ข้ามไปเนื้อหา

กฎว่าด้วยเอกสิทธิ์แปดประการ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กฎว่าด้วยเอกสิทธิ์แปดประการ (จีนตัวย่อ: 八议; จีนตัวเต็ม: 八議; พินอิน: Bā Yì; อังกฤษ: Eight Deliberations) เป็นกฎหมายจีนดั้งเดิมประเภทหนึ่งที่ใช้เป็นข้อพิจารณาในการลดโทษสำหรับอภิชนบางกลุ่ม เช่น สมาชิกราชวงศ์ ขุนนาง และชนชั้นสูงอื่น ๆ

กฎว่าด้วยเอกสิทธิ์แปดประการตราขึ้นในวุยก๊ก สมัยสามก๊ก โดยพัฒนามาจากกฎแห่งโจว อันมีหลักว่า ผู้กระทำความผิดอาญา หากมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ให้ได้รับการลดโทษ คือ เป็นประยูรญาติขององค์อธิปัตย์ เป็นสหายสนิทชิดเชื้่อกับองค์อธิปัตย์ เป็นผู้มีคุณความดีอย่างใหญ่หลวง เป็นผู้มีคุณธรรมมาก เป็นข้าราชการชั้นสูง เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับการยกเว้นเป็นพิเศษ หรือเป็นอาคันตุกะขององค์อธิปัตย์หรือเป็นประยูรญาติของประมุขแห่งรัฐคนก่อน[1]

ต่อมาได้รับการตราไว้ในมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายราชวงศ์ถัง และคงได้รับนามตามเดิม โดยตามมาตรา 7 นี้ การไต่สวนและพิจารณาพิพากษาผู้มีลักษณะข้างต้นต้องได้รับราชานุญาตจากพระจักรพรรดิเสียก่อน ทว่า ในมาตรา 8 บัญญัติยกเว้นว่า มิให้ใช้มาตรา 7 หากบุคคลดังกล่าวกระทำความผิดร้ายแรงตามกฎว่าด้วยความชั่วสิบประการ[2] ซึ่งประมวลกฎหมายของราชวงศ์ต่อ ๆ มาของจีนก็มีหลักการเดียวกัน

กฎว่าด้วยเอกสิทธิ์แปดประการ ประกอบด้วย

  1. ความเป็นพระประยูรญาติกับพระจักรพรรดิ (จีนตัวย่อ: 议亲; จีนตัวเต็ม: 議親; พินอิน: Yì Qīn) ได้แก่ พระราชวงศ์หกชั้นที่สามารถเข้าร่วมพระราชพิธีพระศพพระจักรพรรดิและเครือญาติพระราชวงศ์หกชั้น รวมถึงพระอัยยิกาของพระจักรพรรดิ และพระประยูรญาติข้างพระชนนีซึ่งอยู่ในห้าชั้นที่สามารถเข้าร่วมพระราชพิธีพระศพพระจักรพรรดิ
  2. ความเป็นราชวัลลภของพระจักรพรรดิ (จีนตัวย่อ: 议故; จีนตัวเต็ม: 議故; พินอิน: Yì Gù) รวมถึง ราชวัลลภเคยสนองพระคุณเป็นเวลายาวนานแม้ต่อมาจะเกษียณแล้วก็ตาม
  3. ความเป็นผู้มีคุณธรรมสูง (จีนตัวย่อ: 议贤; จีนตัวเต็ม: 議賢; พินอิน: Yì Xián) หมายถึง ผู้มีคุณธรรมระดับที่เป็นแบบอย่างสำหรับประชาชนทั่วไป
  4. ความเป็นผู้มีความสามารถสูง (จีนตัวย่อ: 议能; จีนตัวเต็ม: 議能; พินอิน: Yì Néng) หมายถึง ผู้มีความสามารถด้านบุ๋นหรือบู๊ระดับสูงชนิดหาเปรียบได้ยากชนิดที่เป็นแบบอย่างสำหรับอนุชน
  5. ความเป็นผู้มีคุณงามความดีมาก่อน (จีนตัวย่อ: 议功; จีนตัวเต็ม: 議功; พินอิน: Yì Gōng) เช่น ผุ้เคยนำทัพใหญ่ชนะสงครามมาก่อน
  6. ความเป็นผู้มีตำแหน่งสูง (จีนตัวย่อ: 议贵; จีนตัวเต็ม: 議貴; พินอิน: Yì Guì) หมายถึง ข้าราชการตั้งแต่ระดับสามขึ้นไป
  7. ความเป็นผู้มีวิริยะสูง (จีนตัวย่อ: 议勤; จีนตัวเต็ม: 議勤; พินอิน: Yì Qín) หมายถึง ผู้เป็นข้าราชการพลเรือนหรือทหารซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ย่อท้อหรือฝ่าฟันอันตรายใหญ่หลวงเพื่อประชาชนมาก่อน
  8. ความเป็นอาคันตุกะแห่งรัฐ (จีนตัวย่อ: 议宾; จีนตัวเต็ม: 議賓; พินอิน: Yì Bīn)

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. Chü, Tung-tsu: Law and Society in Traditional China, page 177. Paris: Mouton & Co., 1965.
  2. Johnson, Wallace Stephen: The T’ang Code, Volume I, General Principles, page 83-89. Princeton: Princeton University Press, 1979.

อ้างอิง

[แก้]
  • Chü, Tung-tsu. (1965). Law and Society in Traditional China, Paris: Mouton & Co.
  • Johnson, Wallace Stephen (1979). The T’ang Code, Volume I, General Principles, Princeton: Princeton University Press.
  • Johnson, Wallace Stephen (1997). The T’ang Code, Volume II, Specific Articles, Princeton: Princeton University Press.