กระเปาะลำไส้ใหญ่อักเสบ
กระเปาะลำไส้ใหญ่อักเสบ (diverticulitis) | |
---|---|
ชื่ออื่น | Colonic diverticulitis |
![]() | |
ลำไส้ใหญ่ส่วนคด (ส่วนซิกมอยด์) แสดงกระเปาะลำไส้อักเสบหลายถุง กระเปาะปรากฏอยู่ทั้งสองข้างของมัดกล้ามเนื้อตามยาว (taenium) ซึ่งพาดผ่านเนื้อเยื่อตัวอย่างในแนวโค้ง | |
สาขาวิชา | ศัลยกรรมทั่วไป |
อาการ | ปวดท้อง เป็นไข้ คลื่นไส้ ท้องเสีย ท้องผูก เลือดในอุจจาระ[1] |
ภาวะแทรกซ้อน | ฝี ทางทะลุระหว่างอวัยวะ (fistula) ลำไส้ทะลุ (perforation)[1] |
การตั้งต้น | เกิดอย่างฉับพลัน, อายุ > 50 ปี[1] |
สาเหตุ | ไม่ชัดเจน[1] |
ปัจจัยเสี่ยง | โรคอ้วน ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ประวัติในครอบครัว ใช้ยา NSAID[1][2] |
วิธีวินิจฉัย | ตรวจเลือด, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, ส่องกล้องลำไส้ใหญ่, lower gastrointestinal series[A][1] |
โรคอื่นที่คล้ายกัน | กลุ่มอาการลำไส้ไวเกินต่อการกระตุ้น[2] |
การป้องกัน | ยาเมซาลาซีน, rifaximin[2] |
การรักษา | ยาปฏิชีวนะ อาหารเหลว เข้าโรงพยาบาล[1] |
ความชุก | 3.3% (ประเทศพัฒนาแล้ว)[1][3] |
กระเปาะลำไส้ใหญ่อักเสบ[4] หรือ โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ[5] หรือ ถุงลำไส้อักเสบ[6] (อังกฤษ: diverticulitis, colonic diverticulitis) เป็นโรคทางเดินอาหารที่มีลักษณะเฉพาะคือการอักเสบของถุงยื่นผิดปกติที่เรียกว่า กระเปาะลำไส้ (อังกฤษ: diverticula) ที่เกิดขึ้นตามผนังลำไส้ใหญ่[1] อาการมักรวมถึงการปวดท้องน้อยอย่างฉับพลัน แต่อาจค่อย ๆ เป็นภายในไม่กี่วัน[1] อาจมีอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย หรือท้องผูกร่วมด้วย[1] การมีไข้หรือมีเลือดในอุจจาระบ่งชี้ถึงภาวะแทรกซ้อน[1] อาจเกิดอาการเพียงครั้งเดียว อาจกำเริบซ้ำ ๆ หรืออาจเป็นแบบ "คุกกรุ่น" (อังกฤษ: smoldering) ไปอย่างต่อเนื่อง[2][7][8]
สาเหตุของโรคยังไม่ชัดเจน[1] ปัจจัยเสี่ยงอาจรวมถึงโรคอ้วน การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ ประวัติในครอบครัว และยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์ (NSAIDs)[1][2] อาหารที่มีกากน้อยเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือไม่นั้นยังไม่ชัดเจน[2] การมีถุงยื่นในลำไส้ใหญ่ที่ไม่อักเสบเรียกว่า ภาวะมีกระเปาะลำไส้ (diverticulosis)[1] จากนี้ประมาณ 10–25% จะเกิดการอักเสบเพราะติดเชื้อแบคทีเรีย[2][9] การวินิจฉัยโดยทั่วไปทำด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่การตรวจเลือด, การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ หรือการถ่ายเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่โดยสวนแบเรียม (lower gastrointestinal series[A]) ก็อาจช่วยด้วย[1] โรคที่ต้องวินิจฉัยแยกรวมถึงกลุ่มอาการลำไส้ไวเกินต่อการกระตุ้น[2]
การป้องกันโรครวมถึงการเปลี่ยนปัจจัยเสี่ยงเช่น ลดความอ้วน ออกกำลังกาย และเลิกสูบบุหรี่[2] ยาเมซาลาซีนและ rifaximin ดูเหมือนจะช่วยป้องกันการกำเริบในผู้ที่มีกระเปาะลำไส้ได้[2] การหลีกเลี่ยงถั่วและเมล็ดพืชเพื่อป้องกันไม่แนะนำอีกต่อไป เพราะไม่มีหลักฐานว่ามีส่วนกระตุ้นให้กระเปาะลำไส้อักเสบ[1][10] ในรายที่อักเสบเล็กน้อย แนะนำให้รับยาปฏิชีวนะและทานอาหารเหลว[1] ในรายที่รุนแรง อาจต้องให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ เข้าโรงพยาบาล และงดอาหารและเครื่องดื่มโดยสิ้นเชิง[1] ยาโปรไบโอติกส์ยังไม่ชัดเจนว่ามีประโยชน์[2] ภาวะแทรกซ้อน เช่นการเกิดฝี (abscess) การเกิดทางทะลุระหว่างอวัยวะ (fistula) การทะลุ (perforation) ที่ลำไส้อาจต้องผ่าตัด[1]
โรคนี้พบอย่างสามัญในประเทศตะวันตก แต่พบน้อยในแอฟริกาและเอเชีย[1] ในประเทศตะวันตก ประมาณ 35% ของประชากรมีกระเปาะลำไส้ เทียบกับ 1% ในชนบทแอฟริกา[9] จากนี้ประมาณ 4–15% อาจเกิดกระเปาะลำไส้อักเสบได้[3] ในอเมริกาเหนือและยุโรป มักปวดท้องที่ด้านซ้ายล่าง (ลำไส้ใหญ่ส่วนคด) แต่ในเอเชีย มักเกิดทางด้านขวา (ลำไส้ใหญ่ส่วนต้น)[2][11] โรคเกิดบ่อยขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น จาก 5% สำหรับผู้มีอายุต่ำกว่า 40 ปีไปจนถึง 50% สำหรับผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี[12][1] โรคนี้ยังเกิดเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาคของโลก[2] ในยุโรปปี 2003 มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 13,000 คน[2] เป็นโรคทางกายวิภาคที่พบบ่อยที่สุดของลำไส้ใหญ่[2] ในปี 2013 ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับโรคกระเปาะลำไส้ในสหรัฐอเมริกาสูงถึงประมาณ 2,400 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 74,000 ล้านบาท) ต่อปี[2]
