แนต ไฟลเชอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก แน็ต ฟลายเชอร์)
แนต ไฟลเชอร์
แนต ไฟลเชอร์ ใน พ.ศ. 2479
เกิด3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2430
นครนิวยอร์ก สหรัฐ
เสียชีวิต25 มิถุนายน พ.ศ. 2515 (85 ปี)
แอตแลนติกบีช สหรัฐ
อาชีพสื่อมวลชนด้านมวยสากล

แนต ไฟลเชอร์ (อังกฤษ: Nat Fleischer) เป็นอดีตสื่อมวลชนในแวดวงมวยสากลระดับโลก และบรรณาธิการบริหารนิตยสารเดอะริง รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันเดอะริง ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันมวยสากลอาชีพระดับโลกสถาบันแรก

ประวัติ[แก้]

แนต ไฟลเชอร์ มีชื่อจริงว่า นาแทเนียล สแตนลีย์ ไฟลเชอร์ (Nathaniel Stanley Fleischer) เกิดเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2430 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายยิว จบการศึกษาจากซิตีคอลเลจออฟนิวยอร์ก ในปี พ.ศ. 2451 จากนั้นได้ทำงานที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กเพรส ควบคู่ไปกับการศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก จากนั้นไฟลเชอร์ได้เป็นบรรณาธิการข่าวกีฬาของหนังสือพิมพ์เดอะเพรสส์ และเดอะซัน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2465 ได้ร่วมงานกับเท็กซ์ ริคคาร์ด โปรโมเตอร์ชื่อดังในขณะนั้น ก่อตั้งนิตยสารเดอะริง ขึ้นมาพร้อมกับการเป็นสถาบันมวยเดอะริง ควบคู่กันไปด้วยการเริ่มต้นศึกรายการชกมวยสากลชิงแชมป์โลกของสถาบัน ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่นิตยสารเดอะริงออกวางจำหน่าย ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจากเดอะริงจะเป็นผู้รับรองการชกชิงแชมป์โลก และตั้งกฏกติกาการชกขึ้นมาควบคุม โดยที่ไฟลเชอร์ได้เป็นเจ้าของนิตยสารแต่เพียงคนเดียวในปี พ.ศ. 2472 ซึ่งก็ได้เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการอย่างยาวนานถึง 50 ปี จนกระทั่งเสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2515

ในปี พ.ศ. 2485 ไฟลเชอร์เริ่มต้นตีพิมพ์หนังสือบันทึกสถิติมวยประจำปีและสารานุกรมมวยออกมา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2487 ยังได้ออกหนังสือเกี่ยวกับชีวประวัตินักมวย และเรื่องราวต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์วงการมวยโลกอีกเป็นจำนวนมาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 พันตำรวจเอก พิชัย กุลละวณิชย์ เลขานุการกรมตำรวจและรักษาการผู้บังคับการกองตรวจตำรวจนครบาล (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ได้เชิญไฟลเชอร์มายังประเทศไทย เพื่อเป็นแขกรับเชิญพิเศษและกรรมการสักขีพยานของการชกมวยชิงแชมป์โลก NBA (WBA หรือ สมาคมมวยโลกในปัจจุบัน) ในรุ่นแบนตัมเวท (118 ปอนด์) ระหว่าง จิมมี่ คาร์รัทเธอร์ เจ้าของตำแหน่งชาวออสเตรเลีย กับ จำเริญ ทรงกิตรัตน์ ผู้ท้าชิงชาวไทย อันเป็นการชกชิงแชมป์โลกมวยสากลอาชีพครั้งแรกของนักมวยชาวไทย ซึ่งการชกมีขึ้นในวันที่ 2 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ที่สนามจารุเสถียร ซึ่งตกลงที่จะชกกันตามกติกาสากล ในวันนั้นฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก แต่ด้วยจำนวนผู้ชมชาวไทยกว่า 60,000 คน ที่ตั้งใจจะมาชมการแข่งขัน แม้ไฟลเชอร์จะเสนอให้เลื่อนการชกออกไปก่อน แต่ทว่าด้วยจำนวนผู้ชมเป็นอันมาก มิอาจทำให้ พ.ต.อ.พิชัย ในฐานะผู้จัดการแข่งขันเลื่อนการชกออกไปได้ เพราะยังมีผู้ชมอีกจำนวนมากที่อออยู่หน้าสนามไม่อาจเข้ามาได้ สุดท้าย นักมวยทั้งคู่ต้องถอดรองเท้าขึ้นชก เพราะพื้นเวทีเจิ่งนองไปด้วยน้ำฝน และเปลี่ยนกติกาจากทั้งหมด 15 ยก เหลือแค่ 12 ยก ซึ่งผลปรากฏว่า จำเริญเป็นฝ่ายแพ้คะแนนโดยเทคนิคไปในที่สุด

