กรมส่งเสริมสหกรณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กระทรวงสหกรณ์)
กรมส่งเสริมสหกรณ์
Cooperative Promotion Department
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้งพ.ศ. 2463
หน่วยงานก่อนหน้า
  •  • กรมสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์
  •  • กระทรวงการสหกรณ์
สำนักงานใหญ่12 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
งบประมาณประจำปี3,230.6466 ล้านบาท (พ.ศ. 2559)[1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ, อธิบดี
  • ปรีชา พันธุ์​วา, รองอธิบดี
  • อัชฌา สุวรรณนิตย์, รองอธิบดี
  • นิรันดร์ มูลธิดา, รองอธิบดี
เว็บไซต์http://www.cpd.go.th

กรมส่งเสริมสหกรณ์ (อังกฤษ: Cooperative Promotion Department) เป็นส่วนราชการระดับกรม สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาการสหกรณ์ภายในประเทศ

ประวัติ[แก้]

แรกเริ่มหน่วยราชการที่รับผิดชอบด้านสหกรณ์เริ่มจากเป็นแผนกหนึ่งในกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2458 ต่อมากรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ได้ยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวงพาณิชย์ ใน พ.ศ. 2463 แผนกสหกรณ์จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น กรมสหกรณ์

พ.ศ. 2495 ในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ยกฐานะกรมสหกรณ์เป็นกระทรวงการสหกรณ์[2] จนถึงปี พ.ศ. 2506 จึงได้ถูกยุบกระทรวงการสหกรณ์ลง และโอนงานทั้งหมดไปเป็นของกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติที่ตั้งขึ้นใหม่ โดยให้แยกส่วนราชการสหกรณ์ออกมาโดยจัดให้มีกรมสหกรณ์ที่ดิน กรมสหกรณ์พาณิชย์และธนกิจ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์

จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2515 ได้มีการยกเลิกกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติลง และได้ตั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขึ้นจึงได้โอนอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการสหกรณ์ กรมสหกรณ์ที่ดิน กรมสหกรณ์พาณิชย์และธนกิจ เป็นกรมส่งเสริมสหกรณ์ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี พันเอกสุรินทร์ ชลประเสริฐ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์และนายทะเบียนสหกรณ์เป็นคนแรก[3]

วันสหกรณ์แห่งชาติ[แก้]

วันสหกรณ์แห่งชาติ ตรงกับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปี สืบเนื่องมาจากสหกรณ์ในประเทศต่าง ๆ เจริญก้าวหน้าส่งผลดีในการพัฒนาประเทศ สำหรับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2458 นโยบายแห่งรัฐ เห็นสมควรนำวิธีการสหกรณ์ เข้ามาช่วยพัฒนาประเทศให้ประชาชนได้หลุดพ้นจากความยากจน โดยเฉพาะเกษตรกร พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ได้ทรงส่งเสริมให้ก่อตั้งสหกรณ์แห่งแรกคือ สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ณ ตำบลวัดจันทร์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก และทรงเป็นนายทะเบียนสหกรณ์ (พระองค์แรก) รับจดทะเบียนเป็นสหกรณ์แห่งแรก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2459 ตามรูปแบบสหกรณ์ เครดิตแบบไรฟ์ไฟเซน ที่ได้รับความสำเร็จ มาแล้วใน อินเดีย และพม่า ซึ่งทั้งสองประเทศได้ส่งคนไปศึกษาจากประเทศเยอรมนี และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมพ.ศ. 2527 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น "วันสหกรณ์แห่งชาติ "

การแบ่งส่วนราชการ[แก้]

กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2557 ให้แบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ ดังต่อไปนี้[4]

  • สำนักงานเลขานุการกรม
  • กองการเจ้าหน้าที่
  • กองคลัง
  • กองแผนงาน
  • กองพัฒนาระบบสนับสนุนการสหกรณ์
  • กองพัฒนาสหกรณ์ด้านการเงินและร้านค้า
  • กองพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร
  • ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  • สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1
  • สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2
  • สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์

หน่วยงานในภูมิภาค[แก้]

กรมส่งเสริมสหกรณ์ มีหน่วยงานส่วนภูมิภาคตั้งอยู่ในทุกจังหวัด คือ สำนักงานสหกรณ์จังหวัด มีหน้าที่เป็นผู้แทนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ประกอบด้วย 18 เขต ดังนี้[5]

ประเภทของสหกรณ์[แก้]

ในประเทศไทย มีสหกรณ์ 7 ประเภท ได้แก่[6]

  1. สหกรณ์การเกษตร
  2. สหกรณ์ประมง
  3. สหกรณ์นิคม
  4. สหกรณ์ร้านค้า
  5. สหกรณ์บริการ
  6. สหกรณ์ออมทรัพย์
  7. สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

รายนามอธิบดี [7][แก้]

รายนาม วาระการดำรงตำแหน่ง
1. พ.อ. สุรินทร์ ชลประเสริฐ 2515-2520
2. นาย อดุลย์ นิยมวิภาต 2520-2522
1. พ.อ. สุรินทร์ ชลประเสริฐ 2522-2526
3. นาย เชิญ บำรุงวงศ์ 2526-2530
4. นาย ทรงยศ นาคชำนาญ 2530-2532
5. นาย เสงี่ยม มาหมื่นไวย 2532-2536
6. นาย อวยผล กนกวิจิตร 2536-2538
7. นางสาว พีรรัตน์ อังกุรรัต 2538-2540
8. นาย วัลลภ วิทยประพัฒน์ 2540-2541
9. นาย บุญมี จันทรวงศ์ 2541-2544
10. นาย ชวาลวุฑฒ ไชยนุวัติ 2544-2545
9. นาย บุญมี จันทรวงศ์ 2545-2549
11. นางสาว สุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ 2549-2552
12. นาย ศุภชัย บานพับทอง 2552
13. นาย ฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ 2552-2553
14. นาย สมชัย ชาญณรงค์กุล 2553-2556
15. ดร. จุมพล สงวนสิน 2556-2557
16. นาย โอภาส กลั่นบุศย์ 2557-2558
17. ดร. วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข 2558-2560
18. นาย พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ 2560-2563
19.​ นาย​ คมสัน​ จำรูญพงษ์​ 2563-2564
20.​ นาย​ วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ 2564-ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เล่ม 132 ตอนที่ 91ก วันที่ 25 กันยายน 2558
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช 2482 (ฉบับที่ 31) ตอนที่ 56 เล่ม 69 วันที่ 16 กันยายน 2495 (soc.go.th)
  3. "ประวัติกรมส่งเสริมสหกรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-20. สืบค้นเมื่อ 2010-09-29.
  4. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/088/84.PDF
  5. สหกรณ์จังหวัด
  6. "ประเภทของสหกรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-18. สืบค้นเมื่อ 2013-10-29.
  7. https://www.cpd.go.th/cpdth2560/index.php/about-cpd/person-cpd/history-director เก็บถาวร 2020-06-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ทำเนียบอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]