กฤษฎา จ่างใจมนต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นายกฤษฎา จ่างใจมนต์ ผู้ก่อตั้งหจก. เนเจอร์กิฟ 711

นาย กฤษฎา จ่างใจมนต์ ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหาร หจก. เนเจอร์กิฟ 711

ประวัติ[แก้]

นาย กฤษฏา จ่างใจมนต์ เป็นลูกคนโตจากทั้งหมด 6 คน ในวัยเด็กได้อาศัยอยู่ในสลัมซอยสามยอด ถนนเจริญกรุง แขวงวังบูรพาภิรมย์ กรุงเทพมหานครในห้องเช่าพื้นที่ประมาณ 3 X 4 เมตร โดยครอบครัวต้องอาศัยอยู่กันถึง 8 คน (พ่อ แม่ น้อง 5 คน) แม้ครอบครัวจะประสบปัญหาทางด้านการเงิน แต่ด้วยความใฝ่เรียน หมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ในวันหยุดท่านจะไปรับขนมจากปากคลองตลาดเช่น ขนมเปียกปูน ขนมชั้น มาขายในสลัม พอขายหมด ตอนสายก็ไปรับไอศกรีมแท่งใส่ถังแบกจากแยกวังแดง มาขายเพื่อนๆในสลัมอีก ส่วนวันที่ออกล็อตเตอรี่ ก็จะไปรับเรียงเบอร์จากโรงพิมพ์แถวโรงหนังเฉลิมกรุง ไปเร่ขายจนถึงหัวลำโพง ซึ่งช่วยให้ทางบ้านไม่ต้องรับภาระมากนัก

ปัจจุบันท่านได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนเจอร์กิฟ จำกัด ผู้ผลิตเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อบำรุงสุขภาพ ภายใต้ตราสินค้า เนเจอร์กิฟ [1] [2] ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในท้องตลาด จนครองส่วนแบ่งในตลาดของกาแฟบำรุงสุขภาพเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย[3] และมีการส่งออกไปขายอีกหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, เนเธอร์แลนด์, เยอรมัน, ออสเตรเลีย, ยูเออี, บาห์เรน, ลาว, เขมร, พม่า และจีน เป็นต้น


นายกฤษฎา จ่างใจมนต์ มอบทุนการศึกษาในปี พ.ศ. 2555

ด้วยเหตุที่ท่านเคยได้รับทุนการศึกษาในวัยเด็กจำนวน 300 บาท จนทำให้มีโอกาสถึงวันนี้ อีกทั้งท่านมีปณิธานอันแน่วแน่คือ "เราจะต้องช่วยผู้คนนับล้าน ให้พ้นจากความทุกข์กาย ทุกข์ใจ" เพื่อเป็นการตอบแทนสังคม ให้เป็นสังคมที่น่าอยู่ ท่านจึงได้บริจาคทรัพย์สินจำนวนมาก เช่น บริจาคที่ดินรีสอร์ทจำนวน 555 ไร่ ที่จ.ลพบุรี เพื่อสร้างเป็นศูนย์อบรมเยาวชน, บริจาคเงินให้กับวัดต่างๆ, บริจาคให้กับมูลนิธิการกุศล, สมทบทุนก่อสร้างอาคารเรียนวิศว 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเงิน 1,000,000 บาท [4] ,บริจาคเงินเข้ากองทุนวิศว 100 ปี อีก 1,000,000 บาท เป็นต้น และเพื่อให้เยาวชนของประเทศไทยได้มีโอกาสในการศึกษาเช่นเดียวกับท่าน จึงจัดให้มีการมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนที่ยากไร้โดยไม่จำกัดเพศ เชื้อชาติ ศาสนา โดยมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนทั่วประเทศเป็นประจำเสมอ รวมเป็นเงินหลายล้านบาท เช่นในปี พ.ศ. 2551 มอบทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาสจำนวน 82 ทุน เป็นจำนวนเงิน 1,050,000 บาท [5]ในปี พ.ศ. 2552 ถึงปี พ.ศ. 2555 ได้มอบทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาส ปีละ 100 ทุน เป็นจำนวนเงินปีละ 1,250,000 บาท และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ได้บริจาคเงินให้กองทุนการศึกษา "นวฤกษ์" ในมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลนในพระบรมราชินูปถัมภ์ มีกำหนด 10 ปี ปีละ 270,000 บาท


