กรมพระเทพามาตย์ (นกเอี้ยง)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กรมสมเด็จพระเทพามาตย์)
กรมพระเทพามาตย์ (นกเอี้ยง)
กรมพระเทพามาตย์
ดำรงพระยศพ.ศ. 2312 – 7 มีนาคม พ.ศ. 2317
ก่อนหน้ากรมพระเทพามาตุ (พลับ)
พระราชสมภพไม่ปรากฏ
สวรรคต7 มีนาคม พ.ศ. 2317
กรุงธนบุรี อาณาจักรธนบุรี
ถวายพระเพลิง18 พฤษภาคม พ.ศ. 2318
พระเมรุ วัดบางยี่เรือใต้ กรุงธนบุรี อาณาจักรธนบุรี
บรรจุพระบรมอัฐิพระราชวังกรุงธนบุรี
พระสวามีหยง แซ่แต้
พระราชบุตรสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ราชวงศ์ธนบุรี

กรมพระเทพามาตย์ (สวรรคต: 7 มีนาคม พ.ศ. 2317) มีพระนามเดิมว่า เอี้ยง หรือ นกเอี้ยง เป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สันนิษฐานว่าแต่เดิมพระองค์มีพื้นเพเป็นชาวจังหวัดเพชรบุรีและอาจมีเชื้อสายจีน พระองค์สมรสกับหยง แซ่แต้ วานิชชาวแต้จิ๋ว มีบุตรคนหนึ่งชื่อ สิน ที่ต่อมาได้ครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

หลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นครองราชย์ ในปี พ.ศ. 2312 ก็ทรงสถาปนานกเอี้ยงพระราชชนนีขึ้นเป็น กรมพระเทพามาตย์ ตามพระราชประเพณี ล่วงมาได้ปี พ.ศ. 2317 กรมสมเด็จพระเทพามาตย์ได้ประชวรพระยอดอัคเนสัน (ฝีชนิดหนึ่ง) และสวรรคตในเวลาต่อมา

พระนาม[แก้]

ก.ศ.ร. กุหลาบ เป็นบุคคลแรก ๆ ที่ระบุว่ากรมพระเทพามาตย์ มีนามเดิมว่า "เอี้ยง" หรือ "นกเอี้ยง" แต่กลับไม่ปรากฏพระนามใน อภินิหารบรรพบุรุษ[1] ส่วนใน ประวัติเจิ้งเจา ของสือเอ้อเหมยจี เรียกว่า ลั่วยั้ง หรือ นางนกยาง[2]

ส่วนนิธิ เอียวศรีวงศ์ ว่า พระนามจริงของพระองค์ว่ากระไร ยังไม่มีทางสอบสวนได้แน่ชัดเลยจนบัดนี้[1]

พระประวัติ[แก้]

พระชนมชีพตอนต้นและครอบครัว[แก้]

กรมพระเทพามาตย์ สันนิษฐานว่าเป็นธิดาของขุนนางในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา[3] และคาดว่าหากจริงก็คงเป็นตระกูลใหญ่พอสมควร[4] พระองค์มีพระขนิษฐาที่ปรากฏนามพระองค์หนึ่งชื่อ อั๋น หรือ ฮั้น (ต่อมาได้รับการสถาปนาอิสริยยศเป็นกรมหลวงเทวินทรสุดาในสมัยกรุงธนบุรี)[5] เรื่องราวเกี่ยวกับพระชาติกำเนิดนั้น พระสังฆราชปาลเลอกัวซ์ (ฝรั่งเศส: Jean Baptiste Pallegoix) ได้ระบุไว้ว่าพระองค์เป็นคนไทย แต่ฟร็องซัว ตุรแปง (ฝรั่งเศส: Francois Turpin) นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสระบุว่าพระองค์เป็นคนจีน[2] ซึ่งสอดคล้องกับ ก.ศ.ร. กุหลาบ ที่ได้ระบุว่านกเอี้ยงมีแซ่เดิมว่า โหงว (จีน: ) ซึ่งเป็นแซ่เดียวกันกับพระวิชัยวารี (หลิน แซ่โหงว) ขุนนางจีนในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[2] และยังให้ข้อมูลต่อว่านกเอี้ยงเป็นชาวบ้านแหลม แขวงเมืองเพชรบุรี และอาจเป็นเครือญาติกับพระยาเพชรบุรี (เรือง) ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ที่เป็นบิดาของพระยาสวรรคโลกต้นสกุลบุญ-หลง พลางกูร และกรีวัตร[4]

