กระถินณรงค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กระถินณรงค์
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Fabales
วงศ์: Fabaceae
สกุล: Acacia
สปีชีส์: A.  auriculiformis
ชื่อทวินาม
Acacia auriculiformis
A.Cunn. ex Benth.
ข้อมูลถิ่นกำเนิดจาก AVH

กระถินณรงค์ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Acacia auriculiformis; อังกฤษ: Auri, Earleaf acacia, Earpod wattle, Northern black wattle, Papuan wattle, Tan wattle; ตอกปีซิน: akas) เป็นพืชตระกูลถั่ว มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมตามธรรมชาติในทุ่งหญ้าของประเทศปาปัวนิวกินี ไปจนถึงพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย แต่ปัจจุบันได้มีการนำไปปลูกกันทั่วโลกทั้งทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ เนื่องจากสามารถฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมได้

เป็นไม้ที่มีขนาดเล็กถึงขนาดกลางมีความสูง 8 เมตร ไปจนถึง 20 เมตร ดอกกระถินณรงค์ มีสีเหลืองกลิ่นหอม ออกดอกรวมกันเป็นช่อ คล้ายหางกระรอก

ในประเทศไทย ร.ท.ขุนณรงค์ชวนกิจ (ชวน ณรงคะชวนะ) เป็นผู้สั่งเข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2478 โดยนำมาปลูกในลักษณะของไม้ประดับ[2]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

กระถินณรงค์เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ขนาดกลาง – ใหญ่ สูง 10 – 30 เมตร[3] เรือนยอดทรงกลมทึบ เปลือกสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องตามยาว ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เมื่อยังเล็กและเปลี่ยนรูปเป็นใบขนาดใหญ่หนา สีเขียวเข้ม เรียวยาว โค้งเป็นรูปเคียว กว้างประมาณ 1.2 – 2.5 ซม. ยาวประมาณ 7 – 15 ซม.[4] ดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอม ออกรวมกันเป็นช่อคล้ายหางกระรอกตามง่ามใบ ดอกย่อยแต่ละดอกมีขนาดเล็กมาก ช่อหนึ่ง ๆ มี ประมาณ 70 – 100 ดอก[4] ช่อดอกจะห้อยลงข้างล่าง ผลแห้งแตก เป็นฝักแบน สีเขียว ม้วนบิดเป็นวง 1 – 3 วง เมื่อแก่มีสีน้ำตาล มีเมล็ดสีน้ำตาลดำเป็นมัน 5 – 12 เมล็ด

ประโยชน์[แก้]

กระถินณรงค์เป็นไม้โตเร็ว นิยมปลูกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง นอกจากการใช้เป็นพืชเบิกนำในการปลูกป่าในพื้นดินเสื่อมโทรมได้ดีแล้ว ยังใช้ตัดฟันเป็นไม้ฟืนเชื้อเพลิง ซึ่งมีการวิจัยโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อใช้ไม้กระถินณรงค์เป็นเชื้อเพลิง[5] และประโยชน์อื่น ๆ เช่นเผาถ่าน ทำเฟอร์นิเจอร์ และเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษได้ด้วย

การศึกษาวิจัย[แก้]

สถานีวนวัฒนวิจัยสะแกราช ศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ไม้กระถินณรงค์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 โดยใช้วิธีการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง กระถินณรงค์ 3 สายพันธุ์ ได้แก่

  • สายพันธุ์ Nort-hern territory ซึ่งมีลักษณะเด่นสามารถทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี
  • สายพันธุ์ ควีนส์แลนด์ มีลักษณะลำต้นเปลาและตรง
  • สายพันธุ์ ปาปัวนิวกินี มีผลผลิตมวลชีวภาพสูงที่สุด

เพื่อมุ่งหวังให้เป็นไม้โตเร็วทางเลือกใหม่แก่เกษตรกรทดแทนการปลูกยูคาลิปตัส[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. Contu, S. (2012). "Acacia auriculiformis". IUCN Red List of Threatened Species. 2012: e.T19891902A19997222. doi:10.2305/IUCN.UK.2012.RLTS.T19891902A19997222.en.
  2. "กระถินลูกผสมพันธุ์ใหม่" (pdf). สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้.
  3. "กระถินณรงค์". ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน.
  4. 4.0 4.1 กระถินณรงค์ ศูนย์ปฏิบัติการพืชเศรษฐกิจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  5. "มทส.วิจัยโรงไฟฟ้าพลังไม้กระถิน". กรุงเทพธุรกิจ. 23 กรกฎาคม 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กันยายน 2007.
  6. "กระถินณรงค์ลูกผสม ไม้โตเร็วพันธุ์ใหม่-พลังงานทางเลือก". แนวหน้า. soclaimon (ตีพิมพ์ 5 November 2010). 25 May 2007.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]