กบฏวังเหรินหยิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กบฏวังเหรินหยิน
วันที่พฤศจิกายน ค.ศ. 1542
เป้าหมายจักรพรรดิเจียจิ้ง
ประเภท
  • การลอบสังหารทางการเมือง
  • การฆ่ารัดคอ
ตาย17
เจ็บ1
เหตุจูงใจการถูกทรมาน

กบฏวังเหรินหยิน (จีน: 壬寅宫變) หรือ การลุกฮือของนางใน (จีน: 宮女起義) เป็นความไม่สงบในพระราชวังช่วงราชวงศ์หมิงของประเทศจีน เมื่อนางใน (宮女) จำนวน 16 คนพยายามลอบปลงพระชนม์จักรพรรดิเจียจิ้ง (嘉靖) ด้วยการรัดพระศอใน ค.ศ. 1542 ซึ่งปฏิทินจีนเรียกว่า ปีเหรินหยิน

สาเหตุ[แก้]

จักรพรรดิเจียจิ้งเป็นที่เรียกขานกันว่า "กษัตริย์เต๋า"[1] เพราะทรงฝักใฝ่ลัทธิเต๋า ด้วยทรงเชื่อว่า เป็นหนทางสู่ความเป็นอมตะ พระองค์พอพระทัยเสวยสิ่งที่นักพรตเต๋าปรุงถวายเป็นยาอายุวัฒนะ หนึ่งในนั้น คือ "ตะกั่วแดง" (红铅) ซึ่งปรุงจากโลหิตหญิงพรหมจารี[2] และเพื่อการนี้ มีรับสั่งให้นางในอายุ 13–14 ปีบริโภคแต่น้ำค้างกับใบหม่อน จะได้มีโลหิตบริสุทธิ์มาปรุงยาถวาย[2] การบริโภคเพียงน้ำค้างและใบหม่อนทำให้นางในหลายคนล้มป่วย คนใดล้มป่วย ก็รับสั่งให้โบยตีเป็นโทษทัณฑ์[3] นักประวัติศาสตร์จึงเชื่อว่า นี้เป็นสาเหตุให้นางในจำนวนหนึ่งลุกขึ้นต่อต้านพระองค์[2]

เหตุการณ์[แก้]

ใน ค.ศ. 1542 ขณะที่จักรพรรดิเจียจิ้งบรรทม ณ ตำหนักของสนมตฺวัน (端妃) นางในจำนวน 16 คนแสร้งเข้าปรนนิบัติพระองค์ เมื่อได้ทีก็เอาเชือกคล้องพระศอและพยายามดึงรัดให้สิ้นพระชนม์[4] แต่หนึ่งในสิบหกคนนั้นเกิดเปลี่ยนใจกลางคันด้วยเกรงราชอาญา จึงหนีไปทูลแถลงต่อจักรพรรดินีเซี่ยวเลี่ย (孝烈皇后) พระมเหสีของพระองค์ จักรพรรดินีเซี่ยวเลี่ยทรงนำกำลังขันทีรุดมาจับกุมผู้ก่อการทั้งหมดได้ และแก้ไขพระองค์จนฟื้นคืนพระสติ[4]

ผู้ก่อการ[แก้]

นางในที่ร่วมปลงพระชนม์ตามที่ถูกไต่สวนและบันทึกไว้มีดังนี้

  • สนมตฺวัน (端妃) เจ้าของตำหนักที่เกิดเหตุ
  • หนิงผินหวังชื่อ (宁嫔王氏; "นางหวัง (ผู้เป็น) หนิงผิน") หัวหน้าผู้ก่อการ
  • กวัน เหมย์ซิ่ว (关梅秀) ผู้ลงมือรัดพระศอ
  • เฉิน จวี๋ฮวา (陈菊花) ผู้ลงมือรัดพระศอ
  • ซู ชวนเย่า (苏川药) ผู้ลงมือรัดพระศอ
  • สิง ชุ่ยเหลียน (邢翠莲) ผู้ลงมือรัดพระศอ
  • หยาง จินอิง (杨金英) ผู้ลงมือรัดพระศอ
  • หยาง ชุ่ยอิง (杨翠英) ผู้ลงมือรัดพระศอ
  • หยาง ยฺวี่เซียง (杨玉香) ผู้ลงมือรัดพระศอ
  • เหยา ชูชุ่ย (姚淑翠) ผู้ลงมือรัดพระศอ
  • หลิว เมี่ยวเหลียน (刘妙莲) ผู้ลงมือรัดพระศอ
  • จาง ชุนจิ่ง (张春景) ผู้สมรู้
  • เติ้ง จินเซียง (邓金香) ผู้สมรู้
  • หฺวัง ยฺวี่เหลียน (黄玉莲) ผู้สมรู้
  • สฺวี ชิวฮวา (徐秋花) ผู้สมรู้
  • จาง จินเหลียน (张金莲) ผู้กลับใจไปเปิดเผยแผนต่อจักรพรรดินี