ส่วนข้อสันนิษฐานว่าพื้นเพเดิมของพระองค์ตั้งอยู่แถบบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี ปรากฏในหนังสือปฐมวงศ์ที่ระบุไว้ว่า "มารดาพระยาตากสินที่หนีพม่าไปอยู่บ้านแหลมแขวงเมืองเพชรบุรี..."[6] และคงย้ายเข้ามาอาศัยในกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลาช้านาน ดังปรากฏในหนังสือปฐมวงศ์ ฉบับของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ซึ่งระบุเรื่องราวของนกเอี้ยงและสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเมื่อครั้งยังเป็น นายสุดจินดา (บุญมา) ไว้ว่า "...เป็นคนรู้จักคุ้นเคยกันมาช้านานแต่ยังอยู่ในกรุงมาด้วยกัน..."[6]

ทั้งนี้พระองค์เป็นญาติของพระเจ้าหลานเธอ เจ้ารามลักษณ์ กรมขุนอนุรักษ์สงคราม (พระนามเดิมว่า บุญมี) ด้วยพึงสังเกตว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าให้เจ้ารามลักษณ์กำกับเมืองเพชรบุรี[7]

สมรส[แก้]

ตามอภินิหารบรรพบุรุษ นกเอี้ยงสมรสกับชายจีนแต้จิ๋วชื่อหยง แซ่แต้ (จีน: 鄭鏞)[8] ที่มีถิ่นฐานเดิมในตำบลหัวฟู่ อำเภอเทงไฮ้ (เฉิงไห่)[9] นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายว่า พระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีน่าจะประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลัก มิใช่นายอากรบ่อนเบี้ย เป็นคำอธิบายที่ว่าเหตุใดนายสินจึงไม่ทรงประมูลอากรสืบต่ออาชีพจากบิดา จึงน่าจะเป็นพ่อค้าเกวียนมากกว่า[10] ส่วน ตำนานอากรบ่อนเบี้ย พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้ข้อมูลว่าตำแหน่งขุนพัฒน์เพิ่งมีขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย[2] ภายหลังหยงและนกเอี้ยงได้ให้กำเนิดบุตรชายชื่อว่า สิน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2277[8] และภายหลังได้ยกเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรี (ครุฑ) ซึ่งต่อมานายสินได้เป็นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์และตั้งราชธานีที่ธนบุรี

การสถาปนาและการสวรรคต[แก้]

เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก ประชาชนทั้งหลายก็ต่างพากันหลบหนีพม่า ครั้งนั้นกรมพระเทพามาตย์เองได้หนีไปพำนักในแขวงเมืองเพชรบุรี ซึ่งนายสุดจินดา (บุญมา) ก็เป็นธุระจัดการนำพระองค์มาจากเพชรบุรี เพื่อมาส่งให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในค่ายที่ชลบุรี[11]

ภายหลังเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว ได้ทรงสถาปนาพระราชชนนีขึ้นดำรงอิสริยยศเป็น กรมพระเทพามาตย์ ตามโบราณราชประเพณีใน พ.ศ. 2312[6][12] ต่อมาพระองค์ประชวรพระยอดอัคเนสันในปลายปีมะเมียฉอศก จุลศักราช 1136 ในช่วงเวลาที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกำลังล้อมค่ายพม่าที่บ้านบางนางแก้ว ปรากฏความใน จดหมายรายวันทัพ ว่าวัน ค่ำ ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบข่าวการประชวรเป็นครั้งแรก ความว่า[13]

"อนึ่งเพลาย่ำค่ำแล้ว ๕ บาท ขุนวิเศษโอสถหมอ ถือพระอาการทรงพระประชวรสมเด็จพระพันปีหลวงมาถวาย ในพระตำหนักค่ายวัดเขาพระ ครั้นทอดพระเนตรพระอาการแล้วเร่งในขุนวิเศษโอสถกลับไป ถ้าเจ้าคุณเปนเหตุการสิ่งใด ให้เอาหมอจำไว้แล้วริบให้สิ้น แล้วตรัสว่าพระโรคหนักนัก จะมิได้ไปทันเห็นพระองค์ด้วยการแผ่นดินนี้ใหญ่หลวงนัก ครั้นจะไปบัดนี้ไม่เห็นผู้ใดที่จะไว้ใจอยู่ต้านต่อฆ่าศึกได้"

