เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์
กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ดำรงพระยศพ.ศ. 2284 - พ.ศ. 2298 (14 ปี)
รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ก่อนหน้าเจ้าฟ้าพร
ถัดไปเจ้าฟ้าดอกเดื่อ
พระราชสมภพพ.ศ. 2258
สวรรคตพ.ศ. 2298
พระชายากรมขุนยี่สารเสนีย์
พระราชบุตรกรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร์
พระองค์เจ้าฉาย
พระองค์เจ้าหญิงมิตร
พระองค์เจ้าหญิงทับ
พระองค์เจ้าหญิงชื่น
พระองค์เจ้าศรีสังข์
พระองค์เจ้าหญิงดารา
พระองค์เจ้าแม้น
พระองค์เจ้าหญิงชี
พระองค์เจ้าหญิงชาติ
พระองค์เจ้ามิ่ง
พระนามเต็ม
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
พระราชบิดาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
พระราชมารดากรมหลวงอภัยนุชิต

เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์[1] หรือพระนามที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า เจ้าฟ้ากุ้ง เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและกรมหลวงอภัยนุชิต

พระองค์มีพระปรีชาสามารถหลายด้าน โดยเฉพาะด้านวรรณคดีไทยนั้นทรงพระนิพนธ์ไว้หลายเรื่อง เช่น กาพย์เห่เรือ นันโทปนันทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง เนื่องจากพระองค์ลักลอบเป็นชู้กับพระมเหสีของพระราชบิดาจึงต้องพระอาญาให้เฆี่ยน เป็นเหตุให้พระองค์เสด็จสวรรคตในที่สุด

พระราชประวัติ[แก้]

เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ (คำให้การชาวกรุงเก่าว่า เจ้าฟ้านราธิเบศร์[2]) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2258[3]: 414 [4]: 100 [5]: 37  ในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ (เชาวน์ รูปเทวินทร์ สันนิษฐานว่าเสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2247 รัชกาลสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี[6]: 272 ) พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประสูติแต่กรมหลวงอภัยนุชิต (หรือพระพันวัสสาใหญ่) โดยพระมารดาของพระองค์สืบเชื้อสายมาจากสกุลพราหมณ์บ้านสมอพลือ ที่มีต้นสกุลมาจากเมืองรามนคร มัธยมประเทศ

พระองค์มีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าหญิงบรม และพระขนิษฐา 5 พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าหญิงสุริยวงศ์ เจ้าฟ้าหญิงสุริยา เจ้าฟ้าหญิงธิดา เจ้าฟ้าหญิงรัศมี เจ้าฟ้าหญิงอินทสุดาวดี นอกจากนี้ พระองค์ยังมีพระขนิษฐาและพระอนุชาต่างพระมารดาที่สำคัญ 3 พระองค์ คือเจ้าฟ้าเอกทัศ (สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์) เจ้าฟ้าอุทุมพร (สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) และ เจ้าฟ้าหญิงนวน (กรมขุนยี่สารเสนีย์ พระอัครมเหสีในพระองค์) เมื่อสมเด็จพระราชบิดาขึ้นครองราชสมบัติแห่งกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระองค์ได้รับการสถาปนาให้ทรงกรมที่ กรมขุนเสนาพิทักษ์

เหตุแห่งการออกผนวช[แก้]

เนื่องจากกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทรงสนิทกับพระราชบิดาของพระองค์อย่างมาก ทำให้พระองค์เกิดความระแวงขึ้น เมื่อพระราชบิดาทรงประชวร พระองค์จึงตรัสให้พระองค์เจ้าชื่นและพระองค์เจ้าเกิดไปนิมนต์เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เข้ามายังพระราชวังหน้าเพื่อมาเยี่ยมพระราชบิดา เมื่อเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เสด็จมาถึง พระองค์ได้ใช้พระแสงดาบฟันเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ แต่ไม่ทรงได้รับบาดเจ็บเพียงถูกแต่ผ้าจีวรขาดเท่านั้น เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นดังนั้นจึงเกรงพระราชอาญาแล้วจึงเสด็จไปยังตำหนักกรมหลวงอภัยนุชิต พระมารดาของพระองค์

หลังจากนั้น เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และพระองค์ตรัสถามว่า เหตุใดผ้าจีวรจึงขาด เจ้าฟ้าพระฯ กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ถวายพระพรว่ากรมขุนเสนาพิทักษ์หยอกท่าน เมื่อเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ถวายพระพรลาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแล้ว กรมหลวงอภัยนุชิตได้เสด็จมาอ้อนวอนและตรัสว่าถ้าท่านไม่ช่วยในคราวนี้เห็นทีกรมขุนเสนาพิทักษ์คงสิ้น เจ้าฟ้าพระฯ กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์จึงตรัสว่าคงมีแต่ร่มกาสาวพัตรเท่านั้นที่จะช่วยได้ กรมหลวงอภัยนุชิตจึงพากรมขุนเสนาพิทักษ์เสด็จออกผนวชทันทีที่วัดโคกแสง มีพระนามฉายาว่า "สิริปาโล"[7]

ในครั้งนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธกรมขุนเสนาพิทักษ์มาก มีพระราชดำรัสให้ค้นหาตัวจนทั่วพระราชวัง แต่พบเพียงพระองค์เจ้าชื่นและพระองค์เจ้าเกิดที่สมรู้ร่วมคิดเท่านั้น จึงมีพระราชดำรัสให้นำตัวทั้ง 2 พระองค์ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

อุปราชาภิเษก[แก้]

เมื่อปี พ.ศ. 2280 กรมหลวงอภัยนุชิตทรงพระประชวรหนักและได้ตรัสทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้กรมขุนเสนาพิทักษ์ซึ่งผนวชอยู่นั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานอภัยโทษให้ หลังจากนั้น กรมหลวงอภัยนุชิตก็เสด็จสวรรคตลง ส่วนกรมขุนเสนาพิทักษ์ทรงลาผนวชและได้เข้าเฝ้าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวดังเดิม

ในปี พ.ศ. 2284 พระราชโกษาปานบ้านวัดระฆังได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานให้สถาปนากรมขุนเสนาพิทักษ์ขึ้นประดิษฐานที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสให้ประชุมเสนาบดี เมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพระราชพิธีอุปราชาภิเษกสถาปนากรมขุนเสนาพิทักษ์ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พร้อมกันนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เจ้าฟ้าอินทสุดาวดีทรงกรมที่กรมขุนยิสารเสนี และพระราชทานให้เป็นพระอัครชายาในกรมพระราชวังบวรฯ ด้วย

เสด็จสวรรคต[แก้]

กรมพระราชวังบวรสถานมงคลประชวรด้วยพระโรคสำหรับบุรุษ และกลายไปเป็นพระโรคคุดทะราด เป็นเหตุให้พระองค์ไม่สามารถเข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวถึง 3 ปีเศษ วันหนึ่งพระองค์มีพระบัณฑูรให้ตำรวจมานำตัวเจ้ากรม ปลัดกรม และนายเวรปลัดเวรของเจ้าสามกรม (กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี) มาถามความว่า เจ้ากรมนั้นเป็นแต่หมื่น เหตุใดจึงตั้งบรรดาศักดิ์ให้เป็นขุน ซึ่งนับว่าทำสูงเกินว่าศักดิ์ จึงมีพระบัณฑูรให้ลงพระราชอาญาโบยหลังคนละ 15 ทีบ้างคนละ 20 ทีบ้าง

หลังจากนั้นไม่นาน กรมหมื่นสุนทรเทพทำเรื่องกราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเป็นการลับว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จเข้ามาลอบทำชู้กับเจ้าฟ้านิ่มกับเจ้าฟ้าสังวาล (นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่าเป็นองค์เดียวกัน[7]) ถึงในพระราชวังหลายครั้ง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสให้หากรมพระราชวังบวรฯ เพื่อนำตัวมาสอบความ เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ รับสารภาพแล้ว จึงมีพระราชดำรัสลงพระราชอาญาเฆี่ยน แล้วให้เสนาบดีและลูกขุนพิพากษาโทษ ท้าวพระยามุขมนตรีและลูกขุนกราบบังคมทูลว่า โทษของกรมพระราชวังบวรฯ เป็นมหันตโทษขอพระราชทานให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามขัตติยประเพณี สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัสขอชีวิตไว้แต่ให้นาบพระบาทแล้วถอดให้เป็นไพร่เสีย ส่วนเจ้าฟ้าสังวาลย์ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนองค์ละ 30 ที พร้อมทั้งถอดเป็นไพร่เช่นกัน เจ้าฟ้าสังวาลย์อยู่ได้ 3 วันก็สิ้นพระชนม์ ส่วนกรมพระราชวังบวรฯ ต้องรับพระราชอาญาเฆี่ยนและเสด็จสวรรคตลง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้นำพระศพทั้งสองไปฝังยังวัดไชยวัฒนาราม

