สิ่งมีชีวิต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สิ่งมีชีวิตบนโลก
เกณฑ์ life
แผนภูมิต้นไม้แบบวงกลม แสดงวงศ์วานวิวัฒนาการ ของสิ่งมีชีวิตระบบเซลล์ โดยแบ่งตามอาณาจักรและโดเมน สีม่วงคือแบคทีเรีย สีเทาเข้มคืออาร์เคีย สีน้ำตาลคือยูแคริโอต โดยยูแคริโอตยังแบ่งออกเป็น 5 อาณาจักรคือ สัตว์ (แดง) ฟังไจ (น้ำเงิน) พืช (เขียว) โครมาลวีโอลาตา (น้ำทะเล) และ โพรทิสตา (เหลืองทอง) โดยมีจุดศูนย์กลางคือ บรรพบุรุษร่วมที่ใกล้กันที่สุดของสิ่งมีชีวิตบนโลก (LUCA)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
การจำแนก

สิ่งมีชีวิต จะมีคุณลักษณะ (properties) ที่ไม่พบในสิ่งไม่มีชีวิต อันได้แก่ความสามารถในการใช้สสารและพลังงานเป็นสำคัญ ซึ่งได้รับถ่ายทอดจากบรรพบุรุษของสิ่งมีชีวิตแรกเริ่ม อย่างไรก็ตามสิ่งมีชีวิตเริ่มแรกหรือบรรพบุรุษของสิ่งมีชีวิตซึ่งถือกำเนิดมาบนโลกกว่า 4 พันล้านปี เมื่อผ่านการวิวัฒนาการและการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในแต่ละช่วงเวลา ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตเป็นจำนวนมากดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

การจำแนกสิ่งมีชีวิต[แก้]

แรกเริ่มเดิมที ใน ค.ศ. 1735 คาโรลัส ลินเนียส ได้แบ่งสิ่งมีชีวิตออกเป็น 3 พวก คืออาณาจักรพืช อาณาจักรสัตว์ และอาณาจักรแร่ธาตุ ต่อมานักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังได้ศึกษาวิจัย และแบ่งจำแนกสิ่งมีชีวิตอย่างละเอียดขึ้น จนในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 7 อาณาจักร ใน 3 โดเมน อันได้แก่ อาณาจักรพืช อาณาจักรสัตว์ อาณาจักรฟังไจ อาณาจักรโพรทิสตา อาณาจักรโครมาลวีโอลาตา สังกัดโดเมนยูแคริโอต อาณาจักรอาร์คีแบคทีเรีย สังกัดโดเมนอาร์เคีย และอาณาจักรยูแบคทีเรีย สังกัดโดเมนโพรแคริโอต

การกำเนิดสิ่งมีชีวิต[แก้]

มีหลายทฤษฎีที่พยายามอธิบายการเกิดของสิ่งมีชีวิต เช่น ทฤษฎี “spontaneous generation” ที่กล่าวว่าสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเองจากสิ่งไม่มีชีวิตเช่น กบและแมลงเกิดจากดิน หรือแมลงเกิดจากเนื้อเน่า อย่างไรก็ตามปัจจุบันทฤษฎีดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง เป็นที่ทราบในปัจจุบันว่าสิ่งมีชีวิตเกิดจากสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน เช่น สุนัขจะให้กำเนิดสุนัข หนอนผีเสื้อเกิดจากผีเสื้อและพัฒนาเป็นผีเสื้อในลำดับต่อมา

นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษชื่อ ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) และ แอลเฟรด รัสเซล วอลแลนซ์ (Alfred Russel Wallance) ได้เสนอทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลก (theory of evolution by natural selection) วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตเกิดจากการคัดเลือกตามธรรมชาติ ซึ่งทฤษฏีดังกล่าว กล่าวว่า สิ่งมีชีวิตหนึ่ง ๆ ภายในชนิดเดียวกัน (สปีชีส์ ; species) จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ซึ่งเราเรียกว่าแตกต่างภายในสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันนี้ว่า ความผันแปร (variations) โดยความผันแปรดังกล่าว จะเป็นผลให้สิ่งมีชีวิตสามารถอยู่รอดในได้สภาวะแวดล้อม ตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดสภาวะแห้งแล้ง แมลง สายพันธุ์ที่มีความสามารถกินอาหารได้หลายชนิดทั้งใบพืชและหญ้า จะสามารถมีชีวิตรอดได้ดีกว่าแมลง สายพันธุ์ที่สามารถกินหญ้าได้อย่างเดียว เมื่อสิ่งมีชีวิต สายพันธุ์หนึ่งสามารถมีชีวิตได้นาน ก็สามารถมีลูกหลานได้มากกว่าสิ่งมีชีวิต สายพันธุ์อื่นที่มีอายุสั้นและเมื่อเวลาผ่านไปสิ่งมีชีวิต สายพันธุ์นั้นจะมีจำนวนมากขึ้นและเกิดเป็นชนิดใหม่ (new species)

