เลนเนิร์ด ไคลน์รอก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ลีโอนาร์ด ไคลน์รอก (Leonard Kleinrock, Ph.D. – พ.ศ. 2477- ) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และศาสตราจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (ยูซีแอลเอ) ผู้บุกเบิกคนสำคัญในงานด้านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะทางด้านทฤษฎีของเครือข่าย เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระบบ ARPANET ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียฯ ด้วย

การศึกษาและการทำงาน[แก้]

ไคลน์รอกจบการศึกษาจากโรงเรียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังคือ โรงเรียนมัธยมปลายวิทยาศาสตร์แห่งบรอนซ์ (Bronx High School of Science) ในนครนิวยอร์กเมื่อปี พ.ศ. 2494 ได้รับปริญญาตรีทางวิศวกรรมจากวิทยาลัยนิวยอร์ก (City College of New York) และปริญญาโทและเอกด้านวิศวกรรมจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ในปี พ.ศ. 2502 และ 2506 ตามลำดับ

หลังจบการศึกษาไคลน์รอกได้เข้าเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียวิทยาเขตลอสแอนเจลิสมาตราบถึงปัจจุบัน ในระหว่างปี พ.ศ. 2534-2538 ไคลน์รอกได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์

งานสำคัญที่เป็นที่นรู้จักมากที่สุดในช่วงแรกของไคลน์รอกได้แก่ “ทฤษฎีการเข้าคิว” (Queuing Theory) ซึ่งได้มีการนำไปประยุกต์ในงานหลายสาขา เช่นพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของ “แพคเก็ตสวิตชิง” (Packet switching) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานเบื้องหลังอินเทอร์เน็ต สิ่งที่ไคลน์รอกได้ให้ไว้แก้วงการคอมพิวเตอร์ในช่วงแรกๆ ของเขาคือวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกปี พ.ศ. 2505 ซึ่งนำมาตีพิมพ์ในรูปของหนังสือในปี พ.ศ. 2507 ไคลน์รอกได้ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์โดยทั่วๆ ไปขยายจากเล่มแรกออกไปอีกหลายเล่ม

ไคลน์รอกได้รับรางวัลด้านวิชาชีพและวิชาการคอมพิวเตอร์เป็นจำนวนมาก