การศึกษาอบรม [6] [7][แก้]

  • ปริญญาโท บริหารธุรกิจ (MBA) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (MBA 23)
  • Distinguished Senior Executive Program in Business and Government, HARVARD UNIVERSITY
  • อื่นๆ อีกประมาณ 10 สถาบัน

การทำงาน[แก้]

นายกฤษฎา จ่างใจมนต์

รัฐวิสาหกิจ[แก้]

หลังจากที่เรียนจบจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาทำงานอยู่ที่ การไฟฟ้านครหลวง โดยเริ่มต้นในตำแหน่งวิศวกรอยู่พักหนึ่ง แต่พบว่าการทำงานลักษณะแบบนี้ ไม่สามารถบรรลุความฝันที่อยากจะเป็นนักธุรกิจและมีธุรกิจเป็นของตัวเองได้ เพราะการจะเป็นเจ้าของธุรกิจจะต้องรู้เรื่องต่างๆอีกหลายอย่าง จึงออกจากงานไปหาประสบการณ์กับบริษัทเอกชน 2 แห่ง

ภาคเอกชน[แก้]

หลังจากออกจากการไฟฟ้านครหลวง ได้มาเป็นวิศวกรควบคุมงาน ของบริษัทแห่งหนึ่ง เป็นเวลา1ปี และย้ายมา ต่อมาได้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศของบริษัท ศรีอู่ทอง จำกัด อีก 1 ปี ก่อนออกมาทำธุรกิจของตนเองในปี พ.ศ. 2519 ด้วยเงินที่สะสมจำนวน 50,000 บาท

ธุรกิจของตนเอง[แก้]

พ.ศ. 2519 ก่อตั้งบริษัท โดย ทำหน้าที่ทุกอย่างเพียงคนเดียว เริ่มต้นธุรกิจโดยการเป็นผู้นำเข้าสินค้าด้านวิศวกรรม เช่น วาล์วลม วาล์วน้ำมัน ตู้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฮโดรลิค จากสหรัฐอเมริกา และอุปกรณ์นิวแมติค จากอังกฤษ [8]

พ.ศ. 2528 นายกฤษฎา เปลี่ยนมุมมองหันมาขายเครื่องฟอกอากาศจากสิงคโปร์ ซึ่งได้รับการตอบรับระดับหนึ่ง พอสร้างเม็ดเงินเป็นทุนหมุนเวียนให้กับธุรกิจได้บ้าง แต่ไม่นานนักเมื่อเครื่องฟอกอากาศของสิงคโปร์ได้ลดคุณภาพลง ทำให้ลูกค้าลดลงด้วย ท่านจึงคิดผลิตเครื่องฟอกอากาศเอง โดยตัดสินใจก่อตั้งโรงงานผลิตเครื่องฟอกอากาศของตนเอง ใช้ชื่อตราสินค้าว่า “AEROCLEAN” และสั่งซื้ออุปกรณ์สำหรับการผลิตจาก เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ถือเป็นเครื่องฟอกอากาศมาตรฐานเยอรมนีรายแรกที่ผลิตและขายในเมืองไทย โดยคนไทยเอง แต่คุณภาพระดับโลก เพราะได้รับใบรับรองคุณภาพมาตรฐานเยอรมันจาก TÜV จนยอดขายขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของประเทศในขณะนั้น นอกจากนั้นท่านยังนำเครื่องเครื่องกรองน้ำจากอเมริกา และเครื่องผลิตน้ำแอลคาไลน์จากญี่ปุ่น เข้ามาจำหน่ายนับเป็นสินค้านำเข้าที่น่าสนใจในยุคนั้น [9]

พ.ศ. 2538 ได้ซื้อที่ดินในจ.ลพบุรี จำนวน 555 ไร่ โดยคิดที่จะนำมาพัฒนาให้เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรม และจัดสรรแบ่งขายบางส่วน แต่ดำเนินกิจการไปได้ไม่นานก็เจอวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ธนาคารต่างๆไม่ยอมปล่อยกู้ ท่านจึงได้ขายสินค้าต่างๆที่มีอยู่ในโกดังออกไปแบบโละสต๊อก เพื่อนำเงินมาหมุนเวียนลงทุนพัฒนาในที่ดินแปลงดังกล่าวให้แล้วเสร็จ แต่โครงการก็ไม่ได้สำเร็จตามเป้า จึงทำให้เป็นหนี้กว่า 50 ล้านบาท ซึ่งในที่สุดก็ได้โอนโรงงานผลิตเครื่องฟอกอากาศ ออฟฟิส และที่ดินในจังหวัดลพบุรี จำนวน 67 ไร่ ให้แก่ธนาคาร เพื่อลดยอดหนี้ลงจนเหลือหนี้อีกประมาณ 7 ล้านบาท หลังจากนั้น ท่านได้หันไปทำการเกษตรกับที่ดินที่เหลืออยู่ เช่น ปลูกแก้วมังกร มะปราง ลำใย ผลิตปุ๋ยสำหรับต้นไม้ ผลิตอาหารเสริมสำหรับเลี้ยงกุ้ง เป็นต้น แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนหนี้พุ่งขึ้นไปอีกครั้งจนถึง 20 ล้านบาท

พ.ศ. 2545 เริ่มดำเนินการทำธุรกิจผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ภายใต้แบรนด์ เนเจอร์กิฟ เช่น สาหร่ายสไปรูลิน่า ในรูปแบบธุรกิจขายตรง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ต่อมามีคนแนะนำให้ลองเปลี่ยนไปผลิตสินค้าประเภทอื่น เช่น สบู่ ยาสีฟัน หรือกาแฟ เพราะเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคใช้กันเป็นประจำ

พ.ศ. 2546 ช่วงเดือนธันวาคม ท่านได้ผลิตกาแฟผสมวิตามิน และเกลือแร่ออกมาจำหน่าย เป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยบำรุงสุขภาพ และควบคุมน้ำหนักไปพร้อมกัน เมื่อผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างมาก เพราะทานแล้วรู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในทางที่ดีขึ้นมาก จึงเกิดกระแสของการบอกต่อๆกันของผู้บริโภค จนสินค้าขาดตลาดในบางช่วงเพราะไม่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค

เกียรติประวัติ[แก้]

นายกฤษฎา จ่างใจมนต์ได้รับรางวัลจากสถาบัน และองค์กรต่างๆ ทั้งจากภาครัฐ และเอกชนจำนวนมาก เช่น

พ.ศ. 2553

- ได้รับคัดเลือกให้เป็น" บุคคลตัวอย่างในภาคธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 2010" จาก Foundation of Science and Technology Council of Thailand (FSTT)[10]

พ.ศ. 2554

- ได้รับ"รางวัลพุทธคุณูปการ" จากคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร พิจารณามอบให้แก่ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาอย่างโดดเด่น

- ได้รับการประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติ รางวัลประเภท "ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟดีเด่น" จากสมาคมกาแฟและชาไทย โดยได้รับโล่ประทานจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ในงานThailand Asean Coffee & Tea 2011 ครั้งที่ 8 [11]

- ได้รับการคัดเลือกเป็น "วิศวจุฬาดีเด่น ประจำปี 2554" คัดเลือกโดย สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[6][12]

พ.ศ. 2556

- ได้รับรางวัล "ระฆังทอง" บุคคลดีเด่นแห่งปี สาขาผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติดีเด่น จากสมัชชานักจัดรายการข่าววิทยุโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (สว.นท.) โดย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานการมอบรางวัล

- ได้รับรางวัล "คนดี ศรีสยาม" จากสมัชชานักจัดรายการข่าววิทยุโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (สว.นท) และมูลนิธิธรรมลักษณ์ศิลา โดยได้รับโล่ประทานจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ

พ.ศ. 2557

- ได้รับรางวัล "ผู้นำพุทธโลก" ครั้งที่ 1 ปี 2557 (The 1st World Buddhist Outstanding Leader Award 2014) จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ร่วมกับองค์กรยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (ย.พ.ส.ล.) โดย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานการมอบรางวัล [13]

พ.ศ. 2558

- ได้รับรางวัล "คนดีของสังคม" ด้านการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม จากมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ โดย ฯพณฯ อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีและมอบโล่เกียรติยศ ผู้ทำคุณประโยชน์ รางวัลคนดีของสังคม

- ได้รับรางวัล "เพชรสระเกศ" รางวัลเชิดชูเกียรติ คนดี ศรีโรงเรียน ที่สร้างสมคุณงามความดี มีความเสียสละและบำเพ็ญประโยชน์เพื่อโรงเรียน เพื่อสังคมและประเทศชาติ จากโรงเรียนวัดสระเกศ