ต่อมา พ.ต.อ.พิชัย ได้เข้ามามีบทบาทและเป็นกรรมการกิตติมศักดิ์ในคณะกรรมการบริหารเวทีราชดำเนิน โดยได้รับการแนะนำจากไฟลเชอร์ ให้ติดต่อกับนายทหารชาวอเมริกันผู้หนึ่งซึ่งประจำการอยู่ในฐานทัพสหรัฐที่ฟิลิปปินส์ชื่อ พันตรี ซัลลิแวน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกติกากีฬามวยสากลให้มาช่วยวางระบบเพื่อยกระดับวงการมวยของไทยให้เข้าสู่มาตรฐานสากล ซึ่งได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งไฟลเชอร์มีบทบาทอย่างมาก และได้เดินทางมาสู่ประเทศไทยหลายต่อหลายครั้ง เช่น เป็นหนึ่งในกรรมการผู้ให้คะแนนการชกชิงแชมป์โลกรุ่นฟลายเวท (112 ปอนด์) ระหว่าง ปัสกวล เปเรซ เจ้าของตำแหน่งชาวอาร์เจนติน่า กับ โผน กิ่งเพชร ผู้ท้าชิงชาวไทย ในปี พ.ศ. 2503 ที่เวทีลุมพินี ซึ่งปรากฏว่าโผนชนะคะแนนไปได้อย่างไม่เป็นเอกฉันท์ กลายเป็นแชมป์โลกคนไทยของไทย ในส่วนของไฟลเชอร์ก็ให้โผนชนะไปด้วยคะแนน 146-140 อันเป็นเสียงที่ชี้ขาด จนกระทั่งเป็นที่คุ้นเคยกันดีของชาวไทย จนได้มีการเรียกชื่อไฟลเชอร์อย่างเล่น ๆ ว่า ลุงแนต

นอกจากนี้แล้ว แนต ไฟลเชอร์ ยังเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬามวยแห่งอเมริกา (BWA) และได้รับรางวัล เจมส์ เจ.วอล์กเกอร์ ถึง 2 ครั้ง หลังจากที่เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2515 ทาง BWA ได้ตั้งรางวัลแนต ไฟลเชอร์ ขึ้นมาเพื่อเป็นเกียรติระลึกถึง ซึ่งรางวัลนี้มีการมอบให้แก่ผู้สื่อข่าวในวงการมวยที่มีผลงานโดดเด่นทุกปี นอกจากนี้แล้วยังได้รับการเสนอชื่อให้เข้าสู่หอเกียรติยศวงการมวยโลก (International Boxing Hall of Fame) ในปี พ.ศ. 2533 อีกด้วย[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. หน้า 65, ลุงแน็ต แฟล็ชเชอร์ ผู้ก่อตั้งสถาบันมวยเดอะริง. "มวยสยาม EXTRA วีรบุรุษยอดนักชก มาเซียโน่น้อยแห่งเอเชีย ชาติชาย เชี่ยวน้อย": (มีนาคม 2556) โดย สยามสปอร์ต