โรซาลินด์ แฟรงคลิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรซาลินด์ แฟรงคลิน
เกิด25 กรกฎาคม พ.ศ. 2463
นอตติงฮิล กรุงลอนดอน
เสียชีวิต16 เมษายน พ.ศ. 2501 (อายุ 37 ปี 9 เดือน)
เชลซี กรุงลอนดอน
สาเหตุเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งรังไข่
สัญชาติอังกฤษ
ศิษย์เก่าวิทยาลัยนิวน์แฮม มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
มีชื่อเสียงจากโครงสร้างละเอียดของถ่านหินและแกรไฟต์, โครงสร้างดีเอ็นเอ, โครงสร้างไวรัส
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาการถ่ายภาพผลึกด้วยรังสีเอกซ์
สถาบันที่ทำงานสถาบันวิจัยอรรถประโยชน์ถ่านหินแห่งสหราชอาณาจักร
ห้องปฏิบัติการกลางเคมีบริการแห่งชาติฝรั่งเศส
ราชวิทยาลัย และวิทยาลัยเบิร์กเบค มหาวิทยาลัยลอนดอน

โรซาลินด์ เอลซี แฟรงคลิน (25 กรกฎาคม พ.ศ. 246316 เมษายน พ.ศ. 2501) เป็นนักเคมีและผลึกวิทยาชาวอังกฤษผู้มีบทบาทสำคัญในการค้นพบดีเอ็นเอ ตลอดจนศึกษาโครงสร้างของ อาร์เอ็นเอ และไวรัส แม้ในตอนแรกเธอจะทำงานวิจัยด้านถ่านหินและการศึกษาด้วยรังสีเอกซ์ แต่เทคนิคที่เธอใช้ก็ได้นำมาศึกษาโครงสร้างของสารชีวโมเลกุลจนทำให้เพื่อนร่วมงานของเธอได้รับรางวัลโนเบล อย่างไรก็ตาม ด้วยการทำงานในสถานที่ที่มีรังสีเอกซ์อยู่มาก ทำให้เธอต้องถึงแก่กรรมก่อนวัยอันควร

ผลงานที่รู้จักกันดีของโรซาลินด์ แฟรงคลิน คือ โฟโต 51 หรือภาพถ่ายจากการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ของดีเอ็นเอ ซึ่งนำไปสู่การค้นพบโครงสร้างเกลียวคู่ของดีเอ็นเอ เจมส์ วัตสัน และฟรานซิส คริก แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้นำข้อมูลของเธอไปใช้[1]ในการตั้งสมมติฐานว่าด้วยโครงสร้างของดีเอ็นเอ[2] โฟโต 51 ได้ให้รายละเอียดยืนยันว่าดีเอ็นเอมีโครงสร้างเป็นรูปเกลียวอย่างชัดเจน แต่จากการที่โรซาลินด์มิได้รับรู้ว่าคณะวิจัยของเจมส์ วัตสัน ได้นำรูปของเธอไปใช้สร้างแบบจำลองโดยไม่บอกกล่าวขออนุญาตเลย จึงทำให้บทบาทของเธอในการค้นพบดีเอ็นเอถูกมองข้ามไป

ประวัติ[แก้]

ชีวิตวัยเยาว์[แก้]

โรซาลินด์ แฟรงคลิน เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2463 ในตระกูลนายธนาคารเชื้อสายยิว[3]ที่นอตติงฮิล (Notting Hill) กรุงลอนดอน[4] เป็นบุตรีคนที่สองจากบุตรธิดาทั้งห้าคนของเอลลิส อาร์เทอร์ แฟรงคลิน (Ellis Arthur Franklin, พ.ศ. 2437 - พ.ศ. 2507) และเมอเรียล ฟรานเซส วาเลย์ (Muriel Frances Waley, พ.ศ. 2437 - พ.ศ. 2519)

ตระกูลแฟรงคลิน ตลอดจนถึงญาติของโรซาลินด์จำนวนหนึ่งได้มีบทบาทหลายประการต่อชาวยิวและสตรี ทวดของเธอ เฮอร์เบิร์ต แซมมวล (Herbert Samuel) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษในช่วงปี พ.ศ. 2459 ถือว่าเป็นคนยิวคนแรกที่ได้ที่นั่งในรัฐสภา[5] นอกจากนี้ยังได้เป็นข้าหลวงใหญ่ประจำรัฐในอารักขาปาเลสไตน์อีกด้วย ส่วนป้าของเธอ เฮเลน คาโรลิน แฟรงคลิน (Helen Carolin Franklin) ก็ได้เป็นสตรีที่มีบทบาทในสหภาพแรงงาน และองค์กรเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางการเมืองของสตรีอีกด้วย[6][7]