พ.ศ. 2562

- ได้รับการประกาศเกียรติคุณ "เป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา สังคม และประชาคมอาเซียน" จากศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจาก พระราชวรเมธี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

- ได้รับรางวัล "เสาเสมาธรรมจักร" ประเภทผู้ประกอบอาชีพที่มีคุณธรรม และส่งเสริมพระพุทธศาสนา โดยได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเสด็จมาเป็นองค์ประธานเปิดงาน เทศกาลวิสาขบูชาโลก ณ ลานคนเมือง กรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2562

อ้างอิง[แก้]

  1. หนังสือ คัมภีร์ สู่ความสำเร็จ จากเด็กสลัม...สู่ซีอีโอพันล้าน สำนักพิมพ์ โพสต์บุ๊กส์ ISBN 9786167061825
  2. หนังสือ เด็กสลัม...สู่มหาเศรษฐีด้วยวิถีแห่งบุญ ISBN 9789743147258 ชมรมผู้รักบุญ
  3. เนเจอร์กิฟงัดโฆษณา"แรง"สกัดคู่แข่ง เนสกาแฟไม่สนย้ำเจ้าตลาดตัวจริง, ประชาชาติธรุกิจออนไลน์, http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1252812044, 13 กันยายน 2552
  4. รายนามผู้บริจาคสมทบทุนสร้างอาคารวิศวฯ 100 ปี, เวปไซท์วิศวจุฬา, http://www.eng.chula.ac.th/en/node/198
  5. "มอบทุนเนเจอร์กิฟ" , สนุก ออนไลน์, http://campus.sanook.com/education/scholarship/inbound_read_04410.php, 9 กรกฎาคม 2551
  6. 6.0 6.1 "พิธีมอบรางวัล และประกาศเกียรติคุณ วิศวจุฬากิตติคุณอาวุโสดีเด่นครั้งที่ 3 และวิศวจุฬาดีเด่นครั้งที่ 12", อินทาเนีย วารสารชาววิศวจุฬา, ลำดับที่ 79 ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2555, หน้า 38-51, http://www.intaniamagazine.com/ebook/intania_155/index.html[ลิงก์เสีย]
  7. จากเด็กสลัมสู่นักธุรกิจพันล้าน “ดร.กฤษฎา จ่างใจมนต์”, ASTV ผู้จัดการ online, http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9520000091757[ลิงก์เสีย], 13 สิงหาคม 2552
  8. หนังสือพิมพ์มติชน เส้นทางเศรษฐี, วันที่ 01 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 16 ฉบับที่ 260 , สุจิต เมืองสุข, สัมภาษณ์พิเศษ ดร.กฤษฎา จ่างใจมนต์, http://info.matichon.co.th/rich/rich.php?srctag=07009010953&srcday=&search=no[ลิงก์เสีย]
  9. หนังสือ พลังแห่งความฝัน ISBN 9789747560282
  10. ทำเนียบเกียรติยศ (Hall of Fame) บุคคลตัวอย่างในภาคธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 2010, เวปไซท์มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, http://www.thaifstt.org/jupgrade/index.php/48--2553/-2010/143-44--[ลิงก์เสีย], 2553
  11. "ดร.กฤษฎา จ่างใจมนต์"รับรางวัลผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟดีเด่น, ดาราเดลี่, https://archive.today/20120723210710/http://www.daradaily.com/news/28318/%22%E0%B8%94%E0%B8%A3.%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%8E%E0%B8%B2%20%E0%B8%88%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C%22%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%9F%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%88%E0%B8%99/#selection-1269.10-1269.27, 18 เมย. 2554
  12. "งานประกาศเกียรติคุณวิศวจุฬากิตติคุณอาวุโสดีเด่น ครั้งที่ 3 และวิศวจุฬาดีเด่น ครั้งที่ 12", เวปไซท์วิศวจุฬา, http://www.engsub.eng.chula.ac.th/?q=node/4646[ลิงก์เสีย], 16 กุมภาพันธ์ 2555
  13. "ประกาศคณะกรรมการจัดงาน พิธีมอบรางวัล ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ที่ ๑/๒๕๕๗" เวปไซท์องค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก http://www.wfbytoday.org/?page_id=207 เก็บถาวร 2014-03-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 31 มกราคม 2557