อาการ
[แก้]โรคกระเปาะลำไส้อักเสบมักแสดงเป็นอาการปวดท้องเฉียบพลันบริเวณช่องท้องส่วนล่าง[1] ผู้ป่วยมักมีค่า "ซี-รีแอคทีฟ โปรตีน" สูงและมีจำนวนเม็ดเลือดขาวสูง[13] ในเอเชีย อาการปวดมักเกิดทางด้านขวา คือลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ในอเมริกาเหนือและยุโรป มักเกิดทางด้านซ้ายล่าง คือลำไส้ใหญ่ส่วนคด[2][11] อาจมีไข้ คลื่นไส้ ท้องเสีย หรือท้องผูกร่วมด้วย อาจมีเลือดในอุจจาระ[1] กระเปาะลำไส้สัมพันธ์กับการถ่ายอุจจาระบ่อยกว่าปกติ ซึ่งขัดกับความเชื่อที่แพร่หลายว่า ผู้มีกระเปาะลำไส้จะท้องผูก[14]
ภาวะแทรกซ้อน
[แก้]
ในกระเปาะลำไส้อักเสบที่มีภาวะแทรกซ้อน กระเปาะลำไส้อาจแตก ทำให้เชื้อแบคทีเรียแพร่ออกจากลำไส้สู่ภายนอกได้ หากการติดเชื้อแพร่กระจายไปยังเยื่อบุช่องท้อง ก็จะเกิดภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ บางครั้ง กระเปาะที่อักเสบอาจทำให้ลำไส้ตีบ ส่งผลให้เกิดภาวะลำไส้อุดตัน ในบางราย ลำไส้ส่วนที่อักเสบอาจยึดกับกระเพาะปัสสาวะหรืออวัยวะอื่นในอุ้งเชิงกราน (pelvic cavity) ทำให้เกิดทางทะลุ (fistula) คือช่องเชื่อมต่อที่ผิดปกติระหว่างอวัยวะกับโครงสร้างหรืออวัยวะข้างเคียง คือลำไส้ใหญ่กับอวัยวะที่อยู่ติดกัน
พยาธิสภาพที่เกี่ยวข้องอาจรวมถึง[15]
- การอุดตันของลำไส้
- เยื่อบุช่องท้องอักเสบ
- ฝี
- ทางทะลุระหว่างอวัยวะ (fistula)
- เลือดออก
- ลำไส้ตีบ
สาเหตุและการป้องกัน
[แก้]สาเหตุของกระเปาะลำไส้อักเสบยังไม่ชัดเจน การเกิดกระเปาะลำไส้คาดว่าเกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างอายุกับอาหาร จุลชีพในลำไส้ใหญ่ ปัจจัยทางพันธุกรรม การเคลื่อนไหวของลำไส้ และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของลำไส้ใหญ่[16]
ปัจจัยเสี่ยง
[แก้]พันธุกรรม
[แก้]การทบทวนปี 2021 ประมาณว่า 50% ของความเสี่ยงการเกิดกระเปาะลำไส้อักเสบมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม[17] การศึกษาปี 2012 ประมาณว่า ปัจจัยทางพันธุกรรมมีส่วนราว 40% ของสาเหตุ โดยสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีร่วมกัน (ในครอบครัวเดียวกัน) มีส่วน 60%[18]
การมีปัญหาสุขภาพอื่นร่วมด้วย
[แก้]ภาวะที่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดกระเปาะลำไส้อักเสบ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง และการกดภูมิคุ้มกัน[19] ระดับวิตามินดีต่ำสัมพันธ์กับความเสี่ยงการเกิดกระเปาะลำไส้อักเสบที่เพิ่มขึ้น[20][21]
ความถี่การถ่ายอุจจาระ
[แก้]การศึกษาปี 2022 พบว่า การถ่ายอุจจาระบ่อยดูเหมือนจะเป็นปัจจัยเสี่ยงการเกิดกระเปาะลำไส้ใหญ่อักเสบในอนาคตทั้งในชายหญิง[22][23]
น้ำหนักตัว
[แก้]โรคอ้วนถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อกระเปาะลำไส้อักเสบ[24] มีงานศึกษาบางงานที่พบสหสัมพันธ์ของความชุกกระเปาะลำไส้อักเสบที่สูงขึ้นกับน้ำหนักเกินและโรคอ้วน[25][26] แต่ก็ยังไม่ยุติว่านี่เป็นเหตุหรือไม่[27]
อาหาร
[แก้]บทบาทของเส้นใยอาหารต่อกระเปาะลำไส้อักเสบยังไม่ชัดเจน[24] แม้มักจะกล่าวว่า การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อยเป็นปัจจัยเสี่ยง แต่หลักฐานสนับสนุนจริง ๆ ก็ยังไม่ชัดเจน[24] การศึกษาปี 2012 พบว่าอาหารที่มีกากใยสูงและการขับถ่ายบ่อยขึ้นกลับสัมพันธ์กับความชุกโรคที่สูงขึ้น ไม่ใช่ลดลง[28]
ไม่มีหลักฐานที่ชี้ว่าการหลีกเลี่ยงถั่วและเมล็ดพืชช่วยป้องกันไม่ให้กระเปาะลำไส้ลุกลามไปเกิดการอักเสบอย่างเฉียบพลันได้[10][29] จริง ๆ แล้ว การบริโภคถั่วและข้าวโพดมากขึ้นอาจช่วยหลีกเลี่ยงกระเปาะลำไส้อักเสบในชายวัยผู้ใหญ่ได้[29]
การบริโภคเนื้อแดงโดยเฉพาะที่ไม่แปรรูป สัมพันธ์กับความเสี่ยงกระเปาะลำไส้อักเสบที่สูงขึ้น[30][31][32]