ในวัยเด็ก โรซาลินด์เข้าเรียนที่โรงเรียนสตรีเซนต์พอล (St Paul's Girls' School)[8][9] ระหว่างการศึกษา โรซาลินด์เป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ทางการเรียนอย่างมาก โดยทำคะแนนได้ดีในวิชาวิทยาศาสตร์ ภาษาลาติน[10] และพลศึกษา[11] ยิ่งไปกว่านั้น ครอบครัวของเธอมีบทบาทในการส่งเสริมให้ผู้ใหญ่ได้รับการศึกษา โดยเอลลิสผู้เป็นบิดาของเธอได้สอน วิชาไฟฟ้า แม่เหล็ก และประวัติศาสตร์สงคราม ในเวลาต่อมาเอลลิสก็ได้ขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนผู้ใหญ่เวิร์กกิงเมน (Working Men's College) นอกจากการส่งเสริมการศึกษาแล้ว ตระกูลแฟรงคลินยังได้ช่วยให้ชาวยิวที่หนีภัยสงครามจากนาซีเยอรมันให้ได้มีที่ทำกินเป็นหลักฐานอีกด้วย[7]

การศึกษา[แก้]

เมื่ออายุได้ 18 ปี โรซาลินด์เข้าศึกษาที่วิทยาลัยนิวน์แฮม (Newnham College) อันเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยเลือกศึกษาในหลักสูตรศิลปศาสตร์สาขาวิชาเคมี สี่ปีให้หลังจากนั้น เธอได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับสอง ซึ่งก็ทำให้สามารถเริ่มชีวิตในฐานะนักวิจัย หลังจากการศึกษาในระดับปริญญาตรีแล้ว โรซาลินด์เข้ารับราชการเป็นเจ้าพนักงานผู้ช่วยวิจัยที่สถาบันวิจัยอรรถประโยชน์ถ่านหินแห่งสหราชอาณาจักร (British Coal Utilization Research Association; BCURA) ซึ่งตั้งอยู่ชานกรุงลอนดอนด้านตะวันตกเฉียงใต้ ณ ที่นี่ เธอได้ศึกษาสมบัติความพรุนของถ่านหินจนมีแรงบันดาลใจทำดุษฎีนิพนธ์หัวข้อ สมบัติทางเคมีฟิสิกส์ของสารคอลลอยด์อินทรีย์เทียบกับถ่านหิน โดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ก็ได้ให้ปริญญาเอกแก่เธอเมื่อ พ.ศ. 2488 จากนั้นงานวิจัยหลายฉบับก็ได้ออกจากมือของเธออย่างต่อเนื่อง[12]

ชีวิตการงาน[แก้]

ภาพถ่ายการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ของดีเอ็นเอที่เรย์มอนด์ กอสลิง ศิษย์ของโรซาลินด์ แฟรงคลินได้ถ่ายไว้ ภาพนี้ถูกขนานนามว่า โฟโต 51

ครั้นสิ้นสุดสงคราม โรซาลินด์ได้พบกับอาเดรียน ไวล์ (Adrienne Weill) นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้เป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยนิวน์แฮม โดยเธอได้ออกตัวว่า "เป็นนักเคมีเชิงฟิสิกส์ผู้รู้ไม่มากในสาขาเคมีเชิงฟิสิกส์ แต่กลับรู้มากเกี่ยวกับรูพรุนในถ่านหิน" เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง พ.ศ. 2489 อาเดรียนแนะให้โรซาลินด์พบกับมาร์เซล มาโชว (Marcel Mathieu) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส อันเป็นเครือข่ายสถาบันวิจัยที่รัฐบาลฝรั่งเศสสนับสนุน