แรกเริ่มเดิมทีเมื่อโลกยังร้อน สิ่งมีชีวิตไม่สามารถอาศัยบนโลกใบนี้ได้ เมื่อเวลาผ่านไปโลกเริ่มเย็นตัวลง อุณหภูมิบนโลกจึงเหมาะที่จะเกิดสิ่งมีชีวิตขึ้น โดยทฤษฎีที่ยอมรับเกี่ยวกับการเกิดสิ่งมีชีวิตเริ่มแรก เกิดจากการทำปฏิกิริยากันของสารเคมีซึ่งเกิดขึ้นในทะเล หลังจากนั้นเกิดเป็นสารประกอบพวกโปรตีน กรดอะมิโน และเอนไซม์ สะสมอยู่ในทะเลเป็นจำนวนมาก สำหรับสมมุติฐานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนโดยการทดลองของ สแตนลีย์ มิลเลอร์ (Stanley Miller) โดยมิลเลอร์ได้ทำการจำลองสภาวะซึ่งเป็นระบบปิด หลังจากนั้นได้ใส่ก๊าซมีเทน (CH4) แอมโมเนีย (NH3) ไฮโดรเจน และน้ำ ซึ่งเชื่อว่าสภาวะดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในบรรยากาศของโลกในอดีต หลังจากนั้นให้ความร้อนและทำให้เกิดประกายไฟขึ้น ภายในระบบที่จัดไว้ หลังจากเวลาผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ มิลเลอร์พบว่าในชุดการทดลองพบกรดอะมิโนและกรดอินทรีย์เกิดขึ้น

สำหรับขั้นตอนต่อมาสารประกอบอินทรีย์จะรวมตัวกันเป็นโมเลกุลอินทรียสารขนาดใหญ่ (macromolecules) และวิวัฒนาการต่อไปจนเกิดเป็นโปรโตเซลล์ (protocell) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเซลล์ มีโครงสร้างของผนังเป็นไขมันและโปรตีน และเกิดการสันดาปภายในเซลล์ได้ หลังจากนั้น โปรโตเซลล์ ซึ่งเชื่อว่ามีอาร์เอ็นเอทำหน้าที่เป็นทั้งสารพันธุกรรมและเอนไซม์ จะวิวัฒนาการกลายเป็นเซลล์เริ่มแรกของสิ่งมีชีวิตซึ่งมีความสามารถในการเพิ่มจำนวนหรือสืบพันธุ์

อาณาจักรของสิ่งมีชีวิต[แก้]

สิ่งมีชีวิตในโลกนี้มีมากมายหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกัน จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดแบ่งหมวดหมู่เพื่อความสะดวกในการศึกษา และการนำมาใช้ประโยชน์ วิชาที่ว่าด้วยการจัดแบ่งหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิต เรียกว่า อนุกรมวิธาน (Taxonomy) นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งวิชาอนุกรมวิธาน คือ คาโรลัส ลินเนียส (Carolus Linnaeus) ชาวสวีเดน

ชื่อของสิ่งมีชีวิต มี 2 ชนิด คือ

  1. ชื่อสามัญ (common name) คือ ชื่อที่เรียกกันทั่ว ๆ ไป อาจเรียกตามลักษณะทางกาย ถิ่นกำเนิดหรือสถานที่อยู่ก็ได้เช่น ปากกาทะเล หอยมุก เป็นต้น ซึ่งชื่อดังกล่าวอาจเรียกต่างกัน ในแต่ละที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้
  2. ชื่อวิทยาศาสตร์ (scientific name) ลินเนียสเป็นผู้เริ่มใช้เป็นคนแรก โดยสิ่งมีชีวิตประกอบด้วยชื่อ 2 ชื่อ ชื่อแรกเป็นชื่อ จีนัส ชื่อที่2 เป็นชื่อ สปีชีส์ เขียนด้วยภาษาลาติน ชื่อจีนัสตัวแรกเขียนด้วยอักษรตัวใหญ่เสมอ ตัวแรกของสปีชีส์เป็นชื่อตัวเล็กธรรมดา ต้องเขียนให้ต่างจากอักษรอื่นเช่น ตัวเอน ตัวหนา หรือขีดเส้น ทั้ง 2 ชื่อไม่ติดกันเรียกระบบนี้ว่า การตั้งชื่อแบบบทวินาม (binomial nomenclature)

ลักษณะที่ใช้ในการจำแนกสิ่งมีชีวิต[แก้]

  1. ลักษณะภายนอกและโครงสร้างภายใน
  2. แบบแผนการเจริญเติบโตและโครงสร้างระยะตัวอ่อน
  3. ซากดึกดำบรรพ์ของสิ่งมีชีวิตที่ค้นพบ
  4. โครงสร้างของเซลล์และออร์แกเนล
  5. สรีระวิทยาและการสังเคราะห์สารเคมี
  6. ลักษณะทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต

ลำดับขั้นในการจัดหมวดหมู่สิ่งมีชีวิต[แก้]

ลำดับขั้นของหมวดหมู่สิ่งมีชีวิต (taxonomy category) มีการจัดลำดับตั้งแต่ใหญ่ที่สุด ถึงเล็กที่สุดดังนี้

  1. อาณาจักร (kingdom)
  2. ไฟลัม (phylum) หรือดิวิชัน (division)
  3. ชั้น (class)
  4. อันดับ (order)
  5. วงศ์ (family)
  6. สกุล (genus)
  7. สปีชีส์ (species)

อาร์ เอช วิทเทเคอร์ (R.H.Whittadker) ได้แบ่งสิ่งมีชีวิตออกเป็น 5 อาณาจักร คือ

  1. อาณาจักรมอเนอรา (Kingdom Monera)
  2. อาณาจักรโพรติสตา (Kingdom Protista)
  3. อาณาจักรฟังไจ (Kingdom Fungi)
  4. อาณาจักรพืช (Kingdom Plantae)
  5. อาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia)

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]