การวิเคราะห์ปี 2017 พบว่าการรับประทานอาหารที่มีเนื้อแดง ธัญพืชขัดสี และผลิตภัณฑ์นมไขมันสูงในปริมาณมากสัมพันธ์กับความเสี่ยงการเกิดกระเปาะลำไส้อักเสบที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสีสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลง ชายกลุ่มบริโภคอาหารตะวันตกที่ได้คะแนนสูงสุด (ท๊อป 20%) มีอัตราส่วนการเกิดโรคแบบหลายตัวแปร (multivariate hazard ratio) ที่ 1.55 (ช่วงความเชื่อมั่น [CI] 95% ระหว่าง 1.20–1.99) เทียบกับกลุ่มที่มีคะแนนต่ำสุด อาหารที่บริโภคเร็ว ๆ นี้สัมพันธ์กับกระเปาะลำไส้อักเสบยิ่งกว่าอาหารที่บริโภคในระยะยาว ความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานอาหารกับโรค ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการกินเนื้อแดงและใยอาหาร[33] การทบทวนอย่างเป็นระบบปี 2012 ไม่พบงานศึกษาคุณภาพสูง แต่ก็พบว่า การศึกษาและแนวทางการปฏิบัติสนับสนุนอาหารที่มีกากใยสูงเพื่อรักษาโรคที่มีอาการ[34] การทบทวนปี 2011 พบว่าอาหารที่มีกากใยสูงอาจช่วยป้องกันโรคกระเปาะลำไส้ โดยไม่มีหลักฐานด้วยว่าอาหารกากใยน้อยช่วยในการรักษาโรค[35] การศึกษาในระยะยาวปี 2011 พบว่าอาหารมังสวิรัติและอาหารกากใยสูงสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงในการเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตจากกระเปาะลำไส้อักเสบ[36]
แม้จะมีข้อเสนอว่ายาโปรไบโอติกส์อาจมีประโยชน์ในการรักษา แต่หลักฐานในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถสนับสนุนหรือปฏิเสธข้อเสนอนี้ได้[37]
พยาธิสภาพ
[แก้]กระเปาะลำไส้ด้านขวาเป็นการเลื่อนเล็ก ๆ (micro-hernia) ของเยื่อเมือกลำไส้ใหญ่และชั้นใต้เยื่อเมือกผ่านชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่ตรงจุดที่หลอดเลือดวิ่งผ่าน[2] ส่วนกระเปาะลำไส้ด้านซ้ายเป็นกระเปาะลำไส้เทียม เพราะการเลื่อนไม่ได้ผ่านทุกชั้นของผนังลำไส้ใหญ่[2] กระเปาะลำไส้อักเสบเชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในลำไส้ รวมถึงแรงดันสูงจากการบีบตัวที่รุนแรงผิดปกติ[38]
การวินิจฉัย
[แก้]


ผู้ที่มีอาการตามที่กล่าวมักได้รับการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน)[39]
อัลตราซาวด์อาจใช้ตรวจในเบื้องต้นได้ สิ่งที่สามารถพบได้จากอัลตราซาวด์ ได้แก่ การโป่งของผนังลำไส้ที่ไม่ยุบตัว ผนังลำไส้หนาและสะท้อนเสียงน้อย หรือพบก้อนอุจจาระอุดตันที่ผนังลำไส้ อนึ่ง อาจพบอาการบวมน้ำของผนังลำไส้ร่วมกับเยื่อแขวนลำไส้ที่อยู่ติดกันโดยสะท้อนเสียงมาก
อย่างไรก็ตาม เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ก็เป็นเครื่องมือหลักในการวินิจฉัยกระเปาะลำไส้อักเสบและภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้อง[15] การวินิจฉัยกระเปาะลำไส้อักเสบเฉียบพลันจะทำได้อย่างมั่นใจก็ต่อเมื่อพบส่วนที่มีกระเปาะลำไส้[40] ภาพซีทีสแกนจะแสดงผนังลำไส้หนาขึ้นเฉพาะที่ พร้อมการอักเสบที่ลามเข้าไปยังไขมันรอบลำไส้ใหญ่[41] ภาวะแทรกซ้อนที่เห็นได้ในภาพซีทีสแกน ได้แก่ ฝี ลำไส้ทะลุ (perforation) หลอดเลือดพอร์ทัลอักเสบ (pylephlebitis) การอุดตันของลำไส้ เลือดออก และทางทะลุระหว่างอวัยวะ (fistula)[15]
ในระยะเฉียบพลันของกระเปาะลำไส้อักเสบ มีข้อห้ามไม่ให้สวนแป้งแบเรียมและส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เพราะเสี่ยงลำไส้ทะลุ (perforation)[42][43]
การจำแนกตามความรุนแรง
[แก้]ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือมีภาวะแทรกซ้อน
[แก้]กระเปาะลำไส้อักเสบเฉียบพลันที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน หมายถึงการอักเสบเฉพาะที่ของกระเปาะลำไส้ใหญ่โดยไม่มีฝีหรือการทะลุ (perforation)[44] กระเปาะลำไส้อักเสบที่มีภาวะแทรกซ้อนรวมถึงการมีฝี เยื่อบุช่องท้องอักเสบ การอุดตัน การตีบ และ/หรือทางทะลุระหว่างอวัยวะ (fistula) ประมาณ 12% ผู้ป่วยกระเปาะลำไส้อักเสบจะมีภาวะแทรกซ้อน[45]
ระบบการจำแนก
[แก้]มีการตีพิมพ์ระบบจำแนกความรุนแรงอย่างน้อย 4 ระบบในวรรณกรรมทางการแพทย์ การจำแนกแบบเยอรมันปี 2015[46] ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางโดยแยกตามนี้[47]
- ระยะ 0 – กระเปาะลำไส้ที่ไม่มีอาการ
- ระยะ 1a – กระเปาะลำไส้ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน
- ระยะ 1b – กระเปาะลำไส้อักเสบที่มีหนองรอบ ๆ (phlegmonous peridiverticulitis)
- ระยะ 2a – กระเปาะลำไส้อักเสบที่ทะลุ (perforation) โดยซ่อนอยู่ มีฝีขนาดไม่เกิน 1 ซม.
- ระยะ 2b – กระเปาะลำไส้อักเสบ มีฝีใหญ่กว่า 1 ซม.
