อำเภอสิงหนคร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำเภอสิงหนคร
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Singhanakhon
ป้อมเมืองสงขลาเก่า ซึ่งตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง ทั้งบนเขาและที่ราบ ซึ่งใช้เป็นป้อมปราการป้องกัน ต่อสู้ ปกป้องบ้านเมือง
ป้อมเมืองสงขลาเก่า ซึ่งตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง ทั้งบนเขาและที่ราบ ซึ่งใช้เป็นป้อมปราการป้องกัน ต่อสู้ ปกป้องบ้านเมือง
คำขวัญ: 
ทะเลคู่ตระการ น้ำตาลเลิศรส เรืองยศวัฒนธรรม หัตถกรรมล้ำค่า เมืองท่าแดนใต้
แผนที่จังหวัดสงขลา เน้นอำเภอสิงหนคร
แผนที่จังหวัดสงขลา เน้นอำเภอสิงหนคร
พิกัด: 7°14′18″N 100°33′10″E / 7.23833°N 100.55278°E / 7.23833; 100.55278
ประเทศ ไทย
จังหวัดสงขลา
พื้นที่
 • ทั้งหมด228.0 ตร.กม. (88.0 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด84,104 คน
 • ความหนาแน่น368.88 คน/ตร.กม. (955.4 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 90280
รหัสภูมิศาสตร์9015
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอสิงหนคร ถนนสงขลา–ระโนด ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา 90280
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

สิงหนคร เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสงขลา เป็นชุมชนเมืองโบราณ เคยเป็นที่ตั้งและเป็นชื่อเมืองสงขลา ในอดีตก่อนที่จะย้ายตัวเมืองสงขลามาอยู่ด้านตะวันออกของปากอ่าวทะเสสาบสงขลา

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

อำเภอสิงหนครมีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

สะพานปากรอ ที่เป็นสะพานข้ามระหว่างอำเภอควนเนียง - อำเภอสิงหนคร เป็นสะพานที่ทอดข้ามคลองปากรอซึ่งมีกระแสน้ำที่ขึ้นลงตามระดับน้ำทะเล
ทะเลในเขตตำบลสทิงหม้อ
วัดในเขตตำบลสทิงหม้อ

ประวัติ[แก้]

"เมืองสิงหนคร" เมืองโบราณอันเก่าแก่ของสงขลา เล่ากันว่าเมื่อครั้งเจ้าพระยากรุงทองสร้างเมืองสทิงพระ ได้มีเมืองสิงหนครเป็นเมืองจัตวา มีนามว่า "เมืองคชราชา" เมื่อพูดถึงตำนานที่มาของชื่อเมืองก็มีเรื่องเล่าอยู่ว่า เมื่อครั้งเจ้าพระยากรุงทองได้เดินล่องป่าไปยังทิศใต้ ได้พบกับช้างลักษณะดี ตรงตามลักษณะพราหมณ์ จึงนำช้างเชือกนั้นมาผูกเป็นช้างประจำเมือง ต่อมามีการตั้งชื่อเมืองตามช้างเชือกนั้นว่า "คชราชา" ซึ่งแปลว่า "ช้างของพระราชา" ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1899 ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ไม่ปรากฏชื่อของเจ้าเมืองในยุคแรกเริ่ม แต่ปรากฏครั้งแรกในปี พ.ศ. 2146 นั่นคือ ต่วนกูดะโต๊ะ โมกอลล์ (ดาโต๊ะ โมกอล) ที่ปกครองเมืองสิงขระนครในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2146 - 2163 ตามที่ได้มีการบันทึกในประวัติศาสตร์ของสยามและชาวต่างชาติ โดยมีการพูดถึงเจ้าเมืองสงขลาหัวเขาแดงว่าเป็นชาวมุสลิมจากดินแดนชวา

ในระยะแรกเจ้าเมืองสิงขระนครยอมเป็นเมืองขึ้นกับอยุธยา โดยทำกิจการแลกเปลี่ยนสินค้าระดับนานาชาติทำการค้าขายกับประเทศมหาอำนาจอย่าง อังกฤษ โปรตุเกส ฝรั่งเศส จีน อินเดีย และฮอลันดา บันทึกประวัติศาสตร์ของหลายๆประเทศ ได้มีการกล่าวถึงเมืองสิงขระนครเอาไว้ เรียกได้ว่าเป็นยุคที่ดินแดนแห่งนี้รุ่งเรืองถึงขีดสุด นานาประเทศหวังที่จะเข้ามาเป็นคู่ค้าแบบผูกขาดกับเมืองสิงขระนคร เมืองสิงขระนครได้มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาเดินหน้าอย่างรวดเร็ว และเพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจต่อผู้ค้านานาประเทศ เมืองสิงขระนครได้สร้างป้อมปราการที่แข็งแกร่งที่สุดขึ้น มีการสร้างกำแพงเมือง ป้อมปืนใหญ่ และประตูเมือง จนทำให้สิงขระนครได้ชื่อว่า เมืองท่าที่มีป้อมปราการแข็งแรงที่สุดในภาคใต้

ภายหลังจากความรุ่งเรือง ประกอบกับกรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนแผ่นดิน สุลต่านสุไลมานจึงประกาศอิสรภาพจากกรุงศรีอยุธยาและสถาปนาตนเองเป็น "สุลต่าน" เป็นรามาธิบดีแห่งสิงขระนคร ในช่วงสมัยของพระเจ้าปราสาททอง โดยพระองค์ได้ส่งทัพมาตีเมืองสิงขระนครหลายครั้งหลายครา แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากเมืองแห่งนี้มีป้อมปราการที่แข็งแรง และตั้งอยู่ชัยภูมิที่เหนือกว่า ดังหลักฐานจากข้อเขียนของ วัน วลิต (Van Vliet) ผู้แทนบริษัท Dutch East India Co., Ltd. ประจำกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเคยเดินทางมาเยือนเมืองสิงขระนคร เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2185 ได้เขียนรายงานไว้ว่า “พระเจ้าปราสาททองได้เคยส่งกองเรือจากกรุงศรีอยุธยามาร่วมกับกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช (ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของสิงขระนคร) ทำการโจมตีสิงขระนครถึงสองครั้งในช่วงเวลาเพียงสองปี แต่ต้องประสบความพ่ายแพ้ไปทั้งสองครั้ง” แต่ในที่สุดเมืองแห่งนี้ก็ถูกตีแตกโดยกองทัพของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีพระบรมราชโองการยุบเมืองสุลต่าน ณ หัวเขาแดง กวาดต้อนกองกำลังและชาวบ้านลงเรืออพยพไป สิ้นสุดความรุ่งเรืองเมืองสิงขระนครในที่สุด[1] ก่อนที่จะย้ายตัวเมืองสงขลามาอยู่ด้านตะวันออกของปากอ่าวทะเสสาบสงขลาซึ่งเป็นที่ตั้งของเทศบาลนครสงขลาในปัจจุบัน

เมื่อปี พ.ศ. 2530 นายบัญญัติ จันทน์เสนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ครั้งดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองสงขลา ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และราษฎรฝั่งเขาแดง รวม 11 ตำบล ได้พิจารณาว่าสภาพทางภูมิศาสตร์ ลักษณะความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ แนวโน้มมีความเจริญในอนาคต และความเห็นชอบของคณะกรรมการหมู่บ้าน สภาตำบล หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ จังหวัด สภาจังหวัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกระทรวงมหาดไทย จึงได้ประกาศเขตท้องที่อำเภอเมืองสงขลาแยกพื้นที่ตำบลหัวเขา ตำบลสทิงหม้อ ตำบลชิงโค ตำบลทำนบ ตำบลป่าขาด ตำบลปากรอ ตำบลชะแล้ ตำบลรำแดง ตำบลบางเขียด ตำบลวัดขนุน และตำบลม่วงงาม ของอำเภอเมืองสงขลา ได้แบ่งพื้นที่การปกครองออกมาตั้งเป็น กิ่งอำเภอสิงหนคร[2] ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2531 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน เป็นกิ่งอำเภอที่แยกโดยมีตำบลมากที่สุดถึง 11 ตำบล

และต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะขึ้นเป็น อำเภอสิงหนคร ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2534 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน ปีเดียวกัน[3]

การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค[แก้]

อำเภอสิงหนครแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 11 ตำบล 77 หมู่บ้าน ได้แก่

การปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]

ท้องที่อำเภอสิงหนครประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 10 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลเมืองสิงหนคร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสทิงหม้อทั้งตำบล; ตำบลหัวเขาทั้งตำบล; ตำบลชิงโค เฉพาะหมู่ที่ 1–4 และบางส่วนของหมู่ที่ 5–6; และตำบลทำนบ เฉพาะบางส่วนของหมู่ที่ 1, 3
  • เทศบาลเมืองม่วงงาม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลม่วงงามทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลชะแล้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลชะแล้ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลชิงโค ครอบคลุมพื้นที่ตำบลชิงโค เฉพาะหมู่ที่ 7–10 และบางส่วนของหมู่ที่ 5–6
  • องค์การบริหารส่วนตำบลทำนบ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทำนบ เฉพาะหมู่ที่ 2, 4–7 และบางส่วนของหมู่ที่ 1, 3
  • องค์การบริหารส่วนตำบลรำแดง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลรำแดงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลวัดขนุน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวัดขนุนทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลปากรอ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปากรอทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลป่าขาด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลป่าขาดทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบางเขียด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางเขียดทั้งตำบล

อ้างอิง[แก้]

  1. "สงขลาถึงขีดสุด...ณ เมืองสิงขระนคร เมืองท่าน่าทึ่ง". Hatyai Focus. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2565
  2. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งเขตท้องที่อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ตั้งเป็นกิ่งอำเภอสิงหนคร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 105 (21 ง): (ฉบับพิเศษ) 73. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-04-19. สืบค้นเมื่อ 2021-01-28. วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531
  3. "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอทุ่งตะโก อำเภอพะโต๊ะ อำเภอเขาค้อ อำเภอน้ำหนาว อำเภอวังจันทร์ อำเภอนาด้วง อำเภอเต่างอย อำเภอสิงหนคร อำเภอพระสมุทรเจดีย์ และอำเภอลำดวน พ.ศ. 2534" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 108 (107 ง): 29–32. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 2021-01-28. วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2534

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]