อำเภอสรรคบุรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำเภอสรรคบุรี
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Sankhaburi
คำขวัญ: 
พระปรางค์ทรงกลีบมะเฟือง เมืองวีรชนขุนสรรค์ หอมน้ำตาลห้วยกรด หวานเลิศรสส้มโอ หลวงพ่อโตศักดิ์สิทธิ์
แผนที่จังหวัดชัยนาท เน้นอำเภอสรรคบุรี
แผนที่จังหวัดชัยนาท เน้นอำเภอสรรคบุรี
พิกัด: 15°2′50″N 100°9′42″E / 15.04722°N 100.16167°E / 15.04722; 100.16167
ประเทศ ไทย
จังหวัดชัยนาท
พื้นที่
 • ทั้งหมด354.8 ตร.กม. (137.0 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2566)
 • ทั้งหมด62,382 คน
 • ความหนาแน่น175.82 คน/ตร.กม. (455.4 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 17140
รหัสภูมิศาสตร์1805
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอสรรคบุรี หมู่ที่ 8 ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท 17140
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

สรรคบุรี [สัน-คะ-บุ-รี][1] (เดิมอ่านว่า สัน-บุ-รี) เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชัยนาท และเป็นเมืองโบราณที่อยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ปรากฏชื่ออยู่ในหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 4 ว่าเมืองแพรก ซึ่งมีความหมายว่าเมืองที่อยู่บริเวณทางแยกของแม่น้ำ

สมัยต่อมาเมืองแห่งนี้ถูกเรียกว่าเมืองแพรกศรีราชาหรือเมืองแพรกศรีมหาราชา สมัยอยุธยาเมืองแห่งนี้ถูกเรียกว่าเมืองสวรรค์บุรี หรือเมืองสรรค์

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เขียนที่มาของชื่อเมืองแห่งนี้ไว้ในหนังสือสานส์สมเด็จว่า

“ เมืองสรรค์นั้นอยู่ติดลำน้ำเมืองสรรค์ ทางกรุงศรีอยุธยาเรียกลำน้ำน้อย ในสมัยสุโขทัยใกล้จะอยุธยาได้มีการขุดคลองแพรกจากแม่น้ำน้อยไปต่อแม่น้ำเจ้าพระยา เมืองสรรค์จึงได้ชื่อว่าเมืองแพรก ” [2]

เมืองสรรคบุรีมีสถานะเป็นหัวเมืองมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 โดยอยู่ในมณฑลนครสวรรค์ ต่อมาเมืองสรรคบุรีได้ถูกลดบทบาทลงและได้ขึ้นกับเมืองชัยนาท เป็นอำเภอสรรคบุรีมาถึงปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์[แก้]

ที่ตั้งเมืองสรรคบุรี

บริเวณลุ่มน้ำภาคกลาง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มแม่น้ำน้อยเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง จึงปรากฏการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ชุมชนต่าง ๆ เหล่านั้นได้พัฒนา ตัวเองกระจายอยู่ตามลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน และลุ่มน้ำน้อย โดยบางชุมชนมีความเป็นปึกแผ่น เจริญขึ้น และบางชุมชนก็เสื่อมลงตามเหตุปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ในสมัยทวารวดีการคมนาคมส่วนใหญ่ใช้เส้นทางคลองหัวหนอง ได้ทำให้เกิด บ้านเมืองเจริญขึ้นตามเส้นทางลำน้ำเก่านี้หลายแห่ง ต่อมาในสมัยลพบุรีซึ่งหันมาใช้แม่น้ำน้อยเป็น เส้นทางคมนาคมหลักก็ได้เกิดชุมชนเจริญขึ้นตามลำน้ำน้อยหลายแห่งเช่นเดียวกัน [3]

