อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2553

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2553
วันที่10 ตุลาคม - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553
ที่ตั้ง39 จังหวัด 425 อำเภอ 3,098 ตำบล 26,226 หมู่บ้าน
เสียชีวิต181
ทรัพย์สินเสียหาย8,000-10,000 ล้านบาท

อุทกภัยในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2553 เป็นเหตุการณ์การเกิดน้ำท่วมในประเทศไทยหนักที่สุดในรอบหลายสิบปี เนื่องจากมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักทั้งชีวิตและทรัพย์สินในหลายพื้นที่[1] สื่อหลายแห่งระบุว่า อุทกภัยครั้งนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553 จนกระทั่งสถานการณ์คลี่คลายทั้งหมดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553[2]

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย พบว่ามีพื้นที่ประสบอุทกภัย มีจังหวัดประสบภัยทั้งสิ้น 39 จังหวัด 425 อำเภอ 3,098 ตำบล 26,226 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 2,002,961 ครัวเรือน 7,038,248 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 7,784,368 ไร่[3] พบผู้เสียชีวิตจากเหตุอุทกภัยแล้วทั้งหมด 181 ราย เป็นบุคคลสัญชาติไทย 178 ราย กัมพูชา 1 ราย พม่า 1 ราย เนเธอร์แลนด์ 1 ราย[3]

ส่วนสรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้ระบุว่า มีจังหวัดประสบภัยทั้งสิ้น 12 จังหวัด 133 อำเภอ 874 ตำบล 6,197 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 609,511 ครัวเรือน 1,932,405 คน มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 80 คน มีสัญชาติไทยทั้งหมด[2]

สาเหตุ[แก้]

สาเหตุเกิดจากอิทธิพลของร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ภาคกลางและภาคตะวันออก และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน น้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร[3] ร่องมรสุมกำลังแรงดังกล่าวมีสาเหตุจากปรากฏการณ์ลานิญาที่มาเร็วกว่าปกติ ทาง ดร. รอยล จิตดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ได้ชี้ว่าฝนได้ตกลงมาในพื้นที่หลังเขาเป็นเวลาหลายวัน เฉลี่ยมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน ประกอบกับความแปรปรวนของร่องฝน ซึ่งปกติจะต้องเคลื่อนลงไปแถวภาคใต้แล้ว[4] ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งมีปริมาณน้ำเกินกว่าระดับกักเก็บ โดยเฉพาะเขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำตะคอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จนต้องเร่งระบายน้ำออกสู่พื้นที่ท้ายเขื่อน ซึ่งทำให้หลายพื้นที่เกิดอุทกภัยอย่างหนัก[5]

ในช่วงแรก เหตุอุทกภัยดังกล่าวเป็นเพียงอุทกภัยธรรมดาและไม่ตึงเครียดแต่อย่างใด แต่สถานการณ์ได้เลวร้ายลงจนกระทั่งกลายมาเป็นสาธารณภัยครั้งร้ายแรกในที่สุด เป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือนที่พื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและได้มีผู้เสียชีวิตรายแรก ๆ [6]

สำหรับสาเหตุของอุทกภัยในจังหวัดนครราชสีมา ยังพบว่ามีการรุกล้ำลำน้ำลำตะคองและลำพระเพลิง ทำให้พื้นที่ไม่สามารถเก็บกักน้ำเอาไว้ได้ โดยการรุกล้ำดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะความเฟื่องฟูของธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตอีกด้วย[7]

สำหรับสาเหตุของอุทกภัยในภาคใต้ ระบุว่าเกิดจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นบริเวณอ่าวไทยตอนล่างเคลื่อนตัวผ่านภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกชกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน น้ำไหลหลาก เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร และพื้นที่การเกษตร วาตภัยและคลื่นมรสุมซัดฝั่ง[2] ทั้งยังพายุไซโคลนจาล ทำให้ผลกระทบจากอุทกภัยเพิ่มมากขึ้นเมื่อประกอบกับลมกำลังแรงราว 50 กิโลเมตร[8]

อุทกภัย[แก้]

จังหวัดนครราชสีมา[แก้]

อุทกภัยในอำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานความเสียหาย 23 อำเภอ 162 ตำบล ประชากร 87,887 คน ซึ่งมีสถานการณ์อุทกภัยรุนแรง 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ปากช่อง ปักธงชัย และเฉลิมพระเกียรติ พร้อมกับให้ความช่วยเหลือโดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการด้านการแพทย์และสาธารณสุขและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการ มีผู้ป่วยรวม 2,993 ราย

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ส่วนสถานบริการและสาธารณูปโภคได้รับความเสียหายและผลกระทบรวม 13 แห่ง เป็นมูลค่า 252,120,000 บาท ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา โรงพยาบาลปักธงชัยและโรงพยาบาลปากช่อง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอจำนวน 1 แห่ง และสถานีอนามัยจำนวน 9 แห่งประมาณการความเสียหาย 1,790,001 บาท[9]

สุบงกช วงศ์วิชยาภรณ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า อุทกภัยครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดของจังหวัดนครราชสีมากว่า 50% โดยจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน นอกจากนี้จังหวัดนครราชสีมายังเป็นแหล่งปลูกพืชเศรษฐกิจ ส่งออกสำคัญของประเทศ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ซึ่งจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงปลายปีนี้[10]

มีรายงานว่า จระเข้ฟาร์มสีคิ้วหลุดจากฟาร์ม 50 ตัว โดยสามารถจับได้เพียง 2 ตัว (19 ตุลาคม) [5]

จังหวัดอ่างทอง[แก้]

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ 2 ตำบลในอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ประชาชนต้องช่วยกันบรรจุกระสอบทรายเป็นคันกั้นน้ำ[5]

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[แก้]

น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำน้อยเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มการเกษตรใน 5 อำเภอ 54 ตำบล 297 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 4,494 ครัวเรือน 13,977 คน คนงานกรมศิลปากรกว่า 50 คน ช่วยกันนำกระสอบทรายไปเสริมแนวบังเกอร์คอนกรีตบริเวณวัดธรรมาราม ซึ่งภายในวัดมีหอพระไตรปิฎกเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา[5]

ระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม พบว่ามีวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้รับผลกระทบจากอุทกภัยถึง 505 วัด ได้มีการมอบความช่วยเหลือเบื้องต้น ตลอดจนเครื่องอุปโภคบริโภค ผ้าไตร เงินบริจาค ทรายและถุงใส่ทราย ตลอดจนมีอาสาสมัครช่วยบรรจุถุงทรายกว่า 500 คน วัดหลายแห่งซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเสียหายจำนวน 406 วัด ต้องการขอรับการอุดหนุนจากรัฐบาล 100 ล้านบาท สรุปมีพระภิกษุสามเณรได้รับผลกระทบ 4,000 รูป ชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณวัดได้รับผลกระทบ 5,000 คน[11]

สภากาชาดไทยได้จัดเตรียมห้องครัวเคลื่อนที่เพื่อประกอบอาหารให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัด โดยถวายอาหารให้แด่พระสงฆ์ในช่วงเช้า ช่วงเที่ยงให้แก่ผู้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย และช่วงเย็นให้แก่ชาวบ้าน โดยมีกุ๊กอาสา 50 คน ประกอบอาหาร 3,000 มื้อต่อวัน[12]

จังหวัดนครสวรรค์[แก้]

ฝนที่ตกลงมาตลอดคืนวันที่ 18 ตุลาคม ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากในหลายอำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ ในวันที่ 19 ตุลาคม ทางจังหวัดได้ประกาศให้พื้นที่จังหวัดเป็นเขตภัยพิบัติ โดยอำเภอหนองบัวและอำเภอไพศาลีได้รับผลกระทบหนักที่สุด[5]

จังหวัดขอนแก่น[แก้]

ระดับน้ำในแม่น้ำชีได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเขื่อนลำปะทาวและเขื่อนจุฬาภรณ์ต้องเร่งระบายน้ำออกมาเนื่องจากไม่สามารถรองรับระดับน้ำได้ หลังได้รับน้ำหนุนจากจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดชัยภูมิ คาดว่าหลายอำเภอของจังหวัดน่าจะประสบปัญหาน้ำท่วมในวันที่ 20-21 ตุลาคม[5]

จังหวัดสงขลา[แก้]

ภาพมุมสูงของอำเภอหาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

สถานการณ์อุทกภัยในปี พ.ศ. 2553 ถือเป็นอุทกภัยครั้งร้ายแรงครั้งเแรกนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ซึ่งอุทกภัยในครั้งนั้นได้มีผู้เสียชีวิต 20 คนในอำเภอหาดใหญ่และอำเภอใกล้เคียงอีก 16 อำเภอ[13] ในหลายพื้นที่พบว่ามีน้ำท่วมสูงถึง 3 เมตร[14] ตามการรายงานของนายกเทศมนตรีหาดใหญ่ ไพร พัฒโน ระบุว่าพื้นที่ในเขตเมืองได้รับผลกระทบถึง 80% และมีผู้ได้รับผลกระทบถึง 30,000 ครัวเรือน โดยประชาชนราว 10,000 คน ไม่สามารถออกจากที่พักอาศัยได้ นอกจากนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้รายงานว่ามีเสาไฟฟ้าได้รับความเสียหาย 80 จาก 200 เสา[15]

กองทัพเรือไทยได้ส่งเรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือที่บรรทุกเครื่องบินเป็นลำแรกของไทย มาให้ความช่วยเหลือ โดยใช้เป็นครัวในการปรุงอาหารจากนั้นจึงส่งอาหารมายังจังหวัดโดยเฮลิคอปเตอร์[16]

ผลกระทบ[แก้]

สถานการณ์อุทกภัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อประชากรหนึ่งในสิบของประเทศ (จากประมาณ 66 ล้านคน) และสร้างความเสียหายแก่พื้นที่การเกษตรร้อยละ 3 ของพื้นที่การเกษตรในประเทศ[17]

เศรษฐกิจ[แก้]

ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่าอุทกภัยครั้งนี้จะสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการราว 8,000-10,000 ล้านบาท ภาครัฐอาจต้องใช้งบประมาณชดเชย แก้ปัญหา และช่วยเหลือผู้ประสบภัย คาดว่ามูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1-2 หมื่นล้านบาท มีผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ราว 0.2% ของจีดีพี แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะยังคงขยายตัวได้ 7-7.5% โดยไม่ได้รับผลกระทบมากนัก[18] ในขณะที่สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ประเมินว่าปัญหาอุทกภัยและปัญหาเงินบาทแข็งค่ารวมกัน น่าจะส่งผลให้จีดีพีลดลงประมาณ 1% ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ลดเหลือ 6%[10] ต่อมา ศูนย์วิจัยกสิกรได้รายงานว่ามูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่าง 32,000 ถึง 54,000 ล้านบาท แต่ก็ได้ทำนายว่าอุทกภัยครั้งดังกล่าวจะเป็นการนำเม็ดเงินกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลจะให้เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนฝ่ายเอกชนจะให้ความช่วยเหลือในการซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่เสียหาย ผลกระทบของอุทกภัยได้ทำให้จีดีพีในไตรมาสที่สี่ลดลงระหว่าง 0.6-1.2% และอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่สี่เพิ่มขึ้น 2.9-3.1%[19]

ธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่าพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายกว่า 2.4 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 1.5 แสนราย นาข้าวได้รับผลกระทบมากที่สุด คิดเป็น 1.7 ล้านไร่ ด้านปศุสัตว์และด้านประมงได้รับผลกระทบ 1 แสนราย ซึ่งเมื่อนับรวมกับความเสียหายจากอุทกภัยนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา พบว่าพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายเกือบ 4 ล้านไร่ รวมเกษตรกรได้รับความเดือนร้อน 2.9 แสนราย[20]

ด้านนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ปรับการประมาณการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลดลง 0.2% จากที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 7.6% เหลือ 7.4% จากความเสียหายของอุทกภัยครั้งนี้ แต่นอกจากนี้ ทางสำนักงานยังได้ประเมินความเสียหายเบื้องต้นไว้ 3 แนวทาง แบ่งเป็น กรณีต่ำ จีดีพีลดลง 0.08% คิดเป็นความเสียหาย 7,739 ล้านบาท กรณีฐาน จีดีพีลดลง 0.13% คิดเป็นความเสียหาย 11,800 ล้านบาท และกรณีสูง จีดีพีลดลง 0.21% คิดเป็นความเสียหาย 20,200 ล้านบาท[21]

ประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า อุทกภัยครั้งนี้จะส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลทรายในปี พ.ศ. 2554 ลดลงกว่า 10 ล้านกิโลกรัม ผลผลิตอ้อยลดลง 109,000 ตัน เนื่องจากพื้นที่ปลูกอ้อยได้รับความเสียหายกว่า 1 หมื่นไร่[22] หน่วยงานของรัฐยังได้ออกมาเตือนว่าปริมาณการผลิตข้าวเจ้าในประเทศปีนี้อาจลดลงถึง 6.5% บีบให้ข้าวมีราคาสูงขึ้น[23]

สถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ ได้ก่อให้เกิดความกลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตยางธรรมชาติ ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก[24] โดยคาดว่าปริมาณการผลิตอาจลดลงถึง 4.1% ในไตรมาสที่ 4 ของปี[24] ความกลัวดังกล่าวทำให้ราคายางธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น[25] อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อุทกภัยดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามที่ได้ประมาณการไว้[26]

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่านากุ้ง 130 นาซึ่งครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่ง 20,000 ไร่ใน 6 อำเภอได้รับความเสียหายจากอุทกภัย สร้างความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท เจ้าของนากังวลว่าหอยเลี้ยงอาจตายได้ทั้งหมดในคราวเดียว ซึ่งทำให้มูลค่าความเสียหายเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2-3 พันล้านบาทหลังจากไร่หอยนางรมและหอยแครงในพื้นที่ชายฝั่งในอำเภอกาญจนดิษฐ์และอำเภอไชยาถูกกระแสน้ำพัดพาไป[27]

สาธารณสุข[แก้]

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553 จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รายงานจำนวนผู้ป่วยจากการประสบภัยอุทกภัย แล้วทั้งสิ้น 107,000 ราย[28]

คมนาคม[แก้]

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเปิดเผยว่าภาวะฝนตกหนักทำให้น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมเส้นทางสายต่าง ๆ รวม 12 สาย ดังนี้ นครราชสีมา 7 สาย สระแก้ว 1 สาย ชัยภูมิ 1 สาย นครสวรรค์ 1 สาย ลพบุรี 2 สาย[29] จนถึงวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ศูนย์บริหารงานอุบัติภัย กรมทางหลวงได้รายงานน้ำท่วมและสะพานชำรุด 13 จังหวัด จำนวน 70 สายทาง[30]

นักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งได้รับรายงานว่าติดอยู่ในประเทศไทยเนื่องจากบริการทางรางและทางอากาศถูกเลื่อนออกไป[31] ได้มีความพยายามหลายประการที่จะช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 100 คนถูกรายงานว่าติดอยู่บนเกาะอ่างทองเนื่องจากมีคลื่นสูง[32]

การให้ความช่วยเหลือ[แก้]

รัฐบาล[แก้]

ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 19 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ออกมาระบุว่าให้กระทรวงการคลังผ่อนผันกฎเกณฑ์และหลักการให้ความช่วยวเหลือการเบิกจ่ายเงินทดลองจ่ายในจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ทั้งนี้ยังได้เพิ่มเงินทดลองจ่ายจาก 50 ล้านบาทเป็น 100 ล้านบาท โดยให้กรมบัญชีกลางเป็นผู้พิจารณา[5] ด้านอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน อัมพร นิติสิริ กล่าวว่า ทางกรมได้ขอความร่วมมือจากนายจ้างให้ลูกจ้างที่ไม่สามารถเดินทางมาทำงานได้จากเหตุอุทกภัยได้ลาหยุดโดยไม่ถือว่าเป็นวันลาหรือผิดข้อบังคับการทำงานด้วย[5] นายกรัฐมนตรีได้ลงนามแต่งตั้งศูนย์ประสานงานเยียวยาผู้ประสบภัยขึ้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553[33]

รัฐบาลได้ให้คำมั่นว่าจะมอบเงินจำนวน 5,000 บาทให้แก่ครอบครัวผู้ประสบภัยน้ำท่วมหนักที่สุด ในส่วนหนึ่งของงบประมาณพิเศษ 2,900 ล้านบาท[23] นอกจากนี้ เงินช่วยเหลือสำหรับแต่ละครอบครัวอาจสูงถึง 100,000 บาทในกรณีค่าซ่อมแซมบ้าน ตลอดจนลดหย่อนภาษีให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ[34]

ได้มีการส่งตัวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในภาคใต้จำนวน 36,000 คนไปยังค่ายบรรเทาทุกข์ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของมาเลเซีย[35]

เอกชน[แก้]

เอกชนชาวไทยเป็นแถวหน้าในการให้ความช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย โดยได้มีการเรียกร้องให้สาธารณะช่วยกันบริจาคและเร่งรุดลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือโดยไม่รอคำชี้แจงจากรัฐบาล เอแบคโพลได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อความพอใจต่อการให้ความช่วยเหลือในเหตุอุทกภัย พบว่ากลุ่มอาสาสมัครได้คะแนนถึง 7.52 เต็ม 10 ในขณะที่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลได้เพียง 5.55 และฝ่ายค้านได้เพียง นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าการให้ความช่วยเหลือของภาคเอกชนในอุทกภัยครั้งดังกล่าวจะช่วยเยียวยาการแตกสามัคคีในชาติ โดยไม่แบ่งแยกสถานภาพทางเศรษฐกิจและฝ่ายทางการเมือง[36]

ต่างประเทศ[แก้]

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553 สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย แจ้งว่า ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้ส่งสาส์นแสดงความเสียใจถึงผู้ประสบอุทกภัย ใจความว่า ในนามของประธานาธิบดีบารัค โอบามา และชาวอเมริกัน ขอแสดงความเสียใจถึงประชาชนชาวไทยจากอุทกภัยรุนแรงดังกล่าว โดยสถานเอกอัครราชทูตได้มอบความช่วยเหลือเฉพาะหน้าและจะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยหากจำเป็น[37] และเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553 อีริค ดี. จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ได้บริจาคเงิน 50,000 ดอลล่าร์สหรัฐให้กับสภากาชาดไทย เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในนามของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา[38]

ประธานสภาประชาชนแห่งชาติได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์อุทกภัยในประเทศไทย ซึ่งเป็นอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปี และมีพื้นที่ได้รับผลกระทบถึง 50 จังหวัด[39] รัฐบาลจีนตั้งใจที่จะมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและบริจาคเงินจำนวน 10 ล้านหยวนเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ[39]

การวิพากษ์วิจารณ์[แก้]

สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และอดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการไม่มีนโยบายการเตือนภัยธรรมชาติที่ชัดเจนของภาครัฐ ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ไม่สนใจหรือขาดการประสานงานกัน ข้อมูลจากการทำนายล่วงหน้านับเดือนจึงไม่มีประโยชน์

“การเตือนภัยธรรมชาติ หลัก ๆ ต้องมี 3 อย่างด้วยกัน คือข้อมูล ผู้ที่นำข้อมูลนี้ไปใช้ในการปฏิบัติ และการเตือนภัย แต่ปัญหาคือต่างคนต่างทำ สุดท้ายก็ไม่มีประโยชน์อะไรขึ้นมา กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนภัยมาแล้ว 20 กว่าฉบับ มีการบอกถึงขั้นฝนจะตกหนักตรงนั้นตรงนี้ ปริมาณแบบนี้จะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ถ้าคนที่ได้รับการเตือนถือไปปฏิบัติตาม เอาไปบอกผู้บริหารท้องถิ่น ให้มีคำสั่งอพยพ หรือหาทางป้องกัน หากระสอบทราย ขุดลอกหนองบึงให้ทางน้ำไหลได้คล่อง รวมทั้งเตือนประชาชนให้ยกของไว้ล่วงหน้า หรือเตรียมอาหารกักไว้ ความเสียหายมันก็จะน้อยลง"[40]

ด้านพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย วิจารณ์ว่านายกรัฐมนตรีตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมช้าไม่ทันกาล และขาดความเป็นมืออาชีพ ทั้งยังขาดการบูรณาการในหน่วยงานภาครัฐ รวมไปถึงมีการร้องเรียนว่ามีการกักสิ่งของบริจาค และการช่วยเหลือไปไม่ถึงมือผู้ประสบเหตุ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลนำเรื่องดังกล่าวเข้าเป็นวาระแห่งชาติ และให้นายกรัฐมนตรีสั่งการแก้ปัญหาดังกล่าว พร้อมปฏิเสธข่าวที่ว่าพรรคเพื่อไทยไม่ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย[41]

นอกจากนี้ พรรคฝ่ายค้านยังได้ร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติให้ดำเนินคดีต่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เนื่องจากดำเนินการรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยช้าเกินไป ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสร้างความเสียหายมหาศาล พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์กล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีประพฤติผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 โดยพร้อมพงศ์ระบุว่านายกรัฐมนตรีมีอำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2540 มาตรา 4 ที่จะดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อรับมือกับสาธารณภัย[42]

อ้างอิง[แก้]

  1. "อุตุฯเตือนฝนตกหนัก-น้ำท่วมฉับพลัน". กรุงเทพธุรกิจ. 2010-10-15. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-12. สืบค้นเมื่อ 2010-10-20.
  2. 2.0 2.1 2.2 รายงานสถานการณ์สาธารณภัย สภาวะอากาศ และปริมาณน้ำฝน วันที่ 14 ธันวาคม 2553 เวลา 16.00 น. เก็บถาวร 2011-11-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ศูนย์นิรภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย. สืบค้นเมื่อ 22-12-2553.
  3. 3.0 3.1 3.2 รายงานสถานการณ์สาธารณภัย สภาวะอากาศ และปริมาณน้ำฝน วันที่ 6 ธันวาคม 2553 เวลา 16.00 น. เก็บถาวร 2011-11-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ศูนย์นิรภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย. สืบค้นเมื่อ 22-12-2553.
  4. วิกฤตน้ำท่วม 2553[ลิงก์เสีย]. Siam Intelligence Unit. สืบค้นเมื่อ 22-10-2553.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 5.7 เตือน! 22-25 ต.ค.นี้ น้ำทะลักเข้ากรุงเทพฯ เกาะติดข่าวน้ำท่วม. กระปุกดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 6-11-2553.
  6. "Floods still affect 22 provinces; possible flash floods in southern region". MCOT Thailand. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-29. สืบค้นเมื่อ 11 November 2010.
  7. น้ำท่วม "โคราช" เรื่องประเภท เชื่อหรือไม่ เดือนตุลาคม 2553[ลิงก์เสีย]. ข่าวสด. สืบค้นเมื่อ 30-10-2553.
  8. "Songkhla hit by floods". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 11 November 2010.
  9. สธ.สรุปยอดเสียหายน้ำท่วม[ลิงก์เสีย]. โพสต์ทูเดย์. สืบค้น 22-10-2553.
  10. 10.0 10.1 พิษน้ำท่วมศก.อีสานสะดุด ธกส.อัด6พันล้านอุ้ม2แสนครัวเรือน[ลิงก์เสีย]. ประชาชาติ. สืบค้นเมื่อ 22-10-2553.
  11. สรุปยอดวัดที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2553 เก็บถาวร 2011-11-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 21-11-2553.
  12. Navy's big ships join flood rescue operations เก็บถาวร 2012-03-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Asiaone News. สืบค้นเมื่อ 21-11-2553.
  13. "Impact on real estate seen as minimal". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 11 November 2010.
  14. "Hat Yai city left reeling by its worst-ever flood". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 11 November 2010.
  15. "Hat Yai reeling". Asia News Network. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-18. สืบค้นเมื่อ 12 November 2010.