- ระยะ 3a – กระเปาะลำไส้อักเสบที่มีอาการ แต่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน
- ระยะ 3b – กระเปาะลำไส้อักเสบที่เป็นซ้ำ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
- ระยะ 3c – กระเปาะลำไส้อักเสบที่เป็นซ้ำ และมีภาวะแทรกซ้อน
ณ ปี 2022 ยังมีระบบจำแนกประเภทอื่น ๆ ที่ใช้อยู่ด้วย[46] ความรุนแรงของกระเปาะลำไส้อักเสบสามารถจัดระดับทางรังสีวิทยาได้โดยใช้ระบบ Hinchey Classification[48]
กระเปาะลำไส้อักเสบแบบคุกกรุ่น
[แก้]ในกระเปาะลำไส้อักเสบแบบคุกกรุ่น (SmD) อาการจะกำเริบซ้ำบ่อย ๆ[7] แต่ไม่ลุกลามไปมีภาวะแทรกซ้อน[8] ประมาณ 5% ของผู้ป่วยจะเกิดภาวะเช่นนี้[49] โรคแบบคุกกรุ่นคิดเป็น 4–10% ของกรณีที่ผ่าตัด[50]
การวินิจฉัยแยกโรค
[แก้]การวินิจฉัยต้องแยกโรคต่าง ๆ รวมถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเหตุขาดเลือด (ischemic colitis) และโรคลำไส้แปรปรวน (IBS) รวมถึงโรคระบบทางเดินปัสสาวะและทางนรีเวชวิทยาหลายประการ ในผู้ไม่มีอาการแทรกซ้อน จะพบมะเร็งได้น้อยกว่า 1%[51]
พยากรณ์โรค
[แก้]- ประมาณว่า 5%[52] จนถึง 10–25% ของผู้ที่มีกระเปาะลำไส้จะเกิดการอักเสบ[53]
- ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจะหายดีหลังการรักษา ระยะฟื้นตัวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 14 วัน ประมาณ 5% ของผู้ป่วยจะมีโรคแบบคุกกรุ่น[52]
- กระเปาะลำไส้อักเสบจะกลับมาเป็นซ้ำในคนไข้ประมาณ ⅓ โดยราว 50% จะกลับเป็นซ้ำภายในหนึ่งปี และ 90% ในห้าปี โดยเกิดบ่อยในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า ผู้ที่มีฝีเมื่อวินิจฉัยครั้งแรก และหลังเกิดภาวะแทรกซ้อน[52]
- ประมาณ 5% ของผู้ที่เป็นโรคกระเปาะลำไส้จะเกิดภาวะแทรกซ้อนเมื่อเฝ้าติดตามนาน 10–30 ปี ความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เยื่อบุช่องท้องอักเสบหรือไส้ทะลุ จะสูงขึ้นเมื่อเกิดกระเปาะลำไส้อักเสบเป็นครั้งแรก โดยความเสี่ยงจะลดลงในแต่ละครั้งที่เกิดซ้ำ ผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องจะเสี่ยงการกลับเป็นซ้ำพร้อมกับภาวะแทรกซ้อน เช่น ลำไส้ทะลุ สูงกว่าผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติถึง 5 เท่า[52]
- เกณฑ์การตัดสินใจผ่าตัดยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงและยังพัฒนาอยู่[54][53][55][56]
- หลังการผ่าตัดรักษา ประมาณ 25% ของผู้ป่วยยังคงมีอาการอยู่[52]
การรักษา
[แก้]สำหรับกระเปาะลำไส้อักเสบที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน การให้ของเหลวอาจเพียงพอหากไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นร่วมด้วย[47][57]
อาหาร
[แก้]ผู้ป่วยกระเปาะลำไส้อักเสบอาจให้รับอาหารที่มีกากใยน้อย[58] หรืออาจให้ทานอาหารเหลว[59] แต่ทั้งสองก็ยังไม่มีหลักฐานว่ามีผลลัพธ์ที่ดีกว่า[57]
ยา
[แก้]ยาปฏิชีวนะ
[แก้]กระเปาะลำไส้อักเสบที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนและไม่มีการอักเสบทั่วร่างกาย "ไม่ควร" รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ[60][47][61][62] สำหรับกระเปาะลำไส้อักเสบฉับพลันที่เป็นน้อย ไม่มีภาวะแทรกซ้อน และไม่มีหนอง การรักษาตามอาการ การให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ และการไม่ให้อาหารทางปากให้ผลไม่แย่กว่าการผ่าตัดทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง และดูเหมือนจะให้ผลลัพธ์เท่ากันในระยะ 24 เดือน หากพบฝีจากการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หลักฐานและแนวทางเวชปฏิบัติบางส่วนเบื้องต้นแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะทางปากหรือทางหลอดเลือดดำในรายที่มีฝีขนาดเล็กกว่า 5 ซม. และไม่มีการอักเสบทั่วร่างกาย แต่ถ้าฝีขนาดใหญ่กว่า 5 ซม. อาจต้องระบายหนองทางผิวหนังหรือการผ่าตัดส่องกล้อง (laparoscopic)[60][63]
งานวิเคราะห์อภิมานพบว่า ยาปฏิชีวนะ rifaximin ช่วยบรรเทาอาการและลดภาวะแทรกซ้อนได้[64] แต่คุณภาพทางวิทยาศาสตร์ของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมีข้อสงสัย[47]
เมซาลาซีน
[แก้]เมซาลาซีน/เมซาลามีน (mesalazine/mesalamine) เป็นยาต้านการอักเสบที่ใช้รักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD)[65] การศึกษาในวงจำกัดพบว่า ผู้ป่วยกระเปาะลำไส้อักเสบและผู้มีกระเปาะลำไส้ที่มีอาการ ทั้งสองดีขึ้นเมื่อรักษาด้วยเมซาลาซีน[66] ยาอาจช่วยลดการกลับเป็นซ้ำของโรคกระเปาะลำไส้ที่มีอาการแต่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน[67] ในปี 2022 ประเทศเยอรมนีได้ออกแนวทางการใช้เมซาลาซีน เพื่อรักษากระเปาะลำไส้อักเสบฉับพลันที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน[68]
ศัลยกรรม
[แก้]การผ่าตัดมีข้อบ่งชี้เป็นการเกิดฝีหรือทางทะลุระหว่างอวัยวะ (fistula) และลำไส้แตกร่วมกับเยื่อบุช่องท้องอักเสบ[38] แต่นี่เกิดไม่บ่อย[38] การผ่าตัดฉุกเฉินจำเป็นในกรณีที่เยื่อบุช่องท้องอักเสบจากกระเปาะลำไส้อักเสบที่ทะลุ (perforation)[60][63] หรือลำไส้แตก[69]