สมเด็จพระพันปีหลวงกรมพระเทพามาตย์เสด็จสวรรคตในวัน ค่ำ[13] ตรงกับวันอังคารที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2317[6] หลังจากนั้นมีการสร้างพระโกศโถ หรือ ลองโถ สำหรับพระราชมารดาในปี พ.ศ. 2318 และสันนิษฐานว่าพระโกศดังกล่าวสร้างเพื่อพระศพเจ้านายที่ทรงศักดิ์ชั้นสูงสุดในสมัยนั้น[14] โดยให้เจ้าพระยาจักรี (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) เป็นแม่กองทำพระเมรุ ณ วัดบางยี่เรือใต้[15]

แต่ในงานพระเมรุดังกล่าวถูกเร่งให้จัดขึ้นในช่วงฤดูฝน ทราบเพียงว่ามีลักษณะเป็นเมรุมณฑปแต่สูงต่ำเท่าใดไม่ปรากฏความ[13] ด้วยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงห่วงใยในการศึกของพม่าอยู่ซึ่งมักเข้ามาในช่วงฤดูแล้งของทุกปี ซึ่งตามธรรมเนียมเดิมนั้นงานพระเมรุจะถูกจัดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง[15] เจ้าพระยาจักรีจึงปรึกษากับเจ้านายทั้งปวงว่าจะใช้ดีบุกบางเคลือบทองน้ำตะโก แล้วทาด้วยแป้งเปียกติดเข้ากับเนื้อไม้จนสำเร็จในเดือนเก้า แต่ก่อนจึงถึงวันเชิญพระศพมาในพระเมรุนั้นฝนได้ตกชะทองน้ำตะโกที่ปิดประดับพระเมรุหลุดร่วงลงมาทั้งหมด เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทอดพระเนตรเห็นทองน้ำตะโกที่ติดประดับพระเมรุหลุดร่วงก็ทรงพิโรธ[15] มีพระราชดำรัสว่า

"เราไว้ใจให้เปนแม่กองทำพระเมรุ ต่างหูต่างตาเรา เจ้าไม่เอาใจใส่ในราชการ ทำมักง่ายให้เมรุเปนเช่นนี้ดีแล้วฤๅ ทำให้พระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดินเสื่อมเสียไป จึ่งมีพระราชดำรัสสั่งให้เจ้าพนักงานองครักษ ให้ลงพระราชอาญาโบยหลังเจ้าพระยาจักรี ๕๐ ที"[16]

ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นหนึ่งในความขัดแย้งส่วนพระองค์ ระหว่างสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับเจ้าพระยาจักรี[15]

เมื่อการก่อสร้างพระเมรุแล้วเสร็จจึงมีการชักพระบรมศพกรมพระเทพามาตย์ถึงเมรุวัน ค่ำ ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2318 และพระราชทานเพลิงพระบรมศพวัน ค่ำ ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2318 ครั้นรุ่งขึ้นจึงเชิญพระบรมอัฐิเข้าไปในพระราชวัง เวลาบ่ายจึงนำพระอังคารไปลอยหน้าวัดสำเพ็ง[13] เมื่อวันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2318

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 67
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์, หน้า 104
  3. ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2544. 490 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-222-648-2
  4. 4.0 4.1 นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 68
  5. นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 115
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์, หน้า 105
  7. นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 66
  8. 8.0 8.1 นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 63.
  9. สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์, หน้า 103
  10. นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 82-83.
  11. ปรามินทร์ เครือทอง, หน้า 67
  12. David K. Wyatt. Thailand: A Short History. Yale University Press. p. 140. ISBN 0300035829.
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, หน้า 75-78
  14. ศุภฤกษ์ แก้วมณีชัย. "เล่าขานงานพระเมรุ : พระโกศและพระลอง". ศิลปวัฒนธรรม. 30:2 (ธันวาคม 2551), หน้า 132
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 ปรามินทร์ เครือทอง, หน้า 65
  16. ปรามินทร์ เครือทอง, หน้า 65-66

บรรณานุกรม[แก้]

  • จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์). กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2562
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548
  • สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์. "สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี "ลูกจีนกู้ชาติ" ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย". ศิลปวัฒนธรรม 29:7 (พฤษภาคม 2551)
  • ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. พิมพ์ครั้งที่ 3 (ปรับปรุง). กรุงเทพฯ : มติชน. 2555