ฆาตกรรมหมู่ในนครชิคาโกด้วยยาไทลินอล พ.ศ. 2525

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฆาตกรรมหมู่ในนครชิคาโกด้วยยาไทลินอล พ.ศ. 2525
สถานที่เขตมหานครชิคาโก, สหรัฐ
วันที่กันยายน-ตุลาคม ค.ศ.1982
ประเภทการวางยาพิษ, การสังหารหมู่
อาวุธไซยาไนด์
ตาย7
ผู้ก่อเหตุไม่ทราบ
เหตุจูงใจไม่ทราบ

ฆาตกรรมหมู่ในนครชิคาโกด้วยยาไทลินอล (อังกฤษ: Chicago Tylenol mass murders) เป็นเหตุการณ์ฆาตกรรมคนหมู่ซึ่งเกิดขึ้น ณ เขตมหานครชิคาโก (Chicago metropolitan area) รัฐอิลลินอย สหรัฐอเมริกา ในฤดูใบไม้ร่วงของ พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) เมื่อมีผู้เจือสารพิษโพแทสเซียมไซยาไนด์ (potassium cyanide)[1] ลงในยาแคปซูลแก้ปวดระดับความแรงพิเศษยี่ห้อดัง "ไทลินอล" ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไล่เลี่ยกันจำนวนเจ็ดรายหลังจากรับประทานยาไทลินอลดังกล่าวเข้าไปแล้ว

สำนักงานสืบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา หรือเอฟบีไอ ขนานนามคดีนี้ว่า "การวางยาไทลินอล" (Tylenol poisonings) มีรหัสคดีว่า "TYMURS" ทั้งนี้ แม้เวลาจะล่วงเลยมานานพอสมควร และคดีนี้ก็ยังมิได้ข้อสรุปจวบจนบัดนี้ แต่ก็เป็นแรงผลักดันหนึ่งให้เกิดการปฏิรูปขนานใหญ่ซึ่งการบรรจุเภสัชภัณฑ์และกฎหมายป้องกันการยืมมือฆ่าคน

การระบาดของยามีพิษ[แก้]

เช้าตรู่ของวันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) เด็กหญิงวัยสิบสองปีนาม แมรี เคลเลอร์แมน (Mary Kellerman) แห่งหมู่บ้านเอลก์โกรฟ นครชิคาโก คุกเคาน์ตี (Elk Grove Village, Cook County) รัฐอิลลินอย สหรัฐอเมริกา เสียชีวิตอย่างกะทันหันหลังจากรับประทานยาแก้ปวดระดับความแรงพิเศษยี่ห้อ "ไทลินอล" เมื่อเช้าวันนั้น[2] [3]

ถัดมาไม่นาน แอดัม เจเนิส (Adam Janus) แห่งหมู่บ้านอาร์ลิงทันไฮส์ (Arlington Heights) นคร เคาน์ตี และรัฐเดียวกัน ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลท้องถิ่น และหลังจากนั้นไม่นานอีก สแตนลีย์ เจเนิส (Stanley Janus) แห่งหมู่บ้านไลล์ ดูปาชเคาน์ตี (Lisle Village, DuPage County) นครชิคาโก รัฐอิลลินอย ผู้เป็นน้องชายของแอดัม เจเนิส พร้อมด้วยเธเรซา เจเนิส (Theresa Janus) ภรรยาของสแตนลีย์ ก็เสียชีวิตตามไปด้วยในวันเดียวกันขณะกำลังร่วมพิธีศพของแอดัม เจเนิส ผลการสืบสวนพบว่าทั้งหมดตายเพราะรับประทานยาแก้ปวดกระปุกเดียวกัน[2]

ถัดจากนั้นอีกไม่นานในวันเดียวกัน แมรี แมกฟาร์แลนด์ (Mary McFarland) แห่งเมืองเอล์มเฮิสต์ (Elmhurst) นครชิคาโก ดูปาชเคาน์ตี รัฐอิลลินอย, พอลา พรินส์ (Paula Prince) แห่งนครชิคาโก และแมรี เรเนอร์ (Mary Reiner) แห่งหมู่บ้านวินฟีลด์ (Winfield) นคร เคาน์ตี และรัฐเดียวกัน พร้อมใจกันจบชีวิตลงหลังจากรับประทานยาแก้ปวด "ไทลินอล"[2]

ด้วยการปฏิบัติหน้าที่อย่างรวดเร็ว พนักงานสืบสวนพบว่าการตายทั้งหมดในนครชิคาโกล้วนเชื่อมโยงกันโดยมียาแก้ปวด "ไทลินอล" เป็นศูนย์กลาง รัฐบาลท้องถิ่นออกประกาศเตือนทางวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์กระจายภาพ และเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถตระเวนไปตามบ้านเรือนทุกหลังคาเรือนเพื่อแจ้งเตือนอย่างถึงที่ด้วยโทรโข่ง

ยาแก้ปวดที่เป็นปัญหานั้นส่งมาจากโรงงานที่แตกต่างกัน แต่ด้วยความที่เหตุการณ์ตายไล่เลี่ยกันนี้เกิดขึ้นในท้องที่เดียวกัน เจ้าหน้าที่จึงจับจุดได้ว่าน่าจะเกิดความผิดปรกติในระหว่างกระบวนการผลิตยา กระนั้น ก็ยังไม่ละข้อสันนิษฐานว่าผู้ไม่ประสงค์ดีอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์เข้าไปยังห้างร้านต่าง ๆ และสับเปลี่ยนกระปุกยาไทลินอลจากหิ้งด้วยกระปุกยาไทลินอลที่มีไซยาไนด์ (cyanide) ปลอมปนอยู่แทน อนึ่ง นอกเหนือไปจากยาห้ากระปุกที่นำพาความตายไปสู่ผู้เคราะห์ร้ายเจ็ดรายข้างต้นแล้ว เจ้าหน้าที่ยังตรวจพบยาอีกสามกระปุกที่มีสารพิษปลอมปนก่อนจะถูกเปิดอีกด้วย

บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ต้นสังกัดผู้ผลิตยาไทลินอล มีประกาศเตือนไปยังโรงพยาบาลสถานอนามัยต่าง ๆ และผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตน กับทั้งในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) ยังได้เรียกเก็บผลิตภัณฑ์ไทลินอลทั้งหมดทั่วประเทศกลับคืนสู่บริษัท และสั่งพักโฆษณายาไทลินอลชั่วคราว ในการนี้ ประมาณว่ายาที่ถูกเรียกคืนมีจำนวนกว่าสามสิบเอ็ดล้านกระปุก คิดเป็นมูลค่ากว่าหนึ่งร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันยังแถลงทางสื่อมวลชนเตือนประชาชนทั้งหลายให้หยุดบริโภคผลิตภัณฑ์บรรดามีที่มีส่วนผสมของไทลินอลชั่วคราว อนึ่ง เมื่อแน่ชัดว่ามีแต่ยาประเภทแคปซูลที่ถูกใส่สารพิษปนเปื้อน บริษัทยังได้ปฏิรูปการบรรจุเภสัชภัณฑ์ไทลินอลโดยเปลี่ยนจากแบบแคปซูลไปเป็นแบบเม็ดแข็งทั้งหมด และยังรับแลกแบบแคปซูลที่มีการซื้อไปแล้วเป็นแบบเม็ดแข็งให้ด้วย

การดำเนินคดี[แก้]

คดีสังหารหมู่ดังกล่าวแม้เวลาล่วงเลยมานาน แต่ก็ยังมิได้รับการคลี่คลายจวบจนบัดนี้ กระนั้น ในช่วงเกิดเหตุ มีชายนายหนึ่งนาม เจมส์ ดับเบิลยู. ลิวอีส เขียนจดหมายไปถึงบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน รีดไถเงินหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐ มิฉะนั้น เขาจะไม่หยุดการสังหารหมู่โดยใช้สารพิษไซยาไนด์เช่นนี้อีก อย่างไรก็ดี เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวเขาไปสอบสวน กลับพบว่าจดหมายเขาเป็นแค่คำลวง เนื่องจากในเวลาเกิดเหตุนั้นเขาพำนักอยู่ที่นครนิวยอร์กกับภรรยา เจมส์จึงถูกพิพากษาลงโทษฐานกรรโชกทรัพย์ ให้ถูกจำคุกสิบสามปี จากอัตราโทษสูงสุดจำคุกยี่สิบปี เขารับโทษระยะหนึ่งแล้วก็ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระโดยมีทัณฑ์บนใน พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995)

