กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์
กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ | |
---|---|
ตรากองบังคับการ | |
อักษรย่อ | บก.ปคม. |
คำขวัญ | ต่อต้านการค้ามนุษย์ พิทักษ์เด็ก เยาวชนและสตรี นำความผาสุกสู่ประชาชน และความมั่นคงสู่ประเทศ |
ข้อมูลองค์กร | |
ก่อตั้ง | 30 มิถุนายน, พ.ศ. 2548 (19 ปี 97 วัน) |
โครงสร้างเขตอำนาจ | |
เขตอำนาจในการปฏิบัติการ | ประเทศไทย |
สำนักงานใหญ่ | แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร |
ผู้บริหารหน่วยงาน |
|
หน่วยงานปกครอง | กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง |
บทบาท | การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ |
เขตอำนาจปกครอง | • 9 กองกำกับการ |
สิ่งอำนวยความสะดวก | |
สถานี | 7 แห่ง |
เว็บไซต์ | |
www |
กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (อังกฤษ: Anti Trafficking In Person Division; อักษรย่อ: บก.ปคม.) เป็นหน่วยงานทางการป้องกันและปราบปรามค้ามนุษย์ของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ทั่วราชอาณาจักร ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2548 จัดตั้งขึ้นระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2548
กองบังคับการประกอบด้วย กองกำกับการ 1-6 ฝ่ายอำนวยการ และกลุ่มงานสอบสวน
ปัจจุบัน ผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ คือ พลตำรวจตรี ศารุติ แขวงโสภา
ประวัติ
[แก้]กองบังคับการปรามปรามการค้ามนุษย์ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2548 จัดตั้งขึ้นระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2548 โดยมีชื่อว่า "กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี"
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2552 กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่และชื่อว่า "กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์"
และในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557 ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2557 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์"
ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์สามารถจับกุมและช่วยเหลือเด็กที่ถูกพาไปค้าประเวณีหรือถูกพาไปผลิตหรือแพร่สื่อลามก เช่น ยุทธการลูกแกะน้อยออนไลน์ เป็นการจับกุมเครือข่ายโมเดลลิ่งขายบริการทางเพศเด็กออนไลน์ มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเป็นเหยื่อจำนวนกว่า 40 ราย[1][2] การใช้แรงงานเด็กต่างชาติ อย่างเครือข่ายใช้แรงงานเด็กกัมพูชา เพื่อทางการค้าโดยนำแรงงานไปเดินเร่ขายแว่นตา หรือพวงมาลัย[3] การล่อลวงเด็กเพื่อถ่ายภาพอนาจาร เช่นการจับกุมเครือข่ายล่อลวงเด็กถ่ายภาพและวีดิทัศน์ลามกอนาจารแลกไอเทมเกมออนไลน์[4]
ตรากองบังคับการ
[แก้]รูปปั้นข้าราชการตำรวจอุ้มประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บโดยมีเด็กยืนเกาะขา แสดงถึงข้าราชการตำรวจในสังกัดกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่มีภารกิจการให้ความช่วยเหลือ และปราบปรามการค้ามนุษย์
รูปดาวแปดแฉก 8 ดวง แสดงถึง หน่วยงานในกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ แบ่งเป็น 8 หน่วย ได้แก่ ฝ่ายอำนวยการ กองกํากับการ 1–6 งานสอบสวน
ช่อชัยพฤกษ์ แสดงถึง ความเจริญรุ่งเรืองของหน่วยงานที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อน และการสร้างชื่อเสียงให้กับหน่วยงาน
ขอบในสีธง แสดงถึง สีของธงชาติไทยเพื่อแสดงให้หน่วยงานต่างชาติทราบว่า คือหน่วยงานปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย
ภารกิจ
[แก้]- ถวายความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ รวมทั้งรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญอื่น ๆ
- รักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบทั่วราชอาณาจักร
- ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญา สืบสวนสอบสวนความผิดที่มีโทษทางอาญาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ การกระทำความผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี รวมทั้งความผิดเกี่ยวกับแรงงานและการจัดระเบียบสังคม และความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องทั่วราชอาณาจักร หรือตามที่ได้รับมอบหมาย
- ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
ผู้บังคับการ
[แก้]ชื่อ | ระยะเวลา |
---|---|
กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี | |
พลตำรวจตรี คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง | พ.ศ. 2548–2550 |
พลตำรวจตรี วิมล เปาอินทร์ | พ.ศ. 2550–2551 |
พลตำรวจตรี วิสุทธิ์ วานิชบุตร | พ.ศ. 2551 |
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ | |
พลตำรวจตรี ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย | พ.ศ. 2551–2554 |
พลตำรวจตรี ชวลิต แสวงพืชน์ | พ.ศ. 2554–2556 |
กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ | |
พลตำรวจตรี กิตติศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ | พ.ศ. 2556–2557 |
พลตำรวจตรี ธิติ แสงสว่าง | พ.ศ. 2557–2558 |
พลตำรวจตรี กรไชย คล้ายคลึง | พ.ศ. 2558–2561 |
พลตำรวจตรี วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา | พ.ศ. 2561–2562 |
พลตำรวจตรี สยาม บุญสม | พ.ศ. 2562–2564 |
พลตำรวจตรี วิวัฒน์ คำชำนาญ | พ.ศ. 2564–2565 |
พลตำรวจตรี ศารุติ แขวงโสภา | พ.ศ. 2565-ปัจจุบัน |