เปอรานากัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เปอรานากัน
Peranakan
พิธีสมรสของชาวเปอรานากันสิงคโปร์ในอดีต
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
มาเลเซีย ประเทศมาเลเซีย
อินโดนีเซีย ประเทศอินโดนีเซีย
สิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์
ไทย ประเทศไทย
ภาษา
ภาษามลายูบ้าบ๋า, ภาษามลายู, ภาษาหมิ่นใต้ ,ภาษาจีนฮกเกี้ยน , ภาษาไทยใต้ , ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงตากใบ, ภาษาไทย ,ภาษาเจ๊ะเห
ศาสนา
ส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายาน, ลัทธิขงจื๊อ, ลัทธิเต๋า ส่วนน้อยนับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม

เปอรานากัน (มลายู: Peranakan) หรือ บาบ๋า-ย่าหยา (อังกฤษ: Baba-Nyonya, จีน: 峇峇娘惹, พินอิน: Bābā Niángrě, ฮกเกี้ยน: Bā-bā Niû-liá) คือกลุ่มลูกครึ่งมลายู-จีนที่มีวัฒนธรรมผสมผสาน และสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ขึ้นมาโดยเป็นการนำเอาส่วนดีระหว่างจีนกับมลายูมารวมกัน โดยชื่อ "เปอรานากัน" มีความหมายว่า "เกิดที่นี่"

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 นิยาม "บาบ๋า" และ "ย่าหยา" ว่า "เรียกชายที่เป็นลูกครึ่งจีนกับมลายูที่เกิดในมลายูและอินโดนีเซีย ว่า บ้าบ๋า, คู่กับ ย่าหยา ซึ่งหมายถึงหญิงลูกครึ่งจีนกับมลายูที่เกิดใน มลายูและอินโดนีเซีย." อย่างไรก็ตามชาวเปอรานากันในประเทศไทย บริเวณจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันโดยเฉพาะภูเก็ต พังงา ระนอง และตรัง[หนังสือ 1] ทั้งเพศชายและหญิง จะถูกเรียกรวม ๆ ว่า บ้าบ๋า หรือบาบา ส่วน ย่าหยา เป็นเพียงชื่อของชุดสตรีเท่านั้น ส่วนในภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีกระจายตัวอยู่แถบพื้นที่โดยเฉพาะปัตตานี สงขลา นราธิวาส และยังพบได้ใน ถนนสีลม กรุงเทพมหานคร อีกด้วย โดยชาวเปอรานากันกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อพยพมาจากประเทศสิงคโปร์[1]

อย่างไรก็ดี ชาวจีนที่อพยพมาทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกของประเทศไทยสมัยโบราณตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลที่ 5 ส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนซึ่งจะกระจายอยู่แถบพื้นที่โดยเฉพาะปัตตานี สงขลา นราธิวาส ถ้าเป็นลูกครึ่งจีนหรือลูกจีนที่เกิดในพื้นที่ ก็จะเรียกว่า บาบ๋า หรือ เปอรานากัน ด้วยเช่นกัน เปอรานากันต่างจากชาวไทยเชื้อสายจีนตรงที่ไทยเชื้อสายจีนไม่ได้กินเจ ไทยเชื้อสายจีนในภาคใต้พูดภาษาไทยกลาง (ถิ่นหาดใหญ่และถิ่นบ้านดอนเป็นต้น) ชาวเปอรานากันพูดภาษาไทยใต้ (ถิ่นภูเก็ต) เป็นภาษาหลัก และ ชาวเปอรานากันไม่มีแซ่

ประวัติ[แก้]

พิพิธภัณฑ์บ้านบ้าบ๋าในเมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย เป็นสถานที่รวบรวมวิถีชีวิตของชาวจีนช่องแคบ

เปอรานากัน เป็นกลุ่มชาวจีนที่มีเชื้อสายมลายูเนื่องจากในอดีต กลุ่มพ่อค้าชาวจีนโดยเฉพาะกลุ่มฮกเกี้ยนเดินทางเข้ามาค้าขายในบริเวณดินแดนคาบสมุทรมลายู และตัดสินใจตั้งถิ่นฐานในเมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย ในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 โดยแต่งงานกับชาวมลายูท้องถิ่น[2] โดยภรรยาชาวมลายูจะเป็นผู้ดูแลกิจการการค้าที่นี่ แม้แต่คนในระดับพระราชวงศ์ก็มีสัมพันธไมตรีระหว่างสุลต่านมะละกากับจักรพรรดิราชวงศ์หมิง โดยในปี ค.ศ. 1460 สุลต่านมันโซชาห์ทรงอภิเษกกับเจ้าหญิงฮังลีโปแห่งราชวงศ์หมิง และทรงประทับบนภูเขาจีน หรือ บูกิตจีนา (Bukit Cina) พร้อมเชื้อพระวงศ์อีก 500 พระองค์[3]

สำหรับสายเลือดใหม่ของชายชาวจีนกับหญิงมลายูหากเป็นชายจะได้รับการเรียกขานว่า บ้าบ๋า หรือบ้าบ๋า (Baba) ส่วนผู้หญิงจะเรียกว่า ย่าหยา (Nyonya) และเมื่อคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้น ก็ได้สร้างวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมของบรรพบุรุษโดยมาผสมผสานกันเป็นวัฒนธรรมใหม่ เมื่อพวกเขาอพยพไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ก็ได้นำวัฒนธรรมของตนกระจายไปด้วย วัฒนธรรมใหม่นี้จึงถูกเรียกรวมๆว่า จีนช่องแคบ (อังกฤษ: Straits-born Chinese; จีน: 土生華人) ต่อมาเมื่อสมัยอาณานิคมดัตช์ช่วงต้นทศวรรษ 1800 ได้มีชาวจีนอพยพเข้ามามากขึ้น จนทำให้เลือดมลายูของชาวเปอรานากันจางลง จนรุ่นหลังแทบจะเป็นจีนเต็มตัวไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำให้วัฒนธรรมผสมผสานของชาวเปอรานากันจืดจางลงไปเลย การผสมผสานนี้ยังมีให้เห็นในการแต่งกายแบบมลายูเช่น ซารุง กบายา และชุดย่าหยา[4]ซึ่งถือเป็นการแต่งกายอันสวยงามที่ผสมผสานรูปแบบของชาวจีนและมลายูเข้าด้วยกันอย่างงดงาม ฝ่ายหญิงใส่เสื้อฉลุลายดอกไม้ รอบคอ เอว และปลายแขนอย่างงดงาม นิยมนุ่งผ้าซิ่นปาเต๊ะ ฝ่ายชายยังคงแต่งกาย คล้ายรูปแบบจีนดั้งเดิม อาหารแบบเฉพาะตัว และภาษาที่ผสมผสานคำทั้งมลายู จีน และอังกฤษไว้ด้วยกัน[5]

อาหารเปอรานากัน[แก้]

อาซัม ละก์ซา (asam laksa) อาหารเปอรานากันที่ขึ้นชื่อของปีนัง

อาหารเปอรานากันมีลักษณะผสมระหว่างสองวัฒนธรรม ซึ่งหารับประทานได้ในประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผลพวงจากการแต่งงานข้ามเชื้อชาติ เหล่าสาวย่าหยาจึงนำส่วนดีที่สุดของอาหารทั้งสองชาติมารวมกัน

อาหารเปอรานากันนำส่วนประกอบของอาหารจีน เช่น หมู ซีอิ๊ว เต้าหู้ยี้ มาปรุงกับเริมปะห์ (Rempah) เครื่องผัดของชาวมลายู กะทิ และอาจใส่น้ำมะขาม ด้วยความที่ชาวเปอรานากันไม่ใช่มุสลิม จึงมีหมูเป็นส่วนประกอบของอาหารด้วย อาหารที่นิยมได้แก่ แกงหมูน้ำมะขาม (บาบีอาซัม) และหมูสะเต๊ะ น้ำจิ้มถั่วลิสงใส่สับปะรดเพื่อเพิ่มรสชาติ

เป็ดซึ่งชาวมลายูไม่นิยมกิน แต่สำหรับอาหารเปอรานากันนั้นกลับเป็นที่นิยม โดยนำเป็ดมาตุ๋นทั้งตัว ใส่แกงหรือต้มส้ม (อีตะก์ ซีโย) ส่วนไก่นั้นใช้รับประทานทั่วไป โดยสามารถทำอาหารได้หลายอย่าง เช่น ไก่ต้มกะทิรสจัด (กาปีตันไก่) และไก่ทอดพร้อมน้ำจิ้ม (เอินจิก์ กาบิน)

อาหารเปอรานากันนั้นคล้ายกับอาหารมลายูตรงที่มีวิวัฒนาการแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น อย่าง ละก์ซา (Laksa) เป็นอาหารต้นฉบับย่าหยา มีสองแบบ คือ แบบมะละกาจะเป็น ละก์ซา ลมะก์ (แกงละก์ซา) ประกอบด้วยเส้นก๋วยเตี๋ยว กุ้ง และเครื่องอื่นๆในน้ำแกงที่เข้มข้น ส่วนอาซัม ละก์ซา เป็นอาหารที่ขึ้นชื่อของชาวย่าหยาในปีนัง ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากไทย เป็นก๋วยเตี๋ยวปลาน้ำใส โรยหน้าด้วยแตงกวาดิบ และใบสะระแหน่

อาหารเปอรานากันเป็นอาหารที่อร่อย และใช้เวลาปรุงนาน บ้านเปอรานากันแบบเก่าจะมีคนรับใช้มาก และสาวย่าหยาจะใช้เวลาในการปรุงอาหารให้ถูกใจหนุ่มบ้าบ๋า โดยจะมีหญิงย่าหยาสูงวัยคอยกำกับอยู่

วัฒนธรรม[แก้]

ภาษา[แก้]

Tjhit Liap Seng (1886) โดย Lie Kim Hok เป็นนวนิยายจีนมาเลย์เรื่องแรก

มาเลเซีย[แก้]

ภาษาของชาวเปอรานากันคือ ภาษามลายูบ้าบ๋า ถือเป็นภาษาถิ่นหนึ่งของภาษามลายู โดยมีการยืมคำในภาษาฮกเกี้ยนค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันเป็นภาษาที่ใกล้สูญพันธุ์ และใช้กันในกลุ่มคนรุ่นเก่า ในขณะที่คนรุ่นใหม่หันไปพูดภาษาอังกฤษกัน

อินโดนีเซีย[แก้]

ส่วนชาวเปอรานากันในประเทศอินโดนีเซีย คนรุ่นใหม่ยังสามารถใช้ภาษาผสมนี้ได้ แต่ใช้ได้อย่างจำกัด จึงได้นำคำใหม่เข้ามาใช้ (และเสียคำเก่าไป) จนกลายเป็นศัพท์สแลง จึงกลายเป็นช่องว่างของภาษาระหว่างคนเปอรานากันรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่

ไทย[แก้]

ส่วนชาวเปอรานากันในไทยใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ ที่เจือไปด้วยคำศัพท์จากภาษามลายู จีน และอังกฤษ ไม่มี ภาษาเขียนของตนเอง

ศาสนา[แก้]

ชาวเปอรานากัน แม้จะมีเชื้อสายมลายูแต่ส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนใหญ่นับถือลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื๊อ และศาสนาพุทธนิกายมหายาน ในส่วนของบริเวณรัฐกลันตันก็จะนับถือเถรวาทควบคู่ไปกับความเชื่อดั้งเดิมที่นับถือ เวลามีกิจกรรมทางศาสนาก็จะไปวัดไทยบ้าง และมีการไหว้บรรพบุรุษเหมือนคนจีนทั่วไป แต่มีบางส่วนได้หันไปนับถือศาสนาคริสต์ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ชาวเปอรานากันได้เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมตามถิ่นที่ตั้งถิ่นฐาน อย่างอิทธิพลของโปรตุเกส ดัตช์ มลายู อังกฤษ และอินโดนีเซีย[6] ส่วนชาวเปอรานากันที่นับถือศาสนาอิสลาม มักพบได้ในจังหวัด และอำเภอที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เช่น จังหวัดปัตตานี[7] เป็นต้น ส่วนในต่างประเทศมักพบใน ประเทศมาเลเซีย และประเทศอินโดนีเซีย