ยังมีชายอีกคนซึ่งต้องสงสัยในคดีสังหารหมู่ นามว่า รอเชอร์ อาร์โนลด์ (Roger Arnold) เขาถูกนำตัวไปสอบสวนแต่พบว่าไม่ได้กระทำผิด กระนั้น การตกเป็นเป้าความสนใจของสื่อมวลชน ทำให้รอเชอร์เกิดอาการเจ็บป่วยทางอารมณ์และจิตใจ (nervous breakdown) อย่างรุนแรง และโทษชายเจ้าของร้านอาหารนาม มาร์ที ซินแคลร์ (Marty Sinclair) ว่าเป็นคนชักนำเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับตัวเขา ท่ามกลางฤดูร้อนของ พ.ศ. 2526 (ค.ศ. 1983) หรือปีถัดมาจากปีเกิดเหตุสังหารหมู่ รอเชอร์ตัดสินใจจะใช้ปืนสังหารมาร์ทีเสียเป็นการแก้แค้น แต่เขายิงผิดตัว เพราะกลับเป็นชายที่ไร้มลทินคนหนึ่งนาม จอห์น สแตนิเชอ (John Stanisha ) ที่ถูกยิงแทน[4] ใน พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984) ศาลจึงพิพากษาให้รอเชอร์ถูกจำคุกสิบห้าปี จากอัตราโทษสูงสุดจำคุกสามสิบปี เขาจบชีวิตขณะรับโทษในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2008)

และยังมีผู้ต้องสงสัยอีกรายเป็นหญิงชาวนครชิคาโกนาม ลอรี แดน (Laurie Dann) นางมีประวัติว่าป่วยทางจิตมานานแสนนาน กับทั้งยังเคยพยายามลอบวางพิษอย่างลับ ก่อคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญในโรงเรียนมัธยมของท้องถิ่น และกระทำอัตวินิบาตกรรมอีกหลายครั้ง แต่ยังไม่มีข้อสรุปสำหรับผู้ต้องสงสัยรายนี้[5]

บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันตั้งรางวัลนำจับผู้ก่อการสังหารหมู่ด้วยยาไทลินอลดังกล่าวเป็นเงินสูงถึงหนึ่งแสนดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ยังไม่อาจหาตัวผู้กระทำผิดได้สักทีจนบัดนี้

ผลข้างเคียง[แก้]

บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันได้รับการยกย่องจากสื่อมวลชนในขณะนั้นว่าจัดการกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วงนั้น หุ้นของผลิตภัณฑ์ยาไทลินอลในตลาดหลักทรัพย์ก็ร่วงลงจากร้อยละสามสิบห้าเป็นร้อยละแปด แต่ก็กลับคืนสู่ตำแหน่งเดิมภายในเวลาไม่ถึงปีโดยเป็นผลมาจากการได้รับยกย่องของบริษัทฯ นั่นเอง ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) บริษัทฯ ได้ผลิตยาแคปซูลขึ้นมาอีก แต่บรรจุไว้ในบรรจุภัณฑ์ปิดผนึกถึงสามชั้น และโป๊ะทับอีกสองชั้นด้วยป้ายแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับราคาสินค้า เหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนี้ยังส่งผลให้ยาไทลินอลเป็นยาแก้ปวดที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสหรัฐอเมริกาด้วย

โศกนาฏกรรมในนครชิคาโกที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปเจ็ดราย ยังให้มีเหตุการณ์เลียนผุดตามขึ้นมาอีกเป็นจำนวนหนึ่งใน พ.ศ. 2526 (ค.ศ. 1983) ปีถัดมา บรรดาผู้ประกอบการเครื่องบริโภคต่าง ๆ ต้องพากับขบคิดหาหนทางปฏิรูประบบและวิธีการบรรจุภัณฑ์เพื่อป้องกันการลักลอบเจือปนสิ่งไม่พึงประสงค์ลงในสินค้า และอุตสาหกรรมทางเภสัชภัณฑ์หลีกเลี่ยงไม่ผลิตสินค้าในรูปแคปซูล เพราะการเปิดหลอดแคปซูลออกแล้วเจือสิ่งแปลกปลอมลงไปในนั้นสามารถกระทำได้โดยง่าย และโดยไม่ทิ้งร่องรอยพิรุธไว้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงกฎหมายให้ถือว่า คดีเกี่ยวกับการเจือปนสารพิษในเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอาชญากรรมระดับชาติ และองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาก็ตราระเบียบใหม่เพื่อป้องกันการกระทำผิดในรูปแบบนี้ ซึ่งระเบียบดังกล่าวส่งผลให้ "แคปเลต" (caplet) หรือยาเม็ดแข็งที่ทำเป็นรูปแคปซูล เข้ามาแทนที่แคปซูลซึ่งเป็นปลอกพลาสติกบรรจุแป้งยาภายใน

อนึ่ง เหตุการณ์ยาไทลินอลนี้มีการนำไปจัดสร้างและดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และวรรณกรรมหลายเรื่อง โดยมีการนำไปเป็นพื้นฐานเรื่องราวเกี่ยวกับการวางยาพิษในลูกกวาดสำหรับแจกเด็กในวันฮาโลวีน ตลอดจนในอาหารและเครื่องดื่มสำหรับวางขายเป็นต้นด้วย

เหตุการณ์ใน พ.ศ. 2552[แก้]

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 (ค.ศ. 2009) เจ้าหน้าที่ตำรวจสำนักงานสืบสวนกลาง หรือเอฟบีไอ กรมยุติธรรม นำกำลังเข้าจับกุมเจมส์ ดับเบิลยู. ลิวอีส อดีตผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งในคดีสังหารหมู่นี้ ไปกักตัวไว้ชั่วคราวรอการสอบสวน และตรวจค้นบ้านพักของเขาซึ่งอยู่ ณ เมืองเคมบริดจ์ มิดเดิลเซ็กซ์เคาน์ตี (Middlesex County) รัฐแมสซาชูเซ็ตส์[6]

โฆษกสำนักงานสืบสวนกลางฯ แถลงในนครชิคาโก โดยปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องข้างต้น แต่กล่าวว่าจะมีอะไรให้ได้เห็นกันอย่างแน่นอนในเร็ววันนี้[7] ทั้งนี้ เนื่องจากมีผู้ส่งความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์แก่รูปคดีไปยังสำนักงานฯ อย่างมากมาย และในแถลงการณ์ของสำนักงานฯ ก็ระบุว่าจะมีการพิจารณารื้อฟื้นคดีสังหารหมู่ในนครชิคาโกขึ้น ความตอนหนึ่งว่า "การทบทวนครั้งนี้เป็นผลส่วนหนึ่งมาจากการที่อาชญากรรมนี้ครบรอบ 25 ปีเมื่อไม่นานมานี้ทำให้เรื่องราวในคดีกลายเป็นที่สนใจของสาธารณชน นอกจากนี้แล้วจากการที่เทคโนโลยีทางนิติวิทยาศาสตร์มีความก้าวหน้ามากขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีการฟื้นคดีและค้นหาพยานหลักฐานกันอีกครา"[8]

อย่างไรก็ดี สถานีโทรทัศน์ช่องดับเบิลยูซีวีบีไฟฟ์ (WCVB 5) ของนครบอสตัน รายงานเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 (ค.ศ. 2009) ว่า สำนักงานฯ ได้ปล่อยตัวเจมส์ ดับเบิลยู. ลิวอีส ไปแล้วเนื่องจากไม่อาจหาหลักฐานเพียงพอจะสนับสนุนข้อกล่าวหาเขาได้ และขณะนี้เจมส์ก็กลับไปพำนักอยู่ยังบ้านที่เมืองเคมบริดจ์ดังเดิม[9]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. John Douglas, 1999 : 103-104.
  2. 2.0 2.1 2.2 John Douglas, 1999 : 106.
  3. Rachael Bell, n.d. : Online.
  4. AP, 1984 : Online.
  5. Joyce Egginton, 1991.
  6. Jonathan Saltzman, 2009 : Online.
  7. The Associated Press, 2009 : Online.
  8. CNN News, 2009 : Online.
  9. Boston Channel, 2009 : Online.

อ้างอิง[แก้]