ในเวลาต่อมา โรซาลินด์ก็ได้พบกับชาก แมริง (Jacques Mering) นักวิจัยห้องปฏิบัติการกลางเคมีบริการแห่งชาติฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิกวิทยารังสีเอกซ์ ขณะนั้นชากทำงานวิจัยด้านการศึกษาสมบัติของผ้าเรยอนและสารอสัณฐาน (amorphous) ด้วยเทคนิคการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ เทคนิคเดียวกันนี้เองได้มีการนำมาใช้ศึกษาผลึกธรรมดาจนเป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งมาก่อนหน้าหลายปีแล้ว ณ ที่นี่ ชากได้สอนให้โรซาลินด์ใช้งานเทคนิคนี้กับการวิเคราะห์สารอสัณฐาน ซึ่งนับว่าท้าทายยิ่งนักทั้งในด้านการทดลองและการแปลผลการทดลอง โรซาลินด์ได้นำเทคนิคเดียวกันนี้มาใช้ศึกษาถ่านหิน เพื่อศึกษาการจัดเรียงตัวของอะตอมเมื่อถ่านหินถูกอัดตัวให้เป็นกราไฟต์ ในที่สุดเธอก็ได้ตีพิมพ์บทความหลายฉบับ อันเป็นรากฐานของงานวิจัยด้านฟิสิกส์และเคมีของถ่านหิน[13][14]

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2494 โรซาลินด์เข้าเป็นผู้ช่วยวิจัยที่หน่วยวิจัยชีวฟิสิกส์ ณ ราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยลอนดอน ภายใต้การนำของจอห์น แรนดอล (John Randall)[15] แม้เดิมทีโรซาลินด์ประสงค์จะศึกษาการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์กับโปรตีนและไขมันในสารละลาย จอห์นกลับให้คำแนะนำแก่เธอว่าให้เปลี่ยนสายไปศึกษาสมบัติของดีเอ็นเอ จากความเชี่ยวชาญและชำนาญที่เธอสั่งสมมา โรซาลินด์ก็เข้าทำงานเป็นนักวิจัยรังสีเอกซ์ที่ราชวิทยาลัยนับแต่นั้นมา[16][17]

ขณะที่ทำงานที่ราชวิทยาลัย โรซาลินด์ได้พบกับมอริส วิลคินส์ (Maurice Wilkins) และเรย์มอนด์ กอสลิง (Raymond Gosling) นักศึกษาปริญญาเอก แม้ว่าเขาทั้งสองจะทำงานวิจัยด้านการถ่ายภาพดีเอ็นเอด้วยรังสีเอกซ์มาก่อนแล้วก็ตาม แต่โรซาลินด์มิได้ทราบล่วงหน้าว่าตนต้องทำงานที่ทั้งสองคนทำมาก่อนหน้าแล้ว[18] จนเกิดปากเสียงกันระหว่างเธอกับมอริส อย่างไรก็ดี ความชำนาญของเธอก็กลับเป็นประโยชน์แก่งานของเรย์มอนด์ผู้เป็นศิษย์ โดยได้ใช้หลอดกำเนิดรังสีเอกซ์อย่างดีร่วมกับกล้องขนาดเล็ก แทนที่จะใช้เครื่องมืออย่างหยาบ ๆ เช่นแต่ก่อน จนทำให้ได้ภาพที่มีคุณภาพมากขึ้น นอกจากนี้ จากการที่โรซาลินด์มีความชำนาญในสาขาวิชาเคมีเชิงฟิสิกส์ ก็ทำให้เธอนึกถึงโครงสร้างผลึกที่แตกต่างกันระหว่างขณะที่มีน้ำและไม่มีน้ำภายในผลึก[19] จนทำให้สามารถศึกษาตวามแตกต่างกันของสายใยดีเอ็นเอได้ กล่าวคือ เมื่อดีเอ็นเอชื้น จะมีลักษณะยาวและเล็ก ในทางกลับกันเมื่อดีเอ็นเอแห้ง ก็จะมีลักษณะสั้นและกลม เรียกดีเอ็นเอทั้งสองชนิดนี้ว่า DNA "B" และ DNA "A" ตามลำดับ[20][21]

โดยส่วนตัว โรซาลินด์เป็นคนที่มีนิสัยตรงไปตรงมาและดุดัน แต่มอริสกลับมีนิสัยเขินอายและเงียบสงบ[22] ไม่นานนักเมื่อเรื่องเข้าหูจอห์น ผู้เป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการ[23] เขาจึงสั่งให้ทั้งสองคนแยกงานกันทำ โรซาลินด์เลือกศึกษาดีเอ็นเอชนิด A ซึ่งมีข้อมูลจำนวนมาก ส่วนมอริสเลือกชนิด B[24][25] จากการศึกษา มอริสสันนิษฐานว่าโครงสร้างของดีเอ็นเอต้องเป็นเกลียว ภาพถ่ายโครงสร้างดีเอ็นเอในขณะนั้น ถูกขนานนามว่า photo 51 และจัดให้เป็น "ภาพถ่ายที่สวยงามที่สุดในบรรดาสารที่ได้ศึกษา" โดยจอห์น เบอร์นัล (John Bernal)

ปลายปี พ.ศ. 2494 ข้อสรุปจากการทดลองเบื้องต้นได้กล่าาวว่าดีเอ็นเอชนิด B มีโครงสร้างเป็นเกลียว แต่ในปีถัดมานั้นเอง โรซาลินด์ถ่ายภาพรังสีเอกซ์และพบว่ามีภาพที่ไม่สมมาตร จนเธอไม่มั่นใจว่าดีเอ็นเอจะยังคงเป็นโครงสร้างแบบเกลียวหรือไม่[26] ด้วยนิสัยไม่เครียดของมอริสก็ทำให้เขาแกล้งเขียนจดหมายตัดพ้อว่า "ฤๅดีเอ็นเอ A รูปเกลียว จะตายจากโลกนี้เสียแล้ว"[27] แต่งานวิจัยยังไม่สิ้นสุดแค่นั้น โรซาลินด์และเรย์มอนด์ต่างก็ทำงานประยุกต์ฟังก์ชันแพทเทอร์สัน (Patterson function) กับภาพถ่ายรังสีเอกซ์ที่ทำได้[28]

ไวรัสใบด่างในยาสูบ

จากการทำงานอันแสนทรหดและยาวนาน ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2496 โรซาลินด์ได้ข้อสรุปแน่นอนว่าดีเอ็นเอมีโครงสร้างเป็นเกลียว จากนั้นจึงได้เขียนบทความวิจัยไว้สามบทความ ซึ่งสองบทความที่ส่งไปยังที่ประชุมอักตาคริสตัลโลกราฟิกา (Acta Crystallographica) ณ กรุงโคเปนเฮเกน (6 มีนาคม พ.ศ. 2496)[29] กล่าวถึงโครงสร้างเกลียวคู่ของดีเอ็นเอ ครั้งนั้นเอง โรซาลินด์ทำงานเสร็จก่อนฟรานซิส คริก และเจมส์ วัตสัน แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จะสร้างแบบจำลองแล้วเสร็จหนึ่งวัน[30] ไม่นานนักโรซาลินด์ได้ย้ายที่ทำงานไปยังวิทยาลัยเบิร์กเบคซึ่งสังกัดมหาวิทยาลัยเดิม[28]

เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2496 โรซาลินด์เขียนจดหมายหาฟรานซิส คริก เพื่อขออนุญาตดูแบบจำลองของเขา[31] ด้วยความสงสัยอย่างแรงกล้าปนความไม่พอใจของเธอเอง แม้ว่าเธอจะได้เห็นแบบจำลองของเขาแล้ว เธอก็ยังไม่คลายสงสัย และยังฝังใจเจ็บอยู่ตลอดมา มีบันทึกว่าเธอออกความเห็นว่า "ก็สวยดี แต่สองคนนั้นจะพิสูจน์ได้อย่างไรหรือ"[32] กระนั้น โรซาลินด์ก็ได้เขียนบทความแสดงแบบจำลองขั้นต้นไปแล้วในที่ประชุมอักตาคริสตัลโลกราฟิกา จนกระทั่งวงการวิทยาศาสตร์ก็ยังสับสนอยู่หลายปีต่อมา แม่นักพันธุศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อถือแบบจำลองนี้ เพราะว่าสามารถแปลความเป็นการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมได้อย่างสมเหตุสมผล ครั้นถึงราว ๆ พ.ศ. 2503 - 2505 มอริส วิลคินส์และเพื่อนร่วมงานพยายามเก็บข้อมูลสะสมมานานหลายปีจนกระทั่งสามารถแก้ไขแบบจำลองให้ถูกต้องยิ่งขึ้นได้

