ไม้ประดับ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปาล์ม
ตัวอย่างไม้ดอก : ดาวเรือง

ไม้ประดับ หมายถึงพืชที่ปลูกไว้เพื่อความสวยงามที่มากขึ้น ใช้ประดับตกแต่งอาคารบ้านเรือนให้เกิดความเจริญตา ส่วนใหญ่ไม้ประดับมักเป็นพืชดอก จึงเรียกรวมกันว่า ไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งความเป็นจริงแล้วไม้ประดับไม่จำเป็นต้องมีดอกก็ได้ เพียงมีใบที่ดูดีหรือมีสีสันสวยงามก็ใช้ได้ ไม้ประดับมีขนาดเล็กหรือขนาดย่อมพอเหมาะแก่พื้นที่จัดตกแต่ง อาจปลูกไว้ในกระถาง ปลูกลงดิน หรือแขวนห้อยไว้ก็ได้

ปาล์ม[แก้]

ปาล์มเป็นพืชที่มีอยู่ในโลกมานานกว่า 80 ล้านปี ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กระจัดกระจายในเขตร้อนของโลกรวมทั้งประเทศไทย ปาล์มมีอยู่ทั่วโลกเกือบ 4,000 ชนิด มีไม่กี่ชนิดขึ้นอยู่ในเขตอบอุ่น ทุก ๆ ปี จะพบปาล์มชนิดใหม่ ๆ 1-2 ชนิดอยู่เสมอ และมีการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติด้วย

ปาล์มเป็นพืชที่มีวงศ์ใหญ่ที่สุด (รองจากหญ้า) ทั้งจำนวน ชนิด ละปริมาณ ปัจจุบันพบในหลายพื้นที่ทั่วโลก สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพภูมิอากาศที่หลากหลาย จำแนกได้กว่า 210 สกุล ปาล์มจัดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ไม่แตกกิ่งก้านสาขา ก้านใบยาวและใหญ่ ลักษณะใบแตกต่างกัน ลำต้นเป็นข้อ ดอกหรือจั่นขนาดเล็กและแข็งแรงไม่มีกลิ่นหอม ผลโดยมากมีเปลือกแข็ง มีขนาดตั้งแต่เล็กไปจนถึงใหญ่ ปัจจุบันคนไทยให้ความสนใจปลูกปาล์มเป็นไม้ประดับมากขึ้น รวมทั้งมีการนำพันธุ์ปาล์มจากต่างประเทศเข้ามาขยายพันธุ์มากขึ้น ซึ่งปาล์มแต่ละชนิดมีลักษณะที่เด่นและสวยงามแตกต่างกัน เช่น ปาล์มพันธุ์อ้ายหมี พันธุ์เชอรี่ และพันธุ์คาร์พ็อกซีลอน ปาล์มเคราฤๅษี ปาล์มช้างร้องไห้ ปาล์มบังสูรย์ ปาล์มเจ้าเมืองถลาง ปาล์มพระราหู ปาล์มเจ้าเมืองตรัง ปาล์มศรีสยาม เป็นต้น

ปรง[แก้]

ปรงถูกกล่าวถึงว่าเป็นพืชโบราณที่ยังหลงเหลืออยู่ มีเมล็ดแต่ไม่มีดอก ปรงส่วนใหญ่อยู่ในตระกูล Cycadaceae เป็นพืชเมล็ดเปลือย (gymnosperm) ตระกูลปรงจัดอยู่ในอันดับ Cycadales ร่วมวงศ์กับ Zamiaceae ตระกูลปรงมีประมาณ 10 สกุล ในประเทศไทยพบเฉพาะสกุล Cycas ซึ่งมีอยู่ประมาณ 100 ชนิด มีการกระจายพันธุ์ในเอเชีย ออสเตรเลีย และมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตะวันตกเฉียงใต้แถบหมู่เกาะนิวคาเลโดเนียและตองก้า ‘‘ลักษณะเด่น’’ มีใบประกอบแบบขนนกเรียงหนาแน่นเป็นเรือนยอด แยกเพศต่างต้น

พืชตระกูลปรงมีลักษณะคล้ายพืชตระกูลปาล์ม มีลำต้นเหนือพื้นดิน ใบแฉกแบบขนนก เรียงเวียนสลับใบย่อยด้านล่าง มีกลดลูกเป็นหนามแหลม ใบย่อยรูปแถบหนามีจำนวนมาก เส้นกลางใบนูนเด่นชัด ไม่มีเส้นแขนงใบ มีเกล็ดหุ้มยอด ใบสร้างอับไมโครสปอร์โคนเพศผู้มีจำนวนมาก รูปลิ่มปลายแหลมคล้ายหนาม เรียงเวียนเป็นรูปโคน ตั้งขึ้นที่ยอดลำต้น เรียกว่า male cone หรือ pollen cone ใบสร้างอัเมกาสปอร์โคนเพศเมียเรียงเป็นกลุ่มคล้ายใบกระจุกแบบกุหลาบซ้อน แต่ละสปอร์โรฟิลล์มีก้านปลายเป็นแฉกแบบขนน กรองรับโอวุล เมล็ดทรงกลมหรือรี ผิวส่วนมากเรียบ ขนาดค่อนข้างใหญ่ มีเนื้อสดหนา ด้านนอกด้านในแข็งเป็นเนื้อไม้ มีใบเลี้ยง 2 ใบ ปรงในประเทศไทยมีอยู่ 12 ชนิด ได้แก่ ปรงญี่ปุ่น ปรงป่า ปรงเขา ปรงเขาชะเมา ปรงตากฟ้า ปรงทะเล ปรงเท้าช้าง ปรงเหลี่ยม ปรงผา ปรงหิน ปรงปราณบุรี ปรงเดอบาวเอนซิส

ไม้ในร่ม[แก้]

เป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูกในโรงเรือนหรือในร่ม มีทั้ง ‘ไม้ยืนต้น’ เช่น หมากแดง หนวดปลาหมึก ปาล์มหลายชนิด เป็นต้น ประเภท ‘ไม้พุ่ม’ เช่น กวนอิม ขิงแดง คล้า จั๋ง วาสนา สาวน้อยประแป้ง หมากผู้หมากเมีย เอื้องหมายนา อโกลนีมา เป็นต้น ประเภท ‘ไม้คลุมดิน’ เช่น เฟิร์น กำแพงเงิน สับปะรดประดับ เป็นต้น และประเภท ‘ไม้เลื้อย’ เช่น พลูด่าง ฟิโลเดนดรอน โฮย่า เป็นต้น โดยพันธุ์ไม้เหล่านี้สามารถอาศัยอยู่ในสภาพร่มเงาได้ดี

พันธุ์ไม้หอม[แก้]

พันธุ์ไม้หอมมีความสำคัญทางศิลปวัฒนธรรมของไทยที่บ่งบอกถึงความเป็นชาติที่มีอารยธรรมอันยาวนาน ซึ่งปรากฏในวรรณคดีไทยหลายยุคหลายสมัย มีการนำพรรณไม้หอมมาปลูกเลี้ยงกันตั้งแต่สมัยสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ แรกเริ่มสมัยสุโขทัยส่วนใหญ่เป็นไม้ต้นที่คัดเลือกมาจากป่า เป็นไม้ไทยพื้นเมือง เช่น จำปี พุด ลำดวน สารภี บุนนาค มะลิ เมื่อนำมาปลูกเลี้ยงก็สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพถิ่นที่อยู่ใหม่ได้ดี

ในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเริ่มมีการนำพันธุ์ไม้หอมจากต่างประเทศเข้ามาปลูกในประเทศไทย ดังปรากฏในหลักฐานทางวรรณคดีที่กล่าวถึงไม้หอมต่าง ๆ ได้แก่ การเวก กระดังงา กุหลาบมอญ ส้มโอ พุทธชาด พุดซ้อน สายหยุด พิกุล เป็นต้น ต่อมาความนิยมได้เพิ่มมากขึ้น จึงมีการนำเข้าพรรณไม้จากต่างประเทศโดยเฉพาะสมัยรัตนโกสินทร์และจนถึงทุกวันนี้ ทำให้ลักษณะของไม้หอมมีหลากหลายชนิดและหลากหลายสกุล มีทั้งที่เป็นไม้พื้นเมืองหรือกระจายพันธุ์มาจากประเทศใกล้เคียง เช่น ไม้หอมวงศ์กระดังงา ไม้หอมวงศ์โมก วงศ์จำปา วงศ์มะลิ วงศ์เข็ม พันธุ์ไม้หอมที่เกี่ยวกับพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ของประเทศไทย ได้แก่ กุหลาบควีนสิริกิต์ โมกราชินี จำปีสิรินธร

ไม้มงคล[แก้]

ต้นไม้บางชนิดจะให้ดอกที่มีสีสันสวยงามและให้คุณประโยชน์ มีไม้บางชนิดที่กำหนดให้เป็นไม้มงคล จากความเชื่อที่ว่าทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของหรือผู้ปลูก และมีไม้มงคล 9 ชนิด ที่ใช้ในพิธีวางศิลาฤกษ์ ก่อนการสร้างอาคารบ้านเรือน โดยปักไม้มงคลลงพื้นและลงอักขระที่เรียกว่า หัวใจพระอิติปิโส ได้แก่ อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ ลงบนท่อนไม้ชนิดละอักขระ พร้อมทั้งปิดทองทั้ง 9 ท่อน โดยปักวนจากซ้ายไปขวา(ทักษิณาวรรต) ไม้มงคลทั้ง 9 ชนิด ได้แก่ ราชพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ กันเกรา สัก ทองหลาง พะยูง ขนุน ทรงบาดาล และไผ่สีสุก

ไม้ดัด[แก้]

ไม้ดัด คือ ไม้ที่นำมาปลูกลงในกระถางหรือปลูกลงดิน แล้วตัดกิ่ง ก้านและตัดแต่งใบให้เป็นพุ่มหรือตัดแต่งให้เป็นรูปทรงต่าง ๆ ตามต้องการ หรือตามแบบแผนที่เป็นที่นิยมกันมาในหมู่ผู้ชื่นชอบไม้ดัดมาแต่โบราณ ไม้ดัดจัดได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทนำต้นไม้ใหญ่มาทำให้เป็นต้นไม้เล็ก เช่น ไม้เอนชาย ไม้ญี่ปุ่น และประเภทนำไม้ใหญ่มาตัดให้เป็นรูปทรงแบบต่าง ๆ การเลือกพันธุ์ไม้ดัดมาปลูกเลี้ยงนั้น จำเป็นจะต้องคำนึงถึงคุณลักษณะที่สำคัญของพันธุ์ไม้ชนิดนั้น ๆ คือ มีกิ่งเหนียวสามารถดัดให้โค้งงอได้ตามต้องการ ไม่เปลี่ยนแปลงรูปทรงหลังจากดัดแล้ว ไม่เจริญเติบโตเร็วเกินไป ใบมีขนาดเล็กเพื่อเหมาะสมกับหุ่น เปลือกควรมีความสวยงาม เช่น ผิวขรุขระหรือมีรอยแยก เป็นพันธุ์ไม้ที่มีอายุยืนนาน ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ เป็นพันธุ์ไม้ที่หาง่ายในท้องถิ่น ไม้ที่นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ดัด ได้แก่ ตะโก ตะโกนา ตะโกสวน ตะโกพนม มะสัง ข่อย ไกร ไทรย้อยใบแหลม ไทรย้อยใบทู่ โพธิ์ มะเดื่ออุทุมพร โมกบ้านโมกป่า เฟื่องฟ้า มะเกลือ มะขาม มะขามเทศ ชาปัตตาเวีย มะนาวเทศ ทับทิม ทับทิมหนู ฮกเกี้ยน เป็นต้น

ในส่วนของการส่งเสริมวิชาชีพเกษตรของวิทยาลัยเกษตรกรรมทั่วทั้งประเทศไทยก็ได้มีการส่งเสริมให้ความรู้กับเกษตรกรในพื้นที่มีความสนใจในการปลูกเลี้ยงไม้ประดับชนิดต่าง ๆ เพื่อประดับบ้านเรือนหรือเพื่อเป็นการหารายได้

อ้างอิง[แก้]

  • เอกสารวิชาการงานราชพฤกษ์ 2549:กรมวิชาการ “ไม้ประดับ”
  • เอกสารวิชาการงานราชพฤกษ์ 2549:กรมวิชาการ “ไม้ดอกไม้ประดับ”
  • เอกสารวิชาการงานราชพฤกษ์ 2549:กรมวิชาการ “เรือนร่มไม้”
  • เอกสารวิชาการงานราชพฤกษ์ 2549:กรมวิชาการ “ไม้ร้อนชื้น”