การผ่าตัดเมื่อมีฝีหรือทางทะลุระหว่างอวัยวะ (fistula) อาจมีข้อบ่งชี้แบบต้องทำเร่งด่วนหรือแบบเลือกได้ การผ่าตัดแบบเลือกจะพิจารณาเวลาที่เหมาะสมจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระยะของโรค อายุของผู้ป่วย สุขภาพทั่วไป ความรุนแรง/ความถี่ของการกำเริบ และอาการยังคงอยู่หรือไม่หลังจากเหตุการณ์เฉียบพลันครั้งแรก โดยมาก ถือว่ามีข้อบ่งชี้เมื่อความเสี่ยงจากการผ่าตัดมีน้อยกว่าความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนจากโรค โดยไม่ควรทำก่อนหกสัปดาห์หลังจากฟื้นตัวจากเหตุการณ์เฉียบพลัน[70]
ระบาดวิทยา
[แก้]กระเปาะลำไส้อักเสบพบบ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ ในประเทศตะวันตก โรคกระเปาะลำไส้มักเกิดที่ลำไส้ใหญ่ส่วนคดมากที่สุด โดยพบในผู้ป่วยกระเปาะลำไส้อักเสบ 95%[71] พบในประชากรประมาณ 5–45% โดยความชุกเพิ่มขึ้นตามอายุ จากน้อยกว่า 20% ในผู้มีอายุ 40 ปี จนถึง 60% ในผู้มีอายุ 60 ปี[71]
โรคกระเปาะลำไส้ด้านซ้ายที่เกิดในลำไส้ใหญ่ส่วนคด พบได้บ่อยที่สุดในประเทศตะวันตก ในขณะที่โรคกระเปาะลำไส้ด้านขวา ซึ่งเกิดที่ลำไส้ใหญ่ส่วนต้น พบได้บ่อยกว่าในเอเชียและแอฟริกา[11] ในผู้ที่เกิดกระเปาะลำไส้ ประมาณ 4–15% จะลุกลามเป็นกระเปาะลำไส้อักเสบ[3]
การศึกษาปี 2009 ที่โรงพยาบาลราชวิถีพบว่า เกิดกระเปาะลำไส้ที่ด้านขวาร้อยละ 42 ที่ด้านซ้ายร้อยละ 35 และตลอดลำไส้ใหญ่ร้อยละ 23[72]
เชิงอรรถ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 1.20 1.21 1.22 1.23 "Diverticular Disease". www.niddk.nih.gov. กันยายน 2013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 มิถุนายน 2016. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2016.
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 2.15 2.16 2.17 2.18 Tursi, A (มีนาคม 2016). "Diverticulosis today: unfashionable and still under-researched". Therapeutic Advances in Gastroenterology. 9 (2): 213–28. doi:10.1177/1756283x15621228. PMC 4749857. PMID 26929783.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 Pemberton, John H (16 มิถุนายน 2016). "Colonic diverticulosis and diverticular disease: Epidemiology, risk factors, and pathogenesis". UpToDate. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 มีนาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2017.
- ↑ ศรีวานิชภูมิ, นันทภรณ์; อจละนันท์, นรินทร์ (2021). "โรคจากกระเปาะลำไส้ใหญ่ (Colonic diverticular disease)" (PDF). จุลสาร สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย. 28 (129): 75–101. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 14 เมษายน 2025.
- ↑ "โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ - ลัดคิวหมอ 30/10/66". RAMA CHANNEL, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี. 11 พฤศจิกายน 2023. สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2025.
- ↑ "diverticulitis", Longdo Dict, อังกฤษ-ไทย: คลังศัพท์ไทย โดย สวทช., สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2025,
ถุงลำไส้อักเสบ, ไดเวอร์ติคูไลติส, โรค, สำไส้หย่อน, โรคกระเปาะของลำไส้ใหญ่อักเสบ, ไดเวอร์ติคุไลติส [การแพทย์]
- ↑ 7.0 7.1 Rink, Andreas D.; Nousinanou, Maria Eleni; Hahn, Jasmina; Dikermann, Michael; Paul, Claudia; Vestweber, Karl-Heinz (12 ตุลาคม 2019). "[Smoldering diverticultis – still a type of chronic recurrent diverticulitis with good indication for surgery? – Surgery for smoldering diverticulitis]". Zeitschrift für Gastroenterologie. 57 (10): 1200–1208. doi:10.1055/a-0991-0700. PMID 31610583. S2CID 204702433.
- ↑ 8.0 8.1 "Colonic Diverticular Disease".
- ↑ 9.0 9.1 Mandell, Douglas, and Bennett's Principles and Practice of Infectious Diseases. Churchill Livingstone. 2014. p. 986. ISBN 9781455748013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 สิงหาคม 2016.
- ↑ 10.0 10.1 Young-Fadok, TM (ตุลาคม 2018). "Diverticulitis". New England Journal of Medicine. 379 (17): 1635–42. doi:10.1056/NEJMcp1800468. PMID 30354951. S2CID 239933906.
- ↑ 11.0 11.1 11.2 Feldman, Mark (2010). Sleisenger & Fordtran's Gastrointestinal and liver disease pathophysiology, diagnosis, management (9th ed.). [S.l.]: MD Consult. p. 2084. ISBN 9781437727678. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 สิงหาคม 2016.
- ↑ Young-Fadok TM (2018). "Diverticulitis". The New England Journal of Medicine. 379 (17): 1635–1642. doi:10.1056/NEJMcp1800468. PMID 30354951. S2CID 239933906.
- ↑ Swanson, Sophia M.; Strate, Lisa L. (2018). "Acute Colonic Diverticulitis". Annals of Internal Medicine. 168 (9): ITC65–ITC80. doi:10.7326/AITC201805010. PMC 6430566. PMID 29710265.
- ↑ Peery, Anne F.; Keku, Temitope O.; Galanko, Joseph A.; Sandler, Robert S. (15 มกราคม 2022). "Colonic Diverticulosis Is Not Associated With Painful Abdominal Symptoms in a US Population". Gastro Hep Advances. 1 (4): 659–665. doi:10.1016/j.gastha.2022.04.001. PMC 9273073. PMID 35821706.