จดหมายจากนายนิโกลาส บัง (Nicolaas Bang) หัวหน้าสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ประจำกรุงศรีอยุธยา ถึงข้าหลวงใหญ่ MOSSCL ณ กรุงปัตตาเวีย เขียนที่กรุงศรีอยุธยา ลงวันที่ ๘ มกราคม ค.ศ. 1758 ซึ่งเป็นหลักฐานร่วมสมัย ให้รายละเอียดต่างไปว่า ราวเดือนเมษายน ค.ศ. 1756 กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (Kpoomprincs) ประชวรด้วยโรค Morbus Gallicus (กามโรคชนิดหนึ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า French Pox หรือ Condyloma Accuminata หรือเรียกว่า โรคหูดหงอนไก่[8]) เป็นเวลาราว 1 ปี ไม่สามารถเข้าวังหลวงได้ ทรงประทับอยู่แต่ในวังหน้า ในช่วงที่ทรงพระประชวร กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงสั่งลงโทษข้าหลวงอย่างรุนแรง นอกจากนั้นแล้วยังทรงวิวาทกับพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศอีกพระองค์หนึ่งคือ เจ้าสระแก้ว (Tjauw Sakew) สันนิษฐานว่าหมายถึงกรมหมื่นสุนทรเทพ ซึ่งตามพระราชพงศาวดารว่าทรงประทับอยู่ ณ พระตำหนักสระแก้ว กรมพระราชวังบวรสถานมงคลได้สั่งให้บริวารไปล้อมที่ประทับของกรมหมื่นสุนทรเทพ แต่กรมหมื่นสุนทรเทพพร้อมบรรดาพระราชโอรสของพระองค์สามารถหลบหนีไปได้ เสด็จไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและกราบบังคมทูลเรื่องราวทั้งหมด เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทราบว่า กรมหมื่นสุนทรเทพหนีเข้าไปในพระราชวังหลวงแล้ว ก็ทรงนำบริวารบุกไปถึงพระทวารพระราชวังหลวง โดยตั้งพระทัยจะจับตัวกรมหมื่นสุนทรเทพมาฆ่าเสีย แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ทรงมีพระราชดำรัสว่าให้ปิดพระทวารพระราชวังเสีย ไม่ให้ผู้ใดล่วงเข้าไปทั้งสิ้น กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเลยเสด็จกลับไปยังวังหน้าของพระองค์

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงออกพระโอษฐ์เรียกกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเข้าเฝ้า ทีแรกกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่ยอมมาเฝ้า แต่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงขู่ว่า ถ้าไม่มาเข้าเฝ้าแล้วไซร้พระองค์จะทรงมาจับตัวไปเอง กรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงทรงยอมไปเข้าเฝ้าที่พระราชวังหลวง ทรงนำอาวุธ (ดาบ) ติดพระองค์ไปด้วย พร้อมทั้งบริวารก็ถืออาวุธจำนวนหนึ่ง ทรงเดินถือดาบเข้าไปในพระราชวังหลวง (แต่บริวารของพระองค์ไม่สามารถเข้าไปได้) แต่ในที่สุดก็ทรงยอมยื่นดาบให้เจ้านายพระองค์หนึ่งก่อนเข้าเฝ้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงตรัสถามกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเรื่องการถืออาวุธเข้ามาในวังเพื่อที่จะฆ่ากรมหมื่นสุนทรเทพ แต่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่ทรงตอบคำถามดังกล่าว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงให้จับตัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไว้และล่ามโซ่ทั้งที่มือและเท้า ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปหาถ้าไม่ได้รับพระราชานุญาตจากพระองค์ ให้เจ้านายองค์หนึ่งพร้อมขุนนาง 2 คน คอยเฝ้าคุมอยู่ระหว่างที่เสวยพระกระยาหาร เนื่องจากกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่อยากเสวยพระกระยาหารนัก พระองค์จึงทรงเสวยได้น้อยมาก

ในเวลา 3 วัน ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลติดคุกอยู่ได้มีคนนำเอาเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวกับกรมพระราชวังบวรสถานมงคลมากราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศหลายเรื่อง จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้กรมหมื่นสุนทรเทพ, กรมหมื่นจิตรสุนทร (Tjauw Cromme Kiesa Poon) พร้อมทั้งเจ้าพระยาจักรี , เจ้าพระยาพระคลัง เป็นผู้สอบสวนกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงทรงลงพระอาญาให้โบยกรมพระราชวังบวรสถานมงคล 20 ที แต่ก็ไม่ได้ผล หลังจากนั้นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงถูกโบยอีก 20 ที และให้เผาปลายพระบาท (นาบพระบาท) ด้วย ถึงกระนั้นก็ยังไม่ได้ผลนัก จึงมีพระราชดำรัสให้จับข้าหลวงสำคัญๆ ของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเข้าคุกให้หมด เพื่อสอบสวนความต่างๆ ซึ่งได้มีการทรมานเฆี่ยนตีข้าหลวงเหล่านี้ จึงได้ความว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคลได้ทรงสั่งให้ทำกุญแจไขเข้าไปในพระราชวังหลวงฝ่ายใน เพื่อที่จะได้ทรงเข้าไปหาพระมเหสีและพระสนมของของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ในตอนกลางคืน นอกจากนั้นแล้วยังได้ความอีกว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงรับสั่งให้ข้าหลวงซื้ออาวุธปืนไฟ (ปืนยาว) และดาบมาเก็บไว้ และยังมีการกล่าวหากรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีกด้วยว่า ทรงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตพระสงฆ์และคนอื่นๆ อีกหลายคน และทรงรับสั่งให้ตัดมือตัดนิ้วมือของคนจำนวนหนึ่ง เมื่อกรมหมื่นสุนทรเทพ, กรมหมื่นจิตรสุนทร, เจ้าพระยาจักรี, เจ้าพระยาพระคลัง นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงรับสั่งให้นำตัวเจ้าหญิงทั้ง 4 องค์ (Devier Princersen) เข้ามาสอบสวน ทีแรกต่างทรงปฏิเสธ แต่เมื่อทรงถูกขู่มากๆ เข้าก็ทรงยอมรับว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมีแผนการที่จะลอบปลงพระชนม์ (เวลาที่พระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเข้ามาหาพระมเหสี/พระสนม) เพื่อที่จะได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป ด้วยความร่วมมือของเจ้านาย (เจ้าฟ้าเอกทัศ) และขุนนางจำนวนหนึ่ง พร้อมทั้งบริวารของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเอง ซึ่งมีอาวุธพร้อมอยู่แล้วที่จะเข้ามายึดพระราชวังหลวง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงตกพระทัยมาก จึงทรงมีรับสั่งให้เฆี่ยนตีพระมหาอุปราชอีก 50 ที และให้เอาเหล็กร้อนๆ มาจ่อที่หน้าผาก แขน และขา ส่วนพระมเหสีและพระสนมทั้งสี่องค์นั้นทรงถูกเฆี่ยนตีองค์ละ 50 ที จนสิ้นพระชนม์ทั้งหมด บริวารของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลต่างถูกโบยทั้งสิ้นและเสียชีวิต 2 ราย เมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1756 พวกชาวฮอลันดาได้ข่าวว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลสิ้นพระชนม์แล้ว[9]

พระราชกรณียกิจ[แก้]