โทษ[แก้]

แผนการไม่ลุล่วง แต่ก็ทำให้จักรพรรดิเจียจิ้งทรงมิได้พระสติไปหลายวัน จักรพรรดินีเซี่ยวเลี่ยจึงทรงลงโทษสถานหนักต่อนางในทั้งสิบหกคน ซึ่งรวมถึงจาง จินเหลียน ผู้กลับใจมาทูลแผนลับ และสนมตฺวันผู้เป็นเจ้าของตำหนัก แม้ไม่อยู่ในตำหนักเมื่อเกิดเหตุก็ตาม จักรพรรดินีทรงให้ประหารคนเหล่านั้นโดยวิธีหลิงฉือ (凌遲) คือ สับเป็นพันชิ้นหมื่นชิ้น (千刀萬剮)[4] แล้วให้เอาศพเสียบประจาน[5] นอกจากนี้ ยังทรงให้จับสมาชิกครอบครัวของนางในเหล่านั้นมาตัดศีรษะครอบครัวละ 10 คน เอาลงเป็นทาสอีกครอบครัวละ 20 คน[5]

ผลสืบเนื่อง[แก้]

การที่จักรพรรดินีเซี่ยวเลี่ยประหารสนมตฺวันคนโปรดของจักรพรรดิเจียจิ้งนั้น ทำให้จักรพรรดิโทมนัสอย่างยิ่ง ภายหลัง จักรพรรดิเจียจิ้งทรงประกาศว่า สนมตฺวันไม่รู้เห็นในการลอบปลงพระชนม์ ต่อมาใน ค.ศ. 1547 เกิดไฟไหม้ใหญ่ในพระราชวัง จักรพรรดิทรงปล่อยให้จักรพรรดินีเซี่ยวเลี่ยสิ้นพระชนม์ในกองเพลิง[6]

แต่แม้จะมีผู้ลุกฮือเพราะการคลั่งไคล้ยาอายุวัฒนะของพระองค์ จักรพรรดิเจียจิ้งก็มิได้ทรงเลิกล้มการผลิตยา กลับรับสั่งให้ควบคุมนางในอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น และใน ค.ศ. 1547 ก็มีการคัดเลือกหญิงอายุ 11–14 ปีเข้าเป็นนางในเพิ่มอีก 300 คน ต่อมาใน ค.ศ. 1552 เลือกเพิ่มอีก 200 คน อายุก็ลดลงเป็นไม่เกิน 8 ปี[2] ครั้น ค.ศ. 1555 มีการเลือกหญิงอายุต่ำกว่า 8 ปีเข้าเป็นนางในเพิ่มอีก 150 คน ทั้งนี้ เพื่อเอาโลหิตมาปรุงยาถวาย[2]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. Huang (2011), p. 7.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Huang (2011), p. 8.
  3. Zhang (2007), p. 37.
  4. 4.0 4.1 4.2 Zhang (1739)
  5. 5.0 5.1 History Office (1620s), volume 267
  6. Keith McMahon: Celestial Women: Imperial Wives and Concubines in China from Song to Qing

บรรณานุกรม[แก้]

  • History Office, บ.ก. (1620s). 明實錄:明世宗實錄 [Veritable Records of the Ming: Veritable Records of Shizong of Ming] (ภาษาจีน). Ctext.
  • Huang 黄, Weibo 伟波 (2011). "壬寅宫变与嘉靖皇帝之崇奉方术" [The palace rebellion of ‘’renyin’’ and the Jiajing Emperor’s belief in alchemy]. Xiang Chao (ภาษาจีน) (10).
  • Zhang Tingyu, บ.ก. (1739). "《明史》卷一百十四 列傳第二 后妃二" [History of Ming, Volume 114, Historical Biography 2, Empresses and Concubines 2]. Lishichunqiu Net (ภาษาจีน). Lishi Chunqiu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-14. สืบค้นเมื่อ 27 June 2017.
  • Zhang 张, Yongchang 永昌 (2007). "壬寅宫变 宫女献身" [The ‘’renyin’’ palace rebellion: palace women sacrifice themselves]. Quanzhou Wenxue (ภาษาจีน) (01).