- ↑ 15.0 15.1 15.2 Onur, MR; Akpinar, E; Karaosmanoglu, AD; Isayev, C; Karcaaltincaba, M (กุมภาพันธ์ 2017). "Diverticulitis: a comprehensive review with usual and unusual complications". Insights into Imaging. 8 (1): 19–27. doi:10.1007/s13244-016-0532-3. PMC 5265196. PMID 27878550.
- ↑ Tursi, Antonio (28 มีนาคม 2016). "Diverticulosis today: unfashionable and still under-researched". Therapeutic Advances in Gastroenterology. 9 (2): 213–228. doi:10.1177/1756283X15621228. PMC 4749857. PMID 26929783.
- ↑ "AGA Clinical Practice Update on Medical Management of Colonic Diverticulitis: Expert Review – Gastroenterology".
- ↑ Granlund, J.; Svensson, T.; Olén, O.; Hjern, F.; Pedersen, N. L.; Magnusson, P. K. E.; Schmidt, P. Thelin (28 พฤษภาคม 2012). "The genetic influence on diverticular disease – a twin study". Alimentary Pharmacology & Therapeutics. 35 (9): 1103–1107. doi:10.1111/j.1365-2036.2012.05069.x. PMID 22432696 – โดยทาง PubMed.
- ↑ Böhm, Stephan K. (29 เมษายน 2015). "Risk Factors for Diverticulosis, Diverticulitis, Diverticular Perforation, and Bleeding: A Plea for More Subtle History Taking". Viszeralmedizin. 31 (2): 84–94. doi:10.1159/000381867. PMC 4789955. PMID 26989377.
- ↑ Ferguson, LR; Laing, B; Marlow, G; Bishop, K (มกราคม 2016). "The role of vitamin D in reducing gastrointestinal disease risk and assessment of individual dietary intake needs: Focus on genetic and genomic technologies". Mol Nutr Food Res. 60 (1): 119–33. doi:10.1002/mnfr.201500243. PMID 26251177.
- ↑ "Effect of monthly vitamin D on diverticular disease hospitalization: Post-hoc analysis of a randomized controlled trial – Clinical Nutrition".
- ↑ Jovani, Manol; Ma, Wenjie; Staller, Kyle; Joshi, Amit D.; Liu, Po-Hong; Nguyen, Long H.; Lochhead, Paul; Cao, Yin; Tam, Idy; Wu, Kana; Giovannucci, Edward L.; Strate, Lisa L.; Chan, Andrew T. (28 กุมภาพันธ์ 2022). "Frequency of Bowel Movements and Risk of Diverticulitis". Clinical Gastroenterology and Hepatology. 20 (2): 325–333.e5. doi:10.1016/j.cgh.2021.01.003. PMC 8957846. PMID 33418133.
- ↑ "Bowel Movement Frequency Linked to Increased Diverticulitis Risk in 2 Prospective Cohort Studies – Clinical Gastroenterology and Hepatology".
- ↑ 24.0 24.1 24.2 Templeton, AW; Strate, LL (August 2013). "Updates in diverticular disease". Current Gastroenterology Reports. 15 (8): 339. doi:10.1007/s11894-013-0339-z. PMC 3832741. PMID 24010157.
- ↑ Mari, Amir; Sbeit, Wisam; Haddad, Haya; Abboud, Wisam; Pellicano, Rinaldo; Khoury, Tawfik (2021). "The impact of overweight on diverticular disease: a cross-sectional multicenter study". Polish Archives of Internal Medicine. 132 (3). doi:10.20452/pamw.16177. PMID 34935318.
- ↑ Shih, Chi-Wei; Chen, Yu-Hsin; Chen, Wei-Liang (15 มกราคม 2022). "Percentage of body fat is associated with increased risk of diverticulosis: A cross-sectional study". PLOS ONE. 17 (3): e0264746. Bibcode:2022PLoSO..1764746S. doi:10.1371/journal.pone.0264746. PMC 8887776. PMID 35231075.
- ↑ Böhm, Stephan K. (15 ตุลาคม 2021). "Excessive Body Weight and Diverticular Disease". Visceral Medicine. 37 (5): 372–382. doi:10.1159/000518674. PMC 8543333. PMID 34722720.
- ↑ Peery, Anne F.; Barrett, Patrick R.; Park, Doyun; Rogers, Albert J.; Galanko, Joseph A.; Martin, Christopher F.; Sandler, Robert S. (15 กุมภาพันธ์ 2012). "A High-Fiber Diet Does Not Protect Against Asymptomatic Diverticulosis". Gastroenterology. 142 (2): 266–72.e1. doi:10.1053/j.gastro.2011.10.035. PMC 3724216. PMID 22062360.
- ↑ 29.0 29.1 Weisberger, L; Jamieson, B (กรกฎาคม 2009). "Clinical inquiries: How can you help prevent a recurrence of diverticulitis?". Journal of Family Practice. 58 (7): 381–2. PMID 19607778.
- ↑ Y, Cao; Ll, Strate; Br, Keeley; I, Tam; K, Wu; El, Giovannucci; At, Chan (28 มีนาคม 2018). "Meat intake and risk of diverticulitis among men". Gut. 67 (3): 466–472. doi:10.1136/gutjnl-2016-313082. PMC 5533623. PMID 28069830.
- ↑ Peery, Anne F. (24 มีนาคม 2021). "Management of colonic diverticulitis". BMJ. 372: n72. doi:10.1136/bmj.n72. PMID 33762260. S2CID 232326924 – โดยทาง www.bmj.com.
- ↑ Peery, Anne F.; Shaukat, Aasma; Strate, Lisa L. (3 กุมภาพันธ์ 2021). "AGA Clinical Practice Update on Medical Management of Colonic Diverticulitis: Expert Review". Gastroenterology. 160 (3): 906–911.e1. doi:10.1053/j.gastro.2020.09.059. PMC 7878331. PMID 33279517. Best practice 10
- ↑ Strate, Lisa L; Keeley, Brieze R; Cao, Yin; Wu, Kana; Giovannucci, Edward L; Chan, Andrew T (12 เมษายน 2017). "Western Dietary Pattern Increases, Whereas Prudent Dietary Pattern Decreases, Risk of Incident Diverticulitis in a Prospective Cohort Study". Gastroenterology. 152 (5): 1023–1030.e2. doi:10.1053/j.gastro.2016.12.038. PMC 5367955. PMID 28065788.
