กลุ่มอาการที่เกิดจากช่องออกของเส้นประสาทบริเวณทรวงอกผิดปกติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กลุ่มอาการที่เกิดจากช่องออกของเส้นประสาทบริเวณทรวงอกผิดปกติ
(Thoracic outlet syndrome)
ภาพข่ายประสาทแขนของแขนข้างขวา มองจากด้านหน้า
สาขาวิชาศัลยกรรมหลอดเลือด, ศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก
อาการปวด, อ่อนแรง, กล้ามเนื้อโคนนิ้วหัวแม่มือฝ่อ, บวม, แขนซีด, ม่วงคล้ำ[1][2]
การตั้งต้นอายุ 20-50 ปี[1]
ประเภทชนิดเส้นประสาท, หลอดเลือดดำ, หลอดเลือดแดง[1]
สาเหตุการกดทับเส้นประสาท, หลอดเลือดดำ, และ/หรือ หลอดเลือดแดง ที่บริเวณช่องออกของกลุ่มเส้นประสาทและเส้นเลือดจากในช่องอกไปยังบริเวณรักแร้[1]
ปัจจัยเสี่ยงการบาดเจ็บ, การเคลื่อนไหวซ้ำๆ, เนื้องอก, การตั้งครรภ์, กระดูกซี่โครงเกิน[1]
วิธีวินิจฉัยการตรวจการนำสัญญาณประสาท, การถ่ายภาพรังสี[1]
โรคอื่นที่คล้ายกันเส้นเอ็นคลุมข้อไหล่ฉีกขาด, โรคของกระดูกคอ, ไฟโบรมัยอัลเจีย, โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง, กลุ่มอาการเจ็บปวดเฉพาะที่แบบซับซ้อน[1]
การรักษากายภาพบำบัด, ยาแก้ปวด, การผ่าตัด[1][2]
ความชุก~1%[3]

กลุ่มอาการที่เกิดจากช่องออกของเส้นประสาทบริเวณทรวงอกผิดปกติ[4] (อังกฤษ: thoracic outlet syndrome, TOS) เป็นภาวะที่ร่างกายของผู้ป่วยมีการกดทับเส้นประสาท, หลอดเลือดดำ, และ/หรือ หลอดเลือดแดง ที่บริเวณช่องออกของกลุ่มเส้นประสาทและเส้นเลือดจากในช่องอกไปยังบริเวณรักแร้[1] แบ่งออกเป็นสามชนิดย่อยตามอวัยวะที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ชนิดเส้นประสาท ชนิดหลอดเลือดดำ และชนิดหลอดเลือดแดง[1] โดยในชนิดเส้นประสาทผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บ อ่อนแรง และอาจมีกล้ามเนื้อฝ่อที่บริเวณฐานนิ้วหัวแม่มือ[1][2] ชนิดหลอดเลือดดำจะมีอาการแขนบวม เจ็บ และอาจมีสีม่วงคล้ำได้[2] ชนิดหลอดเลือดแดงจะมีอาการเจ็บแขน แขนซีด และแขนเย็นได้[2]

ภาวะนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การบาดเจ็บ การเคลื่อนไหวซ้ำๆ เนื้องอก การตั้งครรภ์ หรือเป็นมาแต่กำเนิด เช่น การมีกระดูกซี่โครงเกิน เป็นต้น[1] การตรวจที่ช่วยในการวินิจฉัยได้แก่ การตรวจการนำสัญญาณประสาท และการถ่ายภาพรังสี[1] ภาวะอื่นที่ทำให้มีอาการใกล้เคียงกัน ได้แก่ เส้นเอ็นคลุมข้อไหล่ฉีกขาด โรคของกระดูกคอ ไฟโบรมัยอัลเจีย โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และกลุ่มอาการเจ็บปวดเฉพาะที่แบบซับซ้อน เป็นต้น[1]

การรักษาในระยะแรกเริ่มสำหรับชนิดที่ทำให้มีอาการทางเส้นประสาทได้แก่การทำกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออกและปรับปรุงท่าทาง[1] อาจใช้ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น นาพรอกเซน เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดได้[1] การผ่าตัดมักใช้กับการรักษากรณีเป็นชนิดที่ทำให้มีอาการทางหลอดเลือด หรือมีอาการทางเส้นประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล[1][2] ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือด[1] ภาวะนี้พบได้ในประชากรทั่วไปประมาณ 1%[3] พบในเพศชายได้บ่อยกว่าในเพศหญิง และมักพบที่อายุประมาณ 20-50 ปี[1] ภาวะนี้ได้รับการบรรยายไว้เป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1818 และถูกเรียกชื่อว่ากลุ่มอาการที่เกิดจากช่องออกของเส้นประสาทบริเวณทรวงอกผิดปกติตั้งแต่ ค.ศ. 1956[2][5]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 "NINDS Thoracic Outlet Syndrome Information Page". NINDS. ธันวาคม 28, 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กรกฎาคม 27, 2016. สืบค้นเมื่อ สิงหาคม 19, 2016.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 Kuhn JE, Lebus V GF, Bible JE (April 2015). "Thoracic outlet syndrome". The Journal of the American Academy of Orthopaedic Surgeons. 23 (4): 222–32. doi:10.5435/jaaos-d-13-00215. PMID 25808686. S2CID 23150937.
  3. 3.0 3.1 Moore WS (2012). Vascular and Endovascular Surgery: A Comprehensive Review (ภาษาอังกฤษ) (8 ed.). Elsevier Health Sciences. p. 524. ISBN 978-1-4557-5386-4.
  4. สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (2016). ICD-10-TM บัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ ฉบับประเทศไทย ฉบับภาษาอังกฤษ-ไทย เล่มที่ 1 ตารางการจัดกลุ่มโรค ฉบับปี 2016. ศรีเมืองการพิมพ์. p. 266. ISBN 9786161131098. สืบค้นเมื่อ June 10, 2021.
  5. Lee JT, Jordan SE, Illig KA (2014). "Clinical incidence and prevalence: basic data on the current scope of the problem.". ใน Illig KA, Thompson RW, Freischlag JA, Donahue DM, Jordan SE, Edgelow PI (บ.ก.). Thoracic Outlet Syndrome (ภาษาอังกฤษ). London: Springer Science & Business Media. pp. 25–28. ISBN 978-1-4471-4366-6.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก