เยฟเกนี ซาเมียติน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพเยฟเกนี ซาเมียติน โดยบอริส คัสโตดีเยฟ ในปี ค.ศ. 1923

เยฟเกนี อีวาโนวิช ซาเมียติน (รัสเซีย: Евге́ний Ива́нович Замя́тин, Yevgeny Ivanovich Zamyatin; 20 มกราคม (ปฏิทินจูเลียน) / 1 กุมภาพันธ์ (ปฏิทินกริกอเรียน) ค.ศ. 1884 – 10 มีนาคม ค.ศ. 1937) เป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์และงานวิจารณ์การเมืองชาวรัสเซีย

เขาร่ำเรียนด้านวิศวกรรมต่อเรือ ก่อนจะเข้าร่วมกับกลุ่มบอลเชวิกเมื่ออายุได้ 18 ปี ซาเมียตินถูกจับกุมระหว่างการปฏิวัติ ค.ศ. 1905 พร้อมถูกส่งตัวไปยังไซบีเรีย เขาหลบหนีกลับมายังเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก แล้วย้ายหนีไปยังฟินแลนด์ในสมัยที่ยังอยู่ใต้อำนาจของจักรวรรดิรัสเซีย (Grand Duchy of Finland) เพื่อศึกษาต่อ หลังสำเร็จการศึกษา เขาทำงานเป็นวิศวกรต่อเรือในหลายประเทศ พร้อม ๆ กับเขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก งานเขียนของเขามักมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมืองของสหภาพโซเวียตโดยเฉพาะในยุคหลังการปฏิวัติปี ค.ศ. 1917

งานเขียนชิ้นสำคัญคือ We (1921) นวนิยายที่มีอิทธิพลอย่างสูงและสร้างแรงบันดาลใจให้กับวรรณกรรมแนวดิสโทเปีย (dystopia) ในยุคต่อมา ทั้งกับ โลกวิไลซ์ (Brave New World) (1932) ของอัลดัส ฮักซลีย์ (Aldous Huxley) และ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (Nineteen Eighty-Four) (1949) ของจอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) อนึ่ง นวนิยายชิ้นนี้เป็นงานเขียนชิ้นแรกที่ถูกแบนโดยกองเซนเซอร์ของโซเวียต

ผลงานที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย[แก้]

  1. วี แปลโดย ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล (กรุงเทพฯ: สมมติ, 2558).