- ↑ Ünlü, C; Daniels, L; Vrouenraets, BC; Boermeester, MA (เมษายน 2012). "A systematic review of high-fiber dietary therapy in diverticular disease". International Journal of Colorectal Disease. 27 (4): 419–27. doi:10.1007/s00384-011-1308-3. PMC 3308000. PMID 21922199.
- ↑ Tarleton, S; DiBaise, JK (เมษายน 2011). "Low-residue diet in diverticular disease: putting an end to a myth". Nutrition in Clinical Practice. 26 (2): 137–42. doi:10.1177/0884533611399774. PMID 21447765.
- ↑ Crowe, Francesca L; Appleby, Paul N; Allen, Naomi E; Key, Timothy J (19 กรกฎาคม 2011). "Diet and risk of diverticular disease in Oxford cohort of European Prospective Investigation into Cancer and Nutrition (EPIC): prospective study of British vegetarians and non-vegetarians". The BMJ. 343: d4131. doi:10.1136/bmj.d4131. PMC 3139912. PMID 21771850.
- ↑ Lahner, E; Bellisario, C; Hassan, C; Zullo, A; Esposito, G; Annibale, B (มีนาคม 2016). "Probiotics in the Treatment of Diverticular Disease. A Systematic Review". Journal of Gastrointestinal and Liver Diseases. 25 (1): 79–86. doi:10.15403/jgld.2014.1121.251.srw. hdl:11573/866049. PMID 27014757. S2CID 19519787.
- ↑ 38.0 38.1 38.2 Morris, AM; Regenbogen, SE; Hardiman, KM; Hendren, S (15 มกราคม 2014). "Sigmoid diverticulitis: a systematic review". JAMA. 311 (3): 287–97. doi:10.1001/jama.2013.282025. PMID 24430321.
- ↑ Lee, Kyoung Ho; Lee, Hye Seung; Park, Seong Ho; Bajpai, Vasundhara; Choi, Yoo Shin; Kang, Sung-Bum; Kim, Kil Joong; Kim, Young Hoon (2007). "Appendiceal Diverticulitis". Journal of Computer Assisted Tomography. 31 (5): 763–9. doi:10.1097/RCT.0b013e3180340991. PMID 17895789. S2CID 1027938.
- ↑ Horton, KM; Corl, FM; Fishman, EK (2000). "CT evaluation of the colon: inflammatory disease". Radiographics. 20 (2): 399–418. doi:10.1148/radiographics.20.2.g00mc15399. PMID 10715339.
- ↑ "CT scan of diverticulitis". ClariPACS. 2017. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2017.
- ↑ Sai, V. F.; Velayos, F; Neuhaus, J; Westphalen, A. C. (2012). "Colonoscopy after CT Diagnosis of Diverticulitis to Exclude Colon Cancer: A Systematic Literature Review". Radiology. 263 (2): 383–390. doi:10.1148/radiol.12111869. PMC 3329267. PMID 22517956.
- ↑ Tursi, A (2015). "The role of colonoscopy in managing diverticular disease of the colon" (PDF). Journal of Gastrointestinal and Liver Diseases. 24 (1): 85–93. doi:10.15403/jgld.2014.1121.tur. PMID 25822438. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 10 สิงหาคม 2017.
- ↑ Sartelli, Massimo; Weber, Dieter G.; Kluger, Yoram; Ansaloni, Luca; และคณะ (7 พฤษภาคม 2020). "2020 update of the WSES guidelines for the management of acute colonic diverticulitis in the emergency setting". World Journal of Emergency Surgery. 15 (1): 32. doi:10.1186/s13017-020-00313-4. PMC 7206757. PMID 32381121.
- ↑ Peery, Anne F.; Shaukat, Aasma; Strate, Lisa L. (28 กุมภาพันธ์ 2021). "AGA Clinical Practice Update on Medical Management of Colonic Diverticulitis: Expert Review". Gastroenterology. 160 (3): 906–911.e1. doi:10.1053/j.gastro.2020.09.059. PMC 7878331. PMID 33279517.
- ↑ 46.0 46.1 Kruis, W; Germer, CT; Böhm, S; Dumoulin, FL; Frieling, T; Hampe, J; Keller, J; Kreis, ME; Meining, A; Labenz, J; Lock, JF; Ritz, JP; Schreyer, A; Leifeld, L (28 พฤศจิกายน 2022). "German guideline diverticular disease/diverticulitis: Part I: Methods, pathogenesis, epidemiology, clinical characteristics (definitions), natural course, diagnosis and classification". United European Gastroenterology Journal. 10 (9): 923–939. doi:10.1002/ueg2.12309. PMC 9731664. PMID 36411504.
- ↑ 47.0 47.1 47.2 47.3 Kruse, Elena; Leifeld, Ludger (28 เมษายน 2015). "Prevention and Conservative Therapy of Diverticular Disease". Viszeralmedizin. 31 (2): 103–106. doi:10.1159/000377651. PMC 4789966. PMID 26989379.
- ↑ Klarenbeek, B. R.; De Korte, N; Van Der Peet, D. L.; Cuesta, M. A. (2011). "Review of current classifications for diverticular disease and a translation into clinical practice". International Journal of Colorectal Disease. 27 (2): 207–214. doi:10.1007/s00384-011-1314-5. PMC 3267934. PMID 21928041.
- ↑ "CKS is only available in the UK".
- ↑ Strate, LL; Morris, AM (เมษายน 2019). "Epidemiology, Pathophysiology, and Treatment of Diverticulitis". Gastroenterology. 156 (5): 1282–1298.e1. doi:10.1053/j.gastro.2018.12.033. PMC 6716971. PMID 30660732.
- ↑ Rottier, SJ; van Dijk, ST; van Geloven, AAW; และคณะ (กรกฎาคม 2019). "Meta-analysis of the role of colonoscopy after an episode of left-sided acute diverticulitis". The British Journal of Surgery. 106 (8): 988–997. doi:10.1002/bjs.11191. PMC 6618242. PMID 31260589.
- ↑ 52.0 52.1 52.2 52.3 52.4 "Diverticulitis prognosis".
- ↑ 53.0 53.1 Linzay, Catherine D.; Pandit, Sudha (2023-01-14). "Acute Diverticulitis". StatPearls. StatPearls Publishing. PMID 29083630.
- ↑ Hanna, Mark H; Kaiser, Andreas M (7 มีนาคม 2021). "Update on the management of sigmoid diverticulitis". World Journal of Gastroenterology. 27 (9): 760–781. doi:10.3748/wjg.v27.i9.760. PMC 7941864. PMID 33727769.
- ↑ Rook, Jordan M.; Dworsky, Jill Q.; Curran, Thomas; Banerjee, Sudeep; Kwaan, Mary R. (1 พฤษภาคม 2021). "Elective surgical management of diverticulitis". Current Problems in Surgery. 58 (5): 100876. doi:10.1016/j.cpsurg.2020.100876. PMID 33933211.
- ↑ Sartelli, Massimo; Weber, Dieter G.; Kluger, Yoram; และคณะ (7 พฤษภาคม 2020). "2020 update of the WSES guidelines for the management of acute colonic diverticulitis in the emergency setting". World Journal of Emergency Surgery. 15 (1): 32. doi:10.1186/s13017-020-00313-4. PMC 7206757. PMID 32381121.
- ↑ 57.0 57.1 van Dijk, S. T.; Rottier, S. J.; van Geloven, A. A. W.; Boermeester, M. A. (28 กุมภาพันธ์ 2017). "Conservative Treatment of Acute Colonic Diverticulitis". Current Infectious Disease Reports. 19 (11): 44. doi:10.1007/s11908-017-0600-y. PMC 5610668. PMID 28942590.
- ↑ Spirt, Mitchell (2010). "Complicated Intra-abdominal Infections: A Focus on Appendicitis and Diverticulitis". Postgraduate Medicine. 122 (1): 39–51. doi:10.3810/pgm.2010.01.2098. PMID 20107288. S2CID 46716128.
- ↑ "Diverticulitis – Diagnosis and treatment – Mayo Clinic". www.mayoclinic.org.
- ↑ 60.0 60.1 60.2 Sartelli, Massimo; Weber, Dieter G.; Kluger, Yoram; และคณะ (7 พฤษภาคม 2020). "2020 update of the WSES guidelines for the management of acute colonic diverticulitis in the emergency setting". World Journal of Emergency Surgery. 15 (1): 32. doi:10.1186/s13017-020-00313-4. ISSN 1749-7922. PMC 7206757. PMID 32381121.
- ↑ de Korte, N; Unlü, C; Boermeester, MA; Cuesta, MA; Vrouenreats, BC; Stockmann, HB (มิถุนายน 2011). "Use of antibiotics in uncomplicated diverticulitis". Br. J. Surg. 98 (6): 761–7. doi:10.1002/bjs.7376. PMID 21523694. S2CID 32230475.
- ↑ Peery, Anne F.; Shaukat, Aasma; Strate, Lisa L. (12 กุมภาพันธ์ 2021). "AGA Clinical Practice Update on Medical Management of Colonic Diverticulitis: Expert Review". Gastroenterology. 160 (3): 906–911.e1. doi:10.1053/j.gastro.2020.09.059. PMC 7878331. PMID 33279517.
- ↑ 63.0 63.1 Nascimbeni, R.; Amato, A.; Cirocchi, R.; และคณะ (2021). "Management of perforated diverticulitis with generalized peritonitis. A multidisciplinary review and position paper". Techniques in Coloproctology. 25 (2): 153–165. doi:10.1007/s10151-020-02346-y. ISSN 1123-6337. PMC 7884367. PMID 33155148.
- ↑ Bianchi, M.; Festa, V.; Moretti, A.; Ciaco, A.; Mangone, M.; Tornatore, V.; Dezi, A.; Luchetti, R.; De Pascalis, B.; Papi, C.; Koch, M. (28 เมษายน 2011). "Meta-analysis: long-term therapy with rifaximin in the management of uncomplicated diverticular disease". Alimentary Pharmacology & Therapeutics. 33 (8): 902–910. doi:10.1111/j.1365-2036.2011.04606.x. PMID 21366632 – โดยทาง PubMed.
- ↑ "Mesalazine: A medicine that treats inflammatory bowel conditions including ulcerative colitis and Crohn's disease". 21 กรกฎาคม 2021.
- ↑ Lenza, Christopher; Das, Kiron M. (2011). "Mesalamine in the Treatment of Diverticular Disease". Journal of Clinical Gastroenterology. 45: S53–S61. doi:10.1097/MCG.0b013e3182107a37. S2CID 78890788.
- ↑ Iannone, Andrea; Ruospo, Marinella; Wong, Germaine; Barone, Michele; Principi, Mariabeatrice; Di Leo, Alfredo; Strippoli, Giovanni F. M. (16 กันยายน 2018). "Mesalazine for People with Diverticular Disease: A Systematic Review of Randomized Controlled Trials". Canadian Journal of Gastroenterology & Hepatology. 2018: 5437135. doi:10.1155/2018/5437135. PMC 6167594. PMID 30320044.
- ↑ Peery, Anne F. (12 พฤศจิกายน 2022). "New German guidelines for the management of diverticulitis". United European Gastroenterology Journal. 10 (9): 913–914. doi:10.1002/ueg2.12331. PMC 9731652. PMID 36302089.
- ↑ "What's the diverticulitis surgery?". Digestive Disorders portal. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2010. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2010.
- ↑ "Diverticulitis - Digestive Disorders". Merck Manual Consumer Version. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 เมษายน 2025. สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2025.
- ↑ 71.0 71.1 Nallapeta, Naren S.; Farooq, Umer; Patel, Krunal (2022), "Diverticulosis", StatPearls, Treasure Island (FL): StatPearls Publishing, PMID 28613522, สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2022
- ↑ ศรีวานิชภูมิ & อจละนันท์ 2021, p. 76 อ้างอิง
- Rungjiratananon, S; Sirinthornpunya, S (2009). "Prevalence of colonic diverticulosis in irritable bowel syndrome patients compared to other patients in Rajavithi hospital". Thai J Gastroenterol. 10 (3): 148–51.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Diverticulosis and diverticulitis at NIDDK
- Diverticulitis at Mayo Clinic
- Staging of Acute Diverticulitis archive of link above
การจำแนกโรค | |
---|---|
ทรัพยากรภายนอก |