กระชายดำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กระชายดำ
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Monocots
ไม่ได้จัดลำดับ: Commelinids
อันดับ: Zingiberales
วงศ์: Zingiberaceae
สกุล: Kaempferia
สปีชีส์: K.  parviflora
ชื่อทวินาม
Kaempferia parviflora

กระชายดำ ชื่อวิทยาศาสตร์: Kaempferia parviflora (KP) หรือว่านกำบัง ว่านจังงัง[1] เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Zingiberaceae เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นมีปุ่มปม ลักษณะคล้ายกระชาย แต่เนื้อในหัวเป็นสีม่วง เมื่อแก่สีจะเข้มขึ้นเรื่อย ๆ ผิวด้านนอกสีเหลือง ใบเดี่ยว แทงขึ้นมาจากหัวใต้ดิน ดอกช่อ ออกที่ปลายยอด สีขาวแต้มชมพู

เป็นพืชที่มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร สารสกัดจากกระชายดำมีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย เชื้อราและไมโครแบคทีเรีย ต้านการเกิดโรคภูมิแพ้และต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ในสัตว์ทดลองพบว่า มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดแดงที่ถูกแยกออกจากกายของหนูขาว และสร้างไนตริกออกไซค์(NO) บริเวณเยื่อบุหลอดเลือดดำของรกเด็ก กระชายดำในประเทศไทยที่มีชื่อเสียงอยู่ที่จังหวัดเลย นอกจากนั้นยังเชื่อว่าเป็นยาบำรุงกำลัง นักรบสมัยก่อนจะนำหัวไปปลุกเสกแล้วอมเวลาต่อสู้ เชื่อว่าทำให้คงกระพัน[2]

ชื่อวิทยาศาสตร์[แก้]

  • Kaempferia parviflora Wall. Ex Baker[3]

ชื่อวงศ์

  • Zingiberaceae[4]

ส่วนที่ใช้

  • เหง้า / หัว[5]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

กระชายดำแตกต่างจากกระชายทั่วไป (ที่ใช้เป็นเครื่องแกง) คือ กระชายทั่วไปใช้ส่วนที่เป็นราก (tuber) ซึ่งงอกออกมาจากเหง้า (ลำต้นที่อยู่ใต้ดิน) มีกาบใบและใบซ้อนโผล่ขึ้นอยู่เหนือดิน ส่วนกระชายดำมีลำต้นอยู่ใต้ดิน (rhizome) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าหัว ลักษณะคล้ายขิง หรือขมิ้นแต่มีขนาดเล็กกว่า ใบใหญ่และมีสีเขียวเข้มกว่ากระชายทั่วไป ขนาดใบกว้างประมาณ 7 - 15 ซม. ยาว 30 - 35 ซม. ใบมีกลิ่นหอม ประกอบด้วยกาบใบมีสีแดงจาง ๆ และหนาอวบ กำเนิดมาจากหัวที่อยู่ใต้ดิน ลำต้นมีความสูงประมาณ 30 ซม.

ดอกออกจากยอด ช่อละหนึ่งดอก มีใบเลี้ยง ดอกมีสีชมพูอ่อน ๆ ริมปากดอกสีขาว เส้าเกสรสีม่วง เกสรสีเหลือง กลีบรองกลีบดอกเชื่อมติดกันมีลักษณะเป็นรูปท่อ มีขน โคนเชื่อมติดกันเป็นช่อยาว เกสรตัวผู้จะเหมือนกับกลีบดอก อับเรณูอยู่ใกล้ปลายท่อ เกสรตัวเมียมีขนาดยาวเล็ก ยอดของมันเป็นรูปปากแตรเกลี้ยงไม่มีขน หัวมีสีเข้ม แตกต่างกัน ตั้งแต่สีม่วงจาง ม่วงเข้ม และดำสนิท (ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ความแตกต่างของสีขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม อายุ หรือพันธุกรรม) สีของหัวเมื่อนำไปดองสุราจะถูกฟอกออกมา[6]

