ข้ามไปเนื้อหา

พระเศวตคชเดชน์ดิลก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ)
พระเศวตคชเดชน์ดิลก
สปีชีส์ช้าง
สายพันธุ์ช้างอินเดีย
เพศผู้
เกิด6 พฤษภาคม พ.ศ. 2469
ป่าแม่ยางมิ้ม จังหวัดเชียงใหม่ มณฑลพายัพ ประเทศสยาม
ตาย19 มกราคม พ.ศ. 2487 (17 ปี)
โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2470–2478
เป็นที่รู้จักสำหรับช้างเผือกประจำรัชกาลที่ 7
ยศพระ
เจ้าของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว​ (พ.ศ. 2470–2484)
พ่อแม่พังหล้า

พระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ เป็นช้างเผือกประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตกที่ป่าแม่ยางมิ้ม อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ [1] เมื่อวันศุกร์ แรม 11 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล ตรงกับวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2469[2] เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 และนาย ดี.เอฟ. แมคฟี ผู้จัดการป่าไม้บริษัทบอร์เนียว ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย ในคราวเสด็จพระราชดำเนินมณฑลพายัพ[3] พร้อมกับพระราชพิธีทูลพระขวัญ และพระราชทานพระแสงราชศัสตรานครเชียงใหม่ และพระราชพิธีพระราชทานธงประจำกองลูกเสือของมณฑลพายัพ เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2469 ณ บริเวณสนามหน้าโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย[4] ซึ่งมีเจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) เป็นแม่กองสร้างโรงช้าง และขนย้ายมาที่กรุงเทพมหานครพร้อมกับแม่ช้างชื่อ "พังหล้า" สูง 7 ฟุต 4 นิ้ว ทางรถไฟเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 [5]

พระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ มีลักษณะสำคัญดังนี้ [2]

  • หนังสีบัวโรย
  • ขนตามตัวแลศีรษะต้นแดงปลายขาว เมื่ออยู่กับตัวสีบัวโรย
  • ตาสีฟ้าอ่อน
  • เพดานขาว
  • ขนที่หูขาว
  • เล็บขาว
  • อัณฑโกสขาว (อัณฑโกส = เปลือกไข่)
  • ขนที่หางต้นแดงปลายขาว

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ประกอบพระราชพิธีสมโภช และขึ้นระวางเป็นช้างสำคัญ เมื่อวันที่ 15-16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 พระราชนามว่า [6]

พระเศวตคชเดชน์ดิลก ประชาธิปกปทุมรัตนดำริ
เทวอัคนีนิรุฒชุบเชิด กำเนิดนภีสีฉวนเฉลียง
ฉวีเยี่ยงบุษกรโกมล นขาขนขาวผ่องแผ้ว
แก้วเนตรน้ำเงินงามลึก วันวณึกบรรณาการ
คชเชนทรยานยวดยิ่ง มิ่งมงคลฉนำเฉลิมฉัตร
สัตตมกษัตรทรงศร อมรรัตนโกสินทร์
รบือรบินบารมีทศ ยืนพระยศธรรมราชัย
นิรามัยมนุญคุณ บุณยโศลกเลิศฟ้า ๚

มีเรื่องเล่ากันว่า ในคืนวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คืนก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ ซึ่งยืนโรงอยู่ ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต ได้ส่งเสียงร้องประหลาดตลอดทั้งคืน เมื่อถึงเวลารุ่งสาง คณะราษฎรก็ก่อการ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ใกล้กับโรงช้างต้นนั้น [2][7]

เมื่อพระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ โตขึ้น มีลักษณะแปลก คือมีงางอกออกมาไขว้กัน มีเรื่องเล่าว่าวันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ ได้ยกงวงขึ้นไปติดบนงา แล้วเอาลงไม่ได้ เจ็บปวดร้องครวญครางอยู่หลายวัน เจ้าหน้าที่แก้ไขอย่างไรก็ไม่หาย จึงจำเป็นต้องเลื่อยงาทั้งสองออก ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้เคียงกับวันที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็ตสวรรคต เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 [7][2]

พระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ ยืนโรงอยู่ ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต (ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ช้างต้น) คู่กับ พระเศวตวชิรพาหฯ เป็นเวลา 16 ปี จึงล้มลงเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2486

อ้างอิง[แก้]

  1. ศรัณย์ ทองปาน. ช ช้าง กับ ฅ ฅน. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สารคดี, พ.ศ. 2550. หน้า หน้าที่. ISBN 974-484-215-6
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. ย้อนหลังบางแง่มุม ในพระราชกรณียกิจของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กุลการพิมพ์, 2543. 120 หน้า. ISBN 974-87790-7-6
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-09. สืบค้นเมื่อ 2008-01-19.
  4. พระราชพิธีสมโภชช้างเมืองเชียงใหม่[ลิงก์เสีย]
  5. จดหมายเหตุ จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช
  6. นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ, คำฉันท์ดุษฎีสังเวย กล่อมแลกาพย์ขับไม้บำเรอพระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ, พ.ศ. 2470
  7. 7.0 7.1 พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕. กรุงเทพฯ : มติชน, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2542, พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2551. 183 หน้า. ISBN 978-974-322-121-2 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum