โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
Chaophraya Abhaibhubejhr Hospital
แผนที่
ประเภทรัฐ (โรงพยาบาลศูนย์)
ที่ตั้งเลขที่ 32/7 หมู่ 12 ถนนปราจีนอนุสรณ์
ตำบลท่างาม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี 25000
ข้อมูลทั่วไป
ก่อตั้งพ.ศ. 2484
ผู้ก่อตั้งพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
สังกัดกระทรวงสาธารณสุข
ผู้อำนวยการแพทย์หญิงโศรยา ธรรมรักษ์
จำนวนเตียง505 เตียง[1]
แพทย์57 คน
บุคลากร1,276 คน
เว็บไซต์http://www.cpa.go.th/

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เป็นโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัดปราจีนบุรี และเป็นโรงพยาบาลนำร่องเรื่องการแพทย์แผนไทย ใช้สมุนไพรบำบัดรักษาโรค มีการนวด อบ ประคบ และฝังเข็ม แปรรูปสมุนไพรไทยเป็นเวชภัณฑ์ และเครื่องสำอาง

ประวัติ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2452 เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ว่าจ้าง บริษัทโฮวาร์ด เออร์สกิน สร้างตึกเพื่อใช้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อจะใช้เป็นที่ประทับแรมของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกรณีที่พระองค์เสด็จมายังมณฑลปราจีนบุรีอีก แต่พระองค์เสด็จสรรคตเสียก่อนในปีพุทธศักราช 2453 ต่อมา ในปี พ.ศ. 2455 ตึกหลังนี้ได้ใช้รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชวงศ์อีกหลายพระองค์ เมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรมตึกหลังนี้เป็นมรดกตกทอดมาถึงพระยาอภัยวงศ์วรเศรฐ และถวายเป็นของทูนพระขวัญ ในวันอภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 (พระนามเดิมว่า เครือแก้ว อภัยวงศ์ ทรงมีศักดิ์เป็นหลานปู่ของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานบ้านและที่ดินทั้งหมดเป็นสิทธิ์ขาดแก่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

ต่อมาในปี พ.ศ. 2480 ขณะพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีประทับที่ประเทศอังกฤษ พระองค์ได้พระราชทานที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดนั้นแก่มณฑลทหารบกที่ 2 จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อใช้เป็น โรงพยาบาลปราจีนบุรี เนื่องจากทรงมีพระประสงค์จะสนองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์มีพระประสงค์จะสร้างโรงพยาบาลอยู่แล้ว ต่อมาเมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทย พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้พระราชทานนามใหม่เป็น โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2509 โดยมีสมเด็จเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เสด็จฯ มาทรงเปิดป้าย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พร้อมทั้งทรงรับโรงพยาบาลแห่งนี้ไว้ในพระอุปถัมภ์ทั้งสองพระองค์

เดิมตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นตึกอำนวยการ ได้มีการดัดแปลงทำชั้นล่างเป็นห้องตรวจโรค ห้องจำหน่ายยา และห้องผ่าตัด ชั้นบนทำหน้าที่รับคนไขัหญิง โดยมีเรือนคนไข้ชายแยกต่างหาก มีเตียงรับคนไข้ 50 เตียง มีโรงประกอบอาหารคนไข้ โรงซักฟอก ที่เก็บศพ เรือนพักคนงาน บ้านพักนายแพทย์ อย่างละ 1 หลัง บ้านพักพยาบาลอีก 3 หลัง การเข้าถึงโรงพยาบาล เข้าได้ทางเรือเพียงอย่างเดียว จนมีการสร้างถนนขึ้นในปี พ.ศ. 2486 จนถึงปี พ.ศ. 2512 ตึกอำนวยการในปัจจุบันได้ก่อสร้างเสร็จ ส่วนตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรใช้ในการประชุมสัมมนาในบางกรณี

ในปี พ.ศ. 2533 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นโบราณสถานของชาติ ต่อมาได้มีการบูรณะตึกครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2537 โดยงบประมาณของจังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 2.5 ล้านบาท และคุณจรวย ประสมสิน บริจาคสมทบอีก 100,000 บาท โดยมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศรขึ้น

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เคยใช้เป็นสถานที่แข่งขันของรายการอัจฉริยะข้ามคืน ครั้งที่ 30 มาแล้ว

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร[แก้]

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
Chao Phya Abhaibhubejhr building
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทตึก
สถาปัตยกรรมยุโรปแบบบาโรก ประดับด้วยลายปูนปั้น
เมืองเลขที่ 32/7 หมู่ 12 ถนนปราจีนอนุสรณ์
ตำบลท่างาม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี 25000
ประเทศประเทศไทย
พิกัด14°3′15.003″N 101°23′33.458″E / 14.05416750°N 101.39262722°E / 14.05416750; 101.39262722
ตั้งชื่อให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)
เริ่มสร้างพ.ศ. 2452
ปรับปรุงพ.ศ. 2482
พ.ศ. 2512
พ.ศ. 2537
ในกำกับดูแลของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
นายแพทย์สุจินต์ พลานุกูล
จังหวัดปราจีนบุรี
เว็บไซต์

เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2452 เดิมทีเพื่อใช้เป็นที่ประทับรับเสด็จของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในยามที่เสด็จประพาสมายังปราจีนบุรี ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร กรมศิลปากรจะประกาศขึ้นทะเบียนตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นโบราณสถานของชาติในปี 2533[2]

ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นสถาปัตยกรรมบาโรก แสดงออกอย่างไม่สมดุล (Asymmetry) มีความเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงด้วยลวดลายม้วนงอหรือขด ไม่ว่าจะเป็นลายปูนปั้นที่เป็นรูปกระถางต้นปาล์มที่อยู่หน้าบัน นอกจากนี้ตามซุ้มประตู หน้าต่าง เสา ขื่อ คานจะตกแต่งด้วยปูนปั้นลวดลายใบไม้ ภายในอาคารเป็นพิพิธภัณฑ์แพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร ศูนย์การรวบรวมอนุรักษ์ตำราไทย สมุนไพรไทย การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านของจังหวัดปราจีนบุรี รวมถึงเป็นแหล่งการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรและการแพทย์ท้องถิ่น[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. ระบบรายงานทรัพยากรสาธารณสุข เก็บถาวร 2008-01-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข.
  2. ปิ่น บุตรี (19 กุมภาพันธ์ 2015). ""ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร" ตึกรพ.แสนงามแห่งความจงรักภักดี". ผู้จัดการออนไลน์.
  3. "ยลศิลปะ "ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร" (ตึก)โรงพยาบาลสวยที่สุดในเมืองไทย". ผู้จัดการออนไลน์. 24 ตุลาคม 2005.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]