พันธุ์ในปัจจุบันยังไม่มีการรวบรวมและจำแนกพันธุ์อย่างเป็นทางการ แต่หากจำแนกตามลักษณะของสีของเนื้อหัว พอจะแยกได้ 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ที่มีเนื้อหัวสีดำ สีม่วงเข้ม สีม่วงอ่อนหรือสีน้ำตาล[7] ส่วนใหญ่แล้ว จะพบกระชายที่มีสีม่วงเข้มและสีม่วงอ่อน ส่วนกระชายที่มีสีดำสนิทจะมีลักษณะหัวค่อนข้างเล็ก ชาวเขาเรียกว่า กระชายลิง ซึ่งมีไม่มากนักจัดว่าเป็นกระชายที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด

กระชายดำแบบหัวสด ใช้เหง้า (หัวสด) ประมาณ 4 - 5 ขีด ต่อสุราขาว 1 ขวด ดองสุราขาวดื่มก่อนรับประทานอาหารอาหารเย็นปริมาณ 30 ซีซี. หรือฝานเป็นแว่นบาง ๆ แช่น้ำดื่ม หรือจะดองกับน้ำผึ้ง ในอัตราส่วน 1: 1 กระชายดำแบบหัวแห้ง หัวแห้งดองกับน้ำผึ้งแท้ในอัตราส่วน 1:1 นาน 7 วัน แล้วนำมาดื่มก่อนนอน กระชายดำแบบชาชง ผงแห้งกระชายดำ 1 ซอง ชงน้ำร้อน 1 แก้ว (ประมาณ 120 ซีซี.) แต่งรสด้วยน้ำตาล หรือน้ำผึ้งตามต้องการ[8]

การปลูกกระชายดำ[แก้]

กระชายดำสามารถขยายพันธุ์โดยใช้แง่งหรือเหง้าซึ่งเป็นส่วนของลำต้นใต้ดิน โดยทั่ว ๆ ไปจะใช้ส่วนของเหง้าเป็นท่อนพันธุ์ในการปลูก กระชายดำชอบดินร่วนซุย ไม่ชอบน้ำขังหรือดินที่มีการระบายน้ำไม่ดีเนื่องจากจะเน่าเสียโดยเฉพาะดินที่มีสภาพเป็นกรด เมื่อมีฝนชุกหรือความชื้นในดินสูง จะทำให้เกิดโรคเหง้าเน่า สามารถปลูกกลางแจ้งจนถึงมีแสงแดดพอควร ส่วนต้นเหนือดินมักจะยุบหรือแห้งเมื่อเข้าฤดูแล้ง ส่วนใหญ่จะเก็บเหง้าแก่เมื่ออายุ 10-11 เดือนหลังปลูก สีของกระชายดำถึงจะเข้มเต็มที่

การปลูกกระชายดำจะเริ่มเตรียมดินในช่วงต้นเดือนมีนาคม และจะปลูกต้นเมษายนของทุก ๆ ปี สำหรับการปลูกในแปลงใหญ่ และกลางแจ้ง ส่วนเหง้าที่นำมาปลูกนั้นผู้ควรทำการแบ่งเหง้าให้เป็นหัวเล็ก ๆ มีตาที่จะปลูก 2-3 ตาเพื่อการงอกที่มีคุณภาพ ทั้งนี้เมื่อเริ่มมีฝน หรือพายุฤดูร้อนก็สามารถทำการปลูกได้

การแปรรูปกระชายดำ[แก้]

การะชายดำสามารถนำมาแปรรูป ได้ดังนี้

1. กระชายดำแห้ง 2. กระชายดำบดผงในถุงชา 3. ไวน์กระชายดำ 4. กระชายดำอัดแคปซูล

อ้างอิง[แก้]

  1. เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล. ว่าน. กทม. เศรษฐศิลป์. 2553
  2. เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล. ว่าน. กทม. เศรษฐศิลป์. 2553
  3. เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม, 2544
  4. สมสุข มัจฉาชีพ, 2534
  5. นิจศิริ เรืองรังษี, 2534
  6. จันทน์ขาว, 2543
  7. รองศาสตราจารย์ สมพร หิรัญรามเดช, 2525
  8. ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี, 2537