กระแสลมหมุนขั้วโลก
กระแสลมหมุนขั้วโลก[1] (อังกฤษ: polar vortex) หรือ กระแสอากาศวนแถบขั้วโลก[2] (circumpolar whirl) คือกระแสอากาศเย็นจัดที่พัดวนรอบขั้วโลกทั้งสองขั้วเป็นบริเวณกว้าง กระแสลมหมุนรอบขั้วยังปรากฏในเทหวัตถุแบบดาวเคราะห์ที่หมุนรอบตัวเองและมีแกนเอียงน้อยด้วย[3] ศัพท์ กระแสลมหมุนขั้วโลก อาจใช้เพื่อสื่อถึงปรากฏการณ์ที่แตกต่างกันสองปรากฏการณ์ ได้แก่ กระแสลมหมุนขั้วโลกชั้นสแตรโทสเฟียร์และกระแสลมหมุนขั้วโลกชั้นโทรโพสเฟียร์ กระแสลมหมุนขั้วโลกทั้งในชั้นสแตรโทสเฟียร์และชั้นโทรโพสเฟียร์ต่างพัดไปในทิศทางเดียวกันกับการหมุนของโลก แต่ทั้งสองก็เป็นปรากฏการณ์ที่แยกจากกันโดยมีขนาด โครงสร้าง วัฏจักรตามฤดูกาล และผลกระทบต่อลมฟ้าอากาศแตกต่างกันไป
กระแสลมหมุนขั้วโลกในชั้นสแตรโตสเฟียร์เป็นบริเวณที่มีลมพัดหมุนวนแบบไซโคลนด้วยความเร็วสูง ที่ความสูงประมาณ 15–50 กิโลเมตร ในบริเวณละติจูดสูงกว่า 50 องศาขึ้นไป และมีความแรงมากที่สุดในฤดูหนาว กระแสลมหมุนนี้ก่อตัวขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงในช่วงที่อุณหภูมิในเขตอาร์กติกหรือแอนตาร์กติกลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อราตรีขั้วโลกเริ่มต้นขึ้น ความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างขั้วโลกกับเขตร้อนที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดลมแรง และปรากฏการณ์กอรียอลิสทำให้เกิดการหมุนวนขึ้น กระแสลมหมุนขั้วโลกในชั้นสแตรโตสเฟียร์จะสลายตัวในฤดูใบไม้ผลิเมื่อราตรีขั้วโลกสิ้นสุดลง ปรากฏการณ์ที่เรียกว่าการอุ่นขึ้นอย่างฉับพลันของชั้นสแตรโตสเฟียร์เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อกระแสลมวนในชั้นสแตรโตสเฟียร์สลายตัวในฤดูหนาว และอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสภาพอากาศที่พื้นผิวโลก[ต้องการอ้างอิง]
กระแสลมหมุนขั้วโลกในชั้นโทรโพสเฟียร์มักได้รับการนิยามว่าเป็นบริเวณถัดจากกระแสลมกรดในชั้นโทรโพสเฟียร์ขึ้นไปทางขั้วโลก โดยขอบด้านใกล้เส้นศูนย์สูตรอยู่ที่ประมาณละติจูด 40–50 องศา และแผ่ขยายจากพื้นผิวโลกขึ้นไปถึงความสูงประมาณ 10 ถึง 15 กิโลเมตร วัฏจักรประจำปีของกระแสลมหมุนในชั้นโทรโพสเฟียร์แตกต่างจากกระแสลมหมุนในชั้นสแตรโตสเฟียร์ เนื่องจากกระแสลมหมุนในชั้นโทรโพสเฟียร์มีอยู่ตลอดทั้งปี แต่ก็คล้ายคลึงกับกระแสลมหมุนในชั้นสแตรโตสเฟียร์ตรงที่มีความแรงมากที่สุดในฤดูหนาวเมื่อแถบขั้วโลกมีอากาศเย็นที่สุด
กระแสลมหมุนขั้วโลกในชั้นโทรโพสเฟียร์ได้รับการอธิบายครั้งแรกใน ค.ศ. 1853[4] ส่วนการอุ่นขึ้นอย่างฉับพลันของกระแสลมหมุนในชั้นสแตรโตสเฟียร์ได้รับการค้นพบใน ค.ศ. 1952 จากการตรวจวัดด้วยเครื่องวิทยุหยั่งอากาศที่ระดับความสูงมากกว่า 20 กิโลเมตร[5] กระแสลมหมุนขั้วโลกในชั้นโทรโพสเฟียร์ได้รับการกล่าวถึงบ่อยครั้งในข่าวและสื่อเกี่ยวกับลมฟ้าอากาศในฤดูหนาวที่หนาวจัดของทวีปอเมริกาเหนือใน ค.ศ. 2013–2014 ทำให้ศัพท์นี้กลายเป็นที่นิยมในฐานะคำอธิบายอุณหภูมิที่หนาวเย็นมาก กระแสลมหมุนขั้วโลกในชั้นโทรโพสเฟียร์ได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากขึ้นใน ค.ศ. 2021 อันเป็นผลมาจากอุณหภูมิที่หนาวเหน็บสุดขั้วในภาคกลางของสหรัฐ โดยผู้เชี่ยวชาญได้เชื่อมโยงผลกระทบของกระแสลมหมุนนี้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ[6]
การพร่องของโอโซนเกิดขึ้นมากที่สุดภายในบริเวณกระแสลมหมุนขั้วโลกโดยเฉพาะเหนือซีกโลกใต้ และจะพร่องลงมากที่สุดในฤดูใบไม้ผลิ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสภา. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2563, หน้า 455.
- ↑ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสภา. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2563, หน้า 117.
- ↑ Read, P.L. (August 2011). "Dynamics and circulation regimes of terrestrial planets". Planetary and Space Science. 59 (10): 900–914. Bibcode:2011P&SS...59..900R. doi:10.1016/j.pss.2010.04.024.
- ↑ "Air Maps", Littell's Living Age No. 495, 12 November 1853, p. 430.
- ↑ "GEOS-5 Analyses and Forecasts of the Major Stratospheric Sudden Warming of January 2013" (Press release). Goddard Space Flight Center. สืบค้นเมื่อ January 8, 2014.
- ↑ Plumer, Brad (16 February 2021). "A Glimpse of America's Future: Climate Change Means Trouble for Power Grids". The New York Times.