นอกเหนือจากการศึกษาดีเอ็นเอแล้ว โรซาลินด์และคณะยังได้ศึกษาไวรัสใบด่างในยาสูบ (tobacco mosaic virus) และอาร์เอ็นเอซึ่งเป็นสารพันธุกรรมของไวรัสหลากหลายชนิด โดยให้งานการศึกษาไวรัสรูปแท่งแก่เคนเนต โฮล์มส์ (Kenneth Holmes) นักศึกษาปริญญาเอก ในขณะเดียวกับที่แอรอน คลัก (Aaron Klug) เพื่อนร่วมงาน ให้หัวข้อศึกษาไวรัสรูปกลมแก่จอห์น ฟินช์ (John Finch) แบบจำลองไวรัสใบด่างที่ได้ถูกจัดแสดงที่งานออกร้านนานาชาติที่กรุงบรัสเซล ไม่เพียงเท่านั้น คณะวิจัยของโรซาลินด์ยังได้ศึกษาผลของไวรัสอาร์เอ็นเอที่มีต่อพืชหลากหลายชนิดเช่นมันฝรั่ง ผักกาดหัว มะเขือเทศ และถั่วลันเตาอีกด้วย[33]

โรซาลินด์และดอน กาสปาร์ (Don Caspar) ได้ตีพิมพ์บทความในวารสาร Nature แยกกัน แต่ก็มีสาระสำคัญว่าดีเอ็นเอจะเกาะติดผนังด้านในของไวรัสใบด่างในยาสูบ[34][35]

ชีวิตบั้นปลาย[แก้]

ในช่วงฤดูร้อนของปี พ.ศ. 2496 โรซาลินด์ได้เดินทางไปราชการที่สหรัฐอเมริกา แต่แล้วเรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อเธอพบเนื้องอกที่ช่องท้อง[36] จนทำให้ไม่สามารถสวมกระโปรงได้อย่างปกติ ไม่นานนักเธอเข้ารับการผ่าตัดในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน ผลปรากฏพบเนื้องอกสองก้อนในช่องท้อง นับแต่นั้นมา โรซาลินด์ต้องเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาสลับกับการพักฟื้น กำลังใจของเธอในขณะนั้นมาจากเพื่อนร่วมงานและญาติ ๆ ในจำนวนนั้นก็มีแอนน์ ซายร์ (Anne Sayre) ฟรานซิส คริก และภรรยา โอดิล คริก (Odile Crick) นอกจากนี้ โรแลนด์ แฟรงคลิน (Roland Franklin) และนินา แฟรงคลิน (Nina Franklin) ผู้เป็นหลานน้า ก็ยังให้กำลังใจในช่วงเวลาที่แย่ที่สุดในชีวิตด้วย

แม้โรซาลินด์จะต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคร้าย และอาการของเธอก็ทรง ๆ ทรุด ๆ แต่ก็หาให้เธอได้ละความเพียรในงานวิจัยไม่ ระหว่างนั้นเอง โรซาลินด์และเพื่อนร่วมงานได้มุ่งมั่นทำงานวิจัยและผลิตบทความทางวิชาการ โดยในปี พ.ศ. 2499 กลุ่มวิจัยของเธอตีพิมพ์บทความ 7 ฉบับ และในปี พ.ศ. 2500 ก็ตีพิมพ์บทความได้ 6 บทความ ปีเดียวกันนั้นเอง กลุ่มวิจัยยังได้ศึกษาไวรัสโปลิโอ โดยได้รับทุนวิจัยจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา[37]

ไม่นานนัก โรซาลินด์ล้มป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลในกรุงลอนดอน อาการก็กลับคลายลงจนช่วงต้นปี พ.ศ. 2501 เธอก็ได้กลับไปทำงานในฐานะนักวิจัยสมทบสาขาชีวฟิสิกส์เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ครั้นถึงวันที่ 30 มีนาคม ปีเดียวกันนั้นเอง เธอก็ล้มป่วยซ้ำอีก ในที่สุดนักเคมีผู้พากเพียรแต่โชคร้ายผู้นี้ก็ถึงแก่กรรมลงเมื่อวันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2501 ด้วยโรคปอดบวมและมะเร็งรังไข่ระยะที่สอง รวมอายุได้ 37 ปี[38][39]

ผลงาน[แก้]