การแต่งกาย[แก้]

เสื้อย่าหยา ซูแลมหรือเคบายา ซูแลม(Kebaya Nyonya Sulam)

การแต่งกายของสตรีชาวเปอรานากันหรือบาบ๋ามี 5 รูปแบบ ได้แก่

1) ชุดเสื้อคอตั้งมือจีบ สวมใส่เป็นชุดลำลอง

2) ชุดครุยยาวหรือชาวบาบ๋าในจังหวัดตรังจะเรียกว่า บาจู ปันจัง นิยมสวมใส่ในพิธีวิวาห์

3) ชุดครุยท่อน (ปั่วตึ่งเต้) สวมใส่ในโอกาสพิเศษที่ไม่เป็นทางการ 

4) ชุดย่าหยา สวมใส่ในงานบุญประเพณี

5) ชุดเสื้อลูกไม้ สวมใส่สำหรับสตรีสูงวัยในทุกโอกาส

ในส่วนสีเสื้อผ้าจะนิยมสีแดง ชมพูอ่อนหรือสีสันสดใสในงานมงคล และนิยมสีดำ น้ำตาลเข้ม สีขาวในงานอวมงคล นอกจากนี้สตรีชาวบาบ๋ายังคงนิยมนุ่งโสร่ง  ผ้าปาเต๊ะ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างตัวเสื้อแบบสตรีจีนและการนุ่งโสร่งปาเต๊ะแบบสตรีมลายู โดยมีลวดลายผีเสื้อ ลายดอกไม้ ลายพฤกษา ลายหงส์ ลายนกยูง ลายเลขาคณิต และนิยมเกล้าผมมวยสูง (ชักอิโบย) ตลอดจนการสวมเครื่องประดับที่บ่งบอกถึงฐานะทางสังคมและความเชื่อในทุกโอกาสตามวัฒนธรรมประเพณี[8]

หัตถกรรม[แก้]

รองเท้าแตะแบบเปอรานากัน (kasut manek)

รองเท้าแตะลูกปัด[แก้]

รองเท้าแตะลูกปัดแบบ เปอรานากัน หรือที่เรียกว่า kasut manek หมายถึง รองเท้าลูกปัด เป็นรองเท้าที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นรองเท้าแตะลูกปัดที่ใส่เพื่อให้เครื่องแต่งกายของผู้หญิงเปอรานากันนั้นดูครบสมบูรณ์ ใส่พร้อมกับเข็มกลัด (kerosang) และเข็มขัดเงิน (tali pendeng) ซึ่งทำจากลูกปัดเจียระไนแบบเปอรานากัน(มะเนกโปตง) ซึ่งเป็นของล้ำค่าเนื่องจากลูกปัดเหล่านี้ไม่มีจำหน่ายแล้ว และยังมีความประณีตเย็บอย่างพิถีพิถัน ถือเป็นเครื่องยืนยันถึงฝีมือการปักของผู้หญิงสมัยก่อนว่า มีความประณีตและฝีมือดีในงานบ้านงานเรือนหรือไม่อีกด้วย เพราะต้องใช้ความอดทนและใช้เวลานานในการทำ

เครื่องถ้วยแบบเปอรานากัน( Nyonya Wares)

เครื่องถ้วย[แก้]

“เครื่องถ้วยนนยา” คือ เครื่องถ้วยลงยาสีบนเคลือบ เครื่องถ้วยชนิดนี้มีราคาที่แพง เนื่องจากมีขั้นตอนการทำที่ยุ่งยากและมีการเผาหลายครั้ง กล่าวคือ ครั้งแรกต้องเผาด้วยอุณภูมิที่ต่ำ เรียกว่า “เผาดิบ” จากนั้นนำไปชุบน้ำเคลือบแล้วเผาอีกครั้งด้วยอุณภูมิที่สูงขึ้นแล้วจึงได้ภาชนะเคลือบสีขาวแล้วจึงนำไปลงยาสี “การลงยา” หมายถึง การนำน้ำเคลือบมาผสมกับน้ำมันการบูรซึ่งเป็นน้ำมันที่มีคุณสมบัติต่างๆ คือ ทำให้สีแห้งเร็ว สามารถละลายตัวสีให้มีความข้นพอที่จะทำให้ตัวสีติดกับผิวเคลือบ สีที่ติดบนผิวภาชนะจะสดใส มีความหนา และแข็งตัวง่ายเมื่อถูกอากาศ แล้วจึงเผาอีกครั้ง และหากมีการลงสีทองต้องมีการเผาครั้งสุดท้ายในอุณภูมิที่ต่ำกว่า ลายที่นิยมใช้ตกแต่งบนเครื่องถ้วยนนยา เช่น ลายดอกไม้ นก เครื่องถ้วยนนยามีรูปทรงต่างๆ เช่น จาน ชาม โถ ช้อนกลาง แจกัน พาน กระถางต้นไม้ และกระถามธูป เป็นต้น