  16. Thai aircraft carrier used as floating kitchen เก็บถาวร 2010-11-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. m&c news. สืบค้นเมื่อ 21-11-2553.
  17. Supunnabul Suwannakij, Daniel Ten Kate. "Thai Floods Cut Power, Leave Residents on Roofs as Death Toll Reaches 107". Bloomberg. สืบค้นเมื่อ 11 November 2010.
  18. หอการค้าฯคาดน้ำท่วมเสียหาย1-2หมื่นล้าน กระทบจีดีพีแค่ 0.2% ยันศก.ทั้งปีโต7-7.5%[ลิงก์เสีย]. มติชน. สืบค้นเมื่อ 22-10-2553.
  19. Staff Writer. "Flood damage could reach B54bn". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 12 November 2010.
  20. น้ำท่วมเกษตรเสียหาย4ล้านไร่[ลิงก์เสีย]. โพสต์ทูเดย์. สืบค้นเมื่อ 22-10-2553.
  21. คลังเผยน้ำพัดจีดีพีหาย0.2%[ลิงก์เสีย]. โพสต์ทูเดย์. สืบค้นเมื่อ 30-10-2553.
  22. พิษน้ำท่วมทำน้ำตาลหาย 10 ล้านกิโล[ลิงก์เสีย]. เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 30-10-2553.
  23. 23.0 23.1 Supunnabul Suwannakij. Thai Flood Death Toll Rises to 59; Bangkok Escapes Damage as Defenses Hold. Bloomberg. สืบค้นเมื่อ 30-10-2553.
  24. 24.0 24.1 Suwannakij, Supunnabul. "Thai Rubber Output May Drop 4.1% in Fourth Quarter". Bloomberg. สืบค้นเมื่อ 11 November 2010.
  25. Apornrath Phoonphongphiphat, Ambika Ahuja. "Flash floods hit southern Thailand rubber areas". Reuters India. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-05. สืบค้นเมื่อ 11 November 2010.
  26. "Thai Bourse: Flooding In The South Not Affect Trading". Mondovisione. สืบค้นเมื่อ 11 November 2010.
  27. "Farmers fear huge shellfish deluge losses". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 13 November 2010.
  28. สถานการณ์น้ำท่วม หลายจังหวัดยังอ่วม. กระปุกดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 26-10-2553.
  29. "ปภ.สรุปตัวเลข 17จว.จมน้ำ ดับแล้ว11ราย". ไทยรัฐ. 2010-10-20. สืบค้นเมื่อ 2010-10-20.
  30. ข้อมูลน้ำท่วมทางหลวงทั่วประเทศ[ลิงก์เสีย]. ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ. สืบค้นเมื่อ 26-10-2553.
  31. "Flash Floods Trapped Thousands of Tourists in Thailand". Easy Destination. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-07. สืบค้นเมื่อ 11 November 2010.
  32. Anusak, Konglang. "Flash floods strand thousands in major Thai city". AFP Via Google News. สืบค้นเมื่อ 11 November 2010.[ลิงก์เสีย]
  33. ประมวลภาพ "ภัยน้ำท่วม" หลายพื้นที่ทั่วไทย. มติชน. สืบค้นเมื่อ 30-10-2553.
  34. "Flood relief being disbursed through GSB". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 11 November 2010.
  35. Floods in Asia Claim at Least 117 Lives[ลิงก์เสีย]. The Epoch Times. สืบค้นเมื่อ 21-11-2553.
  36. Private citizens steal the show in flood relief operations. Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 21-11-2553.
  37. มะกันส่งสาส์นเสียใจน้ำท่วมไทย. เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 30-10-2553.
  38. ทูตสหรัฐฯ บริจาคเงินให้สภากาชาดไทยช่วยผู้ประสบอุทกภัย เก็บถาวร 2010-11-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สภากาชาดไทย. สืบค้นเมื่อ 30-10-2553.
  39. 39.0 39.1 "Thailand - China grants 10 million yuan for flood restoration". ISRIA. สืบค้นเมื่อ 13 November 2010.
  40. ‘น้ำท่วม 2553’ ความล้มเหลวของระบบเตือนภัยของไทย? เก็บถาวร 2010-10-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เอเอสทีวีผู้จัดการ. (20 ตุลาคม 2553). สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2553
  41. เพื่อไทย ซัดรัฐแก้น้ำท่วมช้า มีตุนของบริจาค. กระปุกดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 26-10-2553.
  42. Puea Thai demands legal action against PM. Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 21-11-2553.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]