พระองค์เป็นแม่กองในการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีสรรเพชญ์วัดอื่น ๆ มากมายและทรงควบคุมงานต่อพระเศียรพระมหามงคลบพิตร ทรงรื้อมณฑปที่ประดิษฐานพระมหามงคลบพิตรแล้วก่อขึ้นใหม่เป็นพระวิหารแทน รวมทั้ง ทรงอำนวยการซ่อมพระที่นั่งวิหารสมเด็จภายในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา[7]

พระราชนิพนธ์[แก้]

พระองค์มีพระปรีชาสามารถหลายด้าน โดยเฉพาะด้านวรรณกรรม พระองค์ทรงเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาพระองค์หนึ่ง ผลงานด้านวรรณกรรมที่พระองค์ทรงนิพนธ์ไว้โดยมากจะเป็นคำประพันธ์ประเภทกาพย์ห่อโคลงมากกว่างานพระนิพนธ์ชนิดอื่น ๆ พระนิพนธ์ประเภทกาพย์ที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป เช่น พระนิพนธ์ "กาพย์เห่เรือ" แบ่งออกเป็น 2 เรื่อง เรื่องแรกเป็นบทชมพยุหยาตราทางชลมารค ต่อด้วยชมเรือ ชมปลา ชมไม้ และชมนก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สันนิษฐานว่า เป็นบทเห่เรือที่ทรงนิพนธ์ขึ้นเพื่อใช้สำหรับเห่เรือพระที่นั่งของพระองค์เองเวลาตามเสด็จขึ้นพระบาท[10] ส่วนเรื่องที่ 2 ได้หยิบยกเอาเรื่องพระยาครุฑลักนางกากีมาเป็นบทนำ ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สันนิษฐานว่า เป็นบทที่สะท้อนความในพระหฤทัยของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรที่ลอบผูกสมัครรักใคร่กับเจ้าฟ้าสังวาล ด้วยเหตุนี้แต่เดิมเห็นจะใช้บทนี้เห่เวลาประพาสทางเรือโดยลำพัง[11] บทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป เช่น

สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย

งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
เพียงหงส์ทรงพรหมมินทร์

ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม

ขณะที่ผนวชหรือภายหลังผนวชเล็กน้อย พระองค์ทรงนิพนธ์วรรณกรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาไว้ด้วย ได้แก่ นันโทปนันทสูตรคำหลวง ทรงพระนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2279 และ พระมาลัยคำหลวง ทรงพระนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2280 นอกจากนี้ ยังมีพระนิพนธ์เรื่องอื่นๆ อีกมากมาย เช่น บทเห่เรื่องกากี 3 ตอน, บทเห่สังวาสและเห่ครวญอย่างละบท, กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก, กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง (กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง), เพลงยาวบางบท และกาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท

ชีวิตส่วนพระองค์[แก้]

กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์มีพระชายาและเจ้าจอมหม่อมห้ามหลายพระองค์ เท่าที่ปรากฏพระนามมีดังต่อไปนี้[12]

ลำดับ พระอัครชายา พระชายา และพระสนม พระราชโอรสธิดา
1. กรมขุนยี่สารเสนีย์ ไม่มีพระราชโอรสธิดา
2. เจ้าฟ้าหญิงเส เจ้าฟ้าศรี
3. หม่อมพัน กรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร์
4. หม่อมเหม หรือ เหญก พระองค์เจ้าฉาย หรือ พระองค์เจ้าฉัตร หรือ พระองค์เจ้าเกิด
5. หม่อมเจ้าหญิงสวย พระองค์เจ้าหญิงมิตร
พระองค์เจ้าหญิงทับ
พระองค์เจ้าหญิงชื่น
6. หม่อมจัน พระองค์เจ้าศรีสังข์
7. หม่อมสรวย พระองค์เจ้าหญิงตา
8. หม่อมทองแดง พระองค์เจ้าชายแม้น
9. หม่อมเจ้าหญิงสร้อย พระองค์เจ้าหญิงดารา
10. หม่อมสุ่น พระองค์เจ้าหญิงชี
พระองค์เจ้าหญิงชาติ
11. หม่อมเต่วน พระองค์เจ้าชายมิ่ง

แต่ใน คำให้การชาวกรุงเก่า และ คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลมีเจ้าฟ้านุ่มเป็นพระมเหสีแต่ไม่มีพระโอรสธิดา[13][14]

พระอิสริยยศ[แก้]

  • พระราชสมภพ - 2276 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าธิเบศร์
  • พ.ศ. 2276 - 2284 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนเสนาพิทักษ์
  • พ.ศ. 2284 - 2298 กรมพระราชวังบวรสถานมงคล

บันเทิงคดี[แก้]

มีการนำพระประวัติของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศฯ มาสร้างเป็นสื่อเพื่อความบันเทิงหลายครั้ง อาทิ ภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าธรรมาธิเบศร์ ออกฉายเมื่อ พ.ศ. 2499 นำแสดงโดยพร้อมสิน สีบุญเรือง ละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง ฟ้าใหม่ ออกฉายครั้งแรกทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เมื่อ พ.ศ. 2547 มีตัวละครหนึ่งชื่อ "เจ้าฟ้าธรรมธิเบศฯ" นำแสดงโดยอัษฎาวุธ เหลืองสุนทร และเรื่อง ศรีอโยธยา ออกฉายครั้งแรกทางช่องทรูวิชั่นส์เมื่อ พ.ศ. 2560 นำแสดงโดยปกรณ์ ลัม เป็นต้น

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๑ อักษร ก, หน้า 368
  2. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 551
  3. ราชบัณฑิตยสถาน. (2550). วารสารราชบัณฑิตยสถาน, 32(1-2). (มกราคม - มิถุนายน 2550).
  4. วรเวทย์พิสิฐ (เซ็ง ศิวะศรียานนท์), พระ. (2494). หนังสือประวัติกวีและวรรณคดีไทย. พระนคร: คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย. 168 หน้า.
  5. เล็กสุมิตร โดดชื่น. (2504). อภิธานประวัติศาสตร์ไทย ภาคสอง: นับแต่ต้นกรุงศรีอยุธยาถึงสมัยกรุงธนบุรี. พระนคร: นิติสาส์น. 860 หน้า.
  6. เชาวน์ รูปเทวินทร์. (2528). ย่ำอดีต พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับงานกู้อิสรภาพของชาติไทย เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: บริษัท พี.วาทิน พับลิเคชั่น จำกัด. 672 หน้า
  7. 7.0 7.1 7.2 "เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร". สืบค้นเมื่อ 23 March 2013.[ลิงก์เสีย]
  8. พนิดา สงวนเสรีวานิช. (2542). "เซ็กซ์ในสยาม", ศิลปวัฒนธรรม, 20(4): 85. (กุมภาพันธ์ 2542). ISSN 0125-3654 อ้างใน หลักฐานของชาวฮอลันดา.
  9. การสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้ากุ้ง
  10. กาพย์เห่เรือเจ้าฟ้ากุ้ง, หน้า 4
  11. กาพย์เห่เรือเจ้าฟ้ากุ้ง, หน้า 5
  12. เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร, หน้า 25
  13. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 626
  14. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 747
บรรณานุกรม
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
  • พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ภาค 2. [ม.ป.ท.] : [ม.ป.พ.], 2455. [สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พิมพ์ขึ้นเป็นส่วนพระราชกุศลทานมัยในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสฐสุดา, พระอรรคชายาเธอ กรมขุนอรรควรราชกัญญา, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนพิจิตรเจษฎจันทร์ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี]
  • กาพย์เห่เรือเจ้าฟ้ากุ้ง และ เสภาของสุนทรภู่แต่ง ๒ เรื่อง เสภาเรื่องพระราชพงศาวดารและเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงาม. [ม.ป.ท.] : [ม.ป.พ.], 2498. [อนุสรณ์งานฌาปณกิจศพ นายแดง ศิลปสุขุม]
  • ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๑ อักษร ก. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2549. 434 หน้า. หน้า 368-369. ISBN 974-9588-63-0
ก่อนหน้า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ ถัดไป
เจ้าฟ้าพร
(สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ)

กรมพระราชวังบวรสถานมงคลกรุงศรีอยุธยา
(ราชวงศ์บ้านพลูหลวง)

(พ.ศ. 2284 - พ.ศ. 2298)
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพรพินิต
(สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร)