ข้ามไปเนื้อหา

กลุ่มทัพ A

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กลุ่มทัพ A
เยอรมัน: Heeresgruppe A
ประจำการ26 ต.ค. 1939 – 22 มิย. 1941
07 ก.ค. 1942 – 05 เม.ย. 1944
23 ก.ย. 1944 – 25 ม.ค. 1945
ประเทศ ไรช์เยอรมัน
เหล่า กองทัพบกเยอรมัน ( แวร์มัคท์)
กำลังรบกลุ่มทัพ
ปฏิบัติการสำคัญ

กลุ่มทัพ A (เยอรมัน: Heeresgruppe A) เป็นชื่อของกลุ่มทัพสามกลุ่มที่แตกต่างกันของกองทัพบกเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

กลุ่มทัพ A หน่วยแรก เดิมคือ “กลุ่มทัพใต้” มีอยู่ตั้งแต่เดือนตุลาคม 1939 ถึงมิถุนายน 1941 ผู้บัญชาการคนแรกคือพลเอกอาวุโสแกร์ท ฟ็อน รุนท์ชเต็ท เสนาธิการคนแรกคือพลเอกเอริช ฟ็อน มันชไตน์[1]: 13  กลุ่มทัพนี้มีบทบาทสำคัญในยุทธการฝรั่งเศส โดยเป็นกลุ่มทัพที่ชี้ขาดในการดำเนิน "แผนเคียวตัด" ซึ่งนำไปสู่ความพ่ายแพ้ราบคาบของกองทัพฝรั่งเศสในยุทธการที่เซอด็อง, ยุทธการที่บูโลญ และยุทธการที่เดิงแกร์ก จนในที่สุดก็ทำให้เกิดการสงบศึก ต่อมา กลุ่มทัพ A ถูกใช้เป็นหน่วยทหารที่ทำหน้าที่ยึดครองฝรั่งเศส และกลายเป็นหน่วยแรกสังกัดผู้บัญชาการใหญ่เขตตะวันตก (OB West) ที่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศฝรั่งเศสในยึดครอง (ก่อนที่ต่อมาถูกแทนที่ด้วยกลุ่มทัพ D) ต่อมาถูกย้ายไปยังโปแลนด์ที่ในยึดครองเพื่อเตรียมการสำหรับปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา กลุ่มทัพ A ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “กลุ่มทัพใต้” เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 1941

กลุ่มทัพ A หน่วยที่สอง เข้าร่วมแนวรบเยอรมันเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 1942 เมื่อกลุ่มทัพใต้ถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มทัพ B ทางตอนเหนือ (มุ่งหน้าไปยังสตาลินกราด) และกลุ่มทัพ A ทางตอนใต้ (มุ่งหน้าไปยังเทือกเขาคอเคซัส) กลุ่มทัพ A เคลื่อนตัวไปยังแม่น้ำ Terek แต่สุดท้ายถูกบังคับให้ถอนตัวในช่วงฤดูหนาวปี 1942/43 พร้อมกับความพ่ายแพ้ที่สำคัญของกลุ่มทัพ B ในยุทธการที่สตาลินกราด ในขั้นต้นถูกจำกัดอยู่ที่บริเวณหัวหาดคูบันและคาบสมุทรไครเมีย กลุ่มทัพ A ได้ต่อสู้กับกองทัพแดงในการป้องกันระหว่างการถอนตัวไปทางตะวันตกผ่านยูเครน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 1944 กลุ่มทัพ A ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “กลุ่มทัพยูเครนใต้”

กลุ่มทัพ A หน่วยที่สาม และเป็นหน่วยสุดท้าย ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 1944 เมื่อกลุ่มทัพยูเครนเหนือถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “กลุ่มทัพ A” กลุ่มทัพนี้ดำรงอยู่ประมาณห้าเดือนที่มีการถอนตัวอย่างต่อเนื่องจากกองทัพแดงที่รุกเข้ามา และสุดท้ายก็เหลืออยู่ที่แนวแม่น้ำโอเดอร์ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 1945 กลุ่มทัพอาเป็นหนึ่งในหลายกลุ่มทัพที่ถูกเปลี่ยนชื่อ โดยได้รับการกำหนดให้เป็น “กลุ่มทัพศูนย์” และไม่มีการก่อตั้งกลุ่มทัพ A ขึ้นมาอีก

ผู้บัญชาการกลุ่มทัพ A

[แก้]
วันที่ ผู้บัญชาการ หมายเหตุ
26 ตุลาคม 1939 – 22 มิถุนายน 1941 พลเอกอาวุโส/จอมพล แกร์ท ฟ็อน รุนท์ชเต็ท เดิมคือกลุ่มทัพใต้ และเปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มทัพใต้เหมือนเดิม
10 กรกฎาคม – 9 กันยายน 1942 จอมพล วิลเฮ็ล์ม ลิสท์ คือกลุ่มทัพใต้ที่ถูกแบ่งส่วนเป็นกลุ่มทัพ A และกลุ่มทัพ B
10 กันยายน 1942 – 22 พฤศจิกายน 1942 ขึ้นตรงต่อบกญ.ทบ. ในบัญชาของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์
23 พฤศจิกายน 1942 – 30 มีนาคม 1944 จอมพล เอวัลท์ ฟ็อน ไคลสท์
1 เมษายน – 24 กันยายน 1944 พลเอกอาวุโส แฟร์ดีนันท์ เชอร์เนอร์ กลุ่มทัพ A ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มทัพยูเครนใต้
24 กันยายน 1944 – 17 มกราคม 1945 พลเอกอาวุโส โยเซ็ฟ ฮาร์เพอ คือกลุ่มทัพยูเครนเหนือที่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มทัพ A
17 – 25 มกราคม 1945 พลเอกอาวุโส แฟร์ดีนันท์ เชอร์เนอร์ กลุ่มทัพ A เปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มทัพกลาง

หน่วยในบัญชา

[แก้]
เดือนปี หน่วยในบัญชา
พฤศจิกายน 1939 กองทัพที่ 16, กองทัพที่ 12
พฤษภาคม 1940 กองทัพที่ 16, กองทัพที่ 12, กองทัพที่ 4, กองทัพที่ 2, กลุ่มทัพยานเกราะของไคลส์
มิถุนายน 1940 กองทัพที่ 16, กองทัพที่ 12, กองทัพที่ 2, กลุ่มทัพยานเกราะของกูเดรีอัน
กรกฎาคม 1940 กองทัพที่ 6, กองทัพที่ 16, กองทัพที่ 9
สิงหาคม 1940 กองทัพที่ 9, กองทัพที่ 16
กันยายน 1940 กองทัพที่ 9, กองทัพที่ 16, ผบ.ทหารเยอรมันประจำเนเธอร์แลนด์
พฤศจิกายน 1940 กองทัพที่ 9, กองทัพที่ 16
พฤษภาคม 1941 กองทัพที่ 6, กองทัพที่ 17
สิงหาคม 1942 กองทัพยานเกราะที่ 1, กลุ่มทัพรูออฟ, กองทัพที่ 11
กันยายน 1942 กองทัพยานเกราะที่ 1, กลุ่มทัพรูออฟ, ผบ.ไครเมีย
มกราคม 1943 กองทัพยานเกราะที่ 1, กองทัพที่ 17, ผบ.ไครเมีย
กุมภาพันธ์ 1943 กองทัพที่ 17, ผบ.ไครเมีย
มีนาคม 1943 กองทัพที่ 17, ผบ.ไครเมีย, ผบ.ช่องแคบเคียร์ช
ตุลาคม 1943 กองทัพที่ 6, กองทัพที่ 17
มกราคม 1944 กองทัพโรมาเนียที่ 3, กองทัพที่ 17, ผบ.ทหารเยอรมันประจำทรานส์นีสเตรีย
มีนาคม 1944 กองทัพที่ 6, กองทัพโรมาเนียที่ 3, กองทัพที่ 17
ตุลาคม 1944 กองทัพยานเกราะที่ 4, กองทัพที่ 17, กลุ่มทัพไฮน์ริชิ
พฤศจิกายน 1944 กองทัพยานเกราะที่ 4, กองทัพที่ 17, กองทัพยานเกราะที่ 1
ธันวาคม 1944 กองทัพที่ 9, กองทัพยานเกราะที่ 4, กองทัพที่ 17, กองทัพยานเกราะ 1
มกราคม 1945 กองทัพที่ 9, กองทัพยานเกราะที่ 4, กองทัพที่ 17, กลุ่มทัพไฮน์ริชิ

อ้างอิง

[แก้]
  1. McNab, Chris (2013). The Fall of Eben Emael: Belgium 1940. Oxford: Osprey Publishing. ISBN 9781780962627.