พิพิธภัณฑ์[แก้]

มิวเซียมภูเก็ต (Museum Phuket) จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย
คฤหาสน์เปอรานากัน (Penang Paranakan Mansion) รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย

พิพิธภัณฑ์เพอรานากันภูเก็ต เป็นการจัดแสดงนิทรรศการจำลองประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ ที่อยู่อาศัย อาหารการกิน เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ เพอรานากัน ผ่านเทคโนโลยีการนำเสนอที่ทันสมัย เข้าใจง่าย ได้ทั้งความรู้ และความสนุกสนาน อีกทั้งภัตตาคาร “ครัวย่าหยา” รวบรวมอาหาร และขนมท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อหลากหลายเมนู ให้ได้ลิ้มลอง

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้รวบรวมสิ่งของ โบราณวัตถุ เครื่องใช้เก่าแก่ที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน เช่น ตราชั่งจดหมายโบราณ เครื่องพิมพ์โทรเลขโบราณ หนังสือเรียบเรียงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จัดแสดงภาพถ่ายในสมัยโบราณ ตึกสถาปัตยกรรมแบบภูเก็ตดั้งเดิมที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวภูเก็ตและชาวปีนัง ที่เดินทางติดต่อกันเพื่อค้าขายแร่ดีบุก อาหาร และ สินค้าต่างๆ จนก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนด้านอื่นๆ ตามมา

มิวเซียมภูเก็ต ในการบริหารของมิวเซียมสยามและเทศบาลนครภูเก็ตดำเนินการจัดสร้าง ภูเก็ตนครา เพอรานากันนิทัศน์ พื้นที่สร้างสรรค์การเรียนรู้สำหรับคนภูเก็ตและนักท่องเที่ยว ผ่านสื่อเทคโนโลยีและกิจกรรมสร้างสรรค์

คฤหาสน์เปอรานากัน (Penang Paranakan Mansion) รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2433 ในสมัยก่อนเป็นบ้านของจุงเก็งกวี่ หัวหน้าชุมชนชาวจีน และเป็นเศรษฐีใหญ่ในสมัยนั้น ตัวอาคารที่สร้างมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบจีน ภายในของคฤหาสน์หลังนี้ ผังของคฤหาสน์ถูกแบ่งสัดส่วนอย่างชัดเจน มีส่วนที่แยกเป็นเรือนลูกน้องออกไปจากเรือนเจ้านาย กลางบ้านจะเป็นลานกลางแจ้ง มีห้องรับแขกหลายห้องมีทั้งห้องรับแขกที่เป็นแบบของจีนจะใช้รับรองแขกฝรั่ง และห้องที่เป็นแบบของฝรั่งจะใช้รับแขกจีน บานประตูและหน้าต่างทำจากไม้แกะสลักมีลวดลายแบบจีน และปูพื้นด้วยกระเบื้องลายแบบอังกฤษ

สุสาน[แก้]

กระดาษ 5 สีบนเนินหลุมฝังศพหลุมหนึ่งในสุสานบูกิตบราวน์ในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง

แม้ชาวจีนเปอรานากันจะเป็นลูกหลานที่เกิดและเติบโตขึ้นนอกจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ยังคงสืบสานประเพณีการจัดการศพด้วยการสร้างสุสานตามธรรมเนียมจีน โดยพบว่ารูปแบบของหลุมฝังศพมีความคล้ายคลึงกับรูปแบบหลุมฝังศพจีนฮกเกี้ยน คือการใช้รูปแบบผังเกือกม้าแบบฝูเจี้ยน มีการตกแต่งด้วยงานศิลปะแบบเปอรานากันที่ผสมผสานระหว่างจีน มลายูและตะวันตก สังเกตได้จากงานปูนปั้นหรือกระเบื้องโมเสกแบบเปอรานากัน และงานปูนปั้นต่าง ๆ[9]

สุสานสาธารณะของชาวจีนเปอรานากันที่มีความเก่าแก่และมีชื่อเสียงในกลุ่มประเทศคาบสมุทรมลายู เช่น สุสานบูกิตบราวน์ (Bukit Brown cemetery) ในประเทศสิงคโปร์ สุสานบูกิตไชนา (Bukit Cina) ในเมืองมะละกา สุสานกว่องตง (Kwong Tong Cemetery) ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลย์เซีย สุสานดังกล่าวนี้เป็นสุสานจีนที่มีขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่บนเนินเขาและอยู่ห่างจากบริเวณศูนย์กลางชุมชนหลักตามคติความเชื่อของชาวจีน[10]

คำเรียกชาวเปอรานากัน[แก้]

ด้วยการรับเอาวัฒนธรรมอันหลากหลายเข้ามาคำเรียกของชาวเปอรานากันนั้นจึงแบ่งเป็นชายและหญิง โดยรับต่อภาษาต่างๆที่เข้ามามีอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมในดินแดนแห่งนี้

  • บ้าบ๋า หรือ บาบ๋า (Baba) เป็นคำที่ภาษามลายูที่ยืมมาจากภาษาเปอร์เซีย โดยคำนี้เป็นคำให้เกียรติแก่ปู่ย่าตายาย โดยคำนี้จะใช้เรียกชาวเปอรานากันที่เป็นผู้ชาย โดยเริ่มจากการเป็นภาษาตลาด จากคนหาบเร่ และผู้ขาย จนสุดท้ายคำว่า บ้าบ๋า นี้ได้ใช้กันโดยทั่วไป[6]
  • ย่าหยา หรือ ญอญญา (Nyonya) เป็นคำภาษาชวาที่ยืมมาจากภาษาดัตช์ คำว่า Dona หมายถึงผู้หญิงต่างประเทศแต่งงาน เนื่องจากภาษาชวามีความโน้มเอียงเพื่อเน้นถึงผู้หญิงต่างประเทศ ภายหลังได้ใช้เรียกชาวเปอรานากันที่เป็นผู้หญิง[11]แต่ชาวเปอรานากันในประเทศไทยคำว่า “ย่าหยา” เป็นคำเรียกชุดสตรีชนิดหนึ่งเท่านั้น

เปอรานากันในไทย[แก้]

สุสานจีนบาบ๋าบริเวณแยกเดโช ถนนสีลม

ในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่อยู่ในแถบจังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน โดยเฉพาะภูเก็ต ตรัง และกระจายตัวอยู่ในจังหวัดใกล้เคียง เช่น กระบี่ พังงา ระนอง และสตูล รวมถึงในแถบจังหวัดฝั่ง อ่าวไทย แถบพื้นที่ ปัตตานี สงขลา และ นราธิวาส โดยส่วนหนึ่งมีบรรพบุรุษอพยพมาจากปีนัง และมะละกา โดยคนกลุ่มนี้มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับกลุ่มเปอรานากันในประเทศมาเลเซีย, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์[12][13][14] ชาวเปอรานากันในไทยใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ ที่เจือไปด้วยคำศัพท์จากภาษามลายู, จีน และอังกฤษ ชาวเปอรานากันในประเทศไทย นิยมเรียกกันว่า บ้าบ๋า หรือบาบา ได้ทั้งชายและหญิง[15]

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาวเปอรานากันในกรุงเทพมหานคร ที่มีการจัดตั้งองค์กรในชื่อสโมสรจีนบาบ๋า (Strait Born Chinese Association, SBCA) ในปี พ.ศ. 2458 ก่อนจะถูกยุบไปในช่วงเวลาต่อมา[16] โดยหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยังคงหลงเหลืออยู่คือ สุสานจีนบาบ๋า บริเวณแยกเดโช ถนนสีลม ซึ่งปัจจุบันมีสภาพถูกทิ้งร้างและและชำรุดทรุดโทรม

ชาวเปอรานากันที่มีชื่อเสียง[แก้]

ประเทศมาเลเซีย[แก้]

  • ตน ดาโต๊ะ เซอร์ ตัน เช็ง ลอก (Tan Cheng Lock) - ประธานสมาคมชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนคนแรก
  • ตน ตัน เสี่ยว ซิน (Tun Tan Siew Sin) - ประธานสมาคมชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนคนที่สาม

ประเทศสิงคโปร์[แก้]

  • แคนดิค คิมเบอร์ลี มิลเลอร์ (Candice Kimberlee Miller)- ผู้จัดการกลางรายการเด็ก
  • เทอรี่ เหยา (Teri Yeo) - ผู้เข้าแข่งขัน Campus Superstar Season 2
  • ดิ๊ก ลี (Dick Lee) - นักร้อง, นักแต่งเพลง
  • วี คิม วี (Wee Kom Wee) - ประธานาธิบดีคนที่ 4 ของประเทศสิงคโปร์
  • เอ็ดมันด์ หว่อง (Edmond Wong) - ผู้ประสานงานคำร้องฎีกาในสิงคโปร์
  • ปิแอร์ ปึง (Pierre Png) - นักแสดง
  • โอลิเวีย ออง (Olivia Ong) - นักร้อง

ประเทศอินโดนีเซีย[แก้]

ประเทศไทย[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. หนังสือ ครัวย่าหยา โดย นวพร เรืองสกุล
  2. Andrew D.W. Forbes (1988). The Muslims of Thailand. Soma Prakasan. pp. 14–15. ISBN 974-9553-75-6.
  3. Malaysia People เก็บถาวร 2010-01-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน The People of Malaysia – with Wired Destinations
  4. Pixie Dollhouse:May 2009 Saturday, May 23, 2009 Of Beige, Gold, Flappers, Lasalle Reunions and Life
  5. สิ่งทอภาคใต้[ลิงก์เสีย]
  6. 6.0 6.1 Joo Ee Khoo; The Straits Chinese: a cultural history, Pepin Press,: 1996 ISBN 9054960086: 288 pages
  7. Montesano, Michael John, บ.ก. (2008). Thai South and Malay North: Ethnic Interactions on the Plural Peninsula. NUS Press. ISBN 978-9971-69-411-1.
  8. วัฒนธรรมการแต่งกายของสตรีชาติพันธุ์บาบ๋าในจังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิกรม กรุงแก้วสาขาวิชาศิลปะการจัดการแสดง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
  9. อรุโณประโยชน์, ศุภณัฐ (2021). แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิทัศน์สุสานจีนในเขตชั้นในกรุงเทพมหานคร. ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 44. สืบค้นเมื่อ 8 August 2022.
  10. อรุโณประโยชน์, ศุภณัฐ; ธรรมวิมล, วิภากร (2022). "พัฒนาการของสุสานจีนโพ้นทะเลในคาบสมุทรอินโดจีนและหมู่เกาะมลายู". วารสารวิชาการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 74 (มกราคม-มิถุนายน): 53-68.
  11. Soeseno Kartomihardjo, Ethnography of communicative codes in East Java Dept. of Linguistics, Research School of Pacific Studies, Australian National University: 1981: ISBN 0858832550: 212 pages: 96
  12. Celebrating Chinese New Year I
  13. Peranakan Chinese New Year Festival
  14. บ้าบ๋า-เพอรานากัน ประจำปีครั้งที่ 19 ณ จังหวัดภูเก็ต
  15. "เล่าขานตำนานไทย-จีนโพ้นทะเลในภูเก็ต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2009-09-28.
  16. เรืองสกุล, นวพร (2008). สีลม ย่าหยา และ ตำราอาหาร. (1 ed.). Knowledge Plus. สืบค้นเมื่อ 8 August 2022.

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น (ออนไลน์)[แก้]

]


อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "หนังสือ" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="หนังสือ"/> ที่สอดคล้องกัน