ปลากดหลาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กดหลาว)
ปลากดหลาว
สถานะการอนุรักษ์
Not evaluated (IUCN 3.1)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Siluriformes
วงศ์: Ariidae
วงศ์ย่อย: Ariinae
สกุล: Cryptarius
สปีชีส์: C.  truncatus
ชื่อทวินาม
Cryptarius truncatus
(Valenciennes, 1840)
ชื่อพ้อง
  • Arius truncatus Valenciennes, 1840
  • Cephalocassis truncatus (Valenciennes, 1840)
  • Hemipimelodus cochlearis Fowler, 1935
  • Tachysurus truncatus (Valenciennes, 1840)

ปลากดหลาว หรือ ปลากดคันหลาว หรือ ปลากดหัวหลาว หรือ ปลากดเหลือง (อังกฤษ: Spoonsnouted catfish; ชื่อวิทยาศาสตร์: Cryptarius truncatus) ปลาหนังชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลากดทะเล (Ariidae)

มีส่วนหัวที่และจะงอยปากที่เรียวแหลมคล้ายหลาว ซึ่งเป็นไม้ที่มีเสี้ยนหนาม ฟันที่กระดูกเพดานมีขนาดเล็กปลายแหลมอยู่รวมกันเป็นรูปไข่ ขนาดของกลุมฟันเล็กกว่านัยน์ตา ปลายจะงอยปากตัดตรง ครีบหลังมีก้านครีบเดี่ยวที่สูงเป็นกระโดง ขอบด้านหน้าจักเป็นฟันเลื่อย ครีบอกมีก้านครีบเดี่ยวเป็นกระโดงสูงปลายแหลม มีหนวด 3 คู่ (ริมปากบน 1 คู่, ริมปากล่าง 1 คู่ และคาง 1 คู่) ครีบไขมันมีปลายตัดตรงอยู่ตรงข้ามครีบก้น ครีบหางเว้าลึก มีสีลำตัวเป็นสีเหลืองเหลือบเขียวหรือทอง ด้านหลังเป็นสีเขียวคล้ำ ท้องสีเหลืองปนขาวครีม [1]

มีขนาดยาวเต็มที่ได้ประมาณ 42 เซนติเมตร นิยมอยู่รวมกันเป็นฝูง เป็นปลาที่ว่ายน้ำไปมาไม่อยู่นิ่ง กินสัตว์น้ำขนาดเล็ก ๆ รวมถึง ปลาขนาดเล็กและกุ้งขนาดเล็กเป็นอาหาร เป็นปลาน้ำกร่อยที่พบได้ในแหล่งน้ำจืดบางส่วน พบกระจายพันธุ์บริเวณปากแม่น้ำหรือแม่น้ำตอนล่าง เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำบางปะกง, แม่น้ำแม่กลอง, ทะเลสาบสงขลาตอนใน รวมถึงปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม และพบได้ในกัมพูชา, มาเลเซีย จนถึงเกาะชวา และเกาะสุมาตรา ในอินโดนีเซีย[2] นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ซึ่งต้องนำมาปรับสภาพให้อาศัยอยู่ในสภาวะแวดล้อมเป็นที่เลี้ยงให้เป็นอย่างดีก่อน จัดเป็นปลาที่เลี้ยงให้รอดได้ยาก แต่ก็มีความสวยงาม และช่วยในการเก็บเศษอาหารตามก้นตู้ได้[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์. สาระน่ารู้ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 257 หน้า. หน้า 81. ISBN 974-00-8738-8
  2. Marceniuk, Alexandre P.; Menezes, Naércio A. (2007). "Systematics of the family Ariidae (Ostariophysi, Siluriformes), with a redefinition of the genera" (PDF). Zootaxa. 1416: 1–126.
  3. หน้า 110-129, Amphidromous story สุดยอดนักล่า ปลาสองน้ำ คอลัมน์ Wild Ambition โดย ชวิน ตันพิทยคุปต์, กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์, นันทวัฒน์ โชติสุวรรณ. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 3 ฉบับที่ 35: พฤษภาคม 2013

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Cryptarius truncatus ที่วิกิสปีชีส์