เกี๊ยวซ่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เกี๊ยวซ่า
เกี๊ยวซ่าแบบนึ่ง
ชื่ออื่นเกียวซะ (ญี่ปุ่น) เจี่ยวจือ (จีน)
ประเภทอาหารว่าง
แหล่งกำเนิดจีน
ส่วนผสมหลักแป้งโด เนื้อบด หรือผัก
พลังงาน
(ต่อ หน่วยบริโภค)
63 (ต่อ 1 ชิ้น) กิโลแคลอรี
เกี๊ยวที่ยังไม่นำไปปรุง
เกี๊ยวซ่า

เกี๊ยวซ่า (จีนตัวย่อ: 饺子; จีนตัวเต็ม: 餃子; พินอิน: jiǎozi เจี่ยวจึ หรือ เจี่ยวจือ; ญี่ปุ่น: 餃子, ギョーザ, ギョウザโรมาจิgyōza เกียวซะ) เป็นอาหารจีนชนิดหนึ่ง ทำจากแป้งสาลีห่อไส้ที่ทำจากเนื้อสัตว์ แผ่นแป้งเป็นแป้งสาลีไม่ใส่ผงฟูหรือยีสต์ นำมาห่อไส้หมูแล้วทอด เกี๊ยวซ่าในภาษาไทยมาจากภาษาญี่ปุ่นว่าเกียวซะ ญี่ปุ่นได้รับอาหารชนิดนี้มาจากชาวแมนจู ซึ่งนำไปทอดรับประทานเช่นกัน ชาวจีนทางเหนือรับอาหารชนิดมาจากชาวแมนจูเช่นกัน เรียกว่าเจี่ยวจือ นำมาต้มแล้วกินกับน้ำซุป[1] อาหารชนิดนี้เป็นคนละชนิดกับเกี๊ยวซึ่งคนไทยจะเรียกตามภาษาจีนแต้จิ๋ว ซึ่งจะตรงกับอาหารจีนกวางตุ้งที่เรียก "หวั่นทั้น"

ชนิด[แก้]

เจียวจือแบบนึ่งและซอส

เจียวจือแบบจีนแบ่งตามการปรุงได้ดังนี้

  • แบบต้ม (จีน: 水餃; พินอิน: shuǐjiǎo; แปลตรงตัว: "water dumpling")
  • แบบนึ่ง (จีน: 蒸餃; พินอิน: zhēngjiǎo; แปลตรงตัว: "steam dumpling")
  • แบบทอดในกระทะแบน (จีน: 鍋貼; พินอิน: guōtiē; แปลตรงตัว: "pan stick" บางครั้งเรียก จีน: 煎餃; พินอิน: jiānjiǎo; แปลตรงตัว: "dry-fried dumplings").

เจียวจือแบบที่ใช้ไข่ห่อไส้แทนแป้ง (จีน: 蛋餃; แปลตรงตัว: "dànjiǎo") ในทิเบตและเนปาลมีอาหารที่มีรูปแบบคล้ายเกี๊ยวซ่าเรียกว่า โมโม ปรุงสุกด้วยการนึ่ง ไส้ทำด้วยเนื้อสัตว์

แบบญี่ปุ่น[แก้]

เกียวซา

คำภาษาญี่ปุ่น เกียวซะ gyōza (ギョーザ, ギョウザ) มาจากเสียงอ่านของคำว่า 餃子 ของสำเนียงภาษาจีนในชานตง และเขียนด้วยอักษรจีนตัวเดียวกัน ความแตกต่างสำคัญระหว่างเกี๊ยวซ่าของญี่ปุ่นกับเจียวจือของจีนคือ แบบญี่ปุ่นใส่กระเทียมมากกว่า กิบเกลือและซีอิ๊ว แป้งเกี๊ยวซ่าบางกว่า ไส้ใส่หมูบดผสมกับกะหล่ำปลี น้ำมันงา และกระเทียม

รูปแบบการทำ[แก้]

วิธีการทำเกี๊ยวใช้วิธีการ (dough) ห่อไส้เนื้อ ผัก หรือส่วนผสมอย่างอื่น ม้วนและปิดห่อด้วยการแตะน้ำเล็กน้อยแล้วบีบที่ขอบ (แผ่นแป้งเมื่อโดนน้ำแล้วจะติดกัน) ทำให้เกี๊ยวมีรูปทรงคล้ายจานบิน เกี๊ยวสามารถนำไปต้ม นึ่ง หรือทอดพอสุก เสิร์ฟพร้อมซอสพริกและซอสสำหรับจิ้มที่ทำจากซอสถั่วเหลืองผสมน้ำส้มสายชู โดยบางครั้งจะใส่น้ำมันพริกหรือน้ำพริกเผา

อ้างอิง[แก้]

  1. อดุลย์ รัตนมั่นเกษม. เสี่ยวหลงเปา. ครัว. ปีที่ 18 ฉบับที่ 218. สิงหาคม 2555 หน้า 86 – 91

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]