อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เซอร์ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง
เกิด06 สิงหาคม ค.ศ. 1881(1881-08-06)
ล็อกช์ฟิลล์ อีสต์แอร์เชอร์ สกอตแลนด์
เสียชีวิต11 มีนาคม ค.ศ. 1955(1955-03-11) (73 ปี)
ลอนดอน, อังกฤษ
พลเมืองสหราชอาณาจักร
ศิษย์เก่า
มีชื่อเสียงจากการค้นพบเพนิซิลิน
รางวัล
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาแบคทีเรียวิทยา, ภูมิคุ้มกันวิทยา

เซอร์ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง (อังกฤษ: Sir Alexander Fleming) เป็นแพทย์ นักชีววิทยา นักเภสัชวิทยา และนักพฤกษศาสตร์ชาวสกอตแลนด์ เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1881 ในดาร์เวล ประเทศสกอตแลนด์ ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาคือการค้นพบเอนไซม์ไลโซไซม์ในปี ค.ศ.[2] 1923 และการค้นพบสารเบนซิลเพนนิซิลิน (เพนนิซิลิน จี) จากเชื้อรา pennicilium notatum ในปี ค.ศ. 1928 ซึ่งนำไปสู่การพัฒนายาปฏิชีวนะตัวแรกของโลก การค้นพบนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ในปี ค.ศ. 1945[3][4][5][6]

ประวัติและการศึกษา[แก้]

เซอร์ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง เกิดวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1881 ที่ดาร์เวล อีสต์แอร์เชอร์ ประเทศสกอตแลนด์ ตอนเหนือของสหราชอาณาจักร เขาเป็นลูกคนที่ 3 จากทั้งหมด 4 คน ของ ฮิวจ์ เฟลมมิง ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในวัยเด็กเขาเป็นเด็กซุกซนและฉลาดหลักแหลม

เฟลมมิงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนโลวเดินส์ มัวร์ และโรงเรียนดาร์เวล ก่อนที่เขาย้ายไปยังลอนดอน นอกจากนี้ เขายังได้รับทุนการศึกษา 2 ปีเต็มจากคิลมาร์น็อก อะคาเดมีอีกด้วย เมื่อย้ายไปยังลอนดอนเขาได้เข้าศึกษาที่สถาบัน รอยัลพอลีเทคนิค หลังจากทำงานอยู่ในบริษัทขนส่งสินค้าเป็นเวลาสี่ปี เฟลมมิงในวัย 20 ปี ก็ได้รับการเชิญชวนให้เช้าศึกษาวิชาแพทย์ จากทอม พี่ชายของเขาซึ่งเป็นแพทย์ ใน ค.ศ. 1903 เขาจึงได้เข้าศึกษาที่โรงพยาบาลเซนต์แมรี เมืองแพดดิงตัน ในอีกสามปีต่อมา เขาได้รับปริญญาสาขาแพทย์ศาสตร์บัณฑิตและศัลยศาสตร์บัณฑิต หลังจากจบการศึกษา เขาได้เข้าทำงานเป็นผู้ช่วยด้านแบคทีเรียวิทยาของ เซอร์ อาร์มร็อท ไรท์ ผู้บุกเบิกการรักษาด้วยวัคซีนได้รับและวิชาการศึกษาระบบภูมิคุ้มกัน ใน ค.ศ. 1908 เขาปริญญาอีกใบจากสาขาวิทยาศาสตร์บัณฑิต ด้วยเกียรตินิยมเหรียญทอง จากนั้นเขาได้ทำงานเป็นอาจารย์ที่สถาบันเดิมจนถึงค.ศ. 1914

ในช่วง ค.ศ. 1914 – 1918 เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เฟลมมิงได้เข้าร่วมในสงครามในฐานะแพทย์ภาคสนามในแนวรบด้านตะวันตก ประเทศฝรั่งเศส ร่วมกับเพื่อนร่วมงานของเขา หลังจากสงครามจบ เขาจึงกลับไปทำงานที่โรงพยาบาลเซนต์แมรี ซึ่งใน ค.ศ. 1928 เขาได้รับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ในด้านแบคทีเรียวิทยาที่มหาวิทยาลัยลอนดอน จากนั้น ใน ค.ศ. 1951 เขาได้รับเลือกให้เป็นอธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยเอดินบะระ

ผลงานการศึกษาวิจัย[แก้]

ก่อนการค้นพบเพนิซิลิน[แก้]

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เฟลมมิงเห็นทหารจำนวนมากเสียชีวิตจากภาวะพิษเหตุติดเชื้อ เฟลมมิงพยายามช่วยรักษาแผลโดยใช้ยาฆ่าเชื้อโรค แต่ยาฆ่าเชื้อโรคกลับทำให้แผลบาดเจ็บเหล่านั้นมีสภาพแย่ลง ในบทความที่เขาได้ส่งไปยังวารสารทางการแพทย์ แลนด์เซทในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เฟลมมิงได้กล่าวถึงการทดลองอันชาญฉลาดซึ่งสามารถอธิบายเหตุผลที่ยาฆ่าเชื้อเหล่านั้นใช้ไม่ได้ผลและทำให้แผลเหล่านั้นมีอาการแย่ลง เขาอธิบายว่ายาฆ่าเชื้อใช้ได้ผลดีเฉพาะระดับผิวหนัง แต่สำหรับแผลลึกยาฆ่าเชื้อจะเข้าไปทำลายแบคทีเรียที่มีประโยชน์ เซอร์ อาร์มร็อท ไรท์ ได้สนับสนุนการค้นพบครั้งนี้เป็นอย่างมาก แต่แพทย์ทหารก็ยังคงใช้ยาฆ่าเชื้อตัวเดิมในการรักษาแม้ว่าจะทำให้บาดแผลแย่ลงก็ตาม เมื่อกลับมาที่โรงพยาบาลเซนต์แมรี ได้กลับมาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับสารต้านแบคทีเรีย และได้ค้นพบไลโซไซม์ ซึ่งเป็นสารยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียในสารคัดหลั่งจากจมูก

การค้นพบเพนิซิลิน[แก้]

ในปี 1927 เฟลมมิงได้ทำการศึกษาคุณสมบัติของ Staphylococcus ในขณะนั้นเขาได้รับการยอมรับว่าเป็นนักวิจัยที่ชาญฉลาด แต่ห้องปฏิบัติการของเขามีสภาพที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ในวันที่ 3 กันยายน 1928 เฟลมมิงกลับมายังห้องปฏิบัติการของเขาหลังจากลาพักร้อนกับครอบครัวในเดือนสิงหาคม ก่อนนั้นเขาได้วางถาดเพาะเลี้ยงเชื้อไว้บนม้านั่งที่มุมห้อง เมื่อกลับมาเขาได้พบว่ามีถาดเพาะเชื้ออันหนึ่งเกิดการปนเปื้อนด้วยเชื้อรา และในบริเวณที่เชื้อราเกิดขึ้นนั้นแบคทีเรียถูกทำลายไป เขาได้นำถาดเพาะเชื้อชิ้นนั้นไปเพาะเลี้ยงต่อ แล้วพบว่าเชื้อรานั้นได้ฆ่าแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคหลายชนิด ในวันที่ 7 มีนาคม 1929 เขาได้ตั้งชื่อสารนั้นว่าเพนนิซิลิน

รางวัลและเกียรติยศ[แก้]

การค้นพบโดยบังเอิญของเฟลมมิงและการสกัดสารเพนนิซิลินในเดือนกันยายน 1928 เป็นจุดเปลี่ยนของการแพทย์สมัยใหม่ เป็นยุคของการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งตัวยาเพนนิซิลินได้ถูกใช้รักษาชีวิตคนจำนวนหลายล้านคนจนถึงปัจจุบัน จากการค้นพบดังกล่าว ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลในสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ในปี 1945 นอกจากนี้ยังได้รับการยกย่องจากสถาบันต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยลอนดอน สถาบันรอยัล พอลีเทคนิค (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์) และได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินจากพระเจ้าจอร์จที่ 6

อ้างอิง[แก้]

  1. Colebrook, L. (1956). "Alexander Fleming 1881-1955". Biographical Memoirs of Fellows of the Royal Society. 2: 117–126. doi:10.1098/rsbm.1956.0008. JSTOR 769479.
  2. Colebrook, Leonard (1956-11-01). "Alexander Fleming, 1881-1955". Biographical Memoirs of Fellows of the Royal Society. 2: 117–127. doi:10.1098/rsbm.1956.0008.
  3. "Alexander Fleming Biography". Les Prix Nobel. The Nobel Foundation. 1945. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-30. สืบค้นเมื่อ 27 March 2011.
  4. Hugh, TB (2002). "Howard Florey, Alexander Fleming and the fairy tale of penicillin". The Medical journal of Australia. 177 (1): 52–53, author 53 53. PMID 12436980.
  5. Cruickshank, Robert (1955). "Sir Alexander Fleming, F.R.S". Nature. 175 (4459): 663. doi:10.1038/175663a0.
  6. Bennett, Joan W; Chung, King-Thom (2001-01-01), "Alexander Fleming and the discovery of penicillin", Advances in Applied Microbiology (ภาษาอังกฤษ), Academic Press, vol. 49, pp. 163–184, doi:10.1016/s0065-2164(01)49013-7, สืบค้นเมื่อ 2022-10-06

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]