ทั้งนี้ ศรีศักร วัลลิโภดม สันนิษฐานว่า แรกเริ่มการอยู่อาศัยเป็นชุมชนน่าจะอยู่บริเวณเมืองโบราณ ทางตะวันออกห่างจากเมืองสรรคบุรี ประมาณ 6 กิโลเมตร และย้ายมาบริเวณเมืองโบราณ บ้านดงคอน ที่อยู่ห่างจากเมืองสรรคบุรีในปัจจุบัน ประมาณ 3.5 กิโลเมตร เพราะท่นั่นพบ หลักฐานเศษอิฐ และโบราณสถานสมัยลพบุรี ซึ่งทับหลังศิลาจำหลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ที่ถูกนำมาติดไว้ที่หลังพระประธาน (หลวงพ่อฉาย) ในวัดพระแก้วในเมืองสรรคบุรี ก็น่าจะถูกนำมา จากเมืองโบราณแห่งที่กล่าวถึงนี้ ในท้ายที่สุดการเจริญขึ้นเป็นบ้านเมืองได้ปรากฏอยู่ในบริเวณซึ่งลำน้ำทั้งสองแห่ง ไหลผ่าน และได้เกิดเป็นเมืองที่มีผังเมืองที่ค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากมีการขยายขอบเขต และร่น ขอบเขตของเมืองหลายครั้ง

สมัยสุโขทัย[แก้]

เมืองในยุคนี้มีขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นเมืองอกแตกที่มีลำน้ำผ่านกลางเมือง โดยได้ปรากฏหลักฐานเป็นครั้งแรกที่กล่าวถึงเมืองแพรกศรีราชา ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่าเป็นเมือง เดียวกับเมืองสรรคบุรี ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 20-21) ได้ปรากฏจารึกเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระองค์ ซึ่งเขียนแบบปัจจุบันได้ความว่า

“…หาคนจักเสมอมิได้ อาจปราบฝูงข้าเสีก มีเมืองกว้างช้าง หลาย ปราบเบื้องตะวันออกรอดสระหลวง ลุมบาจาย สคา เท้าฝั่งของ เถิงเวียงจันทน์เวียงคำเป็นที่แล้ว เบื้งหัวนอนรอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบูรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว เบื้องตะวันตก รอดเมืองฉอด เมือง…”

ทั้งนี้ นักวิชาการโดยส่วนใหญ่เชื่อว่าเมืองแพรกตามจารึก คือเมืองเดียวกัน กับเมืองสรรคบุรี ดังที่ศรีศักร วัลลิโภดม ได้กล่าวไว้ว่า

“แพรกศรีราชาเป็นชื่อเมืองที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 และในเอกสารโบราณอื่น เช่น กฎหมายลักษณะลักพาสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ในสมัยหลังๆ ลงมา ชื่อเมืองนี้หายไป แต่มีผู้สงสัยว่า เมืองนี้ต่อมาคือเมืองสรรคบุรี เมืองแพรกศรีราชาหรือสรรคบุรีเป็นเมืองเดียวกันเจริญขึ้น เป็นเมืองสำคัญในลุ่มแม่น้ำน้อยตั้งแต่สมัยลพบุรี...ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ แพรกศรีราชาหรือสรรคบุรี เป็นแหล่งศิลปกรรมแบบอู่ทอง เป็นลักษณะของศิลปและวัฒนธรรมของอาณาจักรสุพรรณภูมิ และอโยธยา ซึ่งมีอายุอยู่ในสมัยก่อนสร้างพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานีในลุ่มน้ำเจ้าพระยา”

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในสมัยกรุงสุโขทัย เมืองสรรคบุรีในนามของเมืองแพรกศรีราชา จึงเป็นเมืองชายแดนของแคว้น 3 แคว้น คือ แคว้นสุโขทัยทางเหนือ แคว้นอโยธยา หรือละโว้ ทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ และแคว้นสุพรรณภูมิทางด้านตะวันตกและทางใต้ ทั้งนี้หลักฐาน สำคัญอีกประการหนึ่งของการเป็นเมืองภายใต้อิทธิพลของแคว้นสุโขทัยก็คือ เจดีย์ทรงดอกบัวกลม (พุ่มข้าวบิณฑ์) เป็นศิลปกรรมสุโขทัย ซึ่งที่เมืองสรรคบุรีนี้พบเจดีย์ทรงดอกบัวกลมที่วัดโตนดหลาย และเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวกลมร่วมยุคสุโขทัยองค์ที่อยู่ใต้สุดของประเทศ

ภายหลังเมื่ออิทธิพลของสุพรรณภูมิมีมากขึ้นและได้ขยายอิทธิพลมาถึง ชัยนาท เมืองแพรกศรีราชาหรือเมืองสรรคบุรีจึงเกิดลักษณะศิลปกรรมแบบผสมผสานระหว่าง สกุลช่างสุโขทัยสุพรรณภูมิ และอยุธยา เช่น เจดีย์วัดพระแก้ว เจดีย์วัดพระยาแพรก พระปรางค์ทรงกลีบมะเฟืองวัดมหาธาตุเมืองสรรคบุรี และเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ศิลปะสุโขทัย ที่วัดโตนดหลาย เมืองสรรคบุรี

สมัยอยุธยา[แก้]

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีอำนาจเหนือแว้นแคว้นอื่นในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้มีการกล่าวถึงเมืองแพรกศรีราชาในกฎหมายลักษณะลักพา พ.ศ. 1898 (ภายหลังจาก สถาปนากรุงศรีอยุธยาได้ 5 ปี) โดยมีใจความว่า  

“จึงนายสามขลาเสมียนพระสุภาวดีกราบทูล ด้วยข้าหนี้เจ้า ไพร่หนีนาย แลมีผู้เอาไปถึงเฉลี่ยง ศุกโขไทย ทุ่งย้าง บางยม สองแก้ว สระหลวง ชาวดงราวกำแพงเพชร เมืองท่านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังนี้ แลมีผู้เอาทาสเอาไพร่ท่านมาขาย แลเจ้าทาสเจ้าไพร่แห่ง พระนครศรีอยุธยาพบ แลมากล่าวพิภาษ ว่าให้ผู้ไถ่ไล่เอาเบี้ยแก่ผู้ขาย นั้นคืน ข้าพระพุทธเจ้าขอเรียนพระราชประติบัติ จึงมีพระราชโองการ พิพากษาว่า ขายกันในแต่พระนครศรีอยุธยาดังนี้แล สูบังคับให้ผู้ไถ่ไล่ เอาเบี้ยกับผู้ขายสิยังยาก อย่าว่าข้าหนีเจ้า ไพร่หนีนาย และเขาลักไป ขายถึงเฉลี่ยง ทุ่งย้าง บางยม สระหลวง สองแก้ว ชาวดงราว กำแพงเพชร ศุกโขไทย ใต้หล่าฟ้าเขียว ขาดจากมือเจ้าทาสเจ้าไพร่ไป ไกล จะมาพิภาษฉันเมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองสุพรรณบุรี สะพง คลองพลับ แพรกศรีราชาธิราช พระนครพรหมนั้นบ่มิชอบเลย”

ในเวลาต่อมาชื่อเมืองแพรกศรีราชาได้หายไปจากการบันทึก แต่ได้ปรากฏ ชื่อเมืองสรรคบุรีขึ้นแทน โดยในสมัยสมเด็จพระรามราชาธิราชได้ทรงสละราชสมบัติถวายเจ้า นครอินทร์ เจ้านครอินทร์จึงได้ครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนครินทราธิราช โดยมีเจ้ายี่ พระยาพระราชโอรสครองเมืองสรรค์ ในช่วงเวลานี้น่าจะเป็นช่วงที่เมืองสรรคบุรีเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในฐานะเมืองลูกหลวง ปรากฏการสร้างวัดขนาดใหญ่และเจดีย์หลายแห่ง อาทิ วันมหาธาตุ วัดสองพี่น้อง วัดโตนดหลาย เป็นต้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 1967 เจ้าสามพระยาเสด็จขึ้นครองราชย์ เฉลิมพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 พระองค์ได้ยกทัพไปตีเมืองพระนครของเขมรได้สำเร็จ และโปรดเกล้าฯ ให้พระโอรส คือเจ้านครอินทร์ไปครองเมือง แต่เจ้านครอินทร์เสด็จสวรรคตเสียก่อน จึงได้ให้พระยาแพรก(เชื่อว่า เป็นโอรสองค์รอง) ไปครองเมืองพระนครแทน เนื่องจากเมืองพระนครหลวงนั้นเป็นเมืองใหญ่จะให้ พวกเสนาบดีไปปกครองเป็นการไม่เหมาะสม หลักฐานเหล่านี้ล้วนแสดงว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนต้น เมืองแพรกศรีราชาเป็นเมืองลูกหลวงของกรุงศรีอยุธยา และมีความสำคัญรองลงมาจากเมือง สุพรรณบุรีที่กษัตริย์อยุธยาได้ให้องค์รัชทายาทเสด็จขึ้นไปครองเมือง

ต่อมาในรัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กรุงศรีอยุธยาสามารถผนวกสุโขทัยมาอยู่ภายใต้การปกครองได้อย่างสมบูรณ์ บทบาทของเมืองแพรกศรีราชาที่เคยเป็นเมืองหน้าด่านส้าคัญ ระหว่างสองอาณาจักรใหญ่จึงลดลงอย่างมาก เป็นเพียงเมืองเล็กๆ ที่อยู่ใกล้กรุงศรีอยุธยาเท่านั้น

ภาพวาดวัดแพรกหรือเมืองสรรคบุรีในสมัยอยุธยาตอนปลายโดย ฟร็องซัวส์ วาเลนไทน์

ใน พระราชพงศาวดารจึงไม่มีการระบุว่ากษัตริย์พระองค์ใดให้พระราชโอรสไปครองเมืองแพรกศรีราชา อีก ในปลายรัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. 2302 มีการเปลี่ยนแปลงฐานะของหัวเมือง เป็นหัวเมืองชั้นเอก โท ตรี และจัตวา ซึ่งเมืองแพรกศรีราชาอยู่ในฐานะเมืองจัตวา เจ้าเมืองนา 3000 และได้ให้ชื่อเมืองว่าสรรคบุรี

โบราณสถานวัดมหาธาตุสรรคบุรี ในสมัยรัชกาลที่5

และในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไม่มีเชื้อพระวงศ์องค์ใดขึ้นครองเมืองสรรค์อีก จึงทำให้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏชื่อ เมืองชัยนาทมากกว่าเมืองสรรคบุรี แม้ว่าเมืองสรรคบุรีจะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อยที่สามารถเดินทางเข้า สู่กรุงศรีอยุธยาได้ แต่หลังจากที่ราชวงศ์พระร่วงมีอำนาจเหนือราชวงศ์สุพรรณภูมิ ทำใหความสำคัญ ได้เลื่อนไปอยู่ที่นครสวรรค์มากกว่าเมืองสรรคบุรีและเมืองชัยนาท เนื่องจากเป็นชุมทางแม่น้ำสายใหญ่ อีกทั้งหลังจากที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก จนในที่สุดเมืองพิษณุโลก กลายเป็นราชธานีฝ่ายเหนือของกรุงศรีอยุธยา เมืองสรรคบุรีก็ไม่เติบโตเท่าที่ควร เห็นได้จากโบราณ สถานที่มีอายุหลังพุทธศตวรรษที่ 21 ของเมืองสรรคบุรีไม่ปรากฏสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ อาจเป็นด้วย เมืองสรรค์ไม่ได้อยู่ติดลำน้ำเจ้าพระยา จึงไม่ได้ใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เหมือนเมืองชัยนาท

สมัยธนบุรี[แก้]

ในช่วงนี้เมืองชัยนาทกลายเป็นเมืองสำคัญเนื่องจากอยู่ในเส้นทางเดินทัพ ทำ ให้เมืองสรรคบุรีกลายเป็นเมืองขนาดเล็ก และช่วงก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมืองสรรคบุรี ก็ได้รับผลกระทบจากสงครามและด้อยความสำคัญลงอย่างมาก สถานะของเมืองชัยนาทและเมืองสรรค์ จึงเป็นเมืองที่ใช้เป็นชัยภูมิตั้งรับการศึกจากทัพพม่าทางเหนือ และอยู่ในภาวะสงคราม

ในปี พ.ศ. 2308 ได้ปรากฏชื่อของขุนสรรค์ว่าได้รวบรวมชาวบ้านเมืองสรรคบุรีเข้าร่วมรบกับชาวค่ายบางระจัน

หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้สถาปนา กรุงธนบุรีเป็นราชธานีแทนกรุงศรีอยุธยาได้ 14 ปี ผู้ปกครองเมืองสรรคบุรีในสมัยนั้นนามว่า พระยาสรรค์ ได้นำกองกำลังเข้ามายึดอำนาจจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในปี พ.ศ. 2524 ตามคำชักชวนของขุนแก้วผู้เป็นน้องชาย และได้นั่งว่าราชการกรุงธนบุรีอยู่ระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จะยกทัพกลับมาและพระยาสรรค์ได้ถูกตัดสินประหารชีวิตเพราะเป็นผู้นำกบฏต่อ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก

สมัยรัตนโกสินทร์[แก้]

ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเมืองสรรคบุรี เริ่มมีผู้คนอพยพเข้าไปอาศัย เมืองสรรค์จึงมีฐานะเป็นเมืองเล็ก ๆ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้น และโรงเรียนประชาบาลแห่งแรกของสรรคบุรีเกิดขึ้นที่ วัดมเหยงค์ เจ้าอาวาส คือ พระครูสังฆภารวินิต ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอสรรคบุรี ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับเมืองสรรคบุรีขณะทรงเสด็จ ตรวจราชการที่เมืองชัยนาทในปี พ.ศ. 2444 (ร.ศ.120) มีใจความตอนหนึ่งว่า

“เมืองสรรค์ดีกว่าเมืองชัยนาท แม้แต่การแต่งตัวของชาวบ้าน เมืองสรรค์ก็ดูภูมิฐานกว่าชาวบ้านเมืองชัยนาท ด้วยเหตุที่เมืองสรรค์ รอดจากการเกณฑ์ทัพหลวงเพราะอยู่ลับเข้าไป เมืองสรรค์จึงไม่ ยับเยินเหมือนเมืองชัยนาท”

พลับพลารับเสด็จรัชกาลที่5หน้าวัดมหาธาตุสรรคบุรี

ในปี พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดระเบียบ การปกครองส่วนภูมิภาคใหม่ โดยยกเลิก “ระบบกินเมือง” มาเป็นระบบ “เทศาภิบาล” โดยเมืองชัยนาท เมืองสรรคบุรี เมืองมโนรมย์ รวมขึ้นเป็นมณฑลนครสวรรค์ด้วย

ต่อมาในเดือนมีนาคม ร.ศ. 115 (พ.ศ.2440) กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น ได้มีความเห็นว่า “ด้วยเมืองสรรคบุรี และเมืองมโนรมย์ 2 เมืองนี้เป็นเมืองเล็กจ้อย เขตรแขวงใกล้ชิดติดต่อกับเมืองไชยนาท เห็นด้วยเกล้า ว่า ควรยกเมืองสรรคบุรี เมืองมโนรมย์ มารวมขึ้นกับเมืองไชยนาท แต่ให้คงอยู่ในมณฑลนครสวรรค์ตามเดิม ราชการคงจะเป็นที่เรียบร้อยแลสดวกแก่การบังคับบัญชาด้วย …” ทำให้หลังจากนั้น เมืองสรรคบุรี จึงถูกลดบทบาทลงเป็นอำเภอสรรคบุรี ขึ้นกับเมืองชัยนาท

วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2444 เวลา 10.00 น.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ได้เสด็จลงเรือ 6 แจว ล่องไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาไปเข้าคลองแพรก (แม่น้ำน้อย) ได้ไปที่ วัดมหาธาตุ เมืองสรรคบุรี ตรงปากคลองมีสะพานและศาลาก่อสร้างมั่นคงแข็งแรง มีถนนเดินเท้าเข้า ไปถึงวัดมหาธาตุ ทรงได้กล่าวถึงพื้นที่เมืองสรรค์ขณะนั้นว่า มีบ้านเรือนตั้งอยู่หนาแน่น เป็นเรือน ฝากระดาน มีสวนผลไม้ซึ่งเป็นสวนที่มีมาแต่เดิมและปลูกขึ้นใหม่ ต่อจากพื้นที่สวนจะเป็นพื้นที่นา และยังทรงกล่าวถึงวัดมหาธาตุอีกว่า วัดมหาธาตุอยู่ในตำบลหน้าพระลาน เดิมเป็นที่ตั้งวังของ เจ้าผู้ครองเมือง มีคูเมือง 2 ด้าน นอกจากนี้ยังปรากฏเชิงเทินอยู่บนเนินดินลึกยื่นเข้าไปจากแม่น้ำข้างฟากตะวันตกถึง 20 เส้น เมืองสรรค์เป็นเมืองที่มีแม่น้ำผ่านกลางเมือง ตัวเมืองด้านตะวันออก ไม่พบร่องรอยอะไร อาจเป็นด้วยตัวเมืองในสมัยต่อมามีแต่ตัวเมืองฟากตะวันตกด้านเดียว วัดมหาธาตุ นั้นฝีมือช่างที่ทำน่าจะมีหลายครั้ง เพราะมีทั้งศิลปะแบบละโว้และแบบลพบุรี พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโบราณสถานต่าง ๆ ที่วัดพระยาแพรก วัดสองพี่น้อง และวัดจันทร์

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนคำว่า “เมือง” เป็น “จังหวัด” เมืองชัยนาทจึงเป็นจังหวัดชัยนาท และอำเภอเมืองสรรคบุรี ก็เปลี่ยนเป็นอำเภอสรรคบุรีด้วย หลังจากความเจริญด้านคมนาคมแบบตะวันตก คือ การตัดเส้นทางรถไฟเข้ามา ทำให้การคมนาคมทางน้ำเริ่มลดบทบาทลง ความเจริญจึงเปลี่ยนจากการเดินทางทางน้ำมาเป็น เส้นทางรถไฟ ซึ่งเส้นทางรถไฟก็ไม่ได้ตัดผ่านอำเภอสรรคบุรีหรืออำเภอเมืองชัยนาท ทำให้เมืองสรรคบุรีไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนัก

ที่ว่าการอำเภอสรรคบุรีหลังเก่า

ที่ว่าการอำเภอสรรคบุรีเดิมอยู่ทางเหนือสะพานข้ามแม่น้ำน้อยฝั่งตะวันออก ต่อมาในปี พ.ศ. 2476-2477 ที่ว่าการอำเภอสรรคบุรี ได้ย้ายมาตั้งอยู่ฝั่งทางเหนือสะพานข้ามแม่น้ำน้อยฝั่งตะวันตก และได้เปลี่ยนชื่อตำบล หน้าพระลาน ซึ่งเป็นตำบลที่ตั้ง ที่ว่าการอำเภอสรรค์บุรี ให้เป็น ตำบลแพรกศรีราชา เพื่อให้สอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่เคยเป็นเมืองโบราณและเมืองลูกหลวงในสมัยอยุธยาตอนต้น จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2493 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นที่ตลาดสรรคบุรี และลามมาไหม้ที่ว่าการอำเภอสรรค์บุรีทั้งหลัง ทำให้ นายฉลอง ไชยวุฒิ นายอำเภอในสมัยนั้น ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอลงมายังบริเวณวัดป่าหมู(ร้าง) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 จนมาถึงปัจจุบัน

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

อำเภอสรรคบุรีตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]

วัดมหาธาตุ

การปกครองส่วนภูมิภาค[แก้]

อำเภอสรรคบุรีแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 8 ตำบล 92 หมู่บ้าน ได้แก่

ลำดับ อักษรไทย อักษรโรมัน จำนวนหมู่บ้าน จำนวนประชากร
(ธันวาคม 2565)[4]
1. แพรกศรีราชา Phraek Si Racha
16
14,586
2. เที่ยงแท้ Thiang Thae
10
6,003
3. ห้วยกรด Huai Krot
9
8,525
4. โพงาม Pho Ngam
13
7,308
5. บางขุด Bang Khut
12
6,814
6. ดงคอน Dong Khon
16
11,692
7. ดอนกำ Don Kam
8
2,657
8. ห้วยกรดพัฒนา Huai Krot Phatthana
8
5,252

การปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]

ท้องที่อำเภอสรรคบุรีประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลแพรกศรีราชา ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลแพรกศรีราชา
  • เทศบาลตำบลสรรคบุรี ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลแพรกศรีราชา (เขตองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกศรีราชาเดิม)
  • เทศบาลตำบลดงคอน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดงคอนทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลห้วยกรด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลห้วยกรดทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลบางขุด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางขุดทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลโพงาม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโพงามทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลดอนกำ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดอนกำทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลห้วยกรดพัฒนา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลห้วยกรดพัฒนาทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลเที่ยงแท้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเที่ยงแท้ทั้งตำบล

รายนามผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท[5][แก้]

  1. หลวงภูมิ พ.ศ. 2440
  2. หลวงประชา (เขียน)
  3. ยกกระบัตรชื่น
  4. หลวงสรรค์บุรานุรักษ์ หรือ หลวงวิเชียร (ฉาย อัมพเศวต) พ.ศ. 2443-2447
  5. พระธานินทร์ตักกิจ (ทองอิน วัชโภทยาน) พ.ศ. 2447
  6. หลวงนิเทศ
  7. หลวงสรรค์บุรานุรักษ์
  8. หลวงสรรค์สิทธิกิจ
  9. ขุนเปล่งประศาสตร์
  10. หลวงสรรค์บุรานุรักษ์ (เหลอ เครือนิล)
  11. ขุนเชื้อประศาสตร์ (เชื้อ)
  12. ขุนนครไทยพิทักษ์ (ถ้วน)
  13. ขุนเปลื้องประศาสตร์ (เปลื้อง)
  14. นายบุญรอด เจนวิกย์การ พ.ศ. 2480-2481
  15. ร.ต.ท. ขุนนพการบำรุง พ.ศ. 2481-2485
  16. นายสถิตย์ วงษ์สมบูรณ์ พ.ศ. 2485-2485
  17. นายสอน จเรียมพันธ์ พ.ศ. 2486-2488
  18. นายตอม พรหมมายน พ.ศ. 2488-2490
  19. นายเรวัต เมฆทรงกลด พ.ศ. 2490-2492
  20. นายสถิตย์ ศิริกุล พ.ศ. 2492-2493
  21. นายฉลอง ไชยวุฒิ พ.ศ. 2493-2496
  22. นายวิชิต สุขะวิริยะ พ.ศ. 2496-2496
  23. นายสนิท จิตวงษ์พันธ์ พ.ศ. 2496-2497
  24. นายสำรวม วิชัยดิษฐ์ พ.ศ. 2497-2498
  25. นายไพโรจน์ นาคนคร พ.ศ. 2493-2499
  26. นายบำรุง สุขบุษย์ พ.ศ. 2499-2500

สถานที่ท่องเที่ยว[แก้]

สถาปัตยกรรม[แก้]

แผนที่แสดงโบราณสถานรอบเมืองสรรคบุรี

รูปแบบสถาปัตยกรรมภายในเมืองสรรคบุรี แบ่งได้เป็น 2ประเภทใหญ่ คือ รูปแบบสถาปัตยกรรมเพื่อการอยู่อาศัย และรูปแบบสถาปัตยกรรมทางศาสนา  ในปัจจุบันพบว่ารูปแบบสถาปัตยกรรมเพื่อการอยู่อาศัยในพื้นที่เมืองสรรคบุรี มีลักษณะเป็น สถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่น (Vernacular Architecture) สรุปได้ 4 ลักษณะ คือ อาคารประเภท ตึกแถว อาคารประเภทเรือนแถวไม้ อาคารประเภทบ้านเดี่ยว และอาคารแบบขนมปังขิง ส่วนสถาปัตยกรรมทางศาสนา มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมตามความเชื่อในพุทธศาสนา มักพบในรูปแบบของอาคารเสนาสนะที่อายุเก่าแก่ภายในวัดสำคัญ ๆ ซึ่งจะมีศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นในยุคสมัยที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ

สถาปัตยกรรมเพื่อการอยู่อาศัย[แก้]

อาคารประเภทตึกแถวและอาคารประเภทเรือนแถวไม้ ได้แก่อาคารที่อยู่บริเวณตลาดใต้เก่า ซึ่งในปัจจุบันอาคารบางส่วนได้ถูกรื้อถอนเพื่อปรับภูมิทัศน์ ตามโครงการพัฒนาวัดมหาธาตุสรคบุรี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ส่วนอาคารประเภทบ้านเดี่ยวเป็นอาคารที่อยู่ภายในชุมชนเก่า และอาคารที่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมประเภทขนมปังขิงคือ กุฎิเจ้าอาวาสหลังเก่าของวัดมเหยงณ์

สถาปัตยกรรมตามความเชื่อในพุทธศาสนา[แก้]

สถาปัตยกรรมตามความเชื่อในพุทธศาสนา มักพบในรูปแบบของอาคารเสนาสนะที่อายุ เก่าแก่ภายในวัดสำคัญ ๆ ซึ่งจะมีศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นในยุคสมัยที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ ได้แก่ เจดีย์กลีบมะเฟืองศิลปะลพบุรี ที่วัดมหาธาตุ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (ทรงดอกบัว) ศิลปะแบบสุโขทัย ที่วัดโตนดหลาย เจดีย์รูปทรงแปดเหลี่ยม ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ที่วัดพระยาแพรก และเจดีย์ แบบละโว้ทรงสูงผสมกับทวารวดีตอนปลาย ที่วัดพระแก้ว ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นราชินีแห่งเจดีย์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงสถาปัตยกรรมด้านคติความเชื่อที่มีรูปแบบศิลปกรรมแบบจีน ได้แก่ ศาลเจ้าปึงเถ่ากง

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชบัณฑิตยสถาน. อ่านอย่างไร และ เขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 16. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2546.
  2. นริศรานุวัดติวงศ์,สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยา และดำรงราชานุภาพ,สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. (2505). สาส์นสมเด็จเล่มที่ 24. กรุงเทพ : องค์การค้าของคุรุสภา.
  3. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2561). แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองสรรคบุรี. กรุงเทพมหานคร : กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
  4. "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.
  5. "eBook ห้องสมุดกระทรวงมหาดไทย - MOI Library". library.moi.go.th.