ใดบ้าง บาดแผลทะลุเสื้อผ้าของผู้ตายหรือไม่ ถ้าเป็นบาดแผลที่เกิดจากกระสุนปืน มีระยะใกล้เท่าใด รวมทั้งตรวจหาระยะเวลาการตาย ซึ่งต้องร่วมกับการสอบถามผู้ใกล้ชิดหรือพบเห็นด้วย

การตรวจศพในสถานที่เกิดเหตุ นอกจากจะเป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพแล้ว พนักงานสืบสวนสอบสวนควรให้ความสนใจในเรื่องท่าทางของศพเปรียบเทียบกับสภาพแวดล้อมรอบข้าง และถ่ายรูปไว้ก่อนที่ขยับศพ รวมทั้งการพิจารณาเสื้อผ้าที่ติดอยู่กับศพว่าอยู่ในตำแหน่งใด เสื้อหรือกางแกงของศพถูกดึงรั้งไปในส่วนใดบ้าง กางเกงชั้นในของศพดึงลงมาหรือไม่ และที่ศพมีรูทะลุเข้าบาดแผลหรือไม่โดยห้ามใช้วัตถุใดใดแยงเข้าไปในบาดแผล เพราะอาจไปทำลายหรือเพิ่มเศษสิ่งบางอย่างในแผลได้ รวมถึงการตรวจค้นตามกระเป๋าเสื้อกางเกง

หลังจากตรวจสอบสภาพภายนอกของศพแล้ว พนักงานสอบสวนต้องตรวจสอบสภาพร่างกายโดยทั่วไปของศพอย่างคร่าว ๆ โดยผลการตรวจละเอียดต้องรอจากการผ่าศพทางนิติเวชศาสตร์ของแพทย์นิติเวช พร้อมทั้งเก็บรักษาบางส่วนของศพแล้วแต่กรณี เสื้อผ้าที่ใส่อยู่บนตัวศพห้ามถอดออก ต้องนำไปตรวจพร้อมกับศพเสมอ อาจจะต้องใช้ถุงกระดาษห่อหุ้มบางส่วนของศพเพื่อป้องกันการปนเปื้อนหรือการสูญหายของวัตถุพยาน บางกรณีอาจจะต้องห้ามการพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือไว้ก่อน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเช่นกัน เช่น กรณีใช้อาวุธปืน ศพที่ถูกข่มขืนและฆ่า ฯลฯ จนกว่าการตรวจศพอย่างละเอียดเสร็จสิ้นแล้ว[3]

หลังเคลื่อนย้ายศพแล้ว ให้ประมาณปริมาณเลือดในที่เกิดเหตุอีกครั้งหนึ่ง กรณีที่พบศพที่เชื่อว่าถูกนำมาทิ้งจากที่อื่น พนักงานสอบสวนต้องตรวจสถานที่ให้ละเอียดเช่นกัน ตรวจคราบเลือดหรือร่องรอยการเดินหรือเคลื่อนที่ตามเส้นทางที่จะเข้าออกสถานที่นั้นซึ่งอาจจะมีอยู่จำกัด รอยลู่ของหญ้า รอยเท้าหรือรอยลากบนพื้น กิ่งไม้ที่หักเป็นทาง ฯลฯ ถ้าศพพบที่กลางแจ้งการตรวจที่เกิดเหตุต้องรีบทำเพราะพยานหลักฐานต่าง ๆ อาจจะถูกลบเลือนได้ง่ายจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศเช่น ลม ฝน หิมะ เป็นต้น

การสืบสวนในกรณีที่มีคนตาย

[แก้]

การสืบสวนในกรณีที่มีคนตาย (อังกฤษ: Death Investigation) เป็นการสืนสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงของการตาย พนักงานสืบสวนสอบสวนที่พบศพในสถานที่เกิดเหตุและแน่ใจว่าเสียชีวิตแล้ว ต้องแจ้งแพทย์ผู้มีหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ร่วมทำการชันสูตรโดยไม่แตะต้องศพและไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดแตะต้องศพด้วย แพทย์และพนักงานสอบสวนผู้ทำการชันสูตรต้องตรวจสอบและค้นหาสาเหตุการตายตามสภาพของศพที่ที่พบเห็น ว่าเป็นการฆ่าตัวตายเองได้หรือไม่ โดยตรวจสอบจากตำแหน่งบาดแผลและท่าทางของศพในขณะที่พบ มีร่องรอยการต่อสู้หรือไม่ พบคราบเลือด เส้นผม เศษกระดุมเสื้อ เครื่องใช้ที่ไม่ได้อยู่ในที่ปกติ ฯลฯ มีอาวุธในที่เกิดเหตุหรือไม่

สิ่งที่ปรากฏในสถานที่เกิดเหตุ

[แก้]

สิ่งที่ปรากฏในสถานที่เกิดเหตุ (อังกฤษ: Scene Marker) เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นภายหลังจากเหตุการฆาตกรรมเช่นครายเลือด น้ำลาย ก้นบุหรี่ เศษผ้า ฯลฯ ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุอย่างละเอียดสามารถช่วยบอกระยะเวลาการตายของผู้ตายได้เป็นอย่างดี และเป็นหลักฐานสำคัญแก่พนักงานสอบสวนในการนำไปสู่ตัวคนร้าย สิ่งที่ปรากฏในสถานที่เกิดเหตุเช่นจำนวนหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในช่องหน้าบ้าน อาจจะเป็นหลักฐานอย่างดีที่ช่วยชี้บ่งบอกว่าไม่มีใครออกมาเก็บหนังสือพิมพ์กี่วันแล้ว หรือการพบศพสามีภรรยาถูกฆาตกรรมในบ้านมาหลายวัน จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุพบแก้วกาแฟ 2 ใบวางอยู่บนโต๊ะอาหาร มีร่องรอยของการดื่มกาแฟเพียงเล็กน้อย สภาพโดยทั่วไปเป็นปกติ ในครัวยังมีจานอาหารวางทิ้งไว้ สันนิษฐานได้ว่าผู้ตายอาจถูกฆาตกรรมตั้งแต่หลังอาหารเช้าวันใดวันหนึ่งโดยคนรู้จัก เนื่องจากไม่พบร่องรอยของการต่อสู้ นอกจากนี้ลักษณะของการแต่งกายเช่นชุดนอน ชุดลำลองหรือชุดใช้สำหรับออกจากบ้าน จากการตรวจสอบร่างกายอาจมีสลิปจากเครื่อง ATM ซึ่งในสลิประบุวันและเวลาในการถอนเงินหรือมีเอกสารหลักฐานทางการเงินอยู่ในกระเป๋าผู้ตาย หรืออาจเตรียมตัวออกวิ่งในตอนเช้าตามปกติแล้วหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เป็นต้น

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. การตรวจสถานที่เกิดเหตุ, นิติเวชศาสตร์ สำหรับพนักงานสอบสวน, พล.ต.ต.เลี้ยง หุยประเสริฐ, พบ., อว. (นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, 2549, หน้า 7
  2. หน้าที่ของแพทย์และพนักงานสอบสวน, นิติเวชศาสตร์ สำหรับพนักงานสอบสวน, พล.ต.ต.เลี้ยง หุยประเสริฐ, พบ., อว. (นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, 2549, หน้า 15
  3. การตรวจศพในสถานที่เกิดเหตุ, นิติเวชศาสตร์ สำหรับพนักงานสอบสวน, พล.ต.ต.เลี้ยง หุยประเสริฐ, พบ., อว. (นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, 2549, หน้า 15