แม้โรซาลินด์ แฟรงคลิน จะต้องถึงแก่กรรมก่อนวัยอันควร แต่เธอก็มีผลงานที่สำคัญคือ เป็นผู้ศึกษาโครงสร้างทางรังสีเอกซ์ของดีเอ็นเอจนสำเร็จเป็นแบบจำลองในเวลาต่อมา โดยร่วมกับเรย์มอนด์ กอสลิง ผู้เป็นศิษย์ ถ่ายภาพการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ของดีเอ็นเอชนิด B ซึงภาพนั้นในเวลาต่อมาได้ถูกเรียกขานว่า โฟโต 51[40] นอกจากนี้ยังได้ศึกษาโครงสร้างของดีเอ็นเอชนิด A ด้วยตนเองอีกด้วย ข้อมูลสำคัญที่เธอพบคือ ถ้าจัดให้เบสอยู่ด้านในของเกลียว และหมู่ฟอสเฟตอยู่ด้านนอก ก็จะจัดโครงสร้างได้ลงตัว ซึ่งตรงข้ามกับที่ไลนัส พอลิงค้นพบ ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการซึ่งเจมส์ วัตสันเข้าฟังด้วย

ต่อมา ข้อมูลที่เธอพยายามพากเพียรค้นคว้าหามาได้รั่วไหลออกไปยังมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยข้อมูลส่วนหนึ่งของงานวิจัยถูกเผยแพร่ในรายงานนำเสนอสภาวิจัยการแพทย์อังกฤษที่มาตรวจเยี่ยมห้องปฏิบัติการ ต่อมามักซ์ เปรุตซ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นทั้งอาจารย์และกรรมการสภาวิจัยการแพทย์ ได้นำงานดังกล่าวมอบให้แก่เจมส์ วัตสัน และฟรานซิส คริก แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งกำลังทำวิจัยในหัวข้อโครงสร้างฮีโมโกลบิน[41][42] ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากที่โรซาลินด์ย้ายจากราชวิทยาลัยไปยังวิทยาลัยเบิร์กเบค เรย์มอนด์ผู้เป็นศิษย์ก็ส่งต่อภาพถ่ายโฟโต 51 ให้แก่มอริสด้วย ข้อมูลที่นำเสนอในสัมมนา ประกอบกับข้อมูลในรายงานสภาวิจัยการแพทย์ ทำให้ทีมวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์สร้างแบบจำลองได้เป็นผลสำเร็จ รวมถึงได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทยศาสตร์และสรีรวิทยาเมื่อ พ.ศ. 2505

นอกเหนือจากการค้นคว้าโครงสร้างดีเอ็นเอแล้ว เธอยังได้ศึกษาเกี่ยวกับไวรัสใบด่างในยาสูบ ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้ยาสูบ รวมทั้งพืชในวงศ์มะเขือเกิดใบหงิกงอ บางส่วนของใบจะเป็นด่างขาวหรือไหม้ รวมถึงทำให้ผลที่ได้มีรูปร่างหงิกงอเสียหายอีกด้วย[43]

เกียรติยศ[แก้]

โรซาลินด์ แฟรงคลิน ไม่เคยได้รับเสนอชื่อให้ได้รับรางวัลโนเบล เนื่องจากข้อบังคับการให้รางวัลได้ห้ามการเสนอชื่อผู้ทำผลงานที่สิ้นชีวิตแล้ว เพื่อนร่วมงานของเธอ ฟรานซิส คริก, เจมส์ วัตสัน และมอริส วิลคินส์ ซึ่งรับช่วงงานต่อ จึงได้รับรางวัลแทนเมื่อปี พ.ศ. 2505 ในฐานะการค้นพบกรดนิวคลีอิกและดีออกซีไรโบนิวคลีอิก

อย่างไรก็ดี เธอได้รับเกียรติยศหลังจากที่ถึงแก่กรรมไปแล้วจากหลายสถาบัน ดังต่อไปนี้

  • พ.ศ. 2525 องค์กรนักเคมีสตรี (ไอโอตาซิกมาพาย) ของสหรัฐอเมริกา ยกย่องให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์[44]
  • พ.ศ. 2535 คณะกรรมการมรดกแห่งชาติอังกฤษ ประกาศให้บ้านที่โรซาลินด์ แฟรงคลินอาศัยในวัยเยาว์ เป็นมรดกแห่งชาติ[45]
  • พ.ศ. 2536 ราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยลอนดอน เปลี่ยนชื่อหอพักออร์ชาร์ด (Orchard Residence) เป็นหอโรซาลินด์ แฟรงคลิน
  • พ.ศ. 2537 ราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยลอนดอน ตั้งชื่อหอพักที่วิทยาเขตแฮมสเตดเป็นชื่อแฟรงคลิน เพื่อเป็นเกียรติยศ
  • พ.ศ. 2538 วิทยาลัยนิวน์แฮม มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สร้างหอพักแฟรงคลินขึ้น แล้วตั้งอนุสาวรีย์ของเธอไว้ในสวนด้วย[45]
  • พ.ศ. 2540 วิทยาลัยเบิร์กเบค (วิทยาลัยภาคพิเศษ) มหาวิทยาลัยลอนดอน เปิดห้องปฏิบัติการโรซาลินด์ แฟรงคลิน[46]
  • พ.ศ. 2540 ดาวเคราะห์น้อย 9241 รอสแฟรงคลิน ถูกค้นพบและตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติยศ
  • พ.ศ. 2541 หอภาพบุคคลกรุงลอนดอน แขวนภาพของโรซาลินด์ แฟรงคลิน ไว้ข้าง ๆ รูปของเพื่อนร่วมงานของเธอ[45][47]
  • พ.ศ. 2543 ราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยลอนดอน เปิดอาคารแฟรงคลิน-วิลคินส์ เพื่อเป็นเกียรติแก่โรซาลินด์และมอริสในฐานะที่เคยทำงานที่วิทยาลัยแห่งนี้[48]
  • พ.ศ. 2541 สถาบันมะเร็งแห่งชาติอเมริกา สถาปนารางวัลโรซาลินด์ อี. แฟรงคลิน เพื่อสตรีในวงการวิทยาศาสตร์[49]
  • พ.ศ. 2546 ราชวิทยสมาคมอังกฤษ (Royal Society) สถาปนารางวัลโรซาลินด์ แฟรงคลินขึ้น เพื่อให้ไว้แก่ผู้ทำผลงานดีเด่นด้าน วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี[50]
  • พ.ศ. 2547 มหาวิทยาลัยสุขศาสตร์ฟินช์ และโรงเรียนแพทย์ชิคาโก เมืองนอร์ทชิคาโก รัฐอิลลินอย เปลี่ยนชื่อ เป็นมหาวิทยาลัยแพทย-วิทยาศาสตร์โรซาลินด์ แฟรงคลิน[51]
  • พ.ศ. 2547 มหาวิทยาลัยโกรนิงเงน (University of Groningen) จัดให้มีเงินทุนโรซาลินด์ แฟรงคลิน เพื่อใช้ส่งเสริมการจ้างงานนักวิจัยหญิงรุ่นเยาว์ผู้มีความมุ่งมั่น
  • พ.ศ. 2551 มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มอบรางวัลฮอร์วิตซ์ให้ไว้เป็นเกียรติยศ[52]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. จดหมายลงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2504 จากฟรานซิส คริก ถึงชาก โมนอด์ (Jacques Monod) ที่เก็บรักษาไว้ที่สถานปาสเตอร์ พิมพ์ซ้ำในวารสาร "Nature Correspondence" 425, 15 เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2546 นอกจากนี้เมื่อปี พ.ศ. 2543 เจมส์ วัตสันได้ยืนยันว่าข้อมูลที่ตนเองและเพื่อนร่วมงานใช้มาจากโรซาลินด์ ในบทกล่าวเปิดอาคารแฟรงคลิน-วิลคินส์
  2. บทความของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ Watson JD, Crick FHC (1953). "A Structure for Deoxyribose Nucleic Acid". Nature 171: 737–738. Full text PDF ไม่นานก็มีบทความจากคณะวิจัยที่มหาวิทยาลัยลอนดอนตามหลังมา M.H.F. Wilkins, A.R. Stokes, and H.R. Wilson. Molecular Structure of Deoxypentose Nucleic Acids, pp738–740 then by: Rosalind E. Franklin and R.G. Gosling. Molecular configuration of Sodium Thymonucleate pp 740–741.
  3. Maddox, Brenda (2002). Rosalind Franklin: The Dark Lady of DNA. HarperCollins. ISBN 0-06-018407-8.
  4. GRO Register of Births: SEP 1920 1a 250 KENSINGTON – Rosalind E. Franklin, mmn = Waley
  5. Maddox p. 7
  6. Sayre, A. (1975). Rosalind Franklin and DNA. New York: Norton. p. 31. ISBN 0393074935.
  7. 7.0 7.1 Maddox p. 40
  8. Maddox p. 25
  9. Sayre p. 41
  10. Maddox p. 30
  11. Maddox, p. 26
  12. "The Rosalind Franklin Papers, The Holes in Coal: Research at BCURA and in Paris, 1942-1951". profiles.nlm.nih.gov. สืบค้นเมื่อ 13 November 2011.
  13. D. W. van Krevelen, Coal, Third Edition: Typology - Physics - Chemistry - Constitution, Elsevier, New York, 1993.
  14. Chemistry and Physics of Carbon, vol 1--, 1968--, Elsevier, New York.
  15. Maddox, p. 124
  16. Maddox, p. 114
  17. Wilkins, Wilkins, M., The Third Man of the Double Helix, an autobiography (2003) Oxford University Press, Oxford. pp. 143–144
  18. Maddox, pp. 149–150, Elkin, p 45. Elkin, L.O. Rosalind Franklin and the Double Helix. Physics Today, March 2003(available free on-line, see references). Olby, R. The Path to the Double Helix (London: MacMillan, 1974).
  19. Elkin, p. 43
  20. Maddox, p. 153
  21. Wilkins, p. 154
  22. Elkin p. 45
  23. Maddox p 155
  24. Wilkins, p. 158
  25. Maddox, p. 155
  26. Wilkins, p. 176
  27. Wilkins, p. 182
  28. 28.0 28.1 Maddox, p. 168
  29. Franklin, R.E. and Gosling, R.G. authors of papers received 6 March 1953 Acta Cryst. (1953). 6, 673 The Structure of Sodium Thymonucleate Fibres I. The Influence of Water Content Acta Cryst. (1953). 6, 678 The Structure of Sodium Thymonucleate Fibres II. The Cylindrically Symmetrical Patterson Function
  30. Maddox p 205
  31. ไปรษณียบัตรลงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2496 ของโรซาลินด์ แฟรงคลิน เขียนขออนุญาตฟรานซิส คริก ปัจจุบันเก็บไว้ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานดิเอโก
  32. Holt, J. (2002)
  33. Maddox, p. 262
  34. Maddox, p. 269
  35. Franklin (1956)
  36. Maddox, p. 284
  37. Maddox, p. 296
  38. GRO Register of Deaths: JUN 1958 5c 257 CHELSEA – Rosalind E. Franklin, aged 37
  39. Maddox, pp. 305–307
  40. Maddox, pp. 177–178
  41. Elkin, L.O. (2003)p 44
  42. Maddox, pp. 198–199
  43. Scholthof, K-B.G (2000). "Tobacco mosaic virus". The Plant Health Instructor. APSnet. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-05. สืบค้นเมื่อ 24 August 2013.
  44. "Iota Sigma Pi professional awards recipients". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-19. สืบค้นเมื่อ 2013-02-08.
  45. 45.0 45.1 45.2 Maddox, p. 322
  46. Sir Aaron Klug opens new Laboratory เก็บถาวร 2006-09-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  47. "NPG pictures". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-11. สืบค้นเมื่อ 2013-02-08.
  48. Maddox, p. 323
  49. "seventh annual Rosalind E. Franklin Award for Women in Cancer Research at the National Cancer Institute's Intramural Scientific Retreat [which] honors the commitment of women in cancer research and is given in tribute to chemist Rosalind Franklin, who played a critical role in the discovery of the DNA double helix." The JHU Gazette, Johns Hopkins University, March 17, 2008 For the Record: Cheers
  50. The Royal Society Rosalind Franklin Award (2003) เก็บถาวร 2007-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน: The Royal Society web page. Retrieved 21 July 2006.
  51. Dedication เก็บถาวร 2012-03-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน of Rosalind Franklin University
  52. "2008 Horwitz Prize Awarded To Arthur Horwich & Ulrich Hartl For Cellular Protein Folding". Medical News Today. 15 October 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-27. สืบค้นเมื่อ 10 April 2012.

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

บทความ[แก้]

สารคดี[แก้]