ป่าคดจาวัล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กจจาวัล)

ป่าคดจาวัล (เกาหลี: 곶자왈 숲, คดจาวัลซุบ; อังกฤษ: Gotjawal Forest) หมายถึง ป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ พบเฉพาะบนเกาะเชจู บริเวณที่ราบตอนกลางของเขาฮัลลา (Halla)

ลักษณะเฉพาะของป่านี้ คือ ต้นไม้จะเจริญเติบโตอยู่บนหินลาวา (ที่เกิดจากภูเขาไฟระเบิดเมื่อหลายล้านปีก่อน) และครอบคลุมบริเวณชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ

ในปัจจุบันนี้ ถึงแม้ว่าพื้นที่ป่าจะมีบริเวณกว้างและไม่ถูกบุกรุกโดยคนท้องถิ่น แต่เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศเกาหลีใต้ โดยเฉพาะบนเกาะเชจู ทำให้พื้นที่ป่าดังกล่าวเสี่ยงต่อการถูกบุกรุกและทำลายอย่างต่อเนื่อง

การศึกษาของ ดร.ซง ชี-แท (Song Shi-tae) ในปี ค.ศ. 2003 เสนอว่า มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องปกป้องพื้นที่ป่าคดจาวัล เพื่อรักษาปริมาณน้ำใต้ดินบนเกาะเชจู เนื่องจากน้ำฝนจะซึมผ่านก้อนหิน และเก็บกับในชั้นหินหรือดินตามรอยแยกของเปลือกโลกนั่นเอง

ที่มาของคำว่า คดจาวัล[แก้]

โดยทั่วไปคนพื้นเมืองบนเกาะเชจูจะเรียกป่าทุกประเภทที่ปกคลุมบริเวณหินลาวาว่า คดจาวัล ซึ่งตามปทานุกรมภาษาท้องถิ่น คำว่า คดจาวัล หมายถึง ป่าที่รกร้าง ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ เป็นป่าที่ผสมระหว่างไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม อย่างไรก็ตาม ซง ชี-แท (Song Shi-tae) เสนอความหมายใหม่ของคดจาวัลในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาว่า ควรใช้คำว่า Gotjawal Lava แทน Lava เพื่อให้ง่ายต่อการจัดสรรพื้นที่ทำกินและน้ำใต้ดิน ในปี 2004 ช็อง กวัง-จุง (Jeong Gwang-jung) ระบุว่ามีคนบางกลุ่มเห็นว่า คดจาวัล ไม่ควรมีความหมายเฉพาะลักษณะทางภูมิศาสตร์ แต่ควรรวมมุมมองทางด้านนิเวศวิทยา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมด้วย

ป่าคดจาวัลทั้งหมดจะพบในบริเวณที่เป็นหินลาวา ทำให้ยากต่อการทำเกษตรกรรม ดังนั้นความหมายที่อาจเหมาะสมของคำว่า คดจาวัล คือ ป่าที่พบเฉพาะบนเกาะเชจู ที่ยากต่อการทำเกษตรกรรม เนื่องจากปกคลุมไปด้วยหิน

ลักษณะเฉพาะ[แก้]

ป่าคดจาวัลมีลักษณะสำคัญ 3 อย่างคือ เกิดขึ้นบนหิน, มีพืชเฉพาะถิ่นที่สำคัญกับระบบนิเวศ และช่วยให้น้ำฝนซึมผ่านและเก็บกับเป็นน้ำใต้ดิน

พื้นที่ที่เต็มไปด้วยหิน[แก้]

ป่าคดจาวัลเกิดขึ้นบนพื้นที่ของหิน ทำให้ยากต่อการพัฒนาให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ดังนั้นพื้นที่ป่ายังไม่ถูกบุกรุกมากนักจนถึงศตวรรษที่ 20 ในปี 2000 การศึกษาของซง ชี-แท (Song Shi-tae) ได้ยืนยันว่าผืนป่าคดจาวัลส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนหินลาวาชนิด AA และจากการลงพื้นที่ ทำให้เขาสามารถระบุพื้นที่ป่าคดจาวัลบนเกาะเชจูได้เป็น 4 แห่งใหญ่ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาเพื่อเติมพบว่า ป่าคดจาวัลตั้งอยู่บนหินลาวาสองชนิด คือ อาอา (ʻAʻā) และปาโฮเวโฮเว (Pāhoehoe) ดร.ซง ชี-แท จึงเสนอชื่อใหม่คือ บิลเลลาวา (Bille Lava) อ้างอิงจากภาษาท้องถิ่นนั่นเอง

ที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์[แก้]

จากวิทยานิพนธ์ของ ยิม อึนยัง (Yim Eun Young) บริเวณที่เรียกว่า ดงแบ็กดงซัน (Dong Baek Dong San) หมายถึงป่าคามิเลีย ที่กินพื้นที่ราว 590,083 ตารางเมตร และเป็นส่วนหนึ่งของป่าคดจาวัลที่ตั้งอยู่ถนน San 12, หมู่บ้านซ็อนฮึล (Seonheul-ri), ตำบลโชช็อน (Jocheon-eup), เมืองเชจู เป็นที่เดียวที่พบ Mankyua chejuense ซึ่งเป็นพืชในตระกูลเฟิร์นชนิดใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบ ยิม อึนยังสรุปว่า พื้นที่บริเวณนี้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญสำหรับพืชตระกูลเฟิร์น (bryophyte) เป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อมของเกาหลีใต้ได้พบพันธุ์ไม้หายาก และสัตว์หลายชนิดที่ใกล้สูญพันธ์ในป่าคดจาวัลด้วย โดยคิดเป็นร้อยละ 15 ของพันธุ์พืชและสัตว์ทั้งหมดที่พบในเกาหลีใต้ (ประมาณ 600 สปีชีส์ จาก 4,000 สปีชีส์ของสิ่งมีชีวิตที่พบในเกาหลีใต้ทั้งหมด) ทั้งนี้ยังมีแพลงตอนอีก 5 ชนิดใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบจากการสำรวจป่าคดจาวัลในปี 2005 อย่างไรก็ตามยังคงมีบริเวณป่าคดจาวัลบนเกาะเชจูที่ยังไม่มีการสำรวจอีกมาก

น้ำใต้ดิน[แก้]

บนเกาะเชจู ปริมาณน้ำฝนประมาณร้อยละ 46 จะซึมผ่านหินลาวาที่มีอยู่ทั่วไปบนเกาะ ซึ่งเป็นปริมาณน้ำฝนที่ถูกดูดซึมลงชั้นใต้ดินมากที่สุดในเกาหลีใต้ ทำให้เกาะเชจูมีน้ำใต้ดินที่สะอาดและเป็นแหล่งน้ำดื่มที่สำคัญ ป่าคดจาวัลมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้น้ำฝนสามารถซึมผ่านหินและเก็บกักในชั้นหินหรือชั้นดินที่อยู่ใต้พื้นโลก กลายเป็นแหล่งน้ำใต้ดินที่บริสุทธิ์ ทั้งนี้จะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีแม่น้ำไม่กี่สายในป่าทางด้านตะวันออกและตะวันตกบนเกาะเชจู เนื่องจากป่าคดจาวัลครอบคลุมบริเวณดังกล่าว ทำให้น้ำฝนปริมาณมากซึมลงใต้ดิน ในขณะที่พื้นที่ทางเหนือและใต้ของเกาะจะมีแม่น้ำเล